ตามรอยตักศิลา มหานครแห่งปัญญา

ตามรอยตักศิลา มหานครแห่งปัญญา

ท่องไปในประวัติศาสตร์ของปากีสถาน ณ อดีตเมืองมหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชมพูทวีป

ความรู้คือพลังอำนาจ ...คุณเคยได้ยินคำพูดนี้หรือไม่ 

อาจด้วยเหตุนี้มนุษย์เราจึงพากันแสวงหาความรู้มาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว แห่งหนตำบลใดมีครูบาอาจารย์เก่ง ผู้คนก็จะเดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ ยุคปัจจุบันคงไม่ต้องพูดถึง เพราะนอกจากจะมีมหาวิทยาลัยดีๆ ดังๆ ให้เลือกเรียนมากมาย รวมถึงมีความรู้จากโลกออนไลน์ส่งตรงถึงโทรศัทพ์มือถือด้วย ทว่าเมื่อย้อนกลับไปสมัยโบราณราวๆ 2,500-3,000 ปีก่อนโน้น การจะแสวงหาปัญญาความรู้คือเรื่องยาก เพราะชนชั้นปกครองเท่านั้นจะเข้าถึงองค์ความรู้ได้ อีกทั้งแหล่งร่ำเรียนก็มีจำกัด แถมอยู่ห่างไกล และต้องใช้เงินทองมากมายในการได้มาซึ่ง ‘ความรู้’

TM15

เมืองตักศิลา (Taxila City) คือหนึ่งในแหล่งรวมภูมิปัญญาสรรพวิทยาการแทบทั้งหมดเอาไว้ในโลกยุคโบราณ โดยถือเป็นเมืองมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่สุดของชมพูทวีป อีกทั้งยังเป็นเมืองที่มีกษัตริย์ปกครองโดยบวรพุทธศาสนา รุ่งเรืองเฟื่องฟูที่สุดในช่วงปี ค.ศ. 1-5 ทำให้เมืองนี้โด่งดังไปทั่วโลก ทั้งกษัตริย์ นักการเมือง การทหาร และลูกผู้ดีมีเงิน จากทั้งในทวีปเอเชียและยุโรป ต่างก็ส่งลูกหลานมาร่ำเรียนที่นี่กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าปเสนทิโกศล, พระเจ้าจันทรคุปต์ (ปู่ของพระเจ้าอโศกมหาราช), หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์ประจำตัวพระพุทธเจ้า), องคุลีมาล, จาณักยะพราหมณ์ (พราหมณ์คู่ใจพระเจ้าจันทรคุปต์) หรือแม้แต่เจ้าชายสิทธัตถะ ต่างก็เคยมาร่ำเรียนที่นี่ทั้งสิ้น 

หรือแม้แต่หลวงจีนฟาเหียนและพระถังซัมจั๋ง ก็เคยเดินจาริกมาที่ตักศิลา และได้บันทึกชื่อเมืองนี้ไว้อย่างชัดเจน ความรุ่งเรืองของตักศิลาที่ตั้งอยู่บนจุดเชื่อมต่อเอเชีย-ยุโรปของเส้นทางสายไหมยุคโบราณ จึงยั่วยวนใจให้หลายอาณาจักรโดยรอบผลัดกันเข้ายึดครอง ทั้งเปอร์เซีย กรีก อินเดีย และจีนฮั่น ส่งผลให้ตักศิลากลายเป็นเบ้าหลอมของหลากวัฒนธรรมอย่างแท้จริง

TM9

ถ้านำแผนที่มากางดู จะพบว่าปัจจุบันเมืองตักศิลาตั้งอยู่ในรัฐปัญจาบของประเทศปากีสถาน ห่างจากเมืองหลวงคืออิสลามาบัตขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 32 กิโลเมตร ซึ่งจุดนี้ถือว่ามีความสำคัญยิ่งยวดในทางภูมิศาสตร์ เพราะมีผืนดินอุดมสมบูรณ์ปลูกพืชผลได้ดี อีกทั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำสินธุพอสมควร ทำให้ไม่ถูกน้ำท่วมประจำปี

นอกจากนี้เมื่อข้ามเทือกเขาฮินดูกูช (Hindu Kush) และแม่น้ำสินธุไปแล้ว ก็จะเข้าสู่หุบเขาคันธาระ (Gandhara Valley) หุบเขาสวาต (Swat Valley) และหุบเขาเปชวาร์ (Peshawar Valley) ตรงเข้าช่องเขาไคเบอร์ไปสู่อัฟกานิสถาน ซึ่งเส้นทางนี้เองที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาซีโดเนีย (กรีก) ใช้กรีฑาทัพผ่านเมืองตักศิลา ไปเข้าตีชมพูทวีปเมื่อปีที่ 326 ก่อนคริสตกาล โดยพระองค์ได้ทิ้งกองทหารส่วนหนึ่งไว้ให้ปกครองตักศิลา 

ในช่วงเวลาต่อมาจึงเกิดการถ่ายทอดศิลปะกรีกสู่ช่างฝีมือท้องถิ่น จนเกิดเป็นศิลปะแขนงใหม่ขึ้นเรียกว่า ศิลปะแบบคันธาระ (Ganghara Art) เป็นพุทธศิลป์ที่มีเอกลักษณ์จำเพาะ คือพระพุทธรูปต่างๆ ล้วนมีรูปร่างหน้าตา ลีลาท่าทาง เครื่องนุ่งห่ม เหมือนคนกรีกเปี๊ยป ซึ่งก่อนจะเกิดศิลปะแบบคันธาระขึ้น ชาวพุทธในชมพูทวีปไม่มีพระพุทธรูปไว้เป็นตัวแทน ในการเคารพกราบไหว้พระพุทธเจ้าที่ทรงปรินิพพานไปแล้ว แต่ใช้สัญลักษณ์ (Symbol) เป็นดอกบัว รอยพระพุทธบาท เสมาธรรมจักรกับกวางหมอบ ฯลฯ ศิลปะคันธาระจึงก่อให้เกิดรูปเคารพของพุทธองค์ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก

Taxila Museum 6

ในช่วงปี ค.ศ. 1-5 ที่ตักศิลารุ่งเรืองสุดขีดนั้น ก็เพราะกษัตริย์แห่งอาณาจักรกุษาณะ ซึ่งนับถือพุทธศาสนา ได้ให้การสนับสนุนตักศิลาในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะ พระเจ้ากนิษกะ (Kanishka King) ทรงเป็นองค์อัครราชูปถัมภ์ที่ยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนานิกายมหายาน เปรียบได้กับพระเจ้าอโศกมหาราชที่ทรงเป็นองค์อัครราชูปถัมภ์ของนิกายหินยาน ทำให้พระองค์ได้รับฉายาว่า ‘พระเจ้าอโศกมหาราชองค์ที่ 2’ และทรงแผ่อาณาจักรกว้างไกลครอบคลุมหุบเขาคันธาระ แคชเมียร์ สินธุ และมัธยประเทศ พุทธศาสนานิกายมหายานจึงแผ่เข้าสู่เอเชียกลางและจีนอย่างรวดเร็ว 

ในขณะนี้ตักศิลาก็มีการขยายตัวเป็นชุมชนทางพระพุทธศาสนาขนาดใหญ่มาก ในปีหนึ่งๆ มีผู้จาริกแสวงบุญเดินทางสู่ตักศิลานับแสนคน โดยในส่วนของนักเรียนนั้นจะศึกษาวิชาอยู่กับสำนัก อาจารย์ทิศาปาโมกข์’ แต่ละปีจะมีจำนวนนักเรียนไม่เท่ากัน แล้วแต่ชื่อเสียงของอาจารย์ มีการแบ่งนักเรียนออกเป็น 2 ระดับ คือพวกลูกคนรวยที่จ่ายค่าเล่าเรียนเป็นเหรียญทอง จะเรียนตอนกลางวัน และติดตามอาจารย์ทิศาปาโมกข์ไปไหนก็ได้ ส่วนนักเรียนที่ทรัพย์น้อย กลางวันจะต้องเป็นคนรับใช้อาจารย์ ได้เรียนเฉพาะตอนกลางคืนเท่านั้น 

วิชาที่สอนกัน อาทิ พระเวททั้งสี่และศิลปะ 18 ประการ เช่น อักษรศาสตร์ นิติศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ ฉันทศาสตร์ รัฐศาสตร์ ยุทธศาสตร์ ศาสนศาสตร์ โหราศาสตร์ คณิตศาสตร์ คันธัพพศาสตร์ เหตุศาสตร์ และเวชศาสตร์ เป็นต้น ที่สำคัญคือสตรีห้ามเข้ามาศึกษาที่นี่เด็ดขาด!

TM10

การเดินทางท่องเที่ยวในเมืองตักศิลาปัจจุบันถือว่าไม่ยาก เพราะอยู่ห่างจากกรุงอิสลามาบัตแค่ 32 กิโลเมตร ผ่านถนนสาย Grand Trunk Road (GT Rd.) อันมีชื่อเสียงของปากีสถาน โดยเมื่อบินตรงจากไทยถึงปากีสถานแล้ว ก็สามารถต่อรถยนต์ไปสู่เมืองโบราณตักศิลาได้เลย บรรยากาศแรกที่รับรู้ได้ คือเมืองโบราณนี้ยังมีชีวิตชีวา ยังมีผู้คนอยู่อาศัยกระจายเต็มพื้นที่ สองข้างทางถนนมีร้านแกะสลักหิน เป็นรูปปั้นและครกหินมากมาย ร้านรวงก็เปิดกันคึกคัก เพียงแต่ว่าในช่วงกลางวันอากาศจะร้อนไม่ใช่เล่นจุดแรกที่ควรเริ่มต้นสัมผัสเมืองนี้คือ พิพิธภัณฑ์ตักศิลา (Taxila Museum) ซึ่งเปิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1928 นำวัตถุโบราณที่ขุดพบในเมืองโบราณตักศิลามาจัดแสดงไว้ โดยเฉพาะจากการขุดค้นของเซอร์จอห์น มาร์แชล (Sir John Marshall) นักโบราณคดีคนสำคัญผู้มาสำรวจตักศิลา แม้ว่าที่นี่จะเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ชั้นเดียว แต่ภายในอัดแน่นด้วยโบราณวัตถุล้ำค่านับแสนชิ้น โดยเฉพาะรูปสลักและรูปปูนปั้นศิลปะคันธาระ เป็นภาพพระพุทธเจ้าในชาดกตอนต่างๆ ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรูป ปฐมเทศนา และปรินิพพาน (แต่การถ่ายภาพภายในต้องขออนุญาตก่อน) จากนั้นก็ได้เวลาออกไปชมสถานที่จริงแล้ว ตื่นเต้นมากๆ

Taxila Museum 1

จุดที่สองคือ เจดีย์ธรรมยาสิกา (Dharmarajika) ซึ่งมีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำขนาดใหญ่เป็นศูนย์กลาง สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราชเมื่อประมาณปี ค.ศ. 3-5 ล้อมรอบด้วยเจดีย์รายอีกนับร้อยองค์ กุฎิพระสงฆ์ และอาคารในลักษณะของชุมชนชาวพุทธขนาดใหญ่ที่สุด ทว่าปัจจุบันสิ่งเหล่านี้เหลือเพียงฐานราก เพราะถูกนักรบมองโกลเผ่าจีนฮั่นบุกเข้าเผาทำลายจนราบเป็นหน้ากลอง จึงมีการขุดพบเศษข้าวของเครื่องใช้ เศียรพระพุทธรูป เหรียญเงิน วัตถุโบราณ และโครงกระดูกพระสงฆ์ที่ถูกสังหารเป็นจำนวนมาก เห็นแล้วก็ต้องทำใจ อย่าคิดมาก เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนเป็นอนิจจัง มีเกิดก็ต้องมีดับเป็นธรรมดา

TM13

จุดที่สามสำหรับทริปนี้คือ วัดจูเลี่ยน (Jaulian Monastery) ซึ่งรุ่งเรืองมากในช่วงปี ค.ศ. 2-5 เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง 92 เมตร เพื่อให้ห่างไกลจากการรบกวนของเรื่องวุ่นวายทางโลก เป็นวัดที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดรอดจากการทำลายโดยพวกฮั่น ยังเห็นลายแกะสลักหินและลายปูนปั้นอันชัดเจน โดยเฉพาะรูปพระพุทธเจ้าปางต่างๆ พระพักตร์ยังงดงามอิ่มเอิบ ประทับขนาบด้วยเสาโรมันแบบโครินเธียนแท้ๆ สะท้อนถึงแก่นของศิลปะคันธาระที่ต้องนำความเป็นกรีกเข้ามาผสมด้วยเสมอ 

บางจุดเราพบรูปปูนปั้นช้าง สิงห์ และยักษ์แอตลาส (Atlas) ซึ่งเป็นเทพเจ้ากรีกกำลังแบกเทินองค์พระเจดีย์พุทธไว้ วัดจูเลี่ยนมี 2 ชั้น รายรอบด้วยกุฎิพระจำนวนมาก รวมถึงห้องสวดมนต์ ห้องเก็บเสบียง ห้องฉันอาหาร รวมถึงป้อมยาม การจะขึ้นไปชมต้องเดินผ่านบันไดนับร้อยขั้น แนะนำให้ค่อยๆ เดิน พักไปเรื่อยๆ เดี๋ยวถึงเอง

จุดสุดท้ายในการสัมผัสเมืองเก่าตักศิลาของเรา คือ ซากเมืองหลวงเก่าซีร์กัป (Sirkap) ซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งที่ 2 ของตักศิลา สร้างต่อเติมขึ้นโดยทหารชาวแบคเทรียนกรีก ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เมื่อ 190 ปีก่อนคริสตกาล จนได้รับฉายาว่าเป็น Acropolis of Taxila ยิ่งใหญ่เทียบได้กับหลายเมืองของกรีกในยุคนั้น เพราะผังเมืองซีร์กัปถอดแบบมาจากเมืองกรีกเปี๊ยป คือมีถนนสายหลักหันไปทางทิศเหนือ ถนนยาวกว่า 5 กิโลเมตร และมีบ้านเรือน สถานที่ราชการ ร้านค้า และศาสนสถานเรียงรายอยู่สองฝั่งถนน ผังเมืองมีลักษณะเป็นบล็อกสี่เหลี่ยมเท่าๆ กันแทรกแซมด้วยซอยย่อยๆ อย่างมีระเบียบ กำแพงเมืองก่อด้วยหินสูงใหญ่ 

TM11

ปัจจุบันเมืองซีร์กัปเหลือแต่ส่วนฐานราก เช่นเดียวกับแหล่งโบราณอื่นๆ ของตักศิลา แต่ก็ยังจินตนาการได้ถึงความยิ่งใหญ่ของมันในยุคนั้น

หลังจากตักศิลารุ่งเรืองอยู่นับพันปี เมื่อกษัตริย์ที่นับถือพุทธหมดอำนาจลง ก็ไม่มีเงินทุนมาสนับสนุน อีกทั้งมีแผ่นดินไหวและพวกจีนฮั่นรุกราน ตักศิลาจึงไม่มีพระสงฆ์เหลืออยู่อีกเลย และยุติบทบาทความเป็นเมืองพุทธและเมืองมหาวิทยาลัยใหญ่ที่สุดในชมพูทวีปลงในที่สุด

แต่เชื่อเถอะครับว่า ศาสนาพุทธจะยังคงอยู่คู่โลกนี้ไปอีกนาน หากเรายังศรัทธาในตัวหลักแก่นคำสอนแท้ๆ ของพระพุทธองค์ และผมมั่นใจเหลือเกินว่า ในอนาคตจะเกิดเมืองพุทธเช่นเดียวกับตักศิลาขึ้นบนโลกใบนี้อีกอย่างแน่นอน