ออกแบบ “รัตนโกสินทร์”

 ออกแบบ “รัตนโกสินทร์”

ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นการแสดงแฟชั่นโชว์ภายในท้องพระโรง วังท่าพระ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แน่นอนว่าเมื่อมีย่อมไม่ธรรมดาด้วยมาพร้อมกับบทเพลง “มองอะไร” ของสุนทราภรณ์ที่ขับขานในท่วงทำนองดนตรีแจ๊ส

ช่วยเน้นผลงานออกแบบให้ชวนมองคล้องไปกับบทเพลงที่ว่า ...จ้องมองตาค้างนั่งเผลอ อ้าปากทำไมเออชะเง้อมองอะไร

silpakorn_QS_CSC9864 (Large)

การแสดงชุด ศิลปะ ศิลปิน ศิลปากร เป็นการแสดงผลงานสร้างสรรค์ระหว่างวงดนตรีแจ๊สร่วมสมัย Sunny Tro & Natt Bandita จากคณะดุริยางคศาสตร์ ร่วมกับการเดินแฟชั่นโชว์จากภาควิชาออกแบบเครื่องแต่งกายและภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร หนึ่งในไฮไลท์ของงานแถลงข่าวการจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านศิลปะการออกแบบ QS Totally Arts Summit (Art and Design) ซึ่งจะมีขึ้นระหว่าง 24-26 ตุลาคม ณ โรงแรมมิลเลเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ

silpakorn_QS_7M34433 (Large)

silpakorn_QS_CSC9898 (Large)

ดร.ธนาทร เจียรกุล คณบดีคณะมัณฑนศิลป์ บอกกับเราว่า “ผมฝันเห็นมานานแล้วว่าการเดินแฟชั่นโชว์ของเรา ควรมีดนตรีที่เป็นออริจินัลไม่ได้นำเพลงของใครมา ดีที่สุดคือการนำเอาคณะดุริงยางคศาสตร์ของเรามาร่วมกันสร้างสรรค์”

ด้วยความที่เคยเป็นคณบดีคณะดุริงยางคศาสตร์มาก่อน ทั้งยังเป็นมือปั้นวง Sunny Tro & Natt Bandita มาตั้งแต่แรกเริ่มการบูรณาการระหว่างดนตรีกับงานดีไซน์จึงเกิดขึ้นได้อย่างลงตัว

“เช่นวันนี้เป็นการนำลูกทุ่งและลูกกรุงของไทยมาเล่นเป็นแจ๊ส รื้อฟื้นของไทยที่เป็นเพลงฮิตติดปากมานำเสนอในรูปแบบที่อาจฟังไม่คุ้นหู แต่มีลีลาที่ร่วมสมัยน่าสนใจไปอีกแบบ”

ในส่วนของงานออกแบบเครื่องประดับที่นำมาแสดงแฟชั่นโชว์ในครั้งนี้ เป็นเพียงตัวอย่างของผลงานนักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ สร้างสรรค์ขึ้นในหัวข้อ “รัตนโกสินทร์” ขณะเรียนชั้นปีที่ 2 (ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3)

“จะเห็นว่างานออกแบบของเราจะหลุดพ้นความเป็นเครื่องประดับ เช่น ต่างหู สร้อย กำไล แต่เป็น accessory อย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดความงามบนร่างกายได้ นี่คือความเป็นศิลปากร เครื่องประดับจะมีฟังก์ชั่นการใช้งาน มีอาร์ทิสติก มีเรื่องราว ความสะท้อนความเป็นไทยมีหลายแบบมีหลายมิติ” คณบดี กล่าว

silpakorn_QS_7M34553 (Large)

มาริสา หมู่คำ กับผลงานเครื่องประดับที่ออกแบบเอง

มาริสา หมู่คำ เจ้าของผลงานออกแบบเครื่องประดับส่งเสริมบุคลิกภาพ กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบผลงานที่นำมาโชว์ในครั้งนี้ว่า

“มีที่มาจากสุภาษิตสอนหญิง บทเกี่ยวกับการเดินจะต้องอกผายไหล่ผึ่ง มองตรงไปข้างหน้า คอเชิด

จึงถอดแบบสรีระของผู้หญิงเมื่ออยู่ในท่วงท่าดังกล่าวออกมาดัดแปลงเป็นเครื่องประดับที่ผู้สวมใส่แล้วจะรู้สึกว่าหลังตรงตลอดเวลา คอต้องเชิดไปข้างหน้า ขณะเดียวกันก็มีความสวยงาม”

silpakorn_QS_7M34541 (Large)

ศตายุ เฉลิมสวัสดิ์วงศ์ เจ้าของผลงานออกแบบเข็มกลัดที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากธนบัตรสมัยรัชกาลที่ 8  

ศตายุ เฉลิมสวัสดิ์วงศ์ นำแรงบันดาลใจจากธนบัตรรัชกาลที่ 8 มาออกแบบเป็นเข็มกลัด 5 ชิ้น

“ผมนำธนบัตรใบละ 20 บาท 50 บาท 100 บาท และ 1,000 บาท ถ่ายทอดออกมาเป็นเข็มกลัด 5 ชิ้น เหตุที่เลือกธนบัตรสมัยรัชกาลที่ 8 มาเป็นแรงบันดาลใจเพราะว่าธนบัตรเป็นเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ของประเทศในแต่ละยุคสมัย

ในความคิดของผมศิลปะช่วงรัชกาลที่ 8 มีความกลมกลืนกันระหว่างศิลปะไทยกับศิลปะตะวันตก จึงได้นำรูปแบบ สัญลักษณ์ในช่วงเวลานั้นมาใช้ในการออกแบบ” ศตายุ เล่าถึงที่มาของเข็มกลัดทองเหลืองทั้ง 5 แบบ

silpakorn_QS_7M34547 (Large)  

ธสิตา อ้นมงคล สวมเครื่องประดับที่ออกแบบด้วยตนเอง

ในขณะที่ ธสิตา อ้นมงคล นำเสนอเครื่องประดับศีรษะที่ได้จากการศึกษาเรื่อง “การบูชาขวัญ”

“เชื่อกันว่าศีรษะเป็นจุดสูงสุด เป็นที่สถิตของจิตวิญญาณมีลักษณะคล้ายเลข ๑ ไทยและไม่ว่าเราจะเขียนอักษรตัวไหนต้องมีขมวดหัวขึ้นมาก่อนเหมือนเป็นการจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง จึงนำมาออกแบบให้มีลักษณะเป็นขดคล้ายเลขหนึ่งของไทย เรียงจากขนาดเล็กไปใหญ่หมายถึงว่าจากเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่”

โดยในรูปทรงขมวดคล้ายเลข ๑ นี้ประกอบไปด้วยรูปทรงดอกมะลิร้อยเรียงกันสวยงามชวนให้คิดถึงพวงมาลัยดอกมะลิที่อยู่บนมวยผมของหญิงไทยสมัยก่อน ธสิตากล่าวถึงภาพประทับใจอันเกิดจากการได้เห็นคนสมัยก่อนก้มกราบพระมองเห็นมะลิร้อยอยู่ในมวยผม

silpakorn_QS_7M34549 (Large)

พิมพ์ชนก อินเหลา  กับผลงานที่ออกแบบ

พิมพ์ชนก อินเหลา บอกกับเราถึงสร้อยคอที่เธอออกแบบและสวมใส่แสดงในโชว์นี้ว่า ได้แรงบันดาลใจมาจาก พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา

“เป็นการแสดงคำสัตย์ต่อหน้าพระมหากษัตริย์ ว่าตนเองจะซื่อสัตย์และไม่คดโกง เพื่อสะท้อนถึงพระราชพิธีที่มีมาตั้งแต่โบราณ จึงนำน้ำ พระแสง และขัน มาใช้เป็นแนวทางการออกแบบ โดดลดทอนเส้น ลวดลายมาใส่ลงในเครื่องประดับ”

จะเห็นได้ว่าเส้นของสร้อยมีความเคลื่อนไหวคล้ายสายน้ำ ขณะเดียวกันก็มีรูปทรงแหลมสื่อถึงพระแสง และลวดลายไทยโบราณที่ตัดทอนบางส่วนมาผสาผสานเป็นเครื่องประดับที่งดงาม

คณบดี คณะมันณฑนศิลป์กล่าวว่างานออกแบบหัวข้อ “รัตนโกสินทร์” เป็นเพียงงานเรียกน้ำย่อยสำหรับงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านศิลปะและการออกแบบ (QS Totally Arts Summit (Art and Design) 24-26 ตุลาคม จะมีการจัดเต็มมากกว่านี้โปรดติดตาม