หลอดไฟ - นวินดา ค้นหาความหมายของชีวิตผ่านศิลปะการเต้น

หลอดไฟ - นวินดา ค้นหาความหมายของชีวิตผ่านศิลปะการเต้น

คุยกับทายาทสถาบันบางกอกแดนซ์ เพราะการเต้นไม่ได้เป็นเพียงการแสดงสวยงาม แต่คือศิลปะที่ให้ความหมายลึกซึ้ง ทั้งทำความเข้าใจกับร่างกายและจิตใจของตนเอง

เริ่มเรียนบัลเล่ต์มาตั้งแต่ 3 ขวบ เติบโตมาในฐานะทายาทของสถาบันบางกอกแดนซ์ ชนะรางวัลการเต้นในเวทีใหญ่ ผ่านการศึกษาในสถาบันศิลปะชั้นนำ กลับมาก็มีสถาบันรองรับ การงานปัจจุบันก็สดใส เป็นทั้งครูสอนเต้น นักออกแบบท่าเต้น และศิลปิน ชีวิตราวกับมีหนทางปูไว้ให้อย่างมั่นคง แต่กว่าจะถึงวันนี้ การเดินทางของ หลอดไฟ - นวินดา วรรธนะโกวินท์ ปัจฉิมสวัสดิ์ ก็ไม่ได้ง่ายเหมือนอย่างใครๆ คิด

เพราะ ‘โอกาส’ ที่มีมาตั้งแต่ต้น อาจเป็น ‘กำแพง’ ที่ก้าวข้ามยาก หากยังค้นไม่พบตัวเอง

จากที่หนึ่งสู่ศูนย์

เด็กสาวที่เกือบเลิกเรียนเต้น ได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองผ่านคลาส The Soloist ของสถาบันบางกอกแดนซ์ จนพาตัวเองไปชนะในเวทีต่างๆ มากมาย หลอดไฟยอมรับว่าตอนนั้นมีอีโก้ใหญ่โตทีเดียว เธอเลือกเดินในเส้นทางนี้อย่างแน่วแน่ เข้าศึกษาสาขาศิลปะการเต้นที่ประเทศออสเตรเลีย ที่นั่นหลอดไฟเหมือนหล่นฮวบไปตั้งต้นที่ศูนย์ สาขานี้ที่ The Victorian College of Arts ซึ่งรับนักศึกษาเพียงปีละ 10 – 15 คน ไม่สนใจว่าคุณเป็นใครมาจากไหน ทุกคนเริ่มต้นใหม่เหมือนกันหมด เธอจึงได้รู้จักโลกแห่งศิลปะและการใช้ชีวิต ที่ทำให้เปลี่ยนทัศนคติแบบ ‘ลูกคุณหนู’ มามองโลกมุมใหม่ที่เข้าถึงความงามของชีวิตได้ง่ายๆ ลดความเป็นวัตถุนิยม และลดกฎเกณฑ์แห่งความ ‘เป๊ะ’ ของนักเต้น เห็นความงามที่แตกต่าง ในความไม่สมบูรณ์แบบ ก็มีความสวยงามและความหมายอยู่

20180724204457881

“ได้เรียนกับครูได้อยู่กับเพื่อนที่เจ๋งมาก ได้เรียนรู้หลายอย่าง เราจะเข้ากับเขาได้ไหม เขาจะดูถูกเราไหม หลอดไฟว่าเราไม่ใช่แค่ไปเรียนกับเขา แต่ต้องโดดเด่นในห้องด้วย เพราะนั่นคือสิ่งที่โครงการโซโลอิสต์บอกเสมอ เพราะคนไทยไปเรียนเต้นเยอะ แต่ครึ่งต่อครึ่งก็พ่ายกลับมา จึงต้องพยายามทั้งการเรียน และการใช้ชีวิต ให้เขารักและไม่ดูถูกเรา”

กำแพงของคนไฟแรง

เมื่อหลอดไฟได้เห็นโลก ก็รู้สึกไกลไปกว่าการเต้นของตัวเอง เธออยากพัฒนาประเทศผ่านศิลปะการเต้น “ซึ่งเป็นศิลปะที่คนมองข้ามมากที่สุด” เธอบอก ไม่เหมือนกับดนตรี หรือวิจิตรศิลป์ ที่ได้รับความนิยม ประเมินมูลค่าได้ง่าย คนมากมายที่มีคำถามว่า “เรียนเต้นแล้วได้อะไร เต้นแล้วไปไหน” หลอดไฟรู้ดีกว่าการเต้นสามารถพัฒนาและเปลี่ยนชีวิตได้ หากมองให้ถูกจุด

Human Contemporary Dance and Installation Performance by LORDFAI Navinda Pachimsawat  (6)

เรียนจบกลับมาใหม่ๆ เธอพยายามนำสิ่งที่ได้ไปเรียนรู้มาเปลี่ยนประเทศผ่านการเต้น หลอดไฟออกแบบคลาสกึ่งเวิร์คชอปใหม่ ที่พ่อแม่เด็กที่มาเรียนยากจะเข้าใจ

“ขนาดคุณแม่เรายังงงเลย ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เรารู้สึกว่าเราต้องทำทุกอย่าง ต้องเปลี่ยนประเทศนี้ ซึ่งทำคนเดียวมันเป็นไปไม่ได้ ก็มีช่วงที่พ่ายไป เหมือนซึมเศร้า กลัวตัวเองว่าจะทำไม่ได้ บวกความเพอร์เฟคชั่นนิสต์ของเรา และใจร้อนด้วย เลยซึมเศร้าไปพักใหญ่ จากที่เต้นมาตลอด 20 ปี กลายเป็นไม่เต้นเลยเป็นปี จนเรารู้ว่าเราไม่ไหวแล้ว อีกนิดเดียวเราต้องทิ้งมันแน่”

หนทางของนักเต้น

หลอดไฟจึงไปสมัครคอร์สหนึ่งที่ออสเตรเลีย เป็นคอร์สสำหรับนักเต้นที่เพิ่งเรียนจบ “เขารู้ว่ามันยากมาก งานก็มีน้อย คนเข้าใจก็น้อย จึงทำคอร์สเพื่อกระตุ้นพลังให้นักเต้น ก่อนจะถูกปล่อยออกมาเคว้ง” หลอดไฟเป็น 1 ใน 10 คนที่ผ่านออดิชั่น เธอเล่าว่าคอร์สนี้เหมือนกันบำบัด แต่ละคนจะมีเรื่องราวปัญหาต่างกัน ระยะเวลา 1 เดือน เธอร้องไห้ทุกวัน โดยมีเมนทอร์คอยแนะนำ ทำให้เธอแยกปมที่ทับซ้อนออกมา ไม่ใช่แค่เธอกับการเต้น แต่ยังเป็นเธอกับคุณแม่และสถาบันด้วย

Human Contemporary Dance and Installation Performance by LORDFAI Navinda Pachimsawat  (2)

“หลอดไฟบอกเมนทอร์ ว่าเราอาจไม่ชอบการเต้นก็ได้ เราอาจทำเพราะต้องทำ หรือทำได้ดี ซึ่งเขาบอกว่า คุณไม่ได้ไม่ชอบมันหรอก คุณแค่กลัว กลัวว่าจะไม่สำเร็จ ก็เลยคลิกเลย เป็นความกลัวที่เราควรจะก้าวข้ามผ่านไปให้ได้ แล้วยังมีเรื่องที่เราอยู่ใต้เงาของคุณแม่มาตลอด เราได้โอกาสนั้นโอกาสนี้ เพราะเป็นลูกคุณแม่ คิดไปเองว่าคนอื่นจะคิดยังไง พอมีมุมนั้น ก็จะมีมุมที่เราต้องพยายามทำให้ดี มากกว่าคนอื่น ไม่ให้คนมาดูถูกเรา ให้รู้ว่าเราเก่งด้วยตัวเองไม่ใช่เพราะได้โอกาสอื่น”

IMG_8165

คอร์สนี้จบลงด้วยที่ทุกคนออกมาทำการแสดงของตัวเอง ในเวทีใหญ่ผู้ชมมากมาย หลอดไฟถ่ายทอดความเป็นตัวเองอย่างจริงใจ ช่วงหนึ่งเธอพูดความในใจ ความกดดันต่างๆ ถึงคุณพ่อคุณแม่ออกมาเป็นภาษาไทย แสดงไปร้องไห้ไป แม้ไม่เข้าใจภาษา แต่การแสดงนี้กลับสื่อถึงผู้ชมจนชาวต่างชาติร้องไห้ตาม “หลอดไฟเลยเข้าใจ การจะเป็นศิลปินที่ดี เราก็ต้องจริงใจกับสิ่งที่เราทำด้วย เพราะเป็นสิ่งที่คนสัมผัสได้จริง”

จากนั้นเธอจึงตัดสินใจขอทุนเรียนเต้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก Dance Web เพื่อเข้าร่วมเทศกาล Impulstanz เทศกาลศิลปะการเต้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดขึ้นที่เวียนนา ประเทศออสเตรเลีย เป็นทุนที่มีคนสมัครทั่วโลกราว 4 -5 พันคน และจะให้ทุนเพียง 40 คน โดยพิจารณาจากสิ่งที่เขียนในกระดาษ A4 1 ใบ และเธอก็เป็นคนไทยคนเดียวได้รับเลือก ด้วยวัย 22 ปี จึงมีอายุน้อยที่สุดในปีนั้น

“หลอดไฟไม่เขียนเลยว่าตัวเองมีอะไรดี แต่เขียนว่าตัวเองกลัวอะไรบ้าง และอยากให้ประเทศไทยเป็นยังไงบ้าง”

ยิ่งไปเวียนนา โลกศิลปะการเต้นก็ยิ่งกว้างใหญ่เหมือนถูกโยนเข้าสู่อีกมหาสมุทรหนึ่ง ทำให้เธอรู้ว่าศิลปะต้องอัพเดทตลอดเวลา และต้องวิ่งตามอย่างหนัก

“จนเราลืมตัวตนเราเอง ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมเรา เช่น การเต้นร่วมสมัย ซึ่งไม่เน้นความสวยงาม แต่เน้นการเปิดเผยความจริง จึงมีการวิ่งแก้ผ้าไปมา หลอดไฟก็ไปวิ่งแก้ผ้ากับเขานะ ด้วยความที่มันเป็นอาร์ต”

ผ่านไปไม่นาน เธอก็หยุดทำสิ่งนั้น หันกลับมามองตัวเอง การที่เป็นเพียง 1 ใน 3 คนเอเชียท่ามกลางคนผิวขาว ทำให้ต้องวิ่งตามเขาเพราะกลัวไม่เข้าเทรนด์? เธอเปลี่ยนใช้ความเป็นส่วนน้อยนี้พลิกให้เป็นความโดดเด่น “หลอดไฟเลยดึงความเป็นเอเชียบางส่วนมานำเสนอ เช่น มารยาทของคนไทย ระดับหัวที่เด็กต้องนั่งต่ำกว่า ผู้ใหญ่ต้องนั่งสูง กลายเป็นว่าฝรั่งว้าว ว้าวยิ่งกว่าวิ่งแก้ผ้าเยอะเลย” นั่นทำให้เธอผ่านจุดติดขัดมาได้อีกจุด และชัดเจนว่าต้องจริงใจกับตัวตน

IMG_8170

หลังจากจบเทศกาลเธอก็แบ็คแพคเดินทางท่องยุโรปคนเดียว 3 เดือน ได้เจอผู้คนหลายแบบ และตกผลึกกับตัวเองได้ว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิต “นักเต้นที่จบมาอยู่เมืองไทยไม่ได้ก็ไปอยู่เมืองนอก เพราะเมืองไทยไม่มีงาน แต่เราโชคดีที่มีโรงเรียน พอผ่านปมตรงนั้นมาแล้ว จึงมามองอีกมุม คือใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น อยู่เมืองนอกเราก็ทำได้เพื่อตัวเราเอง เติมเต็มตัวเอง แต่อยู่เมืองไทยเราช่วยคนได้กว่านี้เยอะ เช่น เอาศิลปะเข้ามาสู่ชีวิตคนได้ ถ้ามีโอกาส ทำไมจะไม่มาทำที่นี่ให้ดีล่ะ”

20180724204458943

หลอดไฟกลับมาทำงานที่สถาบันบางกอกแดนซ์เต็มตัวได้ 5 ปีแล้ว และยังสร้างงานศิลปะการแสดงของตัวเองเสมอ วิธีคิดงานหลอดไฟจะดึงจากตัวเองมากที่สุด แต่เล่าออกมาในวิธีที่เปิดโอกาสให้คนตีความได้หลากหลาย

งานสอนเธอก็ยังคงเน้นพื้นฐานเทคนิคการเต้น แต่นอกจากนั้นหลอดไฟเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้คิดและมีส่วนร่วม เธอยังบอกด้วยว่า การเต้นคือสิ่งที่พัฒนาคนได้ เพราะการเติบโตของเด็ก อาศัยการพัฒนาประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ การมอง การฟัง ได้กลิ่น ลิ้มรส และสัมผัส การเต้นเป็นศิลปะอย่างเดียวที่พัฒนาประสาทสัมผัสเพิ่มขึ้น คือ การรับรู้แรงโน้มถ่วง การรับรู้ทิศทาง และความสัมพันธ์ของร่างกาย (กีฬาก็ทำได้เช่นกัน) การพัฒนาสัมผัส การประมวลผลและแสดงออกอย่างรวดเร็วผ่านการเต้น จะช่วยพัฒนาได้หลายเรื่อง เพราะนักเต้นทำงานกับร่างกายตัวเอง ทำความเข้าใจตัวเองอยู่ตลอดเวลา

20180724204500404

ความฝันสูงสุดของหลอดไฟคืออยากมีคณะหรือสถาบันของตัวเอง “อยากทำให้เห็นว่า คุณเต้นเฉยๆ คุณก็ยังได้เงินเดือนทุกเดือน” เพื่อแก้ปัญหาว่าเต้นแล้วจะไปทำอะไร การเต้นสามารถทำงานได้หลายอย่างมาก หากมีทุนหรือองค์กรสนับสนุนในระยะยาว และหากสามารถพัฒนาคนให้มาดูการเต้นเพื่อศิลปะจริงๆ ไม่ใช่เต้นในงานแสดงสินค้า หรือประกอบสิ่งอื่น นี่คืออีกมุมที่เธออยากทำให้เกิดขึ้นมา

“เพราะการเต้นเป็นศิลปะที่มีความลึก ไม่ใช่ตื้นๆ เต้นสวยๆ เท่านั้น”