‘ผาหมอน’ ทุ่งข้าวในหุบเขา

‘ผาหมอน’ ทุ่งข้าวในหุบเขา

วันฝนซาพาคนรู้ใจไปชมนาขั้นบันไดในหุบดอย เดินเล่นแปลงดอกไม้ยามเช้า ดูดาวเคล้าเสียงเตหน่ายามค่ำคืน

ในโอบล้อมของขุนเขาและนาขั้นไดที่เริ่มแตกกอสีเขียวสดใส บ้านสีชมพูหลังนั้นดูอบอุ่นชวนฝันสำหรับนักเดินทางที่กำลังตามหาเรื่องราวน่าประทับใจในหมู่บ้านปกาเกอะญอแห่งดอยอินทนนท์

“ฉันนอนห้องนี้นะเห็นวิวทุ่งนา ดึกๆ จะได้ออกมานอนดูดาวตรงระเบียง” ใครบางคนเอ่ยขึ้น เมื่อเราเดินมาถึงรีสอร์ทชุมชน Bamboo Pink House อาคารกึ่งปูนกึ่งไม้สีชมพูอ่อน ณ บ้านผาหมอน

7 บ้านน้อยหลังนี้รองรับนักท่องเที่ยวได้ 6-8 คน เป็นที่หมายปองของนักท่องเที่ยว ยิ่งในช่วงที่นาเขียวขจีจนถึงออกรวงสีเหลืองทอง บ้านหลังนี้แทบไม่เคยว่างเลย โชคดีที่ครั้งนี้เรามีโอกาสนอนเปลชมทุ่งข้าว ปล่อยใจไปกับสายลมเบาๆ ฟังเรื่องเล่าของคนปกาเกอะญอผู้ยังคงสืบทอดวิถีแบบดั้งเดิม ทั้งทำไร่ ทอผ้า แถมยังได้ตามไปดูแปลงดอกไม้ที่ปลูกส่งโครงการหลวง ไปซาบซึ้งกับเรื่องราวของกาแฟต้นแรก ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานให้คนที่นี่

แต่ที่ดียิ่งขึ้นไปอีก ก็คือ การได้ชิม ‘ต่าพอเพาะ’ (ข้าวเบอะ) และ ‘มุซาโตะ’ (น้ำพริกกะเหรี่ยง) อาหารบ้านๆ ที่ชิมแล้วชวนน้ำตาไหล (ไม่ใช่เพราะเผ็ดแต่ประทับใจ)

ระหว่างมื้อเย็นใต้แสงเทียนที่ถูกจุดขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศ ใครคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ข้าวเบอะนี้มาจากความจำเป็นในสมัยที่ข้าวไม่พอกิน คนปกาเกอะญอจึงพยายามหาวิธีทำอาหารให้พอกินกันทั้งครอบครัว โดยนำข้าวสารมาหุง ใส่ผักลงไปเยอะๆ ต้นตำรับจริงๆ เป็นหน่อไม้อ่อน เพื่อให้ได้อาหารหม้อใหญ่เพียงพอต่อการรับประทานทั้งครอบครัว

ทุกวันนี้ถึงแม้พวกเขาจะเพาะปลูกข้าวได้พอกินตลอดทั้งปี แต่ก็ยังนิยมทำข้าวเบอะกินกันและเตรียมไว้สำหรับต้อนรับแขก จนกลายเป็นเมนู signature ไปแล้ว ซึ่งนอกจากข้าวเบอะ, ‘มุซาโตะ’ น้ำพริกสไตล์ปกาเกอะญอก็ถือเป็นเมนูเด็ด ทว่า ความไม่ธรรมดาของดินเนอร์กลางดอยก็คือ การได้นั่งล้อมวงกินข้าวแกล้มวิวหลักล้านในบ้านสีหวานหลังนี้

5

แปลงดอกไม้ในสวนหลังเขา

ผาหมอน เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ซ่อนตัวอยู่ในป่าตรงบริเวณกิโลเมตรที่ 23 ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เป็น 1 ใน 6 หมู่บ้านแห่งแคว้นมึกะคี ซึ่งหมายถึง ‘แคว้นแห่งสันติสุข’ อันประกอบด้วยบ้านผาหมอน บ้านแม่กลางหลวง บ้านหนองหล่ม บ้านอ่างกาน้อย บ้านม้งขุนกลาง และบ้านผาหมอนใหม่

บุญทา พฤกษาฉิมพลี ชาวบ้านผาหมอนเล่าว่า คนกะเหรี่ยงมีคำสอนที่ยึดถือและสืบทอดต่อๆ กันมาคือ

“เอาะที เก่อตอที เอาะป่า เก่อตอปก่า” (อยู่กับป่า รักษาป่า อยู่กับน้ำ รักษาน้ำ)

ทำให้จนถึงวันนี้ป่าที่รายล้อมหมู่บ้านยังคงความอุดมสมบูรณ์ น้ำเต็มลำห้วยในหน้าน้ำ กลายเป็นต้นทุนสำคัญในการทำการเกษตร พื้นที่แห่งนี้มีทั้ง นาข้าว สวนกุหลาบ แปลงปลูกดอกไม้เมืองหนาว เฟิร์น และพืชผักอื่นๆ มากมาย

เราเดินลัดเลาะเลียบไหล่เขาไปตามทางเดิน ไม่นานก็พบกับดอกไม้หลากสีสัน บางแปลงเป็นดอกเบญจมาศ สีแดง เหลือง ส้ม บางแปลงแม้จะคลุมไว้ด้วยโดมพลาสติก แต่ก็ไม่อาจปิดบังความสวยงามของกุหลาบดอกโตสีสด

8

พะตีสุปอย บรรพตวนา ประธานท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านผาหมอน บอกว่าเมื่อก่อนชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ปลูกดอกเบญจมาศ แต่เมื่อตลาดดอกกุหลาบมีแนวโน้มดีกว่า จึงเปลี่ยนมาปลูกดอกกุหลาบ

“จากประสบการณ์กว่า 5 ปี ปีแรกแม้จะไม่ได้ทุนคืน แต่ก็ได้บทเรียนสำคัญคือ ต้องเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้ปีนี้ได้ดอกกุหลาบดอกใหญ่ส่งให้โครงการหลวงตามใบสั่งซื้อ”

เราเดินต่อไปยังแปลงอื่นๆ ไม่น่าเชื่อว่าในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้จะมีทั้งดอกเจอบีร่า ดอกคัตเตอร์ เฟิร์นสำหรับตกแต่งช่อดอกไม้ และอีกหลายชนิด รวมไปถึงพืชผักผลไม้อย่าง มะเขือเทศ สุกินี พริกหวาน 

พะตีสุปอยบอกว่า การปลูกดอกไม้นอกจากจะสร้างรายได้จากการส่งขายให้โครงการหลวง ยังเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ด้วย แต่ถ้าถามถึงพืชพันธุ์แห่งความภาคภูมิใจ เขายืนยันว่า

ไม่มีอะไรที่อยู่ในหัวใจและสำนึกของคนปกาเกอะญอเท่ากับ 'กาแฟต้นแรก‘ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ให้

กาแฟของพ่อ มรดกปกาเกอะญอ

เราเดินตามรอยวันวาน ย้อนรำลึกถึงเส้นทางเสด็จของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อกว่า 40 ปีมาแล้ว จนมาหยุดอยู่ที่ต้นกาแฟต้นใหญ่หลังบ้านพะตี(ลุง) พะโย่ ตาโร อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองหล่ม แกเล่าให้ฟังว่า กาแฟต้นนี้พระองค์พระราชทานไว้ให้ชาวบ้านได้ทดลองปลูก เผื่อว่าจะเป็นรายได้ในอนาคต

“ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มาที่นี่ถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกท่านมาเยี่ยมก่อนว่าพวกเราอยู่กันอย่างไร มีข้าวกินมั้ย มีน้ำใช้หรือเปล่า และท่านก็เสด็จมารอบที่สอง เอาต้นกาแฟมาให้ ท่านบอกให้ปลูกไว้ อนาคตจะดี”

9

พะตีและชาวบ้านจึงร่วมแรงร่วมใจกันปลูกกาแฟพระราชทานและดูแลไว้เป็นอย่างดี เมื่อพระองค์เสด็จมาครั้งที่ 2 ทรงรับสั่งถามถึงต้นกาแฟ พะตีจึงทูลเชิญเสด็จฯลงไปทอดพระเนตรต้นกาแฟที่ปลูกอยู่หลังบ้าน พระองค์ทรงรับสั่งให้ใส่ปุ๋ย คลุมโคนต้นด้วยหญ้า เพื่อสร้างความชุ่มชื้น นั่นจึงทำให้กาแฟเจริญเติบโตมาถึงวันนี้

จากนั้นพะตีก็นำเมล็ดกาแฟที่ปลูกไว้ทูลเกล้าฯถวาย เมื่อในหลวงทรงเห็นว่าพื้นที่นี้ปลูกกาแฟได้เจริญเติบโตดี จึงทรงรับสั่งให้ส่งเสริมราษฎรบนพื้นที่สูงปลูกกาแฟนับแต่นั้น และพระองค์ยังนำเมล็ดกาแฟจากต้นหลังบ้านพะตีพะโย่กลับไปให้โครงการหลวงศึกษาวิจัย และกลับไปคืนให้ชาวบ้านนำไปปลูกต่อ ในที่สุดเมล็ดกาแฟสายพันธุ์อะราบิก้าจากต้นพระราชทานก็กระจายอยู่เต็มผืนดอยแห่งนี้

เดินเท้าเล่าเรื่องนิยมไพร

แม้การนั่งดูต้นข้าวยามเช้า นอนนับดาวในยามค่ำคืน จะเพียงพอแล้วสำหรับการหลบมุมมาเติมใจให้ตัวเอง แต่หากได้ยืดเส้นยืดสายผจญภัยนิดๆ หน่อยๆ ก็คงดีไม่น้อย

ชาวบ้านที่นี่แนะนำเส้นทางเดินเท้าเล็กๆ รอบหมู่บ้าน เป็น Trail สั้นๆ ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร โดยเริ่มต้นบริเวณ กม. 26 บ้านแม่กลางหลวง ถึงบ้านผาหมอน ระหว่างเส้นทางจะผ่านป่าสนและต้นก่อ นอกจากนั้นยังสามารถเรียนรู้พันธุ์ไม้ชนิดอื่นๆ รวมถึงสมุนไพรที่ขึ้นอยู่สองข้างทาง

6

บนเส้นทางนี้จะผ่านชุมชนเก่าแก่ที่เรียกว่า บ้านท่าฝั่ง ในอดีตเป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของแคว้นมึกะคี แต่ปัจจุบันได้รวมกับบ้านผาหมอน เนื่องจากที่ตั้งชุมชนมีลักษณะเป็นเกาะกลาง ไม่ถูกลักษณะตามความเชื่อของชาวปกาเกอะญอ ทำให้เกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันในทางที่ไม่ดีอยู่เสมอ ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ และเหตุการณ์แปลกประหลาดที่ไม่อาจพิสูจน์ได้อยู่หลายครั้ง

พ้นจากบ้านท่าฝั่ง ข้ามแม่น้ำกลางพาด ขึ้นไปยังนาขั้นบันไดก็จะเข้าสู่เขตชุมชนและที่ทำกิน ตรงนี้เคยเป็นจุดตั้ง ‘แคมป์เก่านิยมไพร’ ของคุณหมอบุญส่ง เลขะกุล ถือเป็นจุดชมวิวนาขั้นไดที่สวยงามอีกจุดหนึ่งของบ้านผาหมอน ไกลออกไปจะเห็นดอยขนาดใหญ่มีลักษณะคล้ายหมอนที่เคยมีคนหนุน และทิ้งรอยบุ๋มเอาไว้ตรงกลาง นั่นคือที่มาของชื่อ ‘ผาหมอน’

เดินไปไม่ไกลก็จะเป็น โรงเรียนนิยมไพรผาหมอน ที่ก่อตั้งโดยคุณหมอบุญส่ง เลขะกุล โรงเรียนแห่งนี้คือสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็กๆ เกือบทุกคนที่นี่

เรานึกย้อนไปถึงวันเวลาในอดีตที่คนจากต่างถิ่นมาเปิดโรงเรียนเล็กๆ บนดอย เขาคงไม่ต่างจากพ่อพระหรือผู้ให้โอกาส แม้ทุกวันนี้ทางเลือกในการศึกษาจะมีเพิ่มมากขึ้น แต่โรงเรียนนี้ก็ยังคงเป็นอนุสรณ์แห่งความเกื้อกูลและรากฐานทางการศึกษาที่น่าชื่นชม 

ดูดาวเคล้าบทเพลงเตหน่า

แสงอาทิตย์เริ่มอ่อนแรงลงลดโทนสีเขียวสดของทุ่งนาที่ไล่ระดับกันเป็นขั้นบันได จนแปรเปลี่ยนเป็นแสงทองสุดท้ายก่อนจะลับหายไปกับทิวเขา เมื่อความมืดเข้าปกคลุม บางคนเฝ้ารอดวงดาว ทว่า เพื่อไม่ให้เงียบเหงาเกินไป ใครบางคนร่ำร้องอยากจะฟังเสียง เตหน่า

เตหน่าเป็นเครื่องดนตรีประจำชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ จัดอยู่ในประเภทเครื่องสาย รูปร่างคล้ายพิณ สร้างขึ้นจากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น โดยตัวฐานหรือกล่องแหล่งกำเนิดเสียงทำมาจากขอนไม้น้ำหนักเบา สายทำจากเอ็น ให้เสียงไพเราะสะกดผู้ฟังได้อย่างน่าทึ่ง

เล่ากันว่าเครื่องดนตรีชนิดนี้มาจากชายปกาเกอะญอออกไปทำไร่ และพบท่อนไม้รูปร่างแปลกตา จึงนำมาเจาะและนำเอ็นมาขึงเพื่อทำให้เกิดเสียง ปัจจุบันแม้จะเปลี่ยนจากเอ็นเป็นสายกีตาร์ แต่เสียงที่ออกมาไพเราะไม่แพ้กัน

หนุ่มปกาเกอะญอมักใช้เตหน่าเป็นเครื่องดนตรีประจำตัวเวลาจีบสาว โดยจะเทียวไปเทียวมาเพื่อเล่นเตหน่าให้สาวที่ตนหมายปองฟังหลังเสร็จสิ้นการทำงานในแต่ละวัน นอกจากใช้จีบสาวแล้ว เตหน่ายังทำหน้าที่เป็นเครื่องดนตรีประกอบการเล่านิทานของคนเฒ่าคนแก่สู่ลูกหลาน เสียงจากเตหน่า บวกกับคำ‘ทา’ ล้วนแล้วแต่มีความหมายลึกซึ้งกินใจ ทำให้คำสอนของคนปกาเกอะญอเข้าถึงจิตใจของลูกหลานได้เป็นอย่างดี

4

สำหรับคำ ‘ทา’ หรือการขับลำนำที่คนปกาเกอะญอมักนำมาขับร้องร่วมกับการเล่นเตหน่า เนื้อหาส่วนใหญ่จะกล่าวถึงเรื่องราววิถีการดำเนินชีวิตของชาวปกาเกอะญอ โดยผู้เฒ่าผู้แก่มักจะใช้ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับคติ ความเชื่อ จารีตประเพณีของปกาเกอะญอให้แก่ลูกหลาน การเล่นเตหน่าพร้อมกับการขับร้องบททาจึงเป็นกระบวนการขัดเกลาคนในชุมชนผ่านคำสอนในลำนำบทต่างๆ ที่ถ่ายทอดออกมา

และในความเงียบ เสียงเตหน่าที่ขับขานและบรรเลงเพลงแก่ผู้มาเยือนค่อยๆ ดังขึ้น แม้บางเพลง มีบางเนื้อหาที่คนต่างถิ่นอาจฟังไม่เข้าใจ แต่ท่วงทำนองที่บรรเลงออกมานั้น ย่อมทำให้ผู้ฟังคล้อยตาม แม้จะไม่รู้ความหมายก็ตาม...

"เยอ บะ นา เส่อ เกว เส่อ เกว ดิ เป่อ กว่า เยอ บะ บิ เบ”-คิดถึงเธอคิดถึงเสมอ เหมือนมองดูนกบิเบ (นกพญาไฟ)

2

การเดินทาง

บ้านผาหมอน ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 100 กิโลเมตร ใช้เส้นทาง หางดง-สันป่าตอง-จอมทอง ทางเข้าหมู่บ้านเป็นถนนดินแดงและคอนกรีตบางช่วง การเดินทางหากเป็นช่วงหน้าฝนรถยนต์ส่วนตัวอาจไม่สะดวก สามารถใช้บริการรถนำเที่ยวของบ้านผาหมอนได้

สำหรับบ้านพักมีทั้งบ้านหลังเล็กสำหรับ 2 คน, 3-5 คน และบ้านหลังใหญ่ (แบมบูพิงค์) 6-10 คน ราคา 3,500 บาท บ้านพักทั้งหมดดำเนินการโดยชุมชน มีค่าธรรมเนียมชุมชน 20 บาท/คน ค่าบริการคนดูแลและอำนวยความสะดวก 1,000 บาท ส่วนอาหารการกินมีให้เลือก 2 แบบ คือเป็นเมนูตามสั่ง จ่ายตามบิลที่เรียกเก็บ หรือจะจ่ายแบบ 120 บาทต่อคนต่อมื้อก็ได้

สอบถามรายละเอียดเรื่องการเดินทางและที่พักได้ที่ องอาจ​ คามคีรีวง โทร 08 1166 4344