ถนนข้าวสาร ตามระเบียบพัก

ถนนข้าวสาร ตามระเบียบพัก

เมื่อกติกาสังคม ธุรกิจ และเสน่ห์การท่องเที่ยวต้องเดินไปพร้อมๆ กัน บนถนนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวจากทุกมุมโลก

วันที่ไปสำรวจถนนข้าวสารเมื่อกลางสัปดาห์ก่อน ญาดา พรเพชรรัมภา ประธานชมรมผู้ค้าแผงลอยเสรี ถนนข้าวสาร บอกว่า เธอเพิ่งกลับจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเพื่อไปยื่นหนังสือคัดค้านการจัดระเบียบ ถนนข้าวสารอีกครั้ง แม้จะอยู่ระหว่างการอนุโลมให้ผู้ค้าตั้งแผงบนทางเท้าได้ชั่วคราว ช่วงระยะเวลา 18.00-24.00 น. เพื่อรอความชัดเจนถึงรูปแบบการจัดระเบียบ

เธอ ยืนยันว่า ไม่ได้คัดค้านกติกา เห็นด้วยกับการกำหนดสิทธิ 1 แผงค้า ต่อผู้ขาย 1 ราย เพื่อความเป็นธรรม หากปัญหาอยู่ที่ขนาดแผงค้า 1.5 x 1.5 เมตร เวลาทำการช่วงเย็นเฉพาะ 18.00-24.00 น. และวิธีคิดของผู้มีอำนาจในการจัดระเบียบ

“แค่ขายช่วงค่ำนั้นน้อยเกินไป และนั่นแสดงว่าคุณอยากให้ข้าวสารเป็นเพียงย่านร้านอาหาร ผับ บาร์ และการท่องเที่ยวกลางคืน แบบเดียวกับสีลม พัฒน์พงษ์ และตลาดไนท์บาร์ซ่าอื่นๆ อย่าลืมว่าข้าวสารโด่งดังมาจากเกสต์เฮาส์ราคาถูก อาหารสตรีทฟู๊ด ซึ่งเป็นสิ่งที่แบ็คเพ็กเกอร์ชอบมาก เพราะเขาหาไมได้จากแหล่งท่องเที่ยวอื่น และลักษณะแบบนี้ทำให้ชุมชนใกล้ๆ ข้าวสารอย่างซอยรามบุตรี บางลำพู ถนนสามเสน ได้รับอานิงสงส์ไปด้วย”

ข้าวสาร...อวสานแผงลอย?

2-3 ปีที่ผ่านมา ในระหว่างที่ประเทศไทยได้รับการโหวตให้เป็นมหานครแห่ง street food ก็เป็นเวลาเดียวกับที่ร้านหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ ถูกจัดระเบียบเช่นเดียวกัน ไม่เว้นกระทั่งย่าน ข้าวสาร ถนนความยาวกว่า 400 เมตร ซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดจากเหล่าทัวร์ริสต์ทั่วโลก

ประธานชมรมผู้ค้าแผงลอยเสรี บอกว่า ที่ผ่านมาผู้ค้าถนนข้าวสารมีการจัดระเบียบโดยตลอด บางช่วงลงขันจ้างรถมาทำความสะอาด ใช้ความเป็นชุมชนตรวจสอบแหล่งอบายมุข จุดที่ล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรม และมีความต้องการให้ถนนข้าวสาร พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีจุดถ่ายรูป ห้องน้ำสาธารณะ ไฟส่องสว่าง การรักษาความปลอดภัย แต่จะให้ผู้ค้าแผงลอยเลิกขายแบบเดียวกับการจัดระเบียบที่อื่นๆ คงไม่ถูก เพราะแต่ละที่ล้วนแตกต่างกัน

สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่า การจัดระเบียบไม่ได้หมายถึงการบอกให้ผู้ค้าเลิกขายของ แต่ต้องทำความเข้าใจว่าจุดที่ขายกันมาอย่างยาวนั้นไม่ใช่จุดผ่อนผัน กทม.ไม่มีความตั้งใจที่จะยกเลิกการทำการค้าในถนนข้าวสาร แต่ต้องการที่จะจัดระเบียบให้มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย และปลอดภัยสำหรับทุกคน รวมทั้งพยายามช่วยเหลือให้ผู้ค้าถนนข้าวสารสามารถทำการค้าได้อย่างถูกต้อง

 “บางส่วนอาจมองว่าการจัดระเบียบทำให้เสน่ห์ของถนนข้าวสารหายไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ายอมให้เสน่ห์ของถนนข้าวสาร คือ การสกปรก เลอะเทอะ ทุกคนอยากทำอะไรก็ทำ” รองผู้ว่าฯ กำชับแนวคิดของการจัดระเบียบ

เจ้าของร้านสักแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่บนถนนข้าวสารมาอย่างยาวนาน วิเคราะห์ว่า นโยบายการจัดระเบียบของกทม. น่าจะทำให้ผู้ค้าที่อยู่ภายในอาคารพอใจ เพราะจะไม่มีแผงลอยบังหน้าร้าน ส่วนผู้ค้าที่เป็นแผงลอย หรือเจ้าของอาคารผู้ให้เช่าแผงบางส่วนอาจไม่เห็นด้วยเพราะขาดรายได้ อย่างไรก็ตามตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่กทม.จัดระเบียบ ก็พบว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่น ข้อดีคือการขนถ่ายสินค้าทำได้ง่ายขึ้น ถนนเป็นระเบียบขึ้น สะอาดขึ้น ทว่าข้อเสียคือการตั้งข้อสังเกตว่า นี่ทำให้ถนนข้าวสารดูเงียบเหงากว่าที่เคยหรือไม่

ขณะที่เจ้าของร้านขายของที่ระลึก ซึ่งค้าขายที่ถนนแห่งนี้ตั้งแต่รุ่นแม่ บอกว่า ผู้ค้าที่ถนนข้าวสารมีหลากหลายกลุ่ม ทั้งเจ้าของที่เดิมที่อยู่ในอาคาร ผู้เช่าอาคาร ผู้เช่าแผง บางรายเป็นแรงงานต่างด้าว อย่างไรก็ดี ถนนข้าวสารในปี 2561 แตกต่างจากในอดีตไปมาก โดยเปลี่ยนจากถนนที่เน้นเรื่องงานศิลปะ งานคราฟต์ เกสต์เฮาส์ราคาถูกเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าพักนานนับสัปดาห์ นับเดือน ก่อนไปจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย สู่ปัจจุบันที่เน้นเป็นกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งมากิน ดื่ม แล้วเดินทางกลับ

กลุ่มผู้ค้าเสรี ถ.ข้าวสาร เมื่อครั้งเดินเท้ามายื่นหนังสือ ขอให้ชะลอการพิจารณาคำสั่ง

แผงลอย ทางเลือกคนเมือง

การจัดระเบียบถนนข้าวสาร คงไม่ต่างกับการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ โดยที่ยังไม่มีใครรู้ว่าผลลัพธ์จะยั่งยืนหรือไม่ และการต่อสู้ระหว่างกฎหมายกับความคุ้นเคยที่ทำกันมาอย่างยาวนานจะสิ้นสุดลง ณ ที่ใด

บทความเรื่อง ‘หาบเร่แผงลอย: วิถีชีวิตที่รัฐมองข้าม’  ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุตอนหนึ่งว่า แม้เหตุผลเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยของผู้ใช้ทางเท้า ความเดือดร้อนของผู้อยู่อาศัยหรือร้านค้าที่หาบเร่แผงลอยไปตั้งอยู่หน้าร้านจะเป็นเรื่องจริงและเข้าใจได้ว่าต้องได้รับการแก้ไข แต่ก็ต้องพิจารณาถึงประโยชน์ของการมีหาบเร่แผงลอย รวมทั้งผลกระทบต่อชีวิตของเหล่าแม่ค้าพ่อค้าจำนวนเรือนแสน (หรือเรือนล้านถ้าคิดรวมสมาชิกครอบครัวเขาเหล่านั้นด้วย)

อย่างที่รู้ว่า หาบเร่แผงลอยให้ความสะดวกสบายในการซื้อหาอาหารด้วยราคาที่ย่อมเยา อยู่ใกล้ชุมชน และให้บริการทุกที่ที่มีผู้คนสัญจรไปมา โดยจากงานวิจัยพบว่ากลุ่มลูกค้าสำคัญคือ พนักงานออฟฟิศ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักเรียน รวมไปถึงแรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ โดยร้อยละ 60 ของประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 9,000 บาทต่อเดือนจะมีการซื้อของจากร้านหาบเร่แผงลอยทุกวัน ซึ่งหากร้านค้าหาบเร่แผงลอยหายไป คนกลุ่มดังกล่าวจะต้องซื้ออาหารในราคาที่แพงขึ้นและจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มถึงเดือนละ 357 บาท หรือมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่พวกเขาได้รับในหนึ่งวัน

หาบเร่แผงลอยยังมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะช่วยดึงดูดผู้คนให้สัญจรผ่านในพื้นที่ ทำให้บริเวณดังกล่าวไม่กลายเป็นพื้นที่เปลี่ยวและภาคธุรกิจใกล้เคียงได้รับประโยชน์ไปด้วย เช่น ในพื้นที่ปากคลองตลาด การมีอยู่ของร้านหาบเร่แผงลอยที่ขายดอกไม้เป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนและจับจ่ายในช่วงเวลากลางคืน

  20180802101613203

ทางออกถนนข้าวสาร

การค้าประเภทหาบเร่แผงลอยเป็นอาชีพอิสระประเภทหนึ่งที่คงอยู่มาเป็นเวลานานแล้ว มีขนาดเล็กกว่าธุรกิจขนาดย่อม บางครั้งเรียกว่า ธุรกิจขนาดจิ๋ว หรือ Micro-enterprise ซึ่งเป็นการค้าที่ใช้พื้นที่ข้างทาง เช่น ริมถนน ตรอก ซอย ทางเท้า เป็นพื้นที่ประกอบการค้า ในบางกรณีจึงเรียกว่า ‘การค้าข้างทาง’

รศ.ดร.นฤมล นิราทร  อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ซึ่งเคยทำวิจัยในประเด็นการบริหารจัดการการค้าข้างทาง มองว่า อย่ามองการจัดระเบียบในมิติของความสะอาดหรือการจราจรเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องมองว่าการค้าแผงลอย เชื่อมโยงกับอาชีพและการจับจ่ายใช้สอยของผู้มีรายได้น้อย

“มองให้ลึกกว่านั้นนี่คือการต่อสู้ระหว่างทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อได้เลย ถ้าคุณเป็นแม่บ้านในตึก ใส่ยูนิฟอร์ม ใช้ชีวิตทำงานอยู่ในอาคารที่รายรอบไปด้วยห้างที่ดูสะอาดสะอ้าน แต่เวลาคุณเลิกงาน คุณก็ต้องหาทางที่จะไปซื้ออาหารร้านค้าแผงลอย ในตลาดนัด ระหว่างทางกลับบ้านอยู่ดี เพราะการมีรายได้ไม่มาก มันบังคับให้คุณต้องซื้อจากร้านค้าเหล่านี้ และถ้าในเมืองไม่มีร้านค้าขนาดเล็กให้เป็นทางเลือกเลย ก็ไม่ต่างอะไรจากการถูกทุนใหญ่ผูกขาด จะซื้ออาหาร จะซื้อเสื้อผ้า ก็ต้องเดินเข้าห้าง เข้าร้านสะดวกซื้อติดแอร์”

 “ฝั่งผู้ค้าก็เช่นกัน การมีแผงขนาดเล็กคือแหล่งรายได้ นี่คือธุรกิจของคนต้นทุนน้อย ผู้ค้าอาหารริมทางส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ มีการศึกษาเฉลี่ยในระดับต่ำกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน การมีแผงขายอาหารริมทางจึงเปรียบเสมือนบันไดเริ่มต้นหาเลี้ยงชีพของคนต้นทุนน้อยเพื่อรอวันขยับขยายใหญ่ขึ้นเป็นผู้ประกอบการเต็มตัว”

ถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งมองว่านี่คือมุมมองของเรื่องโลกสวย เพราะในย่านการค้าอย่างถนนข้าวสารหรือย่านไหนๆ ก็มีผู้ค้าหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าซึ่งมีรายได้น้อยจริงๆ ผู้ค้าที่เช่าช่วงขายต่อ และผู้ค้าที่เป็นนายทุนแบบที่เรียกว่า 'จนไม่จริง'

รศ.ดร.นฤมล ยกตัวอย่างการจัดระเบียบร้านอาหารข้างทางของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเคยมีปัญหาในลักษณะเดียวกันในอดีตก่อนจะประสบความสำเร็จเป็นรูปแบบศูนย์อาหารฟู๊ดคอร์ท หรือที่เรียกว่า Hawker center ว่า รัฐบาลสิงคโปร์จำแนกกลุ่มผู้ค้าได้ชัดว่า 1.ผู้ใดมีรายได้น้อยและต้องช่วยเหลือในการจัดสรรพื้นที่ค้าขาย ทำกิน กับ 2.ผู้ที่พ้นความยากจนแต่ต้องการประกอบธุรกิจ โดยทั้ง 2 ประเภทจะได้รับการช่วยเหลือต่างกัน เช่น การจัดโซน ค่าเช่า การเสียภาษี เป็นต้น

“กทม.จะใช้เกณฑ์เดียวมาวางกติกาผู้ค้าไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ถนนข้าวสาร ต้องมีการแสวงหาทางออกร่วมกันระหว่างผู้บังคับกฎหมาย และชุมชน โดยผลลัพธ์ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวกับย่านการค้าอื่น เพราะแต่ละที่ก็ต่างบริบทกันไป”

จะจัดระเบียบถนนข้าวสาร กทม.จึงต้องมี Big data เพื่อใช้ข้อมูลจำแนกประเภทผู้ค้าให้ได้ และเป็นการจัดระเบียบอย่างยั่งยืน เพื่อให้ระเบียบใหม่ตอบโจทย์ทั้งภาครัฐคือเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยของผู้สัญจร ขณะเดียวกับที่ผู้ค้าต้องมีการรวมตัวเพื่อดูแลควบคุมกันเอง มีการลงโทษผู้ไม่ปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด แบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่

อย่าเอาแต่จัดระเบียบแบบเข้าแถวยืนตรง สั่งตามระเบียบพักแต่ไม่มีแผนเดินหน้าต่อ เพราะการจับ-ปรับ อาจทำกิจการยุติได้เพียงชั่วคราว แต่ไม่นานก็จะกลับมาใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก