โขนพระราชทาน : ทรงฟื้นฟูสืบศาสตร์ศิลป์แผ่นดิน

โขนพระราชทาน :  ทรงฟื้นฟูสืบศาสตร์ศิลป์แผ่นดิน

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 กับพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์โขน

การอนุรักษ์ ‘โขน’ เป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักถึงความสำคัญ

เห็นได้จากเมื่อเสด็จพระราชดำเนินยังต่างประเทศ หากต้องมีการแสดง มักทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ นำการแสดง ‘โขน’ ไปแสดงให้ประจักษ์สู่สายตาชาวโลกอยู่เสมอ  

เช่นเดียวกับในงานเลี้ยงรับรองพระราชอาคันตุกะในประเทศ ก็ทรงเลือกให้มีการแสดง ‘โขน’ รวมอยู่ด้วย

หนึ่งในภาพประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ ‘โขน’ ได้รับการบันทึกไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2539 เมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ บิล คลินตัน เดินทางมาพร้อมด้วยภริยา ฮิลลารี คลินตัน ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร 

ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการต้อนรับในรูปแบบรัฐพิธี พระราชทานเลี้ยงในพระบรมมหาราชวัง 

ในงานพระราชทานเลี้ยงค่ำนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดงโขนรามเกียรติ์ ชุด ‘ยกรบ’ เฉพาะพระพักตร์ ซึ่งมีความกระชับ น่าสนใจ และเห็นกระบวนทัพเสนาลิงอันยิ่งใหญ่ตระการตา ณ บริเวณสนามหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เนื่องจากทรงมีพระราชประสงค์ให้แขกต่างถิ่นที่มาเยือน ได้เห็นว่าประเทศไทยมีมรดกศิลปวัฒนธรรมอันงดงามไม่เหมือนกับชาติใดในโลก ทั้งสองพระองค์ยังได้พระราชทานคำอธิบายโขนกับพระราชอาคันตุกะทั้งสองอย่างเป็นกันเองระหว่างการแสดง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงใส่พระทัยศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยแขนงนี้เป็นอันมาก

"เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงกราบบังคมทูลว่า ช่วงนี้โขนค่อนข้างซบเซา ไม่มีคนดูเลย จะทำอย่างไรดี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงบอกว่า ‘ถ้าไม่มีใครดู แม่จะดูเอง’ ก็เป็นเหตุให้มีการแสดงโขนไปแสดงตามพระตำหนักต่างๆ ที่ทรงแปรพระราชฐานไปเพื่อประทับทรงงาน เช่นที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ทรงนำโขนไปแสดงในงานเลี้ยงขอบคุณประชาชนและพระราชองครักษ์ เป็นต้น" สุรัตน์ จงดา คณะกรรมการ จัดแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หรือ ‘โขนพระราชทาน’ กล่าวในการบรรยายเรื่อง ‘ฉากประทับใจในโขนพระราชทาน’ จัดโดย พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2559

Q1

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ  ชุด ‘ศึกมัยราพณ์’ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 (ภาพ : สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)

โขน เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย ท่ารำและการย่างกรายมีทั้งความสง่างาม อลังการ และอ่อนช้อย ขึ้นอยู่กับจังหวะและการดำเนินเรื่อง ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของโขนอยู่ที่ผู้แสดงต้องสวม ‘หัวโขน’ ทุกตัว ยกเว้นตัวพระ ตัวนาง และเทวดา รวมทั้งเครื่องแต่งกาย เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ การแต่งหน้า ล้วนงดงามมีรายละเอียดเป็นเอกลักษณ์

พระราชกรณียกิจฟื้นฟูโขน ไม่ใช่แค่การฟื้นฟูนาฏศิลป์ แต่เป็นการพลิกฟื้น ‘ศาสตร์’ และ ‘งานฝีมือช่างหัตถศิลป์ไทยหลายสาขา' เกิดการประชุมกันของผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญงานประณีตศิลป์ของไทยที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ นับร้อยชีวิต เพื่อเชิดชูศิลปการแสดงชั้นสูงแขนงนี้ให้ถูกต้องครบถ้วนตามแบบแผน

ในการอนุรักษ์โขน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชเสาวนีย์เรื่อง การแต่งหน้าโขน เป็นอันดับแรก

“เพราะเมื่อดูในระยะใกล้พบว่า ‘ตัวพระ’ และ ‘ตัวนาง’ มีการแต่งหน้าเหมือนกัน แยกกันไม่ออก ผู้นำประเทศหันมาถามเสมอ คนไหนเล่นเป็นผู้ชาย คนไหนเล่นเป็นผู้หญิง ทรงให้ศึกษาการแต่งหน้าโขน ที่ว่าโขนโบราณแต่งหน้าอย่างไร” สุรัตน์ จงดา กล่าว

Q6

หนุมาน-มัจฉานุ, นางพิรากวน, มัยราพณ์ : ความงดงามของพัสตราภรณ์และเครื่องแต่งกายการแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน ศึกมัยราพณ์ พ.ศ.2554

ถัดมาทรงให้ความสนพระทัยเรื่อง เครื่องแต่งกายโขน ทรงให้ข้อสังเกตว่าเครื่องแต่งกายโขนมีลักษณะแตกต่างไปจากโขนในสมัยแรกที่นิยมสร้างเลียนแบบชิ้นส่วน ‘เครื่องต้น’ อันเป็นเครื่องทรงพระมหากษัตริย์ในอดีต พร้อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 300,000 บาท ให้ ‘กรมศิลปากร’ พัฒนาเครื่องแต่งกายโขนแบบโบราณขึ้นมาชุดหนึ่ง

มูลนิธิศิลปาชีพฯ และ กรมศิลปากร สนองพระราชดำริด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นมาใหม่ที่คงความงดงามตามแบบโบราณ และกราบบังคมทูลขอพระราชทานเพื่อใช้ในการแสดงโขนเรื่อง 'รามเกียรติ์ ชุด ศึกพรหมาศ’ ถวายทอดพระเนตร และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดช บรมนาถบพิตร 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 

การแสดงครั้งนั้น จัดแสดงโขนในรูปแบบการบรรเลงคอนเสิร์ต เนื่องจาก ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ ทรงโปรดดนตรีสากล โดยเลือกบทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ใช้ชื่อว่า การแสดงเฉลิมพระเกียรติ เรื่องรามเกียรติ์ ตอน : พรหมาศ บรรเลงโดยวงโยธวาทิต กองดุริยางค์กองทัพบก และได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงรอบปฐมทัศน์ วันที่ 25 ธันวาคม 2550 (รอบประชาชนทั่วไปวันที่ 27-28 ธันวาคม) ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

หลังจบการแสดง มูลนิธิศิลปาชีพฯ ยังคงดำเนินงานปรับปรุงเกี่ยวกับโขนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายโขนที่เพิ่มรายละเอียดให้วิจิตรยิ่งขึ้น

Q77

เครื่องแต่งกายการแสดงโขน ชุดศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ พ.ศ.2557 

ต่อมาในปีพ.ศ.2552  คณะกรรมการจัดการแสดงโขน มูลนิธิศิลปาชีพฯ จึงกราบบังคมทูลขอพระราชานุญาตจัดการแสดงโขนเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน : พรหมาศ ขึ้นอีกครั้ง ในลักษณะปรับปรุงใหม่ โดยสลับรอบเล่นระหว่างวงปี่พาทย์กับดนตรีสากลแบบเดิม ระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน ได้รับความชื่นชมจากประชาชนเป็นอย่างมาก ต้องเพิ่มรอบการแสดงจาก 5 รอบ เป็น 6 รอบ โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทอดพระเนตรการแสดงในวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2552 เวลา 19.00 น.

จากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดการแสดงโขนออกสู่สายตาประชาชนต่อเนื่องทุกปี กลายเป็นต้นกำเนิดการแสดง โขนพระราชทาน ในปีต่อๆ มา โดยจัดแสดงที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

กล่าวคือ การแสดงโขน ตอน นางลอย ระหว่างวันที่ 22-26 กรกฎาคม พ.ศ.2553 จำนวน 7 รอบการแสดง โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดง วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม 2553 เวลา 19.30 น.

การแสดงโขน ตอน ศึกมัยราพณ์ ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม-วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2554 จำนวน 32 รอบการแสดง โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดง เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2554

การแสดงโขน ตอน จองถนน ระหว่างวันที่ 2-30 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 จำนวน 35 รอบการแสดง โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ แทนพระองค์ ทอดพระเนตรการแสดงรอบปฐมทัศน์ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 เวลา 19.15 น.

การแสดงโขน ชุดศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์ ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน-9 ธันวาคม พ.ศ.2556 จำนวน 34 รอบการแสดง โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ ทอดพระเนตร เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2556 เวลา 19.00 น.

การแสดงโขน ชุดศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม พ.ศ.2557 จำนวน 47 รอบการแสดง โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทอดพระเนตรการแสดงรอบปฐมทัศน์ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2557

การแสดงโขน ชุดศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน-6 ธันวาคม พ.ศ.2558 จำนวน 49 รอบการแสดง โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ ทอดพระเนตรการแสดงรอบปฐมทัศน์ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558

“ทุกครั้งที่มีการแสดงโขนพระราชทาน จะมีแบบสอบถามให้ผู้ชมติชม ว่าชื่นชอบเรื่องใด ตอนไหน และจะมีการประมวลเพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จากนั้นจะทรงเลือกตอนจากข้อมูลแบบสอบถามด้วยความสนพระราชหฤทัย เนื่องจากพระองค์ทรงทราบตอนของรามเกียรติ์ตลอดทั้งเรื่อง” ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และผู้อำนวยการผลิตโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กล่าว

แต่ละปีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดแสดงโขนพระราชทาน ส่งผลให้เกิดการศึกษาและฟื้นฟูศาสตร์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับ ‘โขน’ เป็นลำดับ ทั้งวรรณศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ หัตถศิลป์ ศิลปกรรม และพัตราภรณ์

20160804072706807

ผ้ายกเมืองนคร

ครั้งหนึ่ง ผ้ายกเมืองนคร มรดกวัฒนธรรมผ้าทอไทยอายุนับร้อยปี เหลือฐานะเป็นเพียง ‘โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์’ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงฟื้นฟูการผลิต ‘ผ้ายกเมืองนคร’ ให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของพัสตราภรณ์สำหรับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ อีกครั้ง

“ผ้ายก หมายถึงผ้าไหมที่ทอด้วยเทคนิคการยกลวดลายให้ปรากฏเด่นชัดขึ้น โดยผ้ายกของเมืองนครศรีธรรมราชมีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในฐานะที่เป็นผ้าราชสำนัก ซึ่งทอด้วยเส้นไหมเนื้อละเอียด แทรกลวดลายด้วยไหมเงินไหมทองที่บางเบา และทออย่างประณีต โครงสร้างของการวางลวดลาย อันประกอบด้วย ‘ท้องผ้า’ และ ‘กรวยเชิง’ มีลักษณะแบบราชสำนัก ที่ใช้สำหรับเจ้านายชั้นสูงในอดีต เป็นทั้งผ้านุ่งโจงและ นุ่งจีบ รวมทั้งใช้ห่อคัมภีร์ในพุทธศาสนาด้วย”  อาจารย์ วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับให้กับการแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กล่าว

เนื่องจากกรรมวิธีการทอที่ซับซ้อน ทำให้ ผ้ายกเมืองนคร เกือบจะสูญหายไป แต่ด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ และพระราชทานอาชีพเสริมแก่ราษฏร คือการทอผ้าฝ้าย ปักผ้า สานกระจูด และประดิษฐ์ดอกไม้ เกิดเป็น ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง เมื่อปีพ.ศ.2537 เมื่อได้ทรงทราบว่าผ้ายกเมืองนครฯ ซึ่งมีชื่อเสียงมาแต่อดีต ขาดผู้สืบทอด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟู โดยนำกระบวนการทอ ‘ผ้ายกแบบโบราณ’ จากจังหวัดสุรินทร์ ไปฝึกสอนเป็นพื้นความรู้ในการทอ

"ปัจจุบันศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมังและบ้านตรอกแค ซึ่งเริ่มต้นจากการทอผ้าฝ้ายมาสู่การทอผ้าไหม ได้พัฒนาขึ้นจนสามารถทอผ้ายกทองเมืองนครฯ ได้อย่างงดงาม จึงนับเป็นการอนุรักษ์ พร้อมกับการสร้างรายได้แก่ให้เกิดแก่สมาชิกมูลนิธิฯ ชาวนครศรีธรรมราช อันเป็นแหล่งทอผ้ายกของราชสำนักมาแต่โบราณ และสามารถนำ ‘ผ้ายก’ ที่ผลิตขึ้นใหม่นี้มาใช้เป็นเครื่องแต่งกายโขนพระราชทาน โดยในการแสดงโขนฯ ปี 2557 ได้มีการใช้ ‘ผ้ายกทอง’ จากศูนย์ศิลปาชีพทั้งสองแห่งจำนวนมากถึง 43 ผืน ทดแทนการสั่งผ้าเข้ามาจากต่างประเทศจากในช่วงปีแรกๆ ของการผลิตโขนพระราชทานได้เป็นอย่างดี” อาจารย์วีรธรรม กล่าว

ต่อมาได้พัฒนาฝีมือการทอผ้าและปักชุดโขนให้กับสมาชิกของ ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จ.อ่างทอง เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง ด้วยชาวบ้านในพื้นที่กว่า 100 คน สามารถสร้างสรรค์ชุดโขนได้อย่างวิจิตรเทียบเท่า ‘ผ้ายก’ ที่ใช้มาตั้งแต่โบราณในราชสำนัก

Q8

การจัดทำเครื่องประกอบการแสดงโขน ชุด การปัก การทำหัวโขน และการทอ ‘ผ้ายก’ ซึ่งต้องใช้ช่างทอทำงานพร้อมกันอย่างน้อย 4 คน โดยสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง

Q3

ฉากหนุมานเนรมิตกายให้ใหญ่โตเพื่ออมพลับพลาที่ประทับของพระราม ในการแสดง ตอน ‘ศึกมัยราพณ์’ พ.ศ.2554

องค์ประกอบของงานศิลปกรรมด้าน การสร้างฉาก ที่โอบล้อมตัวรำและนักแสดงสำหรับการแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้รับการให้ความสำคัญอย่างพิถีพิถัน เพื่อการแสดงที่งามวิจิตรเช่นกัน มาควบคู่กับความทันสมัยของ เทคนิคกลไก และ งานประติมากรรม ที่ทำให้ฉากแห่งความฝันของคนไทยที่เคยอ่านวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์...เป็นจริง

อาทิ การแสดงโขน ตอน ‘ศึกมัยราพณ์’ ผู้ชมต่างตื่นตาตื่นใจกับฉากหนุมานเนรมิตกายใหญ่โตนอนเต็มความยาวเวทีหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่ออ้าปากอมพลับพลาที่ประทับพระราม

ตอน ‘จองถนน’ ฉากนางสุพรรณมัจฉาเรียกบริวารปลา ฉากหนุมานดำดิ่งสู่ใต้มหาสมุทร ดูเหมือนเรียบง่ายแต่น่าอัศจรรย์

Q2

ฉากหนุมานแปลงกายสูงใหญ่กว่า 8 เมตร ใช้หางพันรอบเขาสรรพยา เพื่อจับสังกรณี-ตรีชวา ในการแสดง ตอน ‘โมกขศักดิ์’ พ.ศ.2556

ตอน ‘โมกขศักดิ์’ ฉากผู้แสดงเป็นหนุมานร่ายมนต์แล้วเยื้องย่างหายไปด้านหลังเขาสรรพยา ฉับพลันภูเขาสูงใหญ่กว่า 8 เมตรก็พลิกกลับมาพร้อมประติมากรรมหนุมานขนาดใหญ่กางแขนโอบภูเขาทั้งลูก และสำแดงเดชเห็นหางค่อยๆ ขยับพันรอบภูเขาเพื่อจับสังกรณี-ตรีชวา เป็นอีกฉากที่เรียกเสียงปรบมือ, ฉากท้องพระโรงกรุงลงกา อวดฝีมืออันละเอียดประณีตของช่างเขียนลายเต็มความกว้างและความสูงของเวทีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ตอน ‘นาคบาศ’ ความงามสง่าของประติมากรรมลอยตัว ‘พระนารายณ์ทรงสุบรรณ’ ความสูง 7 เมตร ประกอบฉากระบำนารายณ์เจ็ดปาง และฉาก ‘โพรงไม้โรทัน’ ที่อินทรชิตเข้าไปประกอบพิธีชุบศรนาคบาศ ดูลึกลับดังคำบรรยาย

ตอน ‘พรหมาศ’ ฉากศรพรหมาศ การปรากฏตัวของประติมากรรมช้างเอราวัณ ความสูง 3.5 เมตร ใส่กลไกให้ขยับในอิริยาบทต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการชูงวง ขยับคอได้ทั้งสามเศียร การทรุดตัวหมอบ

20151105010307906

ฉากอินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ รายล้อมด้วยเหล่ายักษ์ที่ปลอมกายเป็นเทวดา-นางฟ้า ในการแสดงโขน ชุดศึกอินทรชิต ตอน ‘พรหมาศ’ พ.ศ.2558

“เรานำความงามความวิเศษชั้นเยี่ยมของศิลปกรรมไทยทุกศาสตร์สมัยราชสำนักอยุธยา และต้นกรุงรัตนโกสินทร์ยุคฟื้นฟูฝีมือช่าง สืบค้นจากศิลปวัตถุที่เหลืออยู่ตามพิพิธภัณฑ์ มาใส่ไว้ในงานนี้ คือศิลปกรรมที่เป็นแบบไทยประเพณีแท้ๆ ซึ่งไม่มีใครสร้างแล้ว มีแต่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพ มีรสนิยมที่จะรักษางานของชาติไว้ ท่านทรงคิดไกลมาก” อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก เป็นตัวแทนของสมาชิก ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน ช่างหัตถศิลป์เยาวชนชาวไทยภูเขาจากบ้านแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ และเยาวชนจากบ้านห้วยต้า เหนือเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้ร่วมกันถ่ายทอดฉากแห่งความฝันที่บรรยายไว้ด้วยตัวอักษรให้มองเห็นได้ด้วยสายตา กล่าวถึงการมีโอกาสถวายงานจัดแสดงโขนพระราชทานทุกครั้ง

นอกจากเกิดการประชุมกันของครูศิลปกรรมไทยทุกแขนง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ยังทรงมีพระราชดำริให้ คนรุ่นใหม่ มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และสืบทอดการแสดงโขน ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้มี การคัดเลือกนักแสดงตัวเอก ที่เป็นหนุ่มสาวรุ่นใหม่เป็นครั้งแรกในการจัดแสดงโขนพระราชทาน ตอน ‘นางลอย’ ผู้สมัครต้องไปอยู่หน้าเวที ครูอาจารย์โขนจะสั่งให้ปี่พาทย์เล่นตอนไหน ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกต้องรำตอนนั้นให้ได้ โดยครูโขนจะช่วยกันติชมแก้ไข

(46)

ตัวแสดงยักษ์ ส่วนหนึ่งของผู้ร่วมแสดงโขน ชุดศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ พ.ศ.2557

จากปีแรกๆ ที่มีผู้สมัครหลักสิบคน กระทั่งถึงปีที่จัดการแสดงโขนชุด ‘ศึกอินทรชิต’ ตอน : พรหมาศ พ.ศ.2558 มีเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจร่วมสมัครเพื่อรับคัดเลือกมากขึ้นเป็น 845 คน เพื่อให้ได้เป็น 1 ใน 5 คนของตัวละครประเภท ตัวพระ(โขน) ตัวพระ(ละคร) ตัวนาง ตัวยักษ์ และ ตัวลิง ซึ่งแต่ละคนล้วนมีพรสวรรค์และความสามารถ

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดง โขน ซึ่งนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติเป็นประจำทุกปี ในปี พ.ศ.2561 นับเป็นวาระพิเศษ คือ การฉลองครบรอบ 1 ทศวรรษของการจัดแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ โดยได้เลือกบทโขน รามเกียรติ์ ตอน ‘พิเภกสวามิภักดิ์’ มาจัดแสดงตามรูปแบบโขนหลวง มีความสนุกสนานตระการตาไปกับทุกฉากการแสดง ผสมผสานศิลปะการแสดงแบบประเพณีกับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างลงตัว มีฉากสำคัญ เช่น ฉากเรือสำเภาริมฝั่งน้ำ, ฉากสนามรบ นำแสดงโดยศิลปินระดับแนวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร, สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และนักแสดงรุ่นใหม่ที่ผ่านการคัดเลือก จัดแสดงระหว่าง วันที่ 3 พฤศจิกายน-วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2561 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไปที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา โทร.0 2262 3456 หรือ www.thaiticketmajor.com บัตรราคา 400, 600, 800, 1,000, 1,500 และ 1,800 บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 200  บาท (หยุดการแสดงทุกวันจันทร์) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Khon Performance โขนพระราชทาน

โขนพระราชทาน... ศิลปะการแสดงชั้นสูงที่องค์ประกอบศิลป์งดงามสุดบรรยาย พร้อมสอดแทรกความบันเทิงไว้อย่างรื่นรมย์