อนุสาวรีย์ที่ (ไม่) ถูกลืม

อนุสาวรีย์ที่ (ไม่) ถูกลืม

“อย่าลืมฉัน ในวันที่พวกเธอมีลมหายใจ”… ถ้าอนุสาวรีย์ที่มีอยู่พูดได้ นี่คงเป็นถ้อยความแรกๆ ที่อยากเอ่ยกับลูกหลานร่วมชาติ

ผู้ที่ใช้รถไฟฟ้า , กินก๋วยเตี๋ยวเรือ, นัดเจอเพื่อน, เดินเข้าซอยลัดไปขึ้นรถเมล์ และอีกฯลฯ จะรู้ไหมว่า 'อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ' ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นทั้งอนุสาวรีย์และบริเวณที่คนทั่วประเทศรู้จักดี ถูกสร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส มีพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 และจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485

หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล สถาปนิกผู้ออกแบบ ตั้งใจให้รูปทรงของอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นกลีบแบบลูกมะเฟือง สื่อความถึงปลายปืน 5 เล่มรวมกัน มีรูปปั้นหล่อทองแดงขนาดสองเท่าคนธรรมดา จากนักรบ 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ตรงผนังด้านนอกมีแผ่นทองแดงจารึกนามผู้เสียชีวิต อนุสาวรีย์ใจกลางเมืองดังกล่าวจึงเป็นสิ่งย้ำเตือนของการเทิดทูนวีรกรรมผู้เสียสละ

อนุสาวรีย์ มีเจ้าภาพ

อนุสาวรีย์ถูกสร้างขึ้นมากว่า 77 ปี แต่เพิ่งมีข่าวตามหาผู้ดูแลเมื่อสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ทุกอย่างก็ชัดเจน โดยเป็นกรุงเทพมหานคร ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่สาธารณะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก

พร้อมกันนี้ กทม.ยังเตรียมดูแลอนุสาวรีย์และโบราณสถานที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ อีก 14 แห่ง ได้แก่ 1. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2. อุทกทานสหชาตอนุสาวรีย์หมูและอุทกทานพระแม่ธรณีบีบมวยผม 3. วงเวียน 22 กรกฎาคม 4. อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 5. ปฐมบรมราชานุสรณ์ 6. อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ 7. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 8. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 9. พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

10. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 11. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล 12. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 13. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และ 14. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้เพิ่มเติมจากสะพาน กำแพง ป้อม ซึ่ง กทม.รับผิดชอบอยู่แล้วจำนวน 39 แห่ง อาทิ สะพานชมัยมรุเชฐ เขตดุสิต, คลองหลอดวัดราชบพิตร เขตพระนคร, ป้อมมหากาฬ เขตพระนคร

ศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมาอนุสาวรีย์ซึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับการดูแลจาก กทม.อยู่แล้ว เช่น การปรับภูมิทัศน์ พัฒนาทัศนียภาพโดยรอบ การซ่อมแซมสภาพแวดล้อมภายนอก หากแต่การทำหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศิลปากร และกรมธนารักษ์เพื่อความชัดเจน อันนำไปสู่การวางแผนอย่างเป็นกิจลักษณะ โดยเฉพาะในอนาคตหากต้องปรับปรุงในเรื่องโครงสร้าง เมื่อมีการรับรองอย่างเป็นทางการแล้ว กทม.ก็พร้อมจะเป็นเจ้าภาพ

“คุณลองไปดูรอบๆ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทั้งเรื่องความสะอาด การซ่อมแซมภายนอก กทม.ดูแลอยู่แล้ว เช่นเดียวกับอนุสาวรีย์และโบราณสถานในกรุงเทพฯ แต่ที่ต้องสอบถามให้ชัดเจนจนเป็นข่าวขึ้นมา เพราะก่อนหน้านี้องค์การทหารผ่านศึกเสนอให้ปรับปรุงภูมิทัศน์ กทม.จึงต้องการความแน่ชัด จะได้ทำหน้าที่อย่างเป็นกิจลักษณะ”

20180912161015708

มากกว่าสิ่งก่อสร้าง

วัตถุประสงค์ของการสร้างอนุสาวรีย์ในประเทศไทยมี 2 ประเด็นหลักๆ อย่างแรกคือ การเชิดชูพระมหากษัตริย์ บุคคลสำคัญ ที่สร้างคุณูปการให้กับประเทศ กับอย่างหลังเป็นการระลึกถึงสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติ ขณะที่การสร้างส่วนใหญ่จะมีคณะกรรมการดูแลการสร้าง โดยมีรัฐบาลในขณะนั้นให้ความเห็นชอบ ใช้งบประมาณจากหลายส่วน อาทิ รัฐบาลส่วนหนึ่ง องค์กรที่จัดสร้าง การรับบริจาค หากเวลาล่วงจากอดีตถึงปัจจุบัน อนุสาวรีย์บางแห่งก็ไร้หลักฐานที่จะชี้ชัดว่าใครจะเป็นเจ้าของ

รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งสนใจเรื่องประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม การอนุรักษ์และพัฒนา กล่าวว่า จากนี้ไปไม่ต้องเสียเวลาสืบหาว่าใครจะเป็นเจ้าของอนุสาวรีย์ เพราะสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ล้วนเป็นของประชาชนที่จ่ายภาษี โดยมีรัฐบาลในขณะนั้นเป็นผู้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดดูแล

“หากมีกรณีอนุสาวรีย์หรือโบราณสถานที่ยังไม่มีเจ้าของแน่ชัด หลักของการพิจารณาผมมองว่าต้องเอาสถานที่ตั้งเป็นสำคัญ โดยดูว่าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะซึ่งหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ให้กทม.เป็นผู้ดูแลหลักไป แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า กทม.จะทำอะไรก็ได้ เพราะถ้าเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ต้องส่งแผนการบูรณะ หรือแบบปรับปรุงให้กรมศิลปากรพิจารณาด้วยเป็นอย่างน้อย”

“ตัวอย่างกรณีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนิน ซึ่งอยู่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ก็จำเป็นต้องมีผู้พิจารณาเรื่องนี้อย่างน้อย 3 ฝ่าย คือ กทม.คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า กรมศิลปากร และถ้ากรณีเกี่ยวข้องกับพื้นที่กรมธนารักษ์ กรมทางหลวง ผู้ที่จะร่วมพิจารณาอย่างน้อยๆ ก็ต้องมีหน่วยงานเหล่านั้นด้วย”

ทั้งนี้ ไม่ใช่ประเด็นเรื่องการหาเจ้าของเพื่อดูแลรักษาเท่านั้นที่สังคมไทยจะให้ความสำคัญกับอนุสาวรีย์หรือโบราณสถาน แต่สิ่งก่อสร้างในอดีตล้วนเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ และเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา รศ.ชาตรี เสนอว่า ประชาชนทั่วไปหรือสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ หากค้นพบและสงสัยสามารถทำบันทึกส่งให้หน่วยงานท้องถิ่นรับรอง จากนั้นหากพิจารณาแล้วว่าเห็นสมควรที่จะต้องศึกษาและบูรณะเพิ่ม ก็สามารถเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นคณะทำงาน เพื่อไม่ให้สิ่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศสูญหาย

“สถานที่เก่า อนุสาวรีย์ หรือโบราณสถานต่างๆ ไม่ใช่แค่สิ่งก่อสร้างนะ มันล้วนเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต อย่างผมสนใจชุมชนป้อมมหากาฬ ที่เชื่อมโยงกับการเป็นชุมชนกำแพงเมือง มีคูน้ำล้อมรอบ มีองค์ประกอบการตั้งชุมชนตามแบบของผู้คนสมัยก่อนครบถ้วน ผมก็ลิสต์ประเด็นนี้ขึ้นมาผ่านงานวิจัย เป็นฐานข้อมูลไว้เพื่อกรณีรัฐมีนโยบายที่เกี่ยวข้อง การมีแนวทางเช่นนี้จะทำให้โบราณสถานในแต่ละแห่งถูกรวบรวมข้อมูลไว้”

จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ผู้สนใจด้านศิลปวัฒนธรรม และผู้บรรยายการท่องเที่ยวเมืองเก่า มองว่ารัฐต้องไม่ทำให้อนุสาวรีย์ หรือโบราณสถาน ถูกสังคมเข้าใจเพียงสถานที่ หรือเป็นแลนด์มาร์คที่ใช้เรียกสถานีรถไฟฟ้า หรือเป็นจุดนัดพบ เพียงเท่านั้น แต่ต้องทำให้สถานที่หรือสิ่งก่อสร้างได้บอกเล่าประวัติศาสตร์ ให้สังคมได้เห็นคุณค่าของวีรกรรมนั้นๆ

โปรดอย่าลืมฉัน

หากอนุสาวรีย์พูดได้ คำว่า “อย่าลืมฉัน” คงเป็นถ้อยคำแรกๆ ที่อยากสื่อสารกับคนรุ่นปัจจุบัน เพราะสิ่งก่อสร้าง สถานที่ หรือวัตถุหนึ่ง ล้วนอธิบายได้ถึงยุคสมัยและเหตุการณ์สำคัญ ยกตัวอย่างในเกาะรัตนโกสินทร์นั้นมี 'อนุสาวรีย์ทหารอาสา' ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่ ณ ถนนสามเหลี่ยมตรงมุมด้านทิศเหนือของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งป็นอนุสรณ์ของทหารอาสาที่ไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรป ในสมัยรัชกาลที่ 6

หรืออย่างกรณี ‘อนุสาวรีย์หมู’ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมคลองหลอด ก็ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของปีกุนโดยตรง แต่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงบุคคลสำคัญ คือ ‘สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ’ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 50 พรรษา

“มีความคิดที่จะทำอย่างอื่นถวาย แต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ได้มีพระราชเสาวนีย์ลงมาว่าไม่ทรงรับของถวาย จึงตกลงกันร่วมสร้างอนุสาวรีย์รูปหมู อันเป็นปีนักษัตรของสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ และทำก๊อกน้ำประปาสำหรับประชาชน เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ แต่ก๊อกน้ำประปาซึ่งมีอยู่แต่เดิมนั้นในภายหลังเกิดการชำรุดเกินกว่าจะซ่อมแซมจึงได้ถูกรื้อออก” รายละเอียดประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งระบุ

ถึงตรงนี้ถ้าจำกันได้ตอนที่ละครสี่แผ่นดินโด่งดังก็ทำให้การเที่ยวย่านเมืองเก่าเป็นกระแส หรือตอนละครบุพเพสันนิวาสโด่งดังก็มีการเที่ยวตามรอยแม่หญิงการะเกด แล้วทำไมเราถึงไม่ทำให้เรื่องอนุสาวรีย์เชื่อมโยงกับเรื่องการท่องเที่ยว เพื่อให้การท่องเที่ยวนั้นเป็นช่องทางการสื่อสารให้คนรุ่นใหม่สนใจประวัติศาสตร์

ยิ่งถ้าเปิดใจกันตรงๆ ก็ต้องยอมรับว่าข้อมูลประวัติศาสตร์อาจฟังดูยากสำหรับคนทั่วไป และในอดีตข้อมูลชุดนี้ก็มักถูกจัดวางในรูปแบบอันเคร่งขรึม เช่น ในตำรา ในนิทรรศการ ในบทความหนักๆ มันจึงถูกจำกัดไว้กับผู้ที่สนใจในวงแคบๆ แต่ถ้าลองพลิกมันขึ้นมาใหม่ เล่าเรื่องให้สนุก สร้างให้เข้ากับปัจจุบันได้ นั่นจะทำให้สถานที่และวัตถุทางประวัติศาสตร์ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศดูน่าสนใจขึ้นไม่น้อย

ในความหมาย ‘อนุสาวรีย์ที่ (ไม่) ถูกลืม’ จึงไม่ได้หมายถึงเป็นสิ่งก่อสร้างที่สวยงาม คงทน มีผู้ดูแลรับผิดชอบชัดเจน

หากแต่เป็นอนุสาวรีย์ที่ผู้คนระลึกถึง และเข้าใจดีว่าถูกสร้างเพื่อคุณูปการอันใด

20180913162053502