‘ตรัง’ ปังได้อีก

‘ตรัง’ ปังได้อีก

นอกจากเป็นเมืองหมูย่าง เป็นเมืองแห่งเค้กที่มีรูตรงกลาง เมืองตรังยังมีหลายอย่างที่น่าทำความรู้จัก

หากเมืองตรังเปรียบเหมือนคน คงจะเป็นคุณปู่คุณย่าที่ล่วงเลยความเป็นวัยรุ่นไฟแรงมานานโข เพราะจากเมืองที่โตที่สุดในภาคใต้ฝั่งอันดามัน หลายปีมานี้กลายเป็นเมืองที่ค่อนข้างนิ่งเงียบ ไม่หวือหวา ทว่าจุดเด่นของความเป็นเมืองเก่า คือยังมีของเก๋าๆ เหลืออยู่เพียบ คนตรังรุ่นใหม่รวมถึงคนรุ่นกึ่งเก่ากึ่งใหม่จึงพยายามเปลี่ยนปัจจุบันของเมืองตรังให้ ‘เป๊ะ’ และ ‘ปัง’

40538889_1922621357796667_2364408122405027840_o

  • วันวาน ‘ตรัง’ หวานอยู่

บางคนตัดสินจากการได้มาเยือนจังหวัดตรังเพียงไม่กี่ครั้งว่า “ไม่เห็นมีอะไร” อาจเพราะการมาสบตาเมืองตรังในครั้งนั้นๆ เป็นไปแบบ ‘ซ้ำรอย’ ก็เป็นได้ แต่การไปที่เดิม ที่เก่า ก็ไม่น่าเศร้าเสมอไป เพราะเมืองตรังพ.ศ.นี้ กำลังได้รับการปลุกขึ้นมาแต่งหน้าทาปากใหม่ โดยยังมีจิตวิญญาณดั้งเดิมเป็นแก่นสาร

แน่นอนว่าการฟื้นเมืองตรังต้องมีเจ้าภาพ อาจไม่มีเจ้าภาพหลัก แต่เจ้าภาพร่วมมีมากมาย คือตั้งแต่หน่วยงานรัฐ อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง, ภาคเอกชนหลายราย ไปจนถึงภาคประชาชนคนเล็กคนน้อย หลายมือร่วมกันยกระดับจังหวัดนี้จนกลับมาเป็นเมืองน่าเที่ยวอีกหน

ตัวเมืองตรัง ในอดีตคือศูนย์กลางการค้า เป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ฝั่งอันดามัน และมีชุมชนที่มั่งคั่งมากทีเดียว ชื่อของ เมืองทับเที่ยง หรือ เทศบาลนครตรัง ยังคงปักหลักให้แขกไปใครมาได้แวะเวียน

ตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมา ทับเที่ยงเปลี่ยนไปมาก จากการที่สายลมของกาลเวลาพาสารพัดสิ่งยุคใหม่เข้ามา แต่นับว่ายังดีที่ไม่ถึงกับเป็นการผลักไสให้ของดีดั้งเดิมต้องสูญหายไปจนหมด เพียงแค่ต้องซุกตัวเงียบๆ เหงาๆ อยู่ในมุมใดมุมหนึ่งเท่านั้น

แม้วันนี้เมืองทับเที่ยงหน้าตาเปลี่ยนไปไม่น้อย แต่การได้กลับมานั่งรถหัวกบเที่ยวชมบ้านเมืองทำให้ภาพอดีตของที่นี่ปรากฏในหัวตลอด อาจด้วยเสน่ห์ตั้งแต่ยานพาหนะหน้าตามีเอกลักษณ์ชนิดนี้ จากรถบรรทุกสามล้อสำหรับขนส่งสิ่งของในอุตสาหกรรมขนาดเล็กเมื่อหลายสิบปีก่อน ดัดแปลงจนกลายเป็นยานพาหนะประจำเมืองตรัง ยังนิยมใช้บริการทั้งในหมู่ชาวตรังและนักท่องเที่ยว

40506403_1922621604463309_5419125172697300992_o

ขณะที่รถตุ๊กตุ๊กหัวกบพาเราแล่นไป อาคารเก่าหลายหลังค่อยๆ เคลื่อนผ่านไป ไม่แตกต่างกับกาลเวลาและยุคสมัยที่ผันผ่าน...

ตั้งแต่ยุคศรีวิชัย เมืองท่าชายฝั่งอันดามันต่างรุ่งเรืองมั่งคั่งด้วยเครือข่ายการค้าทางทะเล แผ่ขยายไปถึงชมพูทวีปและอาณาจักรเปอร์เชีย

สมัยก่อนที่การเดินเรือต้องอาศัยกระแสลมมรสุมในมหาสมุทรอินเดีย ครึ่งปีแรกทิศทางลมจะพัดพาเรือมาสู่มะริด ตะนาวศรี ตะกั่วป่า ตรัง เคดาห์ ชายฝั่งอันดามันตอนบนจึงกลายเป็นจุดสำคัญของการลำเลียงสินค้าขึ้นบก

ด้านเมืองเก่าที่มีประวัติการตั้งถิ่นฐานมากกว่า 200 ปี อย่างตำบลทับเที่ยง คือชุมทางการค้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ โดยเฉพาะหลังจากที่มีการย้ายศูนย์การปกครองจากกันตังมาที่ทับเที่ยงในปี พ.ศ.2458 โดยมี พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) อดีตเจ้าเมืองตรังเป็นผู้วางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมจนลือเลื่องไปถึงหัวเมืองมลายูและปีนัง บวกกับเป็นยุคที่ทั่วโลกต้องการสินค้าจากยางพาราอย่างมาก เศรษฐกิจเมืองตรังยุคนั้นถือว่าสุดยอด

40432668_1922621377796665_1387602975836340224_o

ปัจจุบันถนนสายสำคัญอย่างถนนราชดำเนินและถนนพระรามหก (ชื่อเดียวกับที่กรุงเทพฯ) ยังคงทำหน้าที่ศูนย์กลางการค้าอยู่บ้าง ทว่าหน้าตาร้านรวงเดิมที่เคยมีตลาดสด วิกหนัง ร้านขายผ้า ร้านทอง ร้านถ่ายรูป ร้านโกปี๊ ร้านทำผม แผงขนมจีน เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปเป็นร้านกาแฟสมัยใหม่ ร้านขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ บางร้านเก่ายังอยู่ หลายร้านต้องปิดกิจการไป โดยที่ความเจริญขยายออกไปรอบนอกเมืองมากขึ้น ทั้งในรูปแบบห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ ถึงจะน่าเสียดาย แต่การเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยากยิ่ง

ขณะสายตามองสลับระหว่างของเก่ากับใหม่อยู่นั้น สิ่งหนึ่งซึ่งสะดุดตาหลายคนแน่นอนคือภาพวาดศิลปะบนกำแพงหลายแห่ง กระจายอยู่ทั่วเมือง แม้นี่ไม่ใช่ของเก่าสุดคลาสสิก แต่ภาพทุกภาพนอกจากเล่าเรื่องวิถีคนเมืองตรัง ของดีเมืองตรัง ภาพสตรีตอาร์ต ฝีมือศิลปินชาวตรังกำลังรับใช้ยุคสมัยอย่างเข้ากันดี

นันทวัน ศิริโภคพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง ให้ข้อมูลว่า ศิลปินชาวตรังผู้สร้างสรรค์ผลงานสตรีตอาร์ตรวมกลุ่มกันขึ้น นำโดย ธีรยุทธ จีนประชา และ จิรพัฒน์ เกิดดี วาดภาพเหล่านี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 โดยการสนับสนุนของสโมสรโรตารีตรัง สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้เมืองตรังมีสีสันอย่างสร้างสรรค์

40432275_1922621337796669_8152037821197058048_o

  • มรดกตรัง

นอกจากศิลปะสมัยใหม่ที่แต่งแต้มเมืองตรัง มรดกทางวัฒนธรรมเป็นอีกคุณค่าของเมืองนี้ที่ยังมีให้เห็นอยู่หลายแห่ง อย่างศาลเจ้าชื่อดัง ศาลเจ้าท่ามกงเยี่ย บนถนนเพลินพิทักษ์ หลังโรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ที่หากคนตรังคนใดไม่รู้จัก หมายความว่าคนนั้นไม่ใช่คนตรัง

40395561_1922622007796602_2236230359668752384_o

ความโด่งดังของศาลเจ้าท่ามกงเยี่ยดูจะขัดกับภาพลักษณ์ ความดังกับความเงียบสงบบางคนอาจมองว่าไม่เข้ากัน ศาลดังก็ต้องคนพลุกพล่าน อึกทึก ต้องดูวุ่นวายสิ แต่ที่นี่ไม่ใช่ จะเรียกว่าเป็นศาลเจ้าที่มีบรรยากาศของความสมถะ เรียบง่าย ก็คงได้ เพราะไม่ค่อยมีการจัดงานมหรสพ แต่ก็ยังมีผู้คนทั้งชาวตรัง จังหวัดข้างเคียง และจากที่อื่นไกลๆ หลั่งไหลมากราบไหว้ขอพรจากพระท่ามกงเยี่ย

40406695_1922622094463260_8276071816666021888_o

แรงศรัทธาของชาวตรังต่อศาลเจ้าแห่งนี้แทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิต ตั้งแต่เกิดเด็กที่อายุครบเดือน พ่อแม่จะพามาฝากให้เป็นลูกของพระท่ามกงเยี่ย ทำให้ชาวตรังส่วนมากมีชื่อกลางเดียวกันคือ ท่าม รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ชาวตรังก็มีพระท่ามกงเยี่ยเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ

และที่มีชื่อเสียงมากไม่แพ้ความศักดิ์สิทธิ์ คือ เชื่อกันว่าเซียมซีที่นี่แม่นมาก การขอพรหรือเสี่ยงทายใดๆ เมื่อสมดังหวังก็มักจะนำหมูย่างมาถวายเป็นตัวๆ

40506434_1922621994463270_1986866224910303232_o

อีกสถานที่ซึ่งเป็นมรดกของจังหวัด หลายคนมองว่าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดคือความห่างไกลและเข้าถึงได้ยาก แต่ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง แห่งนี้เปลี่ยนความคิดนั้นสิ้นเชิงด้วยการเปิดให้เที่ยวชม จวนผู้ว่าฯ เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นคอนกรีต ชั้นบนเป็นไม้ หลังคาทรงปั้นหยา ตั้งอยู่บนเนินที่ชื่อควนคีรี สันนิษฐานว่าสร้างช่วงเดียวกับศาลากลางจังหวัดเมื่อ พ.ศ.2461

ความสำคัญระดับชาติคือจวนแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ครั้งเสด็จประพาสจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2502 จึงเป็นสถานที่สำคัญทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดตรัง แนวคิดการเปิดจวนผู้ว่าให้เที่ยวชมได้เกิดจากแนวคิดของ ศิริพัฒ พัฒกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง

40487979_1922621727796630_5280268274427232256_o

สำหรับห้องภายในจวนที่เปิดให้ชมได้ ได้แก่ ห้องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงประทับแรม และห้องโถงใหญ่สวยงาม มีโต๊ะหมู่บูชาอย่างดีขนาดใหญ่ แต่ห้องอื่นๆ เป็นห้องส่วนตัว ไม่เปิดให้เข้าชม

ส่วนชั้นล่างมีตู้โชว์ของเก่า ของโบราณ เป็นภาชนะที่ใช้ในการเสวยพระกระยาหารกลางวันและพระกระยาหารเช้าเมื่อครั้งทั้งสองพระองค์เสด็จ

40485012_1922621744463295_2574853247802015744_o

  • มุดถ้ำ ย่ำเล

ข่าวคราวเกี่ยวกับถ้ำอาจทำให้โลกลี้ลับในโพรงมืดดูเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับบางคน แต่ถ้าการเที่ยวถ้ำอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสม ไม่ประมาท มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องเส้นทางและประเมินสถานการณ์ได้ การเที่ยวถ้ำก็ยังน่าค้นหาเสมอ

ยิ่งเป็นการเที่ยวถ้ำแบบไม่ธรรมดาด้วยแล้ว แค่เดินมุด หมอบคลาน ยังไม่น่าตื่นเต้นเท่านอนทำตัวแบนราบไปกับเรือ ล่องผ่านผนังถ้ำที่ห่างจากตัวเราเพียงไม่ถึงฝ่ามือ

ถ้ำเลเขากอบ หรือ ถ้ำทะเล หรือ ถ้ำเขากอบ คือถ้ำที่ให้ประสบการณ์อย่างที่กล่าวไป ถ้ำนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอห้วยยอด ชาวบ้านตั้งชื่อถ้ำนี้ตามภาษาพื้นบ้าน คือการที่ชาวบ้านเรียกว่า ถ้ำเล หรือ ถ้ำทะเล นั้น ไม่ได้หมายถึงโพรงหรือถ้ำที่เกิดจากการผุกร่อนของหน้าผาชายฝั่งทะเล จากการถูกคลื่นกัดเซาะ เพราะบริเวณที่ตั้งของตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด อยู่ห่างจากทะเลกว่า 40 กิโลเมตร แต่คำว่า ‘ถ้ำเล’ นี้ ตามภาษาท้องถิ่นทางภาคใต้หมายถึง สิ่งที่เป็นน้ำ มีบริเวณกว้างใหญ่ เพราะถ้ำเลเป็นถ้ำใหญ่ที่มีน้ำไหลผ่านตลอดถ้ำ

40470604_1922622294463240_2530136921649184768_o

ถ้ำเลประกอบด้วย ถ้ำต่างๆ หลายถ้ำ อยู่ภายใต้ภูเขากอบ ได้แก่ ถ้ำคนธรรพ์ ถ้ำรากไทร ถ้ำท้องพระโรง ถ้ำพระสวรรค์ ถ้ำตะพาบน้ำ ถ้ำเพชร ถ้ำพลอย และถ้ำแป้ง เป็นต้น นอกจากนี้ สภาพภายในถ้ำเขากอบมีหินย้อยที่แตกต่างไปจากถ้ำอื่นๆ คือ มีหินย้อยประเภทที่เรียกว่า หลอดหินย้อย (Soda straw) อยู่ค่อนข้างมาก แสดงถึงช่วงของการเกิดเป็นหินย้อยในระยะต้น

หน้าตาของหินย้อยหลายจุดชวนจินตนาการไปว่าเหมือนกับอะไร มีทั้งเหมือนสัตว์, เทพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมีที่คล้ายไอศกรีมโคน ไม่รู้ว่าเหมือนจริงหรือเพราะร่างกายกำลังต้องการกันแน่

40470585_1922622344463235_195125230455226368_o

ตรังขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีทะเลสวยมากแห่งหนึ่งของภาคใต้ หากถามว่ามาตรังแล้วควรเที่ยวไหนถึงจะครบถ้วน ททท.ตรัง ได้ให้คำแนะนำว่าไม่ควรพลาดท่องทะเลตรัง ซึ่งจุดเที่ยวทะเลที่ขึ้นชื่อที่สุดของตรังคือ หาดปากเมง อยู่ห่างจากตัวเมืองราว 40 กิโลเมตร ในตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา ชายหาดมีหน้าตาคล้ายพระจันทร์เสี้ยว จากหัวหาดสุดปลายหาดระยะทาง 5 กิโลเมตร ไม่ว่าจะช่วงเช้าหรือช่วงเย็น บรรยากาศสงบเงียบ มีเพียงเสียงคลื่นซัด กับสายลมเย็นสบาย ทำให้หาดปาดเมงเป็นสถานที่พักผ่อนชั้นเลิศ

40400052_1922622257796577_3647398661417074688_o

ที่นี่เป็นที่ตั้งของท่าเรือปากเมง จุดเริ่มต้นของการท่องทะเลตรังเกือบทั้งหมด ท่าเรือปากเมงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมด้านการท่องเที่ยวทางเรือ จะว่าไปแค่ได้เดินไปตามสะพานสู่ท่าเรือก็ได้บรรยากาศการพักผ่อนชิลๆ กับวิวทะเลสวยๆ แล้ว

นอกจากนี้ที่หาดปากเมงยามน้ำลด อาจมีโอกาสได้เห็นหอยตะเภาแสนหายาก และใกล้สูญพันธุ์ หอยตะเภาขึ้นชื่อว่าอร่อยมาก และด้วยความใกล้สูญพันธุ์จึงมีกิจกรรมอนุรักษ์หอยตะเภาขึ้นทุกปี

กลับมาทบทวนสิ่งที่บางคนเชื่อมาตลอดว่าตรัง “ไม่เห็นมีอะไร” นั่นเพราะไม่ได้ออกไปเห็น หรือไม่ได้ตั้งใจมองกันแน่ เพราะที่เล่าไปยังไม่ถึงเสี้ยวหนึ่งของที่ตรังมี บางทีแค่เปิดใจรับตรังอย่างที่ตรังเป็น อาจจะเห็นทั้งของดีดั้งเดิมที่กำลังผสมผสานสิ่งใหม่ๆ ที่ชาวตรังพยายามสร้างสรรค์ให้จังหวัดตรังกลับมา ‘ปัง’ เหมือนวันวาน

40422117_1922622247796578_8502697776084156416_o