อยู่อย่างไร แบบผู้สูงวัยญี่ปุ่น

อยู่อย่างไร แบบผู้สูงวัยญี่ปุ่น

เมื่อญี่ปุ่นนำหน้าไทยในเรื่องจำนวนผู้สูงอายุ ตามไปดูนวัตกรรมที่อยู่อาศัยซึ่งพวกเขารองรับไว้สำหรับสังคมที่เปลี่ยนไป

สังคมผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็พูดถึง โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ที่นำหน้าไปไกลกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน พวกเขาได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เข้าสู่ 'สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มขั้น'(Super Ageing Society) อันเป็นผลพวงมาจากการเพิ่มประชากรเพื่อฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ผู้สูงอายุที่เป็นคนเจนเนอเรชั่น เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) จึงมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 20 ของประเทศ

เว็บไซต์ข่าว The Japan Times อ้างอิงตัวเลขจากกระทรวงกิจการภายในของญี่ปุ่นเมื่อเดือนเมษายน 2561 ว่า จำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 27.7 ซึ่งถือว่าเป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ขณะที่สัดส่วนประชากรวัยเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 12.3

ขณะที่ประเทศไทย เว็บไซต์กรมกิจการผู้สูงอายุระบุว่า นับตั้งแต่ พ.ศ.2513 จนถึงปัจจุบัน คนไทยมีอายุยืนยาวมากขึ้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 77 ปี ทำให้โครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก และคาดว่าในปี พ.ศ. 2579 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องศึกษาบทเรียนจากประเทศอื่นๆ เพื่อรองรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

ถ้าใครติดตามข่าวคราวในวงการอสังหาริมทรัพย์ กระทั่งดูเว็บไซต์นิตยสารที่ว่าด้วยการออกแบบตกแต่งบ้านอยู่บ้าง คงรู้ดีว่าการออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับผู้สูงอายุกำลังเป็นเทรนด์และความจำเป็นที่ขาดไม่ได้ และประเทศญี่ปุ่นคือต้นแบบและอนาคตของไทยในเรื่องการออกแบบด้านที่อยู่อาศัย ด้วยมีความสอดคล้องในเรื่องวัฒนธรรม สภาพความเป็นอยู่ สภาพอากาศส่วนใหญ่ รวมถึงมีความก้าวหน้าทางด้านวิศวกรรมที่อยู่อาศัย

ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา 'จุดประกาย' ได้มีโอกาสร่วมคณะร่วมกับบมจ.เอพี (ไทยแลนด์) เพื่อไปศึกษาการจัดการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ จึงขอนำสาระสำคัญเพื่อเป็นไอเดียสำหรับผู้สนใจที่จะนำไปพัฒนาเป็นแบบอย่างพัฒนา

ที่อยู่อาศัยแบบผู้สูงวัย

ในอดีตรูปแบบครอบครัวไทยอาจคุ้นเคยกับการเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีคนหลายเจนเนอเรชั่นอยู่ร่วมกัน เอื้อเฟื้อดูแลกัน แต่แล้วปัจจุบันครอบครัวเดี่ยวแบบพ่อแม่ลูกก็กลับมากขึ้น ที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีลักษณะเช่นนั้น ธุรกิจการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุจึงมีหลายรูปแบบเพื่อให้ครอบครัวแต่ละแบบได้เลือกตามความเหมาะสม ประกอบไปด้วยหลักๆ 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.การพัฒนาที่อยู่อาศัยในรูปแบบ Nursing Home และบริหารจัดการผ่านบริษัท 2. การลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยในโครงการขนาดใหญ่ เพื่อให้คนทุกวัยสามารถอยู่ร่วมกันได้ มีสถานดูแลผู้สูงอายุ โรงเรียน ที่ทำกิจกรรมสำหรับเด็กในพื้นที่ละแวกเดียวกัน 3.ธุรกิจรีโนเวตที่อยู่อาศัย และ 4. ธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์ Home Material and Product Innovation สำหรับผู้สูงวัย

เราเริ่มทริปที่ Charm Premier Fukasawa ซึ่งเป็นตัวอย่างของบ้านพักผู้สูงวัยแบบ Nursing Home ซึ่งบริหารจัดการโดย Charm Care Corporation ซึ่งเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ของบริษัท มิตซูบิชิ จิโช เรสซิเดนซ์ จำกัดบริษัทในเครือมิตซูบิชิ เอสเตท

Charm Premier Fukasawa

ทาคาฮิโกะ ชิโมะมูระ ประธานบริษัท Charm Care Corporation กล่าวว่า เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 มีห้องพักทั้งสิ้น 85 ห้อง ปัจจุบันมีผู้สูงวัยเข้าพักแล้วประมาณร้อยละ 50 พื้นที่ภายในได้รับการออกแบบให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้สูงวัย โดยมีการจัดสรรให้เป็น ส่วนของห้องพักและพื้นที่ส่วนกลางเพื่อใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน ภายในประกอบไปด้วย ห้องออกกำลังเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย พื้นที่สำหรับทำกิจกรรมสันทนาการ โดยภายในอาคารให้บรรยากาศเหมือนแกลเลอรีศิลปะเพราะประกอบไปด้วยงานศิลป์ของนักศึกษามากกว่า 100 ชิ้นที่จัดแสดงไว้ให้ผู้สูงวัยได้เสพงานศิลป์เพื่อการผ่อนคลาย ส่วนด้านนอกจัดเป็นสวน Outdoor พร้อมระเบียงไม้ให้สามารถออกไปนั่งชมสวนในวันที่อากาศดี

“คอนเซปต์ของที่นี่ต้องการให้เป็นชุมชนของผู้สูงอายุ ให้ผู้อยู่อาศัยได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ไม่อยู่โดดเดี่ยว เราเลยเน้นพื้นที่ส่วนกลางมาก นอกจากนี้ ยังได้จัดบริการให้ตรงกับความต้องการเฉพาะบุคคล เช่น มีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด สำหรับผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างความสุข อย่างร้องเพลง โชว์คอนเสิร์ต การแสดงมายากล ยิมนาสติกเพื่อการฟื้นฟูร่างกาย การออกกำลังกาย กิจกรรมทางวัฒนธรรม หรือแม้แต่เมนูอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ และอาหารมื้อพิเศษ”

การทำธุรกิจนี้ในประเทศญี่ปุ่นจะเน้นยึดทำเลเมืองใหญ่อย่าง โตเกียว โอซากา เกียวโต เพื่อให้บ้านพักผู้สูงวัยไม่ถูกตัดขาดไปจากวิถีชีวิตคนเมืองตามปกติ ลูกหลานมาเยี่ยมได้ง่าย ขณะเรื่องราคาค่าเช่าเมื่อรวมค่าอาหารและบริการทั้งหมด จะถูกคำนวณเข้ากับลักษณะทำเล ขนาดความกว้างของห้องการใช้จ่ายเพื่อเข้าพักใน Nursing Home จึงมีตั้งแต่ระดับ 8 หมื่นเยนถึงระดับ 9 แสนเยนต่อปี

3 ประตูที่ปรับองศาการเปิดให้ได้ระยะกว้างขึ้น สำหรับผู้ใช้ wheelchair

6

ชุมชนแห่งความสุข

แบบจำลองการอยู่อาศัยในรูปแบบที่ 2 ถูกเรียกว่า Wellness Square อาคารพักอาศัยเพื่อผู้สูงวัย ซึ่งตั้งอยู่ภายในโครงการ Fujisawa Sustainable Smart Town ถูกพัฒนาขึ้นโดย Panasonic Corporation ซึ่งต้องการพัฒนาให้เป็นพื้นที่โดยรอบให้เป็น Wellness Community หรือชุมชนที่ตอบสนองการอยู่อาศัยของทุกช่วงวัย

Wellness Square นี้ประกอบด้วย 2 อาคาร คือฝั่งเหนือและฝั่งใต้ พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดที่ว่า การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีย่อมส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี ที่นี่จึงพัฒนาให้สามารถรองรับบุคคลได้ทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงวัย โดยมีแนวคิดส่งเสริมการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ลดช่องว่างระหว่างวัย โดยพื้นที่หลักของ Wellness Square มุ่งเน้นไปที่การใช้สอยของผู้สูงวัย และยังประกอบไปด้วยบริการอื่นๆ ที่สามารถเชื่อมโยงคนทุกเพศทุกวัยเข้าไว้ด้วยกัน เช่น บ้านพักผู้สูงวัย คลินิกตรวจรักษาสุขภาพ ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ศูนย์ดูแลผู้สูงวัย ห้องจัดกิจกรรม และอื่นๆ

8

ความน่าสนใจของที่นี่คือพวกเขาใช้เทคโนโลยีบันทึกและเชื่อมโยงทุกข้อมูลของผู้พักอาศัย ทั้งจากโรงพยาบาล ศูนย์กีฬา ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลเกี่ยวกับยา และข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็นไว้ในฐานข้อมูลที่สามารถนำมาเรียกใช้งานได้ตลอดเวลา เพื่อแก้ปัญหาการขาดความเชื่อมโยงของข้อมูล ที่จำเป็นและข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้การรักษาล่าช้า เป็นแหล่งชุมชนของครอบครัวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลายช่วงวัยโดยไม่แยกออกจากกัน

ห้องสันทนาการที่Wellness Square

ขณะที่รูปแบบที่ 3 ซึ่งเป็นรูปแบบรีโนเวทบ้านเพื่อผู้สูงวัยนั้น เราได้เดินทางไปดูที่ Mitsubishi Estate Home (MEH) ซึ่งดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้านและรีโนเวทที่อยู่อาศัยโดยมีมาตรฐานการออกแบบที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงวัย

แน่นอนว่าการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยมีความซับซ้อนมากกว่าการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป เนื่องจากจำเป็นต้องคำนึงถึงการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายใต้เงื่อนไขความปลอดภัยในการดำรงชีวิต ทีมงานของ Mitsubishi Estate Home (MEH) บอกว่า การรีโนเวทบ้านเพื่อให้เหมาะกับผู้สูงวัยจึงประกอบไปด้วย 3 หลักสำคัญ ได้แก่ 1. ลดสิ่งกีดขวางให้ได้มากที่สุด จึงออกแบบให้ทุกห้องทุกโซนเชื่อมหากันได้ ทางเดินและพื้นที่ทุกส่วนต้องมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น เหมาะกับผู้สูงอายุที่เริ่มเดินไม่ถนัด รวมถึงผู้ที่จำเป็นต้องใช้รถเข็น

 2. ตำแหน่งต้องถูกต้อง ในที่นี้หมายถึงเรื่องของประตู หน้าต่าง อ่างน้ำ ไปจนถึงจุดเล็กๆ อย่างปลั๊กไฟ เต้าเสียบ ต้องดีไซน์ใหม่เพื่อให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ไม่สูงไม่ต่ำเกินไป เหมาะแก่การใช้งานของผู้สูงอายุ 3. เรื่องอุณหภูมิ ซึ่งสำคัญมากเพราะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ อีกทั้งยังส่งผลไปถึงเรื่องการเจ็บไข้ ดังนั้นทุกห้องในบ้านจึงต้องมีอุณหภูมิที่เท่ากันเพื่อป้องกันการเปลี่ยนอุณหภูมิอย่างฉับพลัน เทคโนโลยีอย่างระบบปรับอากาศแบบส่วนกลางทั้งบ้านจึงถูกนำมาใช้ในจุดนี้

9 ผนังกันความร้อน ผลิตจากแร่ใยหิน ไดรับรางวัล Good Design Award 2013

4 พื้นที่ระหว่างห้องที่เป็น Barrier Free

นวัตกรรมใหม่ในญี่ปุ่น

ถึงตรงนี้ คำถามอาจไม่ใช่แค่ว่าแล้วอะไรที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับผู้สูงอายุ แต่กลับเป็นคำถามที่ว่าเราจะจัดสรรชีวิตอย่างไรสำหรับรองรับสังคมที่เปลี่ยนไป และที่ประเทศญี่ปุ่น การออกแบบที่เหมาะกับผู้อยู่อาศัยทุกวัย คือแนวคิดที่เกือบทุกสถานที่สาธารณะล้วนนำเอาไปใช้ และมีหลายบริษัทที่พยายามออกแบบวัสดุเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุ

 NODA SHOWROOM by NODA Corporation ซึ่งเราไปเยี่ยมเยียนเป็นที่สุดท้าย เป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุปูพื้นชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น พวกเขาได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการอยู่อาศัยของผู้สูงวัยขึ้น อันเริ่มต้นจากการทำวิจัยและพัฒนาโดยได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ นำนวัตกรรมวัสดุปูพื้นที่ช่วยลดแรงกระแทก (Shock Absorbing Floor) ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงวัยด้วยคุณสมบัติพิเศษในการรองรับแรงกระแทกมาใช้

 ภายในโชว์รูมยังจำลองประสบการณ์สูงวัยให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัส ด้วยการสวมชุดที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เพื่อคนแต่ละวัยสัมผัสประสบการณ์เสมือนเป็นผู้สูงวัย ทั้งนี้รายงานของ NODA บอกว่า ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ ภายในบ้านของตนเอง ร้อยละ 77.1 และสถานที่เกิดยังไม่ใช่ห้องน้ำหรือห้องครัวเหมือนกับช่วงอายุวัยทำงาน แต่กลับไปเกิดที่บริเวณห้องนั่งเล่นและห้องนอน พวกเขาจึงคิดว่านวัตกรรมต้องอยู่กับทุกๆ สัดส่วนที่ผู้สูงอายุใช้ชีวิต

สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้น นอกจากการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีแล้ว ผู้สูงวัยในญี่ปุ่น (อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป) จะได้รับการ์ดที่สามารถนำไปใช้บริการเกี่ยวกับสุขภาพ จำแนกผู้สูงอายุที่มีระดับการพึ่งพาออกเป็น 5 ระดับ เพื่อนำไปยื่นใช้บริการเกี่ยวกับสุขภาพได้อย่างเหมาะสม โดยจะเสียค่าใช้จ่ายเพียงร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือรัฐจะเป็นผู้ออกให้ ซึ่งเงินนี้มาจากโครงการประกันสุขภาพระยะยาว โดยการเก็บเงินจากผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปเข้ากองทุนเป็นประจำต่อเนื่อง และอีกส่วนมาจากเงินภาษี 

นี่เองจึงทำให้ผู้สูงวัยสามารถเข้าถึงบริการ Nursing Home หรือ Nursing Care ได้อย่างสบาย ทำให้ผู้เล่นซึ่งพร้อมให้บริการทั้งรัฐและเอกชนเกิดขึ้นจำนวนมาก

1 อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิภายในบ้าน

8 บันไดที่ปรับให้ความชันลดลง หน้ากว้างมากขึ้น พร้อมแถบเรืองแสงสำหรับยามกลางคืน

Gen X ผู้สูงอายุกลุ่มใหม่

เมื่อเรื่องผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่นรุดหน้าไปมาก แล้วการเตรียมพร้อมของประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ตัวอย่างจากนักพัฒนาโครงการของไทย วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กร และการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) มองว่า การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของภาคธุรกิจในการปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและบริการให้สามารถตอบโจทย์และเข้าถึงความต้องการของกลุ่มผู้สูงวัยได้อย่างตรงจุด ขณะที่โครงสร้างของกลุ่มผู้สูงอายุเอง ยังสามารถแบ่งแยกย่อยออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้

  1. The Young Old อยู่ในช่วงอายุ 60-69 ปี ซึ่งจะเป็นกลุ่มในวัยเพิ่งเริ่มต้นเกษียณ ทำให้อยู่ในช่วงของการปรับตัว จากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในชีวิต จากไลฟสไตล์ที่เคยทำก่อนหน้านั้น เช่นเคยไปทำงาน หรือบางคนอาจอยู่ในระดับบังคับบัญชาที่มีลูกน้องในสายงาน ทำให้จะพยายามให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าในชีวิต เพื่อให้ได้รับการยอมรับ ขณะเดียวกันร่างกายก็ยังมีความแข็งแรงอยู่
  2. The Middle Old อยู่ในช่วงอายุ 70-79 ปี ซึ่งคนกลุ่มนี้มีการปรับตัวเข้าสู่ภาวะหลังวัยเกษียณได้มากพอสมควร แต่อาจมีข้อจำกัดในไลฟ์สไตล์ที่หวือหวาหรือทำไม่ได้หลากหลายมากนัก เนื่องจากลักษณะทางกายภาพที่เริ่มถดถอยลงตามวัย ซึ่งโดยปกติของมนุษย์ที่สมรรถภาพของร่างกายจะเริ่มถดถอยรวดเร็วกว่าเดิมหลังอายุมากกว่า 75 ปีขึ้นไป
  3. The Old Old หรือในกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลในเรื่องของสุขภาพอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษเพิ่มมากขึ้น

“เราไม่ได้มองเพียงแค่การพัฒนาที่อยู่อาศัยในปัจจุบันเท่านั้น แต่เรามองไปถึงการตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยในอนาคตด้วย สำหรับคอนโดมิเนียมในเมืองสำหรับผู้สูงวัยรุ่นใหม่ที่เรากำลังจะพัฒนาขึ้นนั้น กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่ผู้สูงวัยที่เป็นกลุ่มคนในยุค Baby Boom แต่คือกลุ่มคน “เจนเนอเรชั่น เอ็กซ์” ในวันนี้ ซึ่งปัจจุบันมีอายุประมาณ 37-57 ปี (เกิดระหว่าง พ.ศ. 2504 – 2524) และกำลังจะก้าวย่างเข้าสู่การเป็น ‘ผู้สูงวัยรุ่นใหม่’ (The Young Old) ซึ่งวิธีการออกแบบที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยรุ่นใหม่นี้ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ รวมถึงการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าที่ส่งมอบ อีกทั้งที่พักอาศัยหรือชุมชนสำหรับผู้สูงวัยในปัจจุบัน มักจะตั้งอยู่ห่างไกลหรืออยู่ในต่างจังหวัด เราจึงพบช่องว่างและเล็งเห็นโอกาสที่จะพัฒนาคอนโดมิเนียมที่ตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้สูงวัยรุ่นใหม่นี้  โดยจะมีความโดดเด่นด้วยการออกแบบ และทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง”

5

ทั้งนี้คาดว่า เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) จะเปิดตัวคอนโดฯเพื่อผู้สูงอายุได้ในปี 2563 ทำเลสาทร-ตากสิน ใกล้รถไฟฟ้าสถานีวุฒากาศ เป็นคอนโด High rise อาจจะเป็นแบรนด์ใหม่หรือแบรนด์เดิมที่มีอยู่แล้วโดยเพิ่มแบบห้องและส่วนกลางที่รองรับกลุ่มผู้สูงอายุเข้าไป พื้นที่ขนาด 35-40 ตร.ม.ขึ้นไป ฟังก์ชันที่จะใส่เพิ่ม คาดว่าจะมีประตูห้องที่กว้างขึ้น ห้องน้ำที่ต้องมีส่วนราวจับเพิ่ม พื้นที่ไม่ลื่น และล้มไม่เจ็บ เพื่อตอบรับตลาดผู้สูงอายุโดยเฉพาะ