เสริมแพทย์ชุมชนด้วย“อสม.ออนไลน์”

เสริมแพทย์ชุมชนด้วย“อสม.ออนไลน์”

แอปพลิเคชันใหม่ๆ เกิดขึ้นแทบทุกวัน แต่จะมีสักกี่มากน้อยที่ปั้นมันขึ้นมาเพื่อหวังให้ช่วยยกระดับการแพทย์ปฐมภูมิ

นอกจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หากนึกถึงหน่วยแพทย์ที่ใกล้ชิดชุมชน และเป็นด่านสกัดความเจ็บป่วยต้นทาง ไม่ว่าใครก็คงนึกถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับหมออนามัย

ในวงจรการแพทย์ อสม.มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในมิติการส่งเสริมสุขภาพในชุมชน เนื่องด้วยลำพังจำนวนหมออนามัยที่มีในแต่ละ รพ.สต.คงไม่สามารถขับเคลื่อนงานทั้งหมดได้ หากพื้นที่ไหนที่ อสม.มีความเข้มแข็ง กระตือรือร้น ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ พื้นที่นั้นก็มีแนวโน้มสูงที่จะมีสุขภาวะที่ดี การพัฒนาศักยภาพของอสม.ทั้งในด้านองค์ความรู้และการทำงานแบบเครือข่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาอื่นๆ

ในยุคที่สมาร์ทโฟนไม่ต่างอะไรกับของสิ่งจำเป็นที่ทุกคนพกติดตัว การทำงานของ อสม.ได้พัฒนาไปเรื่อยๆ และหนึ่งในจำนวนนั้นคือการสร้างแอปพลิเคชัน “อสม.ออนไลน์” ซึ่งมีบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ร่วมผลิตและช่วยให้การทำงานของ อสม.มีประสิทธิภาพมากขึ้น

วิพล โชคบัณฑิต ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านแก้ง จ.ชัยภูมิ หนึ่งในหน่วยบริการที่นำแอปฯอสม.ออนไลน์ มาใช้งาน กล่าวว่า รพ.สต.บ้านแก้งเริ่มใช้แอปฯดังกล่าวตั้งแต่ปี 2559 เพราะสามารถควบคุมข้อมูล ทั้งยังดึงข้อมูลย้อนหลังได้ไม่จำกัด ต่างจาก line ส่วนตัว ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งก็ไม่สามารถดึงข้อมูลย้อนหลังได้แล้ว

การใช้แอปฯ มาช่วยทำงาน ยังทำให้การประสานงานและการสื่อสารค่อนข้างคล่องตัวและรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการกระจายข้อมูลให้กับ อสม. เช่น หนังสือราชการต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงการส่งข้อมูลกลับจาก อสม.เอง ให้มีความรวดเร็วขึ้น ทั้งแอปฯนี้ที่ใช้งานเฉพาะผู้ใช้ซึ่งเป็น อสม. ทำให้สามารถควบคุมการสื่อสารให้อยู่ในวงจำกัดได้ ให้ข้อมูลของผู้ป่วยคงความลับตามสิทธิ

 “นอกเหนือจากการสื่อสารโดยทั่วไป ยังช่วยเรื่องการนัดหมายประชุมเพื่อแจ้งข่าว ใช้ในการการติดตามผู้ป่วย การควบคุมโรค อย่าง กรณีผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่มารับการรักษาตามนัด ต้องให้ อสม.ติดตามผู้ป่วยให้มารับบริการต่อเนื่อง ก็จะสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน รพ.สต.เองยังได้ข้อมูลผู้ป่วยกลับคืนมา โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงซึ่งต้องมีการรายงานความคืบหน้าการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง”

(อสม.อ่านข้อมูลด้านสุขภาพจากรพ.ให้ญาติผู้ป่วยได้รับทราบ)

นิติพัฒน์ ตั้งกิตติรุ่งเรือ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บางปู จ.สมุทรปราการ บอกว่า ใช้ อสม.ออนไลน์นัดประชุมและรู้ถึงผู้ป่วยในชุมชนได้เร็วขึ้น ยิ่งเฉพาะกับกรณีผู้ป่วยติดเตียง เพราะพื้นที่สมุทรปราการเป็นพื้นที่เขตเมือง ประชากรหนาแน่น บางครั้งมีผู้ป่วยติดเตียงอยู่ตามบ้านแต่ รพ.สต.ไม่รู้เพราะผู้ป่วยไปรักษากับโรงพยาบาลเอกชน ไม่ได้ไปรักษาที่โรงพยาบาลแม่ข่าย ทาง รพ.สต.ก็จะไม่ทราบข้อมูล แต่ อสม.ซึ่งอยู่ในชุมชนจะรู้ว่าใครอยู่ตรงไหน ก็สามารถแชร์ Location ให้รู้จุดของคนไข้ได้เลย เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ก็จะได้ลงไปเยี่ยมบ้านพร้อมๆ อสม.

“ถ้าใช้โทรศัพท์ก็ต้องโทรตามทุกคน แต่ใช้แอปฯ นี้แจ้งนัดประชุมครั้งเดียวจบและรู้ด้วยว่าใครจะมาประชุมบ้างเพราะ อสม.สามารถกดตอบรับว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้า ทาง รพ.สต.ก็สามารถจัดอาหารว่าง อาหารกลางวัน รวมถึงเอกสารต่างๆได้ตรงกับจำนวนคน ไม่ต้องเตรียมเผื่อ ก็ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลง”

ในแง่ของต้นทุนการใช้จ่ายการใช้เทคโนโลยีอย่างแอปพลิเคชั่นยังช่วยได้มาก นี่จึงเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้กับการทำงานแ ละทุกวันนี้ยังมีอีกหลายแห่งที่นำแอปฯอสม.ออนไลน์ไปใช้งานอย่างกว้างขวาง เช่น จ.ปราจีนบุรี ซึ่งได้จัดอบรมการใช้งานแอปฯ แก่อสม.ทั้งจังหวัดและเตรียมใช้บูรณาการงานด้านสุขภาพครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วทันเหตุการณ์ มีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนกลุ่มผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 500-600 ราย

แทนกำลังคนด้วยเทคโนโลยี

ถึงตรงนี้ ใครๆก็รู้ดีว่า ปัญหาความไม่เพียงพอของเจ้าหน้าที่นั้นมีมานาน และการนำเทคโนโลยีมาช่วยจะส่งเสริมระบบสุขภาพได้ระดับหนึ่ง ซึ่ง นพ.โชคชัย สาครพานิช แพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี มองว่า หากนำเอาเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและประชาชนจะช่วยให้การควบคุมป้องกันโรคและดูแลผู้ป่วยเป็นไปด้วยดีและรวดเร็วมากขึ้น

 “ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง Long Term Care หรือการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวเราจะสำรวจและทำแผนที่ เลยว่าผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงมีที่ไหนบ้าง ดูเป็นรายหลังคาเรือนเลย และในส่วนของการดูแล เราจะเชื่อมโยงระบบการดูแลตั้งแต่ อสม.ไปถึง รพ.สต. โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ตลอดจนคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ เพื่อวางระบบการจัดการ ตัวอย่างจาก เวลามีปัญหาผู้ป่วยมีแผลกดทับก็จะออนไลน์ให้แพทย์ดู แพทย์ก็จะให้คำแนะนำว่าต้องดูแลอย่างไร ต้องส่งมาโรงพยาบาลหรือไม่ หรือแค่ทำแผลแล้วติดตามประเมินไปก่อน แบบนี้ก็จะช่วยลดเวลาของเจ้าหน้าที่ ลดค่าใช้จ่ายและงานก็จะเป็นระบบมากขึ้น”

0at60abt5f3s

การนำนโยบาย Mobile Health ซึ่งให้ อสม.สามารถใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานกำลังเป็นเทรนด์ที่กำลังดำเนินไป ขณะเดียวกันหน่วยงานสาธารณสุขอย่าง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ซึ่งรับผิดชอบการทำงานของอสม. ก็ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชันอื่นๆ เช่น “สมาร์ท อสม.”เพื่อเป็นแอปฯ และเปิดโอกาสให้ค่ายมือถืออื่นๆ ร่วมพัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน และเพิ่มทางเลือกของผู้ใช้ เช่นนี้ภาพในอนาคตของการเป็น Mobile Health เพื่อเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ให้กับประชาชนจึงชัดเจนขึ้น

จะเรียก “อสม.ออนไลน์” ให้เป็นต้นแบบของนวัตกรรมทางสังคมก็ว่าได้ แต่ทั้งหมดคือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุข เพื่อให้ประโยชน์และคุณค่ารับใช้สังคมต่อไป