อรีธา แฟรงกลิน “ราชินีโซล”

อรีธา แฟรงกลิน “ราชินีโซล”

ร่วมคาราวะ "อรีธา แฟรงกลิน" ราชินีเพลงโซลผู้ล่วงลับ

อรีธา แฟรงกลิน ฉายา “ราชินีโซล” (Queen of Soul) สิ้นชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับอ่อนในบ้าน ที่เมืองดีทรอยด์ รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมนี้ สื่อชั้นนำทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์...ได้แพร่ข่าวไปทั่วโลก นับเป็นข่าวใหญ่ในรอบปีของวงการดนตรี    

20180818155855402

            แฟนเพลงของอรีธาต่างแสดงความอาลัย รำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของนักร้อง นักเปียโน นักแต่งเพลงที่สร้างสรรค์ผลงานเพลงตลอดกว่าครึ่งศตวรรษผู้นี้ ซึ่งไม่เพียงแต่เพลงประเภท “โซล” เท่านั้น เธอยังร้องเพลงอีกหลายประเภทได้ดีเยี่ยม อาทิ กอสเปล, อาร์แอนด์บี, ร็อค, ป๊อป...

            “พิสัยเสียง” (range of voice) ของอรีธากว้างราว 4 “ช่วงคู่แปด” (octave) พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานทั้งน้ำเสียงและความสามารถในการร้องเพลงแก่เธอ ประกอบกับเธอมีประสบการณ์การแสดงบนเวทีมาตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้อรีธายืนอยู่แถวหน้าของวงการดนตรีตลอดมา

            นิตยสาร Rolling Stone สื่อสิ่งพิมพ์คุณภาพที่เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรี, สังคม, การเมือง...มีชื่อเสียงมากว่า 50 ปี ได้จัดอันดับให้ อรีธา แฟรงกลิน อยู่ในอันดับ The 100 Greatest Artists of All Time และ The 100 Greatest Singers of All Times คือเป็นทั้งหนึ่งในร้อยยอดศิลปินและยอดนักร้องตลอดกาล

            อรีธาได้รับรางวัล “แกรมมี่” มากถึง 18 รางวัล และได้รับปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดนตรีจากสถาบันการศึกษาชั้นนำในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน, เยล, บราวน์, เพนซิลเวเนีย, มิชิแกน, เบิร์กลีคอลเลจออฟมิวสิค, นิวอิงแลนด์คอนเซอร์เวทอรีออฟมิวสิค...และปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อปี 2014

            สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถด้านดนตรีของอรีธา แฟรงกลิน

20180816235404779

            อรีธา แฟรงกลิน เกิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 1942 ในครอบครัวที่คลุกคลีอยู่กับดนตรีในเมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี พ่อ คลาเรนซ์ ลาวอห์น เป็นบาทหลวงที่ร้องเพลง “กอสเปล” ได้ดี มีคนชื่นชอบมาก ส่วนแม่ บาร์บารา เป็นนักร้องและนักเปียโน ทั้งคู่อยู่ด้วยกันแต่ไม่ได้แต่งงาน มีลูกด้วยกัน 3 คน

            ครอบครัวแฟรงกลินอยู่ที่เมืองบัฟฟาโร รัฐนิวยอร์ก ระยะหนึ่ง แล้วย้ายไปยังเมืองดีทรอยด์ ตอนอรีธาอายุ 5 ปี สองปีต่อมาพ่อแม่แยกทางกัน แม่กลับไปอยู่บัฟฟาโร และเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันตอนอรีธาอายุ 10 ปี

            อรีธาอยู่กับพ่อที่โบสถ์ “นิวเบเธลแบปทิส” ในดีทรอยส์ เป็นนักร้องเดี่ยวเพลง “กอสเปล” เธอและน้อง มีย่ากับ มาฮาเลีย แจ็คสัน ผลัดกันช่วยดูแลที่บ้าน ความใกล้ชิดกับมาฮาเลีย แจ็คสัน ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีกอสเปล” (Queen of Gospel) น่าจะมีส่วนทำให้อรีธามีความเก่งกาจในการร้องเพลง โดยเฉพาะ “กอสเปล” พร้อมกันนี้ เธอยังเป็นนักร้องในวงประสานเสียงของโบสถ์

            คลารา วอร์ด อาของอรีธาเป็นนักร้องกอสเปลที่มีชื่อเสียง

            หลังแม่จากไป 2 ปี อรีธาร้องเดี่ยวเพลงสวด Jesus, Be a Fence, Around Me ในโบสถ์ พ่อเริ่มจัดให้ลูกสาวออกตระเวนร้องเพลงไปตามโบสถ์ต่างๆ กับวง “กอสเปล คาราวาน” และช่วยให้อรีธาได้เซ็นสัญญาร้องเพลงอัดแผ่นอัลบั้มแรก Song of Faith กับ “เจวีบี” บริษัทแผ่นเสียงท้องถิ่นในปี 1956

            อีก 2 ปีต่อมา พ่อพาอรีธาออกตระเวนแสดงในแคลิฟอร์เนียจนได้เจอกับ แซม คูก นักร้องดัง ทั้งเพลงประเภทอาร์แอนด์บี, กอสเปล, โซล จนได้ชื่อว่าเป็น “ราชาโซล” (King of Soul)

            ตอนอายุ 16 อรีธาออกตระเวนร่วมรณรงค์เคลื่อนไหวในการเรียกร้องความเท่าเทียมในสิทธิพลเมืองของคนอเมริกันผิวสี ร่วมกับ ดร.มาร์ติน ลู เธอร์ คิง จูเนียร์ อีก10 ปีต่อมา อรีธา แฟรงกลิน ได้ร่วมร้องเพลงไว้อาลัยในงานพิธีศพของ ดร.มาร์ติน ลู เธอร์ คิง จูเนียร์

            ช่วงอรีธาย่างเข้าสาววัย 18 เธอปรารภกับพ่อว่าอยากไปนิวยอร์ก ร้องอัดแผ่นเพลงป๊อปเหมือนกับ แซม คูก  พ่อเห็นด้วยช่วยจัดการทำ “เดโม” ให้ 2 เพลง โดยให้ เทดดี้ วิลสัน นักเปียโนแจ๊สดังวงเบนนี กู๊ดแมน และ เมเจอร์ ฮอลลี นักดับเบิลเบสแจ๊สที่เคยร่วมงานกับแจ๊สหลายวงช่วยเล่นประกอบการร้อง  ได้ผลดังที่คาดไว้ หลังจาก จอห์น แฮมมอนด์ โปรดิวเซอร์ที่เคยปั้นนักร้องดัง อย่าง บิลลี ฮอลิเดย์, บ็อบ ดีแลนด์, จอร์จ เบนสัน...ได้ฟัง “เดโม” ของอรีธาก็ตกลงให้เธอได้เซ็นสัญญากับบริษัทแผ่นเสียง “โคลัมเบีย”ยักษ์ใหญ่แห่งวงการดนตรีสหรัฐ

20180816235405378

            Today I sing the Blues เพลง “ซิงเกิล”แรกที่ออกกับ “โคลัมเบีย” ในเดือนกันยายน 1960 ไต่ขึ้นไปอยู่ในอันดับ Top 10 ในเพลงประเภทอาร์แอนด์บี

            ต้นปีถัดมา “โคลัมเบีย” จัดให้ อรีธา แฟรงกลิน ออกอัลบั้มแรก Aretha กับวงของเรย์ ไบรอันต์ นักเปียโนแจ๊สระดับแนวหน้า เพลง Won’t Be Long ในอัลบั้มนี้พุ่งขึ้นไปอยู่ในอันดับ 7ประเภท “ อาร์แอนด์บี” ของ “บิลล์บอร์ด”

            เพลงของอรีธาที่อัดกับ “โคลัมเบีย” มีหลากรสหลายประเภท ทั้งแจ๊สสแตนดาร์ด, บลูส์, อาร์แอนด์บี, ดู-วอป...แพร่ขยายวงกว้างไประดับนานาชาติมากขึ้น ทั้ง แคนาดา, ออสเตรเลีย... จนได้ขึ้นไปอยู่อันดับนักร้องหญิงดาวรุ่งของ “ดาวน์บีท” นิตยสารดนตรีแจ๊สทรงอิทธิพลของอเมริกา

            ปี 1962 “โคลัมเบีย” ออกติดต่อกัน 2 อัลบั้มได้แก่ The Electrifying Aretha Franklin และ The Tender, The morning, The swinging Aretha Freaklin

            อรีธา ร้องอัดแผ่นกับ “โคลัมเบีย” อีกหลายชุดที่น่าสนใจ คือ Unforgettable: A Tribute to Dinah Washington เพื่อเป็นการอุทิศแด่ ไดนาห์ วอชิงตัน นักร้องแจ๊ส ร้องบลูส์ได้เยี่ยมที่สุดแห่งวงการดนตรีแจ๊ส

            6 ปี ในสังกัด “โคลัมเบีย” อรีธาไม่ต่อสัญญา หันไปเซ็นสัญญากับ “แอตแลนติกเร็กคอร์ดส” ต้นปี 1967 ไปอัดเพลง I Never Loved a Man the Way I Love You ที่ต้องอัดในอลาแบมา ผ่านเพียงเดือนเดียวคือเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกันนี้ เพลงนี้ก็พุ่งขึ้นสู่อันดับหนึ่งประเภท “อาร์แอนด์บี”  Do Right Woman, Do Right Man เพลงอีกด้านของแผ่นนี้ก็ขึ้นไปในอันดับ Top 40 “อาร์แอนด์บี”

20180818031733114

            Respect ผลงานของ โอทิส เรดดิง นักร้อง นักกีตาร์ นักแต่งเพลงบลูส์โด่งดังสุด แต่งเพลงเหมาะกับเสียงร้องและสไตล์ของ อรีธา แฟรงกลิน เป็น “ซิงเกิล” ที่ออกกับ “แอตแลนติก” ทำให้เพลงนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเธอ

            นอกจากนี้ ประสบความสำเร็จอย่างมากอีกหลายๆ เพลง เช่น (You Make Me Feel Like) A Natural Woman; I Say a Little Prayer; Chain of Fools…

20180816210814721

            อรีธา แฟรงกลิน เคยร่วมประชันการร้องกับนักร้องชื่อก้องโลกบนเวที อาทิ เรย์ ชาร์ลส์, สตีวี วันเดอร์, เจมส์ บราวน์, จอร์จ เบนสัน, มาฮาเลีย แจ๊คสัน, จอร์จ ไมเคิล... ร้องเพลงอุปรากร Nessun Dorma ของ ปุชชินี และเยี่ยมสุดๆ ร้องเพลงชาติอเมริกา The Star Spangled  Banner กับซิมโฟนีออร์เคสตรา

20180820160356816