นายหน้า “นั่ง” รถเข็น

นายหน้า “นั่ง” รถเข็น

แกะรอยกรณีความไม่ชอบมาพากลของเงินกองทุนเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการผ่านชีวิตของผู้พิการที่ทั้งถูกเอาเปรียบไม่รู้ตัว และจำยอมโดยเหล่า “พ่อค้าความพิการ”

ใต้กรอบความเป็น “สังคมเวทนานิยม” ที่มณเฑียร บุญตัน กรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งประชาชาติวาระปี 60-63 เคยให้นิยามไว้ตลอดหลายปีที่ผ่านมายังคงถือเป็นหนึ่งใน “มายาคติคลาสสิก” สำหรับสังคมไทย 

ถึงวันนี้พื้นที่ของคนพิการจะถูกแสดงออกมากขึ้นกว่าเดิมก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นวาระเรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณะรูปแบบต่างๆ ซึ่งควรจะเป็นไปตามสิทธิพื้นฐาน ขณะที่เรื่องคุณภาพชีวิต และการดำรงชีพยังคงเป็นสิ่งที่ยังพร่าเลือนทั้งในแง่ของความคิด และวิธีการสำหรับคนทั่วไปอย่างมาก

disable-japan

เนื้อหาที่ระบุเอาไว้ใน “กฎหมายการจ้างงานคนพิการ” จึงล้วนมีความเกี่ยวโยงกันอย่างมีนัยยะสำคัญ 

ตั้งแต่ ตามมาตรา 33 หากสถานประกอบการใดมีพนักงานถึง 100 คน ต้องจ้างงานคนพิการ 1 คน ถ้าไม่จ้าง ตามมาตรา 34 ต้องจ่ายเงินสมทบเข้า “กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” มีมูลค่า 365 วันคูณด้วยค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

...รวมทั้งสิ้นเป็นเงินประมาณ 109,500 บาท เป็นเงินจำนวนเดียวกันกับค่าแรงพื้นฐานที่ผู้พิการจะได้รับโดยเฉลี่ยเดือนละ 9,150 บาท

สถานประกอบการหลายแห่งจึงมักเลือกใช้ “มาตรา 35” การจัดสัมปทาน และช่วยเหลือเพื่อส่งเสริมอาชีพคนพิการให้มีรายได้ 

แต่ใครจะคิดว่า นี่จะกลายเป็นการ “สบช่อง” ให้ “โจรในคราบคนพิการ” หากินบนหลังคนพิการด้วยกันเอง โดยมี “ค่าแรงงานรายวัน” เป็นเม็ดเงินก้อนเติบให้ต่างฝ่ายต่างหยิบฉวย ไม่ต่างจากที่เราได้เห็นกันในภาพยนตร์ หรือละครหลายๆ เรื่อง

0000

จากกรณีหนังสือตอบเรื่องการตรวจสอบการละเมิดสิทธิคนพิการเพื่อประโยชน์อันมิชอบจากกรมการจัดหางาน ฉบับที่ รง 0307/20554 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2560 ระบุถึงการจัดฝึกอบรมของสมาคมคนพิการแห่งหนึ่งที่ “ลักไก่” ใช้สิทธิคนพิการ 190 คนที่ “ส่งกลิ่น” การทุจริตไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ที่ทางเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องนั้นคงไม่ผิดนักที่จะบอกว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งบน “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” เท่านั้น 

โดยเนื้อแท้ของระบบการเบียดบังผลประโยชน์ที่มีการตั้งข้อสังเกตออกมาก็คือ การเข้าไปตรวจสอบของระบบราชการ ซึ่งในกรณีดังกล่าวนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างว่า “ยังสับสน” กับห้วงเวลา ซึ่งทางตัวผู้จัดนั้นเลี่ยงบาลีในเอกสาร แต่ตลอดการทำโครงการต่อเนื่อง 3 ปีนั้น เจ้าตัวกลับถอยรถยนต์ป้ายแดงได้ถึง 5 คัน 

"ตัวอย่างการคอรัปชั่นลักษณะนี้สร้างความเสียหายต่อราชการ ปีละกว่า 500 ล้านบาท" เป็นสิ่งที่ ปรีดา ลิ้มนนทกุล นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการยืนยันมาโดยตลอด

เขายกตัวอย่างบริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง มีพนักงานถึง 5 หมื่นคน นั่นเท่ากับว่าต้องคนพิการทำงานอยู่ที่นี่ไม่ต่ำกว่า 500 ชีวิต แต่มีคนพิการและผู้ดูแลคนพิการเข้าทำงานจริง เพียง 300 คนเท่านั้น

อัตราของผู้พิการกว่า 200 ตำแหน่งที่ขาดไปจึงต้อง "ซิกแซก" ผ่านผู้นำคนพิการระดับพื้นที่ และระดับประเทศ ที่ช่วยเหลือสำเนาบัตรคนพิการมาให้ 200 คนตามจำนวน โดยที่มีข้อตกลงสำคัญๆ ว่า คนพิการในบัตรไม่ต้องมาทำงานรอรับเงินอยู่ที่บ้านเฉยๆ 

แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่า คนพิการแต่ละบ้านนั้นจะได้รับเงินเท่าไหร่

"ขึ้นอยู่กับความโหดของผู้นำคนพิการ ที่เป็นตัวกลางด้วยครับว่ามีความเห็นแก่ตัวแค่ไหน อยากได้มาก คนพิการก็ได้น้อย" เขาบอก 

บางรายอาจได้เพียงเดือนละ 500 บาทเท่านั้น (จากเงินเต็มจำนวนเดือนละ 9,150 บาท) บางคนอาจจะได้ 2-3 พันบาท หากใครมีความรู้ด้านกฎหมายก็อาจได้รับเพิ่มขึ้นเป็น 6 พันบาทต่อเดือนก็ได้

“ผู้ประกอบการต้องทำแบบนี้ ผมคิดว่าอาจเพราะตั้งธงไว้ว่า จะไม่สมทบเงินเข้ากองทุนฯ ตามมาตรา 34 อัตราคนละ 109,500 บาท” ปรีดาตั้งข้อสังเกต 

disabled-people

การไม่เข้ากองทุนในความหมายของเขาก็คือ เงินส่วนนี้จะถึงมือผู้พิการโดยตรงตามสิทธิ ไม่ก็เป็นการลดค่าใช้จ่ายโดยให้ผู้นำคนพิการ “กินหัวคิว” อีกที

"อาจจะขอจ่ายผ่านผู้นำคนพิการ เพียง 6พันบาท ผู้นำตัดหัวคิวซัก 3 พันบาท คนพิการได้รับ 3 พันบาท ซึ่งประเด็นนี้ก็คาบลูกคาบดอกมากๆ ว่า ตกลงเจ้าของบริษัทรับรู้ หรือว่าโดนผู้จัดการหลอกฟันผ่านเงินหัวคิวแรกอีกทอดหนึ่ง โดยสรุปว่า สถานประกอบการสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะโดนเช็คบิลทีหลัง หากมีการสำรวจโดยส่วนกลาง เช่นกรณี โกงเงินคนไร้ที่พึ่ง" เขาบอก

ขณะที่ก็มีบริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่แบรนด์ดังจ้างเหมาบริการคนพิการที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือ ให้มาทำงานบริการนวดให้กับพนักงาน นักเคลื่อนไหวเพื่อผู้พิการคนเดินชี้ประเด็นตรงที่ว่า วันไหนมาก็ได้เงิน วันไหนไม่มาก็ไม่ได้เงิน 

สำคัญกว่านั้นคือ การเข้าทำงานนวดนั้น ไม่ได้ระบุวันชัดเจน ทำให้คนพิการมีรายได้เพียง 4-5 พันบาทหากเอาจำนวนเดือนคูณเข้าไป เท่ากับคนพิการกลุ่มนี้ได้รายได้เพียง ปีละ 48,000 - 60,000 บาทเท่านั้น

skynews-wheelchair-disabled_4202778

นอกจากการสวมสิทธิทำให้เกิด “ส่วนต่าง” และเงินเหล่านั้นก็อันตธานหายไประหว่างทางก่อนจะถึงมือคนพิการ ยังมีกรณีการใช้มาตรา 34 (หัวข้อ 3) “จ้างเหมาบริการ” ที่ผุ้พิการต้องมีส่วนต่างรายได้ไม่ต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ก็คือ 109,500 บาท หรือเฉลี่ยค่าแรงวันละ 300 บาท 

แต่ก็มีการพลิกแพลงเอา “การจ้างเหมาบริการ” ไปใช้เทียบเคียงกับ “การจ้างงานตามมาตรา 33” ที่ทำในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การเลียนแบบการจ้างงานแต่ให้คนพิการอยู่บ้านเฉยๆ ซึ่งคนพิการจะถูกหักหัวคิวอีกทอดหนึ่ง เมื่อสถานประกอบการโอนเงินให้คนพิการโดยตรง แต่คนพิการที่ร่วมโครงการจะถูกยึดบัตร ATM และถูกหักเงินทุกเดือน หรือให้โอนกลับมา

"มีโครงการจ้างเหมาบริการของธนาคารแห่งหนึ่ง คุณแม่ (ผู้ดูแลคนพิการ) ของน้องพิการทางการได้ยิน และสื่อความหมาย ถูกใช้กลวิธีว่า เอาไปเข็นคนพิการนั่งรถเข็นอีกที ยึดบัตร ATM แล้วถอนเงินออกจากบัญชีจนเหลือเงินเพียง 1,200 บาทต่อเดือน เพราะถูกหักค่าห้อง ค่ากินอยู่ ค่าอบรมเรียนคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการที่ผู้นำคนพิการเสนอให้กับทางธนาคารเลย"

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังมีกรณีผู้นำคนพิการที่มีเครือข่ายระดับต้นๆ ของประเทศไทยประกาศว่า ให้แต่ละจังหวัดหารายชื่อคนพิการมา จังหวัดละ 30 คน แต่ขอหักหัวคิวคนละ 3,000 บาท 

"เมื่อคิดรวมทั้ง 77 จังหวัด ผู้นำคนนี้จะได้เงินเข้าส่วนตัวหรือพวกพ้องรวมกันประมาณกว่า 83 ล้านบาท ขณะที่คนพิการที่ได้เข้าไปทำงานจริงๆ สักพักก็จะถูกส่งกลับบ้าน" เขาเล่าถึงอีกด้านของเหรียญที่มองไม่เห็น 

อีกกรณีที่เขาได้ประสบการณ์ตรงมาจากเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ในเขตจ.นนทบุรี เล่าว่า องค์กรด้านคนพิการติดต่อจะส่งคนพิการมาช่วยงานที่ อบต. แต่กลับส่งคนพิการทางสติปัญญามา พอน้องคนพิการมาช่วยงานแล้วมีความเครียด จึงเอะอะโวยวาย กลายเป็นเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำงานต้องมาดูแลน้องคนพิการแทน สุดท้ายจึงเรียกผู้ปกครองมารับตัวกลับบ้าน แล้วไม่ต้องมาอีก ให้อยู่บ้านและรับเงินค่าจ้างเหมาบริการไปทุกเดือน

แต่กรณีนี้ ไม่ได้มีการพูดถึงว่า ถูกตัดเงินแต่อย่างใด

20180105121558809

“สังเกตว่า สถานประกอบการส่วนใหญ่ โดนกฎหมายบังคับ ไม่มีความชำนาญเรื่องคนพิการ เกือบ 95 เปอร์เซ็นต์จะผ่านองค์กรใด องค์กรหนึ่ง ให้ประสานงานจนได้คนพิการมาใช้สิทธิ์” 

ตรงนี้จึงกลายเป็นช่องว่างของเหล่า “พ่อค้านั่งรถเข็น” หรือ “กลุ่มผู้นำคนพิการที่ไม่หวังดี” ทำนาบนหลังคนพิการอีกทอด อย่างรูปแบบหนึ่งของการจ้างเหมาบริการ เป็นการจ้างเหมาคนพิการให้ไปแจกใบปลิว แต่ในความเป็นจริงนั้นสัปดาห์หนึ่งแจกสัก 1-2 ครั้ง ทำให้มีรายได้เพียง 3-4 พันบาทต่อเดือนเท่านั้น

มุมหนึ่งต้องยอมรับว่า คนพิการจำนวนหนึ่งรู้ตัวเองดีว่า ถูกเอาเปรียบต่อเป็นทอดๆ มา แต่อยู่ในภาวะจำยอม 

"คนพิการส่วนใหญ่ จะไม่ทราบสิทธิของตัวเอง เพราะผู้นำไม่ส่งเสริมให้รู้ คือ ไม่อยากอธิบายให้คนพิการรู้ ดังนั้น ถ้าได้เงินรวมกันทั้งปีสัก 1-2 หมื่นบาทก็ยกมือไหว้ท่วมหัวแล้ว ทั้งๆ ที่ตัวเองโดนโกงเงินไปเกือบแสนบาทต่อคน" อาจจะดูโหดร้าย แต่นี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับแวดวงคนพิการวันนี้ 

ปรีดามมองว่า สังคมไทยฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย ผู้นำคนพิการที่มีความสามารถเก่งๆ และจริงใจ ช่วยกันผลักดันกฎหมาย จากเจตนารมย์ที่ดูแลคนพิการตามหลักการสังคมสงเคราะห์ สู่หลักการสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 

“แต่สังคมยังก้าวข้ามการมองคนพิการเป็นการสงเคราะห์คนพิการไม่ได้ เพราะมีผู้นำคนพิการ และข้าราชการจำนวนหนึ่ง รวมหัวกันส่งเสริมให้มีการละเมิดสิทธิคนพิการ เอาประโยชน์แบบขั้นเอาเปรียบเข้าพวกพ้องตัวเอง สถานประกอบการก็ไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง ของผู้นำคนพิการระดับประเทศหลายๆ คน ที่เราเห็นมีหน้ามีตาในสังคมไทย ออกสื่อ ออกทีวีบ่อยๆ” 

แน่นอนว่า เหตุการณ์เหล่านี้ก็ยังคงเกิดขึ้นในวังวนผู้พิการที่มีกว่า 1.8 ล้านคนของประเทศไทยตามทะเบียน และที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกไม่รู้เท่าไหร่