งดงาม เลอค่า ผ้าไหมแพรวา

งดงาม เลอค่า ผ้าไหมแพรวา

“...ผ้าแพรวาที่ทอแบบดั้งเดิมความยาวช่วงหน้าแค่ 1 คืบ หรือยาวเท่าวาเดียวของผู้ทอหรือประมาณหนึ่งช่วงแขน นิยมเอามาทำเป็นผ้าคลุมไหล่หรือห่มสไบเฉียง...

 

            เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรเห็นว่าผ้าไหมแพรวามีความงดงามมาก ท่านเห็นชาวภูไท แต่งตัวห่มผ้าสไบ ท่านก็ตรัสว่า ...ทำไมสวยจังเลย แต่ก็นำไปตัดเสื้อไม่ได้นะ ทำไมไม่ทำให้คนอื่นใส่บ้าง...จึงเป็นที่มาของการพัฒนาผ้าไหมแพรวา นับตั้งแต่นั้น”

            จากคำบอกเล่าของ ดร.จรัสพิมพ์ วังเย็น คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร หนึ่งในคณะนักวิจัย โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสาน ซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ผ้าไหมแพรวา จังหวัดกาฬสินธุ์

11ผ้าไหมแพรวาre

  ผ้าไหมแพรวาตัดร่วมกับผ้าลินเป็นเสื้อผ้าสวมใส่ไปทำงานได้          

           “งานวิจัยผ้าไหมแพรวาเป็นหนึ่งใน โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสาน จากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีหลายเฟส ส่วนตัวดิฉันรับผิดชอบ กลุ่มผ้าแพรวา ต.บ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเข้ามาพัฒนาและส่งเสริมเมื่อปี พ.ศ.2520 ได้ทอดพระเนตรเห็นชาวภูไท บ้านโพน แต่งตัวโดยใช้ผ้าแพรวาห่มแบบสไบเฉียง ทรงโปรดเกล้าฯ และมีพระราชดำริให้ขยายหน้าผ้าให้กว้างขึ้นเพื่อจะนำไปใช้เป็นผ้าผืนตัดเป็นเสื้อผ้าได้

            หลายปีผ่านไป อาจารย์จรัสพิมพ์ บอกว่า ผ้าแพรวา มีการพัฒนาปรับประยุกต์ไปตามเวลา

A07Y1357rere

            “ผ้าทอแพรวามีความสวยงาม มีคุณค่า ประณีตมาก เป็นผ้าที่สุดยอดมาก การที่เราจะเข้าถึงชุมชนเราต้องได้รับการยอมรับ และชุมชนที่เราเข้าไปเป็นกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านโพนที่มีความมุ่งมั่นจะพัฒนา เป็นคนรุ่นใหม่ลูกหลานที่เข้าไปอยู่กับป้า ๆ แม่ ๆ ที่ทอผ้าแบบดั้งเดิม แต่มีแนวคิดเปิดกว้าง ซึ่งการทอผ้าของที่นี่เรียกว่าสุดยอดแล้ว แต่ความที่มีราคาสูงมาก เพราะนอกจากทอมาจากเส้นไหม เขายังมีวิธีการอันซับซ้อน เช่น ใช้วิธีการเหมือนผ้าขิดคือเอาตัวไม้สอดเข้าไปตามเส้นด้ายยืนเสร็จแล้วจะยกเส้นด้ายให้เกิดความนูนขึ้นมาเล็กน้อยแล้วทอ ไม่พอต้องจกด้วย การจกคือมีเส้นด้ายพิเศษผูกติดเพื่อทำให้เกิดความนูนและมีการแทรกสีที่ไม่ได้ขึ้นมาจากเส้นด้ายยืน อันนี้แบบดั้งเดิมนะ แต่ปัจจุบันพัฒนาแล้วแต่ก็ยังมีการขิดและจกบ้าง ซึ่งราคาก็ยังสูง

            ของดั้งเดิมคือทอแค่ 1 คืบ ตอนนี้พัฒนามาทอหน้ากว้างขึ้นเป็น 60-80 เซนติเมตร แล้วแต่ช่างทอ แต่ยังถือว่าเล็กอยู่ค่ะ ถ้านำไปตัดเป็นเสื้อก็จะไม่พอ กลุ่มนักวิจัยได้เข้าไปพัฒนาด้านการออกแบบ คือทอผ้าแพรวาครึ่งหนึ่งกับผ้าไหมพื้นครึ่งหนึ่ง ทอเป็นผืนเดียวกันด้วยเครื่องทอแบบดั้งเดิม เพื่อนำมาตัดเป็นเสื้อผ้าทั้งชุดได้”

08ผ้าไหมแพรวาre             

          อาจารย์เล่าว่า ผ้าแพรวามีความงดงามเป็นเอกลักษณ์ แต่ก็มีราคาแพง ผืนหนึ่งประมาณ 4,500 บาท แม้พัฒนาความกว้างและความยาวเกือบ 4 เมตร แต่สามารถนำมาตัดได้แค่ชุดเดียว สำหรับคนทั่วไปราคาผ้าที่ยังไม่นำไปตัดก็แพงแล้ว หรือบางผืนทอลวดลายเป็นบางช่วง ราคา 2,000 บาทเริ่มต้น ถือว่าขายยาก ต้องเป็นนักสะสมหรือคนที่ชอบผ้าจริง ๆ

            “โจทย์ที่ได้มาคือพัฒนาให้ขายง่ายขึ้น ที่สำคัญเปิดโอกาสให้คนทั่วไปจับต้องผ้าแพรวาได้ในราคาที่ไม่สูงมากนัก และยังคงภาพลักษณ์ของการดีไซน์ที่ชูความเป็นผ้าแพรวาได้ด้วย จากเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงส่งเสริมทำให้ชาวบ้านพัฒนาการทอให้มีหน้ากว้างขึ้น และทอลวดลายวิจิตรบรรจงน้อยลง จากลายเดิมคือลายขิดกับลายจก และสีที่ใช้ของดั้งเดิมเป็นสีแดงที่มาจากครั่ง ก็พัฒนาให้เกิดความหลากหลายที่คนทั่วไปจับต้องได้ จึงเกิดเป็นผ้าแพรวาที่มีลวดลายและสีอื่น ๆ ของรุ่นใหม่มีทุกสีเลย เช่น เหลือง ชมพู ม่วง ฯลฯ”

            นอกจากการทอผ้าแพรวาผสมกับผ้าไหมแล้ว นักวิจัยยังออกแบบโดยใช้ผ้าผืนแพรวาตัดกับผ้าลินินเป็นชุดต่าง ๆ

A07Y0819rere

            “ตามคอนเซปต์ที่วางไว้คือเพื่อลดต้นทุนและให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ คนวัยเพิ่งทำงาน เราจึงนำเทคนิคการตัดต่อมาผสมผสาน ในเฟสแรกใช้ผ้าลินินที่ราคาไม่สูงมาก เวลานำไปตัดกับผ้าแพรวาก็ทำให้ดูมีราคา ผ้าลินินเราก็ออกแบบให้มการปูผ้ากาวเป็นผ้าชีฟองไว้ด้านหลังของผ้า เมื่อไปอยู่ข้างในแล้วจะช่วยดึงให้ผ้าไม่ยับมาก และทำให้ดูหนาขึ้นและอยู่ทรง รีดแล้วจะตึงและยับยากและทำให้เกิดเป็นสีเหลือบด้วย” 

A07Y1403rere

  24ผ้าขาวม้าย้อมสีธรรมชาติre

   20 พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์re     25ผัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้า  พัฒนาผ้าไหมและผ้าขาวม้าย้อมสีธรรมชาติเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ     

            ชุดผ้าแพรวาดีไซน์ใหม่ร่วมกับผ้าทอสีพื้นชนิดต่าง ๆ โดยเลือกใช้ผ้าลินินก่อน เช่น ตัดเย็บผสมผสานผ้าแพรวาตรงปกคอเสื้อ กระเป๋า ชายกางเกง เดรสแขนกุดกลัดกระดุมหน้า ด้านหนึ่งเป็นผ้าแพรวา อีกด้านใช้ผ้าพื้นลินิน และเสื้อคลุมแขนกุดความยาวคลุมสะโพก แมทชิ่งกับกางเกงเข้ารูป กระโปรงป้ายข้างความยาวเหนือเข่า ดีไซน์เรียบโก้ สวมใส่ง่าย เคลื่อนไหวคล่องตัว ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ อีกทั้งเพิ่มสีพาสเทลดูอ่อนหวาน หรือเลือกมิกซ์แอนด์แมทช์ผ้าแพรวาสีสดตัดกับสีอ่อนหวานของผ้าลินินในแพทเทิร์นร่วมสมัย สวมใส่ไปทำงานได้

            “เรากำหนดแพทเทิร์นลวดลายเพียงบางส่วน ทำให้ต้นทุนถูกลง ลูกค้าจึงตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น เราทำต้นแบบไว้แล้ว พอตัดเย็บออกมาไม่กี่ชุดก็ขายหมด ข้อสำคัญอีกอย่างคือเรากำหนดให้มีไซส์หลากหลายขึ้น มีขนาด S M L ที่เป็นมาตรฐานสากล ทำให้กลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการตลาดออนไลน์ด้วย เราพัฒนาครบวงจร”

            ต้นแบบชุดผ้าแพรวาหลังถ่ายทอดให้กลุ่มชุมชนตัดเย็บเสร็จเรียบร้อย วางแค่ 2-3 สัปดาห์ก็ขายเกลี้ยง เช่น เสื้อกั๊ก เดรส เสื้อคลุมตัวยาว ราคา 2,500-3,000 บาท ตอบโจทย์นักวิจัยว่าเดินมาถูกทางแล้ว

16ผ้าซิ่นตีนแดง บุรีรัมย์re

    ผ้าซิ่นตีนแดง จ.บุรีรัมย์        

           “เหนืออื่นใดคณะทำงานหวังว่า สิ่งที่เราทำจะเป็นรากฐานให้ชุมชนสามารถนำไปต่อยอดและสร้างดีไซน์ใหม่ ๆ ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะทำให้ผ้าไหมแพรวาเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านผู้ทอผ้าไหมแพรวามีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน สมดังพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ในการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงตอบสนองพันธกิจของ มทร.พระนครได้อย่างครบถ้วน”

         โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสาน นอกจากพัฒนาผ้าไหมแพรวา จ.กาฬสินธุ์แล้ว ยังมี ผ้าซิ่นตีนแดง จ.บุรีรัมย์ และ ผ้าขาวม้าย้อมสีธรรมชาติ จาก จ.อุบลราชธานี ซึ่งนำมาประยุกต์ตัดเย็บให้เป็นเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบทันสมัยขึ้น ราคาจับต้องได้ และมีฟังก์ชั่นใช้งานตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

บุรีรัมย์re

 สมดังพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงส่งเสริมรักษาผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน และได้รับการยกย่องให้เป็น “พระมารดาแห่งผ้าไหมไทย”

 หมายเหตุ: งานวิจัยผ้าไหมแพรวา เป็นส่วนหนึ่งของผลงานที่นำไปจัดแสดงในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561” (Thailand Research Expo 2018) เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์