พระอัจฉริยภาพด้านการบินของในหลวง รัชกาลที่ 10

พระอัจฉริยภาพด้านการบินของในหลวง รัชกาลที่ 10

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงสนพระราชหฤทัยด้านวิศวกรรมการบินและอากาศยานมาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงมีความชำนาญในการบังคับอากาศยานชนิดต่างๆ ทั้งอากาศยานทหารและอากาศยานพาณิชย์

เมื่อพูดถึงนักบิน ทุกคนย่อมมีภาพในใจว่าต้องเป็นคนเก่ง มีความสามารถสูง ทั้งนี้เพราะการที่จะควบคุมอากาศยานให้ขึ้นลงและเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยนั้น ต้องอาศัยความรู้และทักษะหลากหลายแขนง อาทิเช่น ความรู้ทางเทคนิคเกี่ยวกับการควบคุมอากาศยาน ความรู้ทางด้านอุตุนิยมวิทยาการบิน กฎเกณฑ์และระเบียบข้อบังคับต่างๆ ด้านการบิน นอกจากนี้นักบินยังต้องมีความสุขุมเยือกเย็น และมีไหวพริบในการแก้ไขปัญหาหากมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น

หากนักบินสักคนสามารถควบคุมอากาศยานได้หลายประเภท เช่น เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินขับไล่ และเครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์ ก็ย่อมแสดงถึงความสามารถพิเศษ และความมุ่งมั่นในการฝึกฝนในศาสตร์แห่งการบินอย่างเต็มที่

56VXCMM1

 

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงสนพระราชหฤทัยด้านวิศวกรรมการบินและอากาศยานมาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ขณะยังทรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ก็ทรงมีความชำนาญในการบังคับอากาศยานชนิดต่างๆ ทั้งอากาศยานทหารและอากาศยานพาณิชย์ พระอัจฉริยภาพด้านการบินเป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนในวันที่ 26 กรกฎาคม 2530 โดยเครื่องบินพระที่นั่งแบบ บก. 18 ซึ่งทรงขับด้วยพระองค์เองประสบอุบัติเหตุ ยางล้อหลังระเบิดขณะร่อนลงจอดบนทางวิ่งของสนามบินจังหวัดสกลนคร แต่ทรงสามารถแก้ไขสถานการณ์และนำเครื่องบินให้ลงจอดได้อย่างปลอดภัย

ในช่วงปี 2522-2523 ทรงฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ตามหลักสูตรต่างๆ เช่น หลักสูตรของโรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ หลักสูตรการบินเฮลคิอปเตอรใช้งานทั่วไปแบบ UH-1H และเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทัวไปแบบ UH-1N เป็นต้น

ในช่วงปี 2523-2524 ทรงเข้ารับการฝึกตามหลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลําตัวแบบ SIAI-Marchetti SF-260MT

ในปี 2524 ทรงเข้ารับการฝึกตามหลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินไอพ่นแบบ Cessna T-37

ในช่วงปี 2524-2525 ทรงเข้ารับการฝึกบินเครื่องบินไอพ่นแบบ Lockheed T-33

ในช่วงปี 2525-2526 ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรเครื่องบินขับไล่แบบ Northrop F-5E/F ของกองบิน 1 ฝูงบิน 102 และที่ฐานทัพอากาศวิลเลียมส์ (Williams Air Force Base) รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา

06aFsf7y

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงปฏิบัติหน้าที่ ‘ครูการบิน’ โดยพระราชทานฝึกสอนให้แก่นักบินเครื่องบินขับไล่ ทั้งภาควิชาการและการฝึกบินของกองทัพอากาศ เพื่อเป็นการเสริมความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านการบินอีกด้วย

ในเดือนพฤษภาคม 2547 พระองค์มีพระราชประสงค์จะทรงทำการบินเครื่องบินลำเลียง ด้วยทรงเล็งเห็นว่าศาสตร์ด้านการบินของเครื่องบินพาณิชย์เป็นเรื่องน่าเรียนรู้ นำมาประยุกต์กับเครื่องบินพระราชพาหนะที่กองทัพอากาศทำการบินถวายอยู่ได้ ทั้งยังสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้เป็นอย่างดี จึงมีพระราชประสงค์ให้บริษัทการบินไทยจัดหลักสูตรและครูการบินถวายการฝึกบินอย่างเต็มหลักสูตรเดียวกับนักบินบริษัทการบินไทยทุกประการ ทรงเริ่มฝึกบินในเดือนสิงหาคม 2547 และเสร็จสิ้นการฝึกบินในฐานะกัปตันเครื่องบินโบอิง 737-400 ในเดือนมิถุนายน 2549

“เที่ยวบินพิเศษมหากุศล” เป็นกิจกรรมที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือพสกนิกร โดยพระราชทานเงินบริจาคโดยไม่หักค่าใช้จ่าย และทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นนักบินที่ 1 ในเที่ยวบินมหากุศลถึง 3 ครั้ง

ครั้งแรกเป็นเที่ยวบินมหากุศลเพื่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

วันที่ 5 มกราคม 2550 พระองค์ทรงทําการบินเที่ยวบินกรุงเทพฯ-เชียงใหม่-กรุงเทพฯ ซึ่งบริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) จัดขึ้นตามพระราชดําริเนื่องจากทรงมีน้ำพระทัยห่วงใยพสกนิกรที่ประสบอุทกภัยและประสบปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เที่ยวบินนี้มีชื่อว่า “สายใยรักแห่งครอบครัว ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”

เครื่องบินที่ใช้ในเที่ยวบินมหากุลศลครั้งแรกนี้คือ โบอิง 737-400 เที่ยวบิน TG 8870 และ TG 8871 มีผู้โดยสารวีไอพีจำนวน 80 คน แต่ละคนร่วมบริจาคเงินรายละ 1 ล้านบาท ยอดบริจาครวมทังสิ้น 80 ล้านบาท

ครั้งที่สองเป็นเที่ยวบินมหากุศลเนื่องในโอกาส 50 ปีการก่อตั้งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 พระองค์ทรงนําคณะพุทธศาสนิกชนจํานวน 123 คน ไปกราบสักการะพุทธสังเวชนียสถาน สถานที่ตรัสรู้แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ตําบลพุทธคยา เมืองคยา สาธารณรัฐอินเดีย เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งบริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน)

เครื่องบินโบอิง 737-400 เที่ยวบิน TG 8842 และ TG 8843 เส้นทางไป-กลับกรุงเทพฯ-อินเดีย จําหน่ายบัตรราคาที่นั่งละ 5 แสนบาท ยอดบริจาคทั้งสิ้น 50.5 ล้านบาท รายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่ายนําขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกฎราชกุมารเพื่อสมทบมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมทบกองทุนพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ (เพื่อผู้ประสบภัยพิบัติ)

614mnwrZ

ครั้งที่สามเป็นเที่ยวบินมหากุศลเนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ (เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2555)

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 พระองค์ทรงนำคณะพุทธศาสนิกชนจำนวน 113 คน เดินทางไปกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดป่าวิเวกธรรม อ.เมือง จ.ขอนแก่น

เที่ยวบินพิเศษ TG 8866 และ TG 8867 เส้นทางกรุงเทพฯ-ขอนแก่น-กรุงเทพฯ จําหน่ายบัตรโดยสารราคาที่นั่งละ 5 แสนบาท จํานวน 100 ที่นั่ง รายได้จากการจำหน่ายบัตรและเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาครั้งนี้กว่า 50 ล้านบาท บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อสมทบทุนมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.)

  ข้อมูลแม้โดยสังเขปเพียงเท่านี้ ก็ย่อมเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการบิน และใช้ความสามารถที่มีอยู่เพื่อประโยชน์ต่อคนไทยและสังคมไทย