“ฮูปแต้ม ลาว-ไทย” จิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัย เชื่อมใจสองฝั่งโขง

“ฮูปแต้ม ลาว-ไทย” จิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัย เชื่อมใจสองฝั่งโขง

"ฮูปแต้ม" ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ศิลปะอันเป็นจุดร่วมของสองฝั่งโขง ระหว่างภาคอีสานของไทยและฝั่งลาว กำลังจะปรากฏโฉมในเทศกาลศิลปะร่วมสมัย นานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

“ถ้าภาคกลางมีรามเกียรติ์  อีสานบ้านเฮาก็มี สินไซ นี่แหละ เว้ากันซื่อๆ”

เสียงของคุณลุงนักดนตรีคณะหมอลำ กกขาขาว (ต้นขาขาว) พูดถึงความสำคัญของวรรณกรรมเรื่องดัง “สังข์ศิลป์ไชย” หรือ “สินไซ” ระหว่างทำการแสดงหมอลำชุด "สินไซ เดินดง" การแสดงหมอลำอันเก่าแก่ ที่แต่งคำร้องและทำการแสดงครั้งแรก เมื่อ  60 ปีก่อน “สินไซ”เวอร์ชั่นหมอลำได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง เพื่อบันทึกภาพการแสดงอันเป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่สำคัญของผลงานศิลปะชุดใหม่ โดยศิลปินร่วมสมัยจากสองฝั่งโขง

“ฮูปแต้ม” ในภาษาภาคกลาง คือภาพจิตรกรรมฝาผนัง นิยมวาดใว้ภายในโบสถ์ แต่เดิมสร้างสรรค์โดยชาวบ้านหรือพระภิกษุภายในวัด จึงมีสเน่ห์ที่แตกต่างจากงานจิตรกรรมโดยช่างหลวงในภาคกลาง เนื่องจากสามารถสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญา และ วิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นได้อย่างดี โดยที่ไม่ต้องใช้เทคนิคช่างขั้นสูง จุดร่วมกันของงานศิลปะ  “ฮูปแต้ม” ในสปป.ลาวและในภาคอีสานของไทยคือเรื่องราวส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องในทางพุทธศาสนา ทั้งพุทธประวัติ นิทานชาดก นิทานพื้นบ้าน ตลอดถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่สัมพันธ์กับวัด และงานบุญตามประเพณีไปจนถึงวรรณกรรมพื้นบ้านหลาย เช่น พระรามชาดก, กาฬเกษ และสินไซ

Screen Shot 2018-09-03 at 11.19.52 AM

“ฮูปแต้ม ลาว-ไทย” คือ กลุ่มจิตรกรรุ่นใหม่จากสองฝั่งโขง ประกอบไปด้วย ศิลปินไทยเลือดอีสาน ตนุพล เอนอ่อน และ ห่มสวรรค์ อู่ม่านทรัพย์ ฝั่งศิลปินลาวคือ เตียน วิไลพอนจิด และ อำพอนสุก ไพสุริน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ เป็นผู้ดูแล

“ได้รับมอบหมายจากศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ว่า ในงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัย นานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งแรกของไทยนี้  อยากให้ศิลปินไทย-ลาวได้ทำงานร่วมกัน ก็เลยมาลองคัดเลือกดูว่ามีประเด็นใดบ้างที่น่าสนใจ เลยมาเลือกฮูปแต้ม หรือจิตรกรรมฝาผนังในวัดที่มีอยู่ในพื้นที่สองฝั่งโขง ส่วนเนื้อเรื่องก็เลือก ตอน สินไซ เดินดง จากวรรณกรรมร่วมของอาคเนย์ เรื่อง “สังข์ศิลป์ไชย” หรือ ชื่อภาษาลาวว่า “สินไซ”  เพราะ มีความสนุกสนาน และ มีความสวยงามในทางวรรณศิลป์”

ศิลปินกลุ่ม ฮูปแต้ม ลาว-ไทย  กำลังสร้างงานศิลปะชิ้นใหม่ความยาว 15.50 เมตร  ถ่ายทอดเนื้อหาจากวรรณคดีเรื่อง “สินไซ”  ถ้ายุคนี้ถือเป็นนิยาย ขายดี ทุกถ้อยคำที่ใช้ในหนังสือมีความหมายไพเราะ ขนาดฉากที่ตัวละครต้องระบายความโกรธแค้นก็ใช้ถ้อยคำสุภาพ ไม่หยาบคาย เต็มไปด้วยคุณธรรม และ คำสอนที่สอดแทรกอย่างแยบยล แน่นอนว่าการนำเอาวรรณกรรม เก่าแก่ มาตีความใหม่ โดยศิลปินจากสองชาตินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ความต่างกลับกลายเป็นหัวใจหลักในการทำงาน  

“วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมร่วมอุษาคเนย์ โดยเฉพาะ สองฝั่งโขง ยิ่งแน่นแฟ้นเพราะเป็นสำนวน สำเนียงเดียวกัน แน่นอน ศิลปินรุ่นใหม่มาตีความ วรรณกรรมอายุ 400-500 ปี ปัญหามีตั้งแต่การตีความแล้ว เพราะ เราต้องมาหาจุดร่วม และจุดต่าง ที่จะเป็นเทคนิคการสร้างงานเฉพาะตัวของศิลปิน นี่คือบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ปัญหาเกิดหน้างานก็แก้ร่วมกัน ก็เหมือนพวกเรามาเดินดงกันเนอะ เจออะไรช่วยกันแก้ไป นี่แหละทำให้โครงการนี้น่าสนใจ”  อาจารย์ทรงวิทย์กล่าวด้วยรอยยิ้ม

Screen Shot 2018-09-03 at 11.28.18 AM

อำพอนสุก ไพสุริน จิตรกรสาวจากสปป.ลาว  ก็ได้ฟังเรื่องของ “สินไซ” มาตั้งแต่เด็กๆ เล่าถึงสาเหตุที่ทำให้ วรรณกรรมเรื่องนี้อยู่คู่กับชาวลาวมาอย่างยาวนาน และ ได้รับยกย่องเป็นวรรณกรรมเอกของชาติ 

“สินไซ เป็นวรรณกรรมเอกเรื่องหนึ่งของลาว จะเป็นจิตรกรรมฝาผนัง นิทาน หนังสือภาพ บทกลอน ไปจนถึงสโมสรเลยนะ เพราะเนื้อหาของสินไซผูกพันกับวิถีชีวิตประชาชน เนื้อหาคือชีวิตประจำวันของคนเราเป็นคำสอน ที่นำมาใช้ได้ในทุกยุคสมัย อย่างตัวอาจารย์เองก็ นำคุณธรรมเรื่องความอดทน พยายาม และ ความพากเพียรมาใช้”

“ส่วนตัวรู้สึกดีใจมากที่ได้ร่วมเทศกาลครั้งนี้ ที่ดีใจมากกว่านั้นคือ การเลือกถ่ายทอดวรรณกรรมเรื่องนี้ เพราะสินไซมีทั้งฝั่งลาวและไทยมาทำงานร่วมกันแบบนี้ เราก็ได้แลกเปลี่ยนกันว่าสินไซที่ไทยเป็นแบบไหน ที่ลาวเป็นแบบนี้ ก็สนุกมาก งานนี้ไม่ยาก แต่ม่วน เพราะเราสามารถเอาของเก่าแก่ มาผสมกับความทันสมัย เราสามรารถจินตนาการได้ว่าเราจะถ่ายทอดวรรณกรรมเรื่องนี้ออกมาให้คนในยุคสมัยใหม่ได้รู้จักสินไซในรูปแบบไหน ฉากที่ผมรับผิดชอบคือ การต่อสู้ระหว่างสินไซ กับ ยักษ์ มีแอ็คชั่น มีเพลี่ยงพล้ำตกเขาด้วยครับ เอาเป็นว่านี่เป็นฉากรบที่ยิ่งใหญ่เลยครับ”

Screen Shot 2018-09-03 at 11.20.45 AM

ตนุพล ศิลปินฮูปแต้ม และอาจารย์ประจำภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  มองว่า การได้มาทำงานครั้งนี้มันมีคุณค่ากว่าแค่งานศิลปะ แต่การได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกันของศิลปินไทย และลาวก็มีความหมายไม่แพ้กัน    

“ผมทำงานเป็นจิตรกร แต่เมื่อปี พ.ศ.2548 เริ่มสนใจทำงานฮูปแต้มอีสานอย่างจริงจัง และทำมาตลอด รูปแบบผลงานเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ในชีวิต  ผมรับผิดชอบ ถ่ายทอดเรื่องการพจญภัย การสู้รบกับพระยางู กับ ยักษ์หลายตัวเลยครับ  มียักษ์สาว พยายามมาล่อลวงสินไซด้วยนะครับ  งานนี้ไม่ยาก ชอบอยู่แล้วเรื่องการหยิบยืมและต่อยอดทางวัฒนธรรม ผสมผสานของเก่าใหม่ อย่าง 'ดง' ของผมเนี่ยไม่เหมือนในหนังสือนะ ไม่ต้องเป็นป่าอาจจะเป็นเมือง เช่น ครุฑ ก็มาแบบเครื่องบินรบ หรือ งูยักษ์ก็อาจจะเป็นตัวประหลาดที่เราได้ดูในหนังฝรั่งก็ได้นะ”

เตียน วิไลพอนจิด ศิลปินและข้าราชการกรมวิจิตรศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สปป.ลาว  รับผิดชอบ การวาดฉากต่อสู้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในฉากสำคัญของเรื่อง

Screen Shot 2018-09-03 at 11.23.04 AM

“ส่วนตัวผมได้ยิน ได้อ่านเรื่องสินไซมาแต่เล็ก เขาแต่งได้ละเอียดอ่อนมาก สุดยอดเลยนะ สอนความดีความชอบ การวางตัวในสังคม เป็นแบบอย่างที่ดีให้คนทุกยุค ถ้าเอามาเทียบกันนะจะเห็นเลย การเดินทางผ่านด่านของสินไซ เจอยักษ์ เจอมาร เจออะไรเยอะแยะ ในยุคปัจจุบัน คนรุ่นใหม่เองก็ต้องผ่านอะไรมาเยอะแยะมากมาย อุปสรรคปัญหาในทุกๆวัน กว่าจะค้นพบความสุข กว่าจะค้นหาตัวเองเจอ ถ้าได้อ่านเรื่องนี้ จะรู้เลยว่า ชีวิตของคนยุคนี้ก็ไม่ต่างจากการเดินทางของสินไซเลยครับ”

ศิลปินไทยอีกท่านคือ  ห่มสวรรค์ อู่ม่านทรัพย์ รับหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวในตอนจบคือ ม้วนชาดก บทสรุปสุดคลาสสิค ทำดีได้ดี มีแต่ความสุขสมหวัง แต่มีความพิเศษตรงที่ผู้แต่งวรรณกรรมสามารถแยกบทสรุปออกมาได้หลายแนวคิด และยังมีการเชื่อมโยงได้ว่า 3 ตัวละครหลักของเรื่อง อันได้แก่ สีโห ศิลป์ชัย และสังข์ทอง นั้นมาเกิดเป็นพระสารีบุตร  พระพุทธเจ้า และพระโมคคัลลานะ ตามลำดับ

Screen Shot 2018-09-03 at 11.26.02 AM

“สังข์ศิลป์ไชยหรือสินไซนี่มหัศจรรย์มากนะครับ ผมเองเคยตีพยายามตีความเมื่อ 18 ปี ก่อนสมัยทำวิจัยฮูปแต้มถิ่นอีสาน  จึงได้เรียนรุ้เรื่องสินไซ แต่ก็ไม่ได้เข้าใจทั้งหมด เพราะตามสิม (โบสถ์) มีเป็นบางช่วงบางตอน ผมมานั่งใช้เวลาศึกษา เรื่องสินไซจริงๆ คือ 6 ปีเต็มกว่าจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ แต่ก็นะ จะให้เข้าใจครบรอบด้านคงเป็นไปได้ยาก เพราะนี่คือวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน แต่ละพื้นที่ก็เอาไปแต่งเติมต่อตามวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของตนเอง  แต่ผมคิดว่าการวาดภาพจิตรกรรม ทำให้คนเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้นกว่าไปอ่านหนังสือหลายพันหน้านะครับ เพราะคนดูจะได้เห็นภาพและจินตนาการต่อได้ อยากให้มาชมกันเยอะๆ ครับ”

“ผมตั้งใจเลือกใช้สีสันให้แสดงถึงความสุข เพราะในม้วนชาดกนั้น เป็นการนำเสนอช่วงเวลาที่ตัวละคร มีความสุขสมหวัง แฮปปี้เอนดิ้ง หลังได้เรียนรู้จากความล้มเหลว  ได้รับเกียรติยศ และ ความสำเร็จ  ตามหลักโลกธรรม 8 ด้านความสุข  ที่มนุษย์ควรจะได้รับในด้านต่างๆ   ส่วนเทคนิคนี่ ร่วมสมัยเลยใช้ทั้ง บล๊อกสกรีน เพนท์ติ้ง และ สีสะท้อนแสง ด้วยนะ”

เป็นข่าวดีของทั้งศิลปิน และ ผู้ชมงานศิลปะ เพราะ ศาสตราจารย์ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ในฐานะ ผู้อำนวยการศิลป์ของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติครั้งนี้ ยืนยันว่า เปิดโอกาส และ ให้เกียรติศิลปินทั้งสองชาติทำงานกันอย่างอิสระ

Screen Shot 2018-09-03 at 11.27.08 AM

“ข้อจำกัดคงมีแค่เชิงวัสดุนะครับ เพราะเราทำงานลงบนแผ่นไม้แล้วลงสี แทนที่จะเป็นกำแพง แต่ข้อจำกัดอื่นไม่มีนะครับ ในเชิงศิลปะ ทุกอย่างทำได้หมด จินตนาการของศิลปินถ่ายทอดผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ มีการนำเอาเนื้อหาสังคมในยุคปัจจุบันมาสอดแทรก นำเนื้อหาของสังข์สินไซมาสะท้อนเหตุการณ์ยุคปัจจุบัน เราให้ศิลปินได้แสดงออกทางความคิดกันอย่างเต็มที่ครับ  ผมไม่กังวลเลยนะครับ เพราะบริบทนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ผู้ที่ไม่เข้าใจต่างหากต้องเป็นกังวล”  ผู้อำนวยการศิลป์ของเทศกาลกล่าว  

ผลงานศิลปะร่วมสมัย ฮูปแต้ม สองฝั่งโขง ตอน สินไซ เดินดง หรือ The Adventure of Sinxay  พร้อมให้ทุกท่านได้ชม ร่วมกับผลงานศิลปะหลากหลายแขนงของศิลปินไทย-นานาชาติ รวม 75 ชีวิต ที่พร้อมใจมาปลุกกรุงเทพมหานครให้ตื่นตา ตื่นใจ เต็มไปด้วยงานศิลปะ ในเทศกาล บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018  เริ่ม 19 ตุลาคมนี้ รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.bkkartbiennale.com