พลังเยาวชน การควบคุม แรงเสียดทาน และความหวัง

พลังเยาวชน การควบคุม แรงเสียดทาน และความหวัง

จุดประกายจากสารคดี โจชัว หว่อง ซึ่งแสดงพลังของวัยรุ่น ความอ่อนประสบการณ์และความไร้เดียงสากลับกลายเป็นพลังที่ปลุกความหวังขึ้นมาใหม่ ที่หันมามองเยาวชนไทย ที่ต่อสู้ท่ามกลางสังคมที่มีแรงเสียดทานสูง

ได้ดูสารคดีของโจชัว หว่อง “Joshua: Teenager VS Super Power” หรือ “โจชัว: การต่อสู้ของเด็กหนุ่มกับอำนาจทางการเมือง” สารคดีที่ออกฉายตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งพูดถึงเด็กมัธยมธรรมดาๆ ที่อาจหาญต่อกรกับประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ซึ่งเคยสร้างแรงบันดาลใจให้กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอีกหลายประเทศ

ที่เมืองไทย ภายใต้การสอดส่องดูแลของรัฐอย่างเข้มงวด แม้แต่การฉายสารคดี “Joshua: Teenager VS Super Power” (ที่ดูได้ใน Netflix เพียงเป็นสมาชิก) ในงาน Movies that Matter หัวข้อ นักกิจกรรมรุ่นใหม่ VS แรงบันดาลใจ โดยแอมเนสตี้ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมานั้นถูกห้ามฉาย อันที่จริงแล้วไม่ถึงกับห้าม เมื่อพล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล เชิญคณะผู้จัดงานไป “จิบน้ำชา” ก่อนวันงาน แจงถึงความอ่อนไหวในการฉายสารคดีดังกล่าวที่อาจกระทบถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน และย้ำถึงพ.ร.บ.การฉายสื่อภาพเคลื่อนไหว ที่อาจมีการละเมิดเกิดขึ้น

1535023803475 (1)

ดูสารคดีเรื่องนี้ทาง Netflix แล้วก็ไม่เห็นว่าการดูสารคดีนี้ในประเทศไทยจะสั่นสะเทือนต่อประเทศมหาอำนาจอย่างจีนได้อย่างไร

สารคดีว่าด้วยการเคลื่อนไหวของเด็กมัธยมต้นคนหนึ่งที่ก่อตั้งกลุ่มสกอลาริซึม (Scholarism) กลุ่มนักเรียนที่ประท้วงต่อต้านการบรรจุหลักสูตร Moral and National Education โดยประเทศจีนเข้าเป็นวิชาบังคับของโรงเรียนมัธยมทุกโรงเรียนในฮ่องกง

ปี 2012 โจชัว หว่อง ซึ่งอายุเพียง 14 ปีในขณะนั้น สามารถทำให้นักเรียนเข้าร่วมหลายพันคนรวมกับมวลชนแสนกว่าคนออกมาประท้วง จนรัฐบาลจีนผ่อนผันไม่บังคับใช้หลักสูตรนี้ในที่สุด นำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง และเกิดการปฏิวัติร่มขึ้นมาในปี 2014 ซึ่งถึงแม้ไม่ได้ชัยชนะ การยึดสถานที่สำคัญมีอันยุติไป เพราะคำนึงถึงเศรษฐกิจของฮ่องกง พวกเขาปรับเคลื่อนไหวในรูปแบบใหม่ ผ่านกิจกรรมทางการเมืองด้วยการตั้งพรรค Demosisto ขึ้นมา ในขณะที่รัฐบาลจีนก็มีพลวัตรในการรับมือกับการต่อต้านในแบบที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

แม้ไม่ได้ชัยชนะทุกกรณี แต่สารคดีเรื่องนี้ก็สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ตั้งคำถามและต่อสู้กับอำนาจ หรือระบบบางอย่างซึ่งลิดรอนสิทธิพลเมือง

งานฉายสารคดีและเสวนานี้จัดขึ้นในช่วงหลังจากที่กระทรวงศึกษาประกาศการแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อ “คุ้มครอง” นักเรียนนักศึกษา อ่านแล้วสังคมเกิดข้อสงสัยว่าหรือนี่จะคือการ “ควบคุม” เยาวชนทางหนึ่งต่างหาก มีประเด็นชวนคิดต่อจากนี้อีกหลายเรื่อง

ห้ามมั่วสุม – ชู้สาวทุกที่ทุกเวลา..ห้ามได้หรือ?

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 เพื่อใช้ในการควบคุมดูแลความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ตามมาตรา 64 พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 บัญญัติให้นักเรียนและนักศึกษาต้องประพฤติตนตามระเบียบของโรงเรียนหรือสถานศึกษาและตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อเป็นการส่งเสริมความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาให้มีความเหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และ คำนึงถึงความปลอดภัยแก่นักเรียนและนักศึกษา

ซึ่ง ศธ. ได้ทบทวนแก้ไขกฎกระทรวงฯ ตามมาตรา 64 เพิ่มเติม โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับลักษณะความประพฤติต้องห้าม คือ 1. กำหนดเพิ่มเติมห้ามการรวมกลุ่ม มั่วสุม อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน 2. แก้ไขลักษณะความประพฤติที่ห้ามกระทำเกี่ยวกับการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสม 3. แก้ไขลักษณะความประพฤติที่ห้ามกระทำเกี่ยวกับการออกนอกสถานที่ เพื่อเที่ยวเตร่ หรือรวมกลุ่มอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองหรือผู้อื่น จากเดิมห้ามเฉพาะเวลากลางคืน เป็นการห้ามไม่จำกัดเวลา โดยตัดคำว่า “เวลากลางคืนออก”  และครม. ก็ได้มีมติเห็นชอบตามที่ศธ.แก้ไขมา เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา สมควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมความประพฤติที่เหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และคำนึงถึงความปลอดภัยแก่นักเรียนและนักศึกษา

กระแสสังคมที่ได้รับรู้เรื่องนี้มีทั้งเห็นว่าการตัดบางคำออกเพื่อขยายการควบคุมให้กว้างขึ้น เป็นการละเมิดสิทธิเยาวชน ในขณะอีกด้านก็เห็นว่าไม่เห็นจะละเมิดสิทธิตรงไหนเลย เด็กก็ต้องทำตัวให้สมกับเด็กซิ แล้วจะปลอดภัย

ได้คุยกับ อ.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศจีน ที่มาร่วมเสวนาในงาน Movies that Matter  เห็นว่าความครอบคลุมอย่างกว้างขวางของกฎกระทรวงนี้บังคับใช้ได้ยาก แต่เห็นได้ชัดว่าออกมาเพื่อควบคุม “ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ นักศึกษาจะรวมตัวทำใดๆ ได้ลำบาก และตามควบคุมง่ายขึ้น”

พลังของวัยรุ่นน่ากลัว?

หากเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของเยาวชนฮ่องกง ที่นำโดยโจชัว หว่อง กับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในไทย เสก – ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ เยาวชนนักกิจกรรม เห็นว่า “ฮ่องกงมีการศึกษาแบบตะวันตก ทำให้มีความคิดเปิดกว้าง กล้าแสดงออก การเคลื่อนไหวก็มีเป้าหมาย มียุทธศาสตร์และกระบวนชัดเจน ที่สำคัญเรื่องราวของพวกเขาได้ออกสื่อกระแสหลัก”

เป็นเด็กทำไมไม่รู้จักทำหน้าที่ของตัวเอง คือข้อกล่าวหาเมื่อเยาวชนออกมาเคลื่อนไหวเชิงการเมืองและสังคม

เมื่อเทียบสังคมไทยที่มีแรงเสียดทานเยอะกว่า ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐ สังคมรอบข้าง และวัฒนธรรมการสยบยอมต่อระบบของคนไทย รวมถึงทัศนคติของสังคมที่มองว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก ก็ทำให้การเคลื่อนไหวของเยาวชนเป็นไปอย่างลำบากและกล้าหาญไม่แพ้เยาวชนที่ไหน เพราะถึงจะลำบาก ก็ยังมีการขยับอยู่เสมอ แม้ไม่ใหญ่ระดับปรากฏการณ์เช่นที่ฮ่องกง แต่การเคลื่อนไหวเฉพาะในมหาวิทยาลัยของตน ก็จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ (เช่น สิทธิการแต่งกายของนักศึกษา LGBT, กำหนดการเข้าหอหญิงก่อน 22.00 น. อาจทำให้นักศึกษาไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด ฯลฯ)

ขยับตัวทำอะไรกันแต่ละทีก็ยากลำบากอยู่แล้ว แต่รัฐก็ยังออกกฎเข้ามาคุมเข้มซ้ำ เพราะอะไร เยาวชนไทยน่ากลัวหรือเปล่า? หากไม่สยบ แต่ให้อิสระริรวมตัวรวมหัวกันได้จะเกิดอะไรขึ้นงั้นหรือ?

“ถ้ารัฐไทยไม่โง่ก็ควรจะกลัวค่ะ รัฐไทยก็มีทั้งคนโง่และไม่โง่ ปัญหาก็คือบางทีอาจไม่โง่ แต่ไม่ได้มีวิธีการจัดการที่ฉลาด หรือจัดการด้วยการบังคับ เช่น ให้เข้าบ้านภายใน 4 ทุ่ม หรือการเคอร์ฟิวต่างๆ พวกนี้ มันไม่แก้ปัญหา เพราะจริงๆ แล้วคนรุ่นใหม่ไม่ได้ถูกปิดกั้นขนาดนั้น” อ.วาสนา กล่าว

อย่าเชื่อใจคนที่อายุเกิน 35 ปีว่าจะมาเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เพราะพวกเขาพึ่งพิงและหยั่งรากลึกในระบบเสียแล้ว

ห้ามมั่วสุมกันทุกที่ทุกเวลา แต่โลกออนไลน์ก็ยังมี โซเชียลมีเดียที่รัฐไม่ได้ควบคุมเบ็ดเสร็จ ไม่ใช่สิ่งที่จะจัดการได้ด้วยการห้ามไปชุมนุมมั่วสุมกันที่สวนสาธารณะ

“เพราะมีสิ่งที่เรียกว่าเจเนอเรชั่น แก๊ป (ช่องว่างระหว่างวัย) อยู่ ทำให้คนรุ่นเก่า (เช่น รัฐบาล ราชการ) พยายามเข้ามาควบคุมคนรุ่นใหม่ที่เป็นดิจิทัลเนทีฟ (เกิดมากับยุคดิจิทัล) ผู้ใหญ่ทั้งหลายก็ตามไม่ทัน เช่น พอบอกว่าให้ดูรายการทีวีทางอินเทอร์เน็ต ก็ยังถูกถามกลับว่ากี่โมง คือเขาไม่เข้าใจ ตามไม่ทัน นี่แหละจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญมาสำหรับคนรุ่นใหม่”

สุมหัวได้ทุกที่ไม่จำกัด

คนรุ่นใหม่มีเครื่องมือออนไลน์ให้ใช้หลากหลาย เราจึงได้เห็นสื่อต่างๆ ในอินเทอร์เน็ตมากมาย อย่างคลิป หรือการสร้างมีมล้อเลียนการเมือง ก็ถือเป็นการขบถเล็กๆ เป็นสื่อที่คนรุ่นใหม่ใช้แสดงออกถึงความคิดของตนเองได้ ดังนั้น ต่อให้ถูกควบคุมก็ยังสามารถสร้างการเคลื่อนไหวแบบใหม่ๆ ไม่จำกัดแพลตฟอร์ม หากต้องรวมตัวกันต่อสู้เพื่อนบางสิ่ง ก็อาจไม่ต้องอยู่ในรูปแบบของการเดินขบวนประท้วงตามท้องถนนเสมอไป

“การที่ควบคุมอินเทอร์เน็ทไม่ได้ หรือไม่เข้าใจการทำงานบนโลกอินเทอร์เน็ท ก็ไม่มีทางควบคุมปิดหูปิดตาคนไม่ให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ เช่น ถ้าในที่สุดแล้วเกิดการเลือกตั้ง ทำให้คุณไม่สามารถประเมินได้เลยว่า คะแนนนิยมจริงๆ ของคุณคือเท่าไหร่ นอกจากพึ่งโพลทั้งหลาย ที่เราก็รู้ว่าเชื่อถือได้หรือไม่แค่ไหน”

เด็กสมัยนี้นี่ยังไง

เคยได้ยินหลายคนพูดว่า “เด็กสมัยนี้..ไม่สนใจการเมือง ไม่สนใจสังคม” จริงๆ แล้วเราคงได้ยินคำกล่าวแบบนี้มาทุกยุคทุกสมัย แต่หากเราไม่ได้สัมผัสกับ “เด็กสมัยนี้” จริงๆ เราคงไม่รู้ว่า โอกาสเข้าถึงข้อมูลของพวกเขาที่ไม่จำกัดนั้น สร้างให้เขามีความคิดกว้างไกลเกินจะปรามาส ในฐานะอาจารย์ที่สอนนักศึกษามากว่า 10 ปี อ.วาสนา เห็นว่า

“เด็กๆ เขามีความคิดก้าวหน้ามหัศจรรย์ ขณะที่ทุกคนบอกว่าการศึกษาไทยมันล้มเหลว แต่วาสนาคิดว่าความล้มเหลวของการศึกษาไทยที่ทำให้ไม่สามารถคาดหวังว่าจะได้อะไรจากชั่วโมงเรียน ทำให้เด็กขวนขวายออกไปข้างนอก อ่านหนังสือ ตอนนี้อุตสาหกรรมการแปลหนังสือเฟื่องฟูขึ้นเยอะ หลายคนอ่านหนังสือแปล หลายคนภาษาดีมาก ไปหาอ่านตามอินเทอร์เน็ต เขามีความรู้กว้างขวาง และตั้งคำถามมาก ก็น่าชื่นใจ

"บอกตามตรงว่าทำงานในมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจมากก็คือเวลาที่เราไปถาม ไปรับฟังว่านักศึกษาคิดอย่างไรกับประเด็นต่างๆ ทำให้เรารู้ว่าเขาตามข่าว เขาตั้งคำถาม มีเหตุมีผล และไม่ได้เป็นวัยรุ่นที่อะไรๆ ก็ต่อต้านผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่ตอบคำถามให้เขาเคลียร์ได้ เขาก็โอเค แต่ถ้าผู้ใหญ่ไม่เคลียร์ เขาก็จะถามต่อไป มีช่องทางในการถาม การหาข้อมูล ทำให้เรารู้สึกว่ามีความหวังอยู่”

แม้ว่าการควบคุมเชิงพื้นที่จะทำให้เกิดความลำบาก หากคิดจัดกิจกรรมอะไรขึ้นมา (ที่ขัดต่อความสงบในบรรทัดฐานของรัฐ) มิหนำซ้ำ ผู้ที่ควบคุมและตัดตอน บางครั้งก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็น “ผู้ใหญ่” ในมหาวิทยาลัยที่ออกตัวห้ามไม่ให้มีกิจกรรมที่อ่อนไหวใดๆ เกิดขึ้นทั้งนั้น อ.วาสนามองว่านี่คือการครอบงำแบบหยั่งรากลึก ในขณะที่บางหน่วยงานบอกว่าตนไม่ใช่เครื่องมือของรัฐบาล หรือมหาวิทยาลัยที่บอกตัวเองว่าเป็นพื้นที่เปิดกว้างเพื่องานวิชาการ แต่ก็ตั้งใจ “เซ็นเซอร์” ตัวเอง (เช่น บางมหาวิทยาลัย ไม่ให้ใช้เอกสารบางชุดในการสอน เพราะเป็นอันตรายต่อความมั่นคง โดยเป็นคำสั่งของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอง ไม่ใช่โดยรัฐบาล) หรือเสนอความสยบยอมให้แก่รัฐโดยไม่ต้องร้องขอ (เช่น กรณีอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เชิญทหารเข้ามาทำโครงการอบรมภาวะความเป็นผู้นำ)

ฉะนั้น เราจึงไม่อาจคาดหวังต่อ “ผู้ใหญ่” อย่างที่เคยได้ยินมาว่า อย่าเชื่อใจคนที่อายุเกิน 35 ปีว่าจะมาเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เพราะพวกเขาพึ่งพิงและหยั่งรากลึกในระบบเสียแล้ว จึงต้องคาดหวังต่อพลังเยาวชนที่พร้อมจะลุยเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เท่านั้น?

พลังของความไร้เดียงสา

อ.วาสนาเห็นว่า “ก็จริงหลายส่วน คนอายุเกิน 35 ที่ร่ำรวยประสบความสำเร็จแล้ว อาจพึ่งให้เขาเปลี่ยนแปลงสังคมยาก แต่เด็กเขามีความไร้เดียงสา ไม่กลัว ไม่เคยติดคุก ไม่เคยเจออะไรที่ทำให้รู้สึกกลัว สิ่งนี้เป็นสากล เด็กเป็นอย่างนี้เหมือนกันทั่วโลก ยังไม่ค่อยเจอเรื่องเลวร้ายเลยไม่กลัว ส่วนคนรุ่นผู้ใหญ่ก็มีทั้งแบบที่ติดคุกมาแล้ว ออกมาแล้ว ก็ไม่กลัวอะไรอีก และก็มีผู้ใหญ่ที่ผ่านเรื่องเลวร้ายมาแล้วหลาบจำ แต่เด็กไม่มีตรงนั้น ก็เลยนึกไม่ออก”

อาจารย์วาสนายกตัวอย่างเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตนักกิจกรรม ที่เคยบอกว่าเข้ามหาวิทยาลัยมา 1 ปี ได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก จากผู้ใหญ่ จากมหาวิทยาลัยที่เขาไม่เคยคิดมาก่อน อาจารย์ชวนคิดว่าหากเขารู้ว่าโลกของผู้ใหญ่เป็นอย่างนี้ ก็อาจไม่กล้าเคลื่อนไหวอย่างที่ผ่านมาก็ได้ ความไร้เดียงสาแบบเด็กนั้นจึงสำคัญ

ระบบโซตัสในมหาวิทยาลัย คือการสะท้อนความนิยมระบบอาวุโสและการใช้อำนาจในแนวดิ่งของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ต่อให้บางที่อาจไม่ได้มีการรับน้องที่รุนแรง แต่การปลูกฝังก็จะทำให้เกิดการเกรงใจ และไม่กล้าเปลี่ยนแปลง หากต้องพึ่งพิงกับระบบอาวุโส ในการที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้ จึงต้องอาศัยการตั้งคำถามจากคนนอก หรือคนที่ไม่พึ่งพิงกับระบบ หรือจากเยาวชน หรือเปล่า? 

คำถามที่มีน้ำหนักมาพร้อมกับความรับผิดชอบ

‘เป็นเด็กทำไมไม่รู้จักทำหน้าที่ของตัวเอง (เรียนหนังสืออย่างเดียวก็พอ)’ คือข้อกล่าวหาเมื่อเยาวชนออกมาเคลื่อนไหวเชิงการเมืองและสังคม และต่อให้ไม่ใช่เยาวชน (เป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ในระบบก็ตาม) คนที่ออกมาตั้งคำถาม ประท้วง หรือเรียกร้องบางสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หากจะยืนหยัดอยู่ได้ พูดแล้วเสียงดังมีน้ำหนัก ก็ควรรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเองให้ดีก่อน

“คุณต้องมีความสามารถในหน้าที่การงานที่คุณทำ ต้องเป็นประโยชน์ต่อองค์กร ดังนั้น เขาก็ต้องการเราในฐานะเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรืออะไรก็ตาม นี่คือสิ่งสำคัญสำหรับนักเคลื่อนไหว ถ้าคุณไม่ได้ทำงานรับเงินเดือนขององค์กรที่ทำงานเคลื่อนไหว (หรือต่อให้ทำเป็นอาชีพ ก็ต้องมีทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการ) ไม่ว่าคุณจะอยู่บริษัท หรือองค์กรใด ก็ต้องมั่นใจว่าทักษะในวิชาชีพของคุณมันเจ๋ง ไม่ใช่ว่างานก็ไม่ได้เรื่องก็ยังไปเถียงเขา เดี๋ยวก็ตกงาน” อ.วาสนา ว่า

“เด็กที่ออกมาเคลื่อนไหว อย่างโจชัว หว่อง การเรียนเขาก็ไม่เสีย เขาสอบเข้า HKU มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของฮ่องกงได้ หน้าที่ในความรับผิดชอบของตัวเองต้องทำให้ได้ดี แล้วนั่นจะเป็นฐานที่ทำให้... การที่เราจะบอกว่าไม่เห็นด้วยกับระบบนี้ ไม่เห็นชอบกับการกระทำนี้ๆ ของผู้ใหญ่นั้น ถูกพูดมาจากคนที่มีความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน จากคนที่ดูแลตัวเองได้ คนที่จ่ายภาษี หรืออะไรก็ตาม มันน่าเชื่อถือกว่าคนที่วันๆ ไม่ทำอะไรเลยแล้วไปเดินประท้วงด่ารัฐบาล นี่จึงสำคัญต่อนิสิตนักศึกษาที่ทำงานเคลื่อนไหว ว่าการเรียนของเขาก็ต้องไม่เสีย เขาต้องได้ความรู้ มีการแสดงออกทางวิชาการที่ดีด้วย”

หากรับผิดชอบตัวเองได้ดีก็จะได้รับการเคารพจากผู้อื่น แม้จะมีจุดยืนหรือความเห็นต่างกันก็ตาม

แพลตฟอร์มที่หลากหลาย การเข้าถึงอินเทอร์เน็ท ความสนใจต่อสังคม และการรับผิดชอบในหน้าที่ คือความหวังที่เยาวชนจะสามารถยืนหยัดเพื่อสิทธิท่ามกลางแรงเสียดทานในปัจจุบันได้