กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่(ไม่)ลงตัว

กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่(ไม่)ลงตัว

ภายใต้สโลแกน ‘ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ คือเสียงผู้คนบ่นพึมพำกับคำถามที่ว่าอะไรคือชีวิตดีๆ ของมหานครแห่งนี้?

ตั้งแต่มีโซเชียลมีเดีย ข้อความตัดพ้อชีวิตที่เสมือนติดกับดักของเมืองกรุง ทั้งรถติด มลพิษ คุณภาพชีวิตตกต่ำ ถูกตั้งเป็นสเตตัสกันจนแน่นจอ แตกต่างกับคำชวนเชื่อที่คล้ายว่าเกินจริงตามป้ายโฆษณาคอนโดมิเนียม บ้านกลางกรุง แม้กระทั่งสโลแกนของเมืองนี้ ทุกอย่างช่างย้อนแย้ง

ปัญหาของกรุงเทพมหานครคาราคาซังมานานจนนับนิ้วไม่ถ้วน หลายคนบ่นจนปากเปียกปากแฉะ แต่ต้องจำทนรับสภาพต่อไป เพราะถึงอย่างไรหน้าที่การงานก็ยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองนี้ ทว่าบางคนเลือกมองปัญหาอย่างพิเคราะห์ บ่นพอประมาณ แล้วพยายามหาทางออกผ่านความรู้ความสามารถของตัวเอง

เรื่องราวปัญหาของเมืองหลวงและเมืองใหญ่ถูกเล่าผ่านบทความที่รวบรวมเป็นหนังสือสารคดีเล่มเยี่ยม ‘City Sight เมืองที่มองไม่เห็น’ การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศ ‘เซเว่นบุ๊คอวอร์ด’ ครั้งที่ 15 หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานของ ‘ดร.อ้อย’ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว ด้วยความเป็นคนกรุงเทพฯแท้ และอยู่ในทุกยุคเปลี่ยนผ่านจากมหานครทรงเสน่ห์ สู่ความเป็นเมืองหลวงที่หลายคนก่นด่า

ดร.อ้อย อธิบายว่าหนังสือเล่มนี้เป็นรวมบทความซึ่งเขียนมานานกว่า 8 ปี จากคอลัมน์ที่ตีพิมพ์ในเซคชั่นจุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ แล้วทางสำนักพิมพ์แซลมอนคัดเลือกเรื่องเกี่ยวกับเมืองไปรวมเล่ม เหตุที่ต้องเขียนถึงเมืองเพราะคือเรื่องใหญ่ เรื่องใกล้ตัว ในศตวรรษนี้เต็มไปด้วยความท้าทายต่างๆ เช่น วิกฤตสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม เป็นต้น ซึ่ง ‘เมือง’ คือต้นตอปัญหา

“ถ้าเปรียบกับสัตว์ก็เหมือนปรสิตยักษ์ ดูดกินอะไรเข้ามาเยอะแยะ”

แต่ในทางกลับกัน ประธานมูลนิธิโลกสีเขียวบอกว่าหากพลิกมุม และออกแบบระบบใหม่ จากที่เป็นเหตุแห่งปัญหา จะกลายเป็นทางออกทันที เพียงแต่ว่ากว่าจะถึงจุดนั้นยังต้องสะดุดกับอะไรหลายอย่าง เพราะการพลิกมุมดังกล่าวคือต้องพลิกทั้งระบบ พลิกทั้งโครงสร้าง ซึ่งรู้กันดีว่า ‘ยาก’ หากใจคนไม่เปลี่ยน หากกระบวนทัศน์ของสังคมยังเหมือนเดิม

42441897_1955961697795966_5609031532556582912_o

ด้วยความที่กรุงเทพฯคือบ้านเกิดของเธอ ย่านสุขุมวิทคือถิ่นที่ดร.อ้อยเกิดและเติบโตมา จึงพูดได้เต็มปากว่าเธอคือคนเมืองตัวจริงเสียงจริง

“สมัยก่อนแถวนี้เป็นท้องนา เวลาจะเดินไปหายายก็ต้องเดินข้ามทุ่งนาไปหายาย มีบึงบัวหลวงสวยมากอยู่หลังบ้าน เวลาหน้าหนาวหมอกจะลง พอ 5 ขวบ ก็ยังมีนาอยู่ แต่ควายเริ่มไม่ค่อยเห็นแล้ว จนถึงยุคหนึ่งที่นาและบึงบัวก็กลายเป็นบ้านจัดสรร อพาร์ตเม้นท์ ต้องบอกว่าเราเป็นคนเมืองรุ่นสุดท้ายที่เข้าถึงธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่ง”

กรุงเทพฯยุคนั้นน่าจะเข้าใกล้สโลแกน ‘ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ มากที่สุดแล้ว การได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์บทนั้นช่างน่าอิจฉา และการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยก็ทำให้ดร.อ้อยมองเห็นความเปลี่ยนแปลงระหว่างรอยต่อ

“ความที่เราเป็นคนรุ่นสุดท้ายที่โตมาจากการเล่นในธรรมชาติ เข้าถึงธรรมชาติได้ง่ายๆ เป็นเด็กเมืองรุ่นสุดท้ายที่มีชีวิตคล้ายเด็กในชนบท พออายุ 20 สิ่งเหล่านี้มันหายไป ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าคนรุ่นเราส่วนมากจะทำงานอนุรักษ์ เพราะพยายามจะปกป้อง กู้คืนธรรมชาติที่เคยมีอยู่

เราจึงทุ่มเทไปที่การอนุรักษ์ธรรมชาติมากกว่าเมือง เพราะเมืองมันเสื่อมโทรมขึ้นเรื่อยๆ มลพิษมากมาย ต้นไม้ถูกตัด คนจึงคิดว่าปล่อยกรุงเทพฯไปแล้วกัน จริงๆ คุณต้องเลือกว่าจะสู้กับอะไร เราจึงมักเลือกปกป้องพื้นที่ดีๆ แล้วยอมปล่อยกรุงเทพฯไป”

การที่สังคมยังมองไม่เห็นว่าการรักษาธรรมชาติคือการรักษาปากท้อง แต่มองว่าเงินคือปากท้อง กลายเป็นหลุมพรางสำหรับการอนุรักษ์เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน แม้ปัจจุบันยังมีบางคนปฏิบัติแบบนั้นอยู่ แต่อาศัยการเลี่ยงบาลีเพื่อไม่ให้ถูกด่า ดร.อ้อยบอกว่าพอเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เมืองโตขึ้นมาก และสร้างปัญหาขึ้นมาก นับแต่ ค.ศ. 2006 เป็นต้นมา ประชากรเข้ามาอยู่ในเมืองมากกว่าชนบท เมืองจึงเป็นกุญแจสำคัญที่เธอต้องหันกลับมาจัดการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเมือง

แรกเริ่มก่อนจับปัญหาเมือง มีหลายคนคัดค้านด้วยเหตุผลว่ากรุงเทพฯแย่มาก เกินเยียวยา แต่เธอกลับมองว่าหากไปทำเมืองอื่นที่เธอไม่ได้มีรากย่อมไม่ใช่ จึงเริ่มพลิกกระบวนทัศน์ให้คนที่เคยมองกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ จะทุเรศแค่ไหนก็ฝืนทนกันไป วันหยุดค่อยหนีไปนอกเมือง เปลี่ยนเป็นความคิดว่ากรุงเทพฯไม่ใช่แค่ที่สร้างรายได้ แต่เป็นถิ่นอาศัยของมนุษย์ หมายความว่าต้องมีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการดำรงชีวิตที่ดี

“ในที่สุดเมืองต้องไม่เป็นปรสิตแล้ว สักวันต้องทำหน้าที่เหมือนระบบนิเวศประดิษฐ์ เมืองต้องผลิตพลังงานได้เอง ดูดซับมลพิษได้เอง บำบัดน้ำได้เอง จัดการขยะได้เอง นอกจากจะเป็นเมืองน่าอยู่ ก็จะเป็นเมืองที่ลดความเหลื่อมล้ำ” ประธานมูลนิธิฯ คนนี้บอก

ถึงจะคล้ายเพ้อฝัน แต่นั่นคือสิ่งที่มหานครควรเป็นไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่กลับมาที่ปัจจุบัน ดร.อ้อยมองว่าหลายปัญหามีความหวังที่จะแก้ได้ เพราะคนรุ่นใหม่ไม่มองเมืองว่าเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแบบคนรุ่นเก่า แต่มองว่าเมืองเป็นถิ่นอาศัยของมนุษย์ และเกิดกระแสบางอย่าง เช่น การยอมรับต้นไม้ในเมือง ความต้องการพื้นที่สีเขียว นั่นหมายความว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่กระบวนทัศน์ ทว่าในการจัดการ ทั้งโครงสร้าง กายภาพ หรือการเมือง ยังเหมือนเดิม

“ในระดับโครงสร้าง ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง กรุงเทพฯยังเป็นเมืองของรถยนต์ โครงการพัฒนาต่างๆ ยังให้ความสำคัญต่อรถยนต์ ไม่ว่าจะสร้างรถไฟฟ้าหรืออะไรในแผนนโยบาย รถยนต์ยังได้รับความสำคัญสูงสุดอยู่ดี เพราะผู้มีอำนาจใช้รถยนต์”

พูดถึงปัญหาการจราจร เกือบทุกคนคงมองว่าเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับประเทศไทย ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ เพราะตามหัวเมืองต่างๆ ก็ประสบปัญหาเดียวกัน ประเด็นนี้ดร.อ้อยแสดงทัศนะว่าต้องเลือกว่าจะเอา ‘คน’ หรือ ‘รถ’

“กรุงเทพฯไม่มีพื้นที่มากพอ แล้วคุณจะสร้างถนนเท่าไร ปริมาณรถยนต์ก็จะมากขึ้น อย่าลืมว่ากรุงเทพฯแต่เดิมอยู่บนพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นเมืองที่น้ำท่วมประจำอยู่แล้ว การที่บรรพบุรุษมาตั้งรกรากที่นี่เพราะรู้ว่ามีคลอง พื้นที่มีลุ่ม มีดอน มีหนอง ถ้าเราฉลาดสมกับเป็น Smart City โดยยังไม่ต้องพูดถึงเทคโนโลยีอะไรเลย เราต้องไม่ต้านธรรมชาติ เราต้องน้อมรับพลังของธรรมชาติ การต้านต้องใช้พลังและงบประมาณมหาศาล แต่ถ้าน้อมรับปรับตัว สิ่งที่ได้คือบริการพิเศษจากธรรมชาติไม่ว่าจะพลังงานน้ำ พลังงานลม ฯลฯ และคูคลองก็ใช้สัญจรได้ด้วย

ถ้าเรามีระบบขนส่งมวลชน ต้องไม่ใช่แค่เพิ่มระบบราง ควรให้ความสำคัญกับรถเมล์ เพราะกินพื้นที่น้อยกว่าและขนคนได้เยอะ พวกรถยนต์ส่วนตัวให้เป็นส่วนน้อยไป เพราะถ้าคุณให้ความสำคัญกับรถยนต์มาก มันเหมือนเอเลี่ยนสปีชีส์ คนจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปคืออยู่คูคลองไม่ได้ ฉันมีล้อ ฉันต้องเปลี่ยนทุกอย่างเป็นพื้นถนน ถนนก็รุกไป เป็นทางด่วน ไล่ตะเพิดบ้านคนออกไป มันก็เหมือนหญ้าคา เหมือนผักตบชวา แต่มันก้าวร้าวรุนแรงกว่านั้น และมันก็ตดเหม็นไปทั่ว พุ่งชนเกิดอุบัติเหตุเต็มไปหมด เราจึงควรให้ความสำคัญกับสาธารณประโยชน์”

42510140_1955961557795980_1623428201151725568_o

เมื่อทางออกคือลดปริมาณรถยนต์ลง ใครคิดว่ายากแต่ดร.อ้อยบอกไม่ยาก เพียงต้องไปถึงบนสุดของโครงสร้าง คนที่รับผิดชอบต้องต้านแรงเสียดทานได้ ซึ่งมีให้เห็นตัวอย่างในหลายเมือง เช่น เมืองโบโกตา เมืองหลวงของประเทศโคลอมเบีย ใช้เวลาแก้ปัญหาจราจรไม่กี่ปี แต่ช่วง 6 เดือนแรกแรงเสียดทานสูงมาก เอนริเก เปนญาโลซา นายกเทศมนตรี ณ ขณะนั้นเจอการต่อต้านอย่างหนัก การทำให้ประชาชนมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน (Share vision) ช่างยากเย็น

จึงเกิดการสาธิตเมืองที่ปลอดรถยนต์ขึ้นด้วยแคมเปญต่างๆ อาทิ Car Free Sunday เป็นต้น เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย แม้มีหวังแต่ยังน่ากังวล

“สำหรับกทม. เขาถูกจัดตั้งขึ้นมา จึงไม่ได้ทำเพื่อส่งเสริมการดำเนินชีวิต เขากลัวถูกด่า จึงเกิดเป็นการจัดตั้งขบวนจักรยาน อะไรทำนองนี้ ซึ่งมันเป็นเพียงอีเวนท์ ไม่ใช่การปรับเปลี่ยนการใช้เมือง ไม่ใช่การเปลี่ยนให้คนรู้สึกว่าถนนเป็นพื้นที่สาธารณะของทุกคน อย่างอินเดียถนนเป็นพื้นที่สาธารณะ รถใช้ได้ คนเดินธรรมยาตราใช้ได้ วัวใช้ได้ มันดูเหมือนวุ่นวายไปหมด แต่ทำไมอุบัติเหตุที่นั่นน้อยมาก เขาบีบแตรกันเยอะจริงแต่ทำเพื่อส่งสัญญาณว่าฉันมาแล้ว และยอมรับกันว่าทุกอย่างใช้ถนนได้ เรามาจากเมืองที่ถนนเป็นของรถยนต์ก็จะตกใจ

อยากให้ดูเมืองโบโกตา แทนที่เขาจะสร้างระบบรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ซึ่งราคาแพงกว่าเยอะ เขาเลือกใช้รถเมล์ อย่าลืมว่าพื้นที่ผิวดินมีค่ามาก คนส่วนมากควรใช้พื้นที่ผิวดินได้ ไม่ใช่ต้องมุดลงไปหรือเดินขึ้นบันไดขึ้นไป แต่รถยนต์กลับแล่นฉิวไป ปล่อยควันตามสบาย แถมได้พื้นที่ที่ดีที่สุดคือบนพื้นที่ผิวดิน คนก็ต้องไปเดินข้ามสะพานลอย ซึ่งสะพานลอยเป็นสัญลักษณ์ของความเหลื่อมล้ำในสังคม รถยนต์มีกำลังมากกว่าคนแต่ทำไมไม่ใช่ฝ่ายต้องมุดหนีหรือหยุดจอดให้คนเดิน บางที่ถึงขนาดยกเลิกทางม้าลายเพราะกลัวรถติด”

นอกจากรถเมล์ โบโกตายังเสริมด้วยเลนจักรยานที่มีคุณภาพ แล้วลดความสำคัญรถยนต์ลง ช่วงแรกคนขับรถยนต์เกลียดชังนายกเทศมนตรีคนนี้มาก แต่ภายในไม่กี่ปีคุณภาพเมืองดีขึ้นถนัดตา พื้นที่ที่รถราเคยยึดครองก็กลายเป็นการจราจรคล่องตัว ทุกคนไปไหนมาไหนสะดวกง่ายดาย ซึ่งนั่นเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคนอยู่แล้ว หากกรุงเทพฯทำได้แบบนี้หรือคล้ายกัน พื้นที่ซึ่งเดิมทีเป็นของรถยนต์จะกลายเป็นประโยชน์ได้มากมายจนกลายเป็นการอัพเกรดชีวิตคนกรุง

“ถ้าเมืองเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ปัจจัยสี่ก็ควรเข้าถึงได้ ยังไม่นับรวมอากาศซึ่งเป็นพื้นฐานของชีวิต แต่เรากลับทำให้ขณะนี้เมืองเป็นที่ที่คนมีเงินเท่านั้นจะอยู่ได้ เราต้องเปลี่ยนให้คนเข้าถึงปัจจัยสี่ได้ต่างหาก ไม่ได้บอกว่าเงินไม่สำคัญนะ แต่มันไม่ใช่ทุกอย่าง มิเช่นนั้นความเหลื่อมล้ำจะมหาศาลแบบทุกวันนี้

มาถึงตรงที่ว่าถ้าเราจะเปลี่ยนเมืองจริงๆ ด้านการเมืองต้องเปลี่ยน ตอนนี้คนจำนวนหนึ่งเปลี่ยนกระบวนทัศน์แล้วอยากให้เมืองเป็นที่อยู่ที่ดี แต่มันยังทำอะไรมากไม่ได้ จึงต้องเปลี่ยนโครงสร้าง โดยเฉพาะราชการ หมายความว่าถ้าเขาไม่เปิดให้ถูกตรวจสอบก็ต้องถูกบังคับให้เปิด ต้องทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ถ้ามองไปที่บ้านเมืองอื่นๆ เขาจะพัฒนาในสเกลเล็กๆ คือมีกติกาใหญ่ของเมือง แล้วพวกรายละเอียดการจัดการมาดูในระดับท้องถิ่น ตอนนี้เราดันใช้วิธีทำผังเมืองรวม เอานักวิชาการมาขีดสี ตรงนั้นสีนั้น ตรงนี้สีนี้ โดยไม่ถามชาวบ้านสักคำ แล้วตั้งกฎกติกาว่าสีอะไรทำอะไรได้บ้าง ยกตัวอย่างเกียวโตที่ทำเป็นบล็อกๆ เขาคำนึงว่าทุกคนต้องมองเห็นภูเขา ไม่ใช่ว่าที่ดินฉันจะสร้างสูงเท่าไรก็ได้ แล้วบังคนอื่นหมดเลย”

ยิ่งมองไปรอบกาย เมืองที่เรากำลังหายใจและใช้ชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันดูจะไม่น่าอยู่เสียเหลือเกิน บางคนสิ้นหวังหรืออย่างน้อยก็เคยถอนหายใจให้กับอะไรสักอย่างซึ่งเป็นปัญหาของเมืองนี้ ส่วนดร.อ้อยถึงจะยอมรับว่ามันเน่าเฟะ แต่เธอยังมีหวัง

“ยังมองเห็นว่ามันเปลี่ยนได้ ปัญหาอยู่ที่เจตนารมณ์ อยู่ที่จิตใจของคน และคนรุ่นใหม่ยังเป็นความหวัง ถ้าไม่มีคนรุ่นใหม่ก็ไม่มีหวัง หวังว่าคนรุ่นใหม่จะทลายโครงสร้างของรุ่นเก่าให้เปลี่ยนแปลง

สำหรับกรุงเทพฯบอกไม่ได้ว่าต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน เพราะเราอยู่บนทางหลายแพร่งมาก และไม่รู้ด้วยว่าจะไปทางไหน อาจต้องรอให้โครงสร้างอารยธรรมแบบเก่าพังไป แล้วเมืองใหม่ที่ดีกว่าโผล่ขึ้นมา หรืออาจควบคุมไม่ให้มันโตไปกว่านี้ แล้วกระจายไปยังที่อื่น ย้ายเมืองหลวง หรืออะไรก็ว่าไป”

ปัญหาของกรุงเทพมหานครเป็นดั่งมหากาพย์ แม้ทางออกที่ ดร.สรณรัชฎ์ เสนอแนะจะน่าสนใจและอาจจะแก้ปัญหาเรื้อรังได้ ทว่าถ้าทุกคนไม่ลงมือทำส่วนที่ตัวเองควรทำ โครงสร้างไม่ถูกเปลี่ยน ปรสิตร้ายในนิยามของเธอจะลุกลามจนสายเกินแก้ ทุกคนบ่นได้แต่ต้องลงมือแก้ไขด้วย เพราะถ้าพูดเยอะ...มักจะเจ็บคอ

42486154_1955961547795981_8112154681871958016_o