อย่าตายนะ 'กันตัง'

อย่าตายนะ 'กันตัง'

ถึงคราวระดมสรรพกำลังจากคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ กับสารพัดเครื่องมือและวิธีการ เพื่อปลุกสัญญาณชีพที่ขาดช่วง ของเมือง ‘กันตัง’

“กันตังตายแล้ว”

คุณครูสาวชาวกันตังคนหนึ่ง บอกถึงสถานการณ์ของเมืองนี้ ทั้งที่ในอดีตอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง คือเมืองท่าอันรุ่งเรืองที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ฝั่งอันดามัน

วาทกรรมว่าด้วยความตาย ไม่ได้หมายความว่ากันตังวันนี้จะปราศจากผู้คนหรือเป็นเมืองร้าง แต่หมายถึงภาวะซบเซาทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิถีชีวิต อยู่ในระดับเงียบเหงามากกว่าจะเรียกว่าแค่เป็นเมืองเงียบๆ

37754709_1862912330434237_7589189894723862528_o

  • กันตังเมื่อวันวาน

คนกันตังตัวจริงอย่าง สุธีระ ตรังคิณีนาถ ประธานกลุ่ม YEC จังหวัดตรัง ย้อนเรื่องราวให้ฟังว่าตอนเขาเด็กๆ ราว 30 กว่าปีก่อน เมืองนี้คึกคักกว่าปัจจุบันมาก สมัยที่ผู้คนปลูกยางพารารอบนอกกันตัง จะนำเข้ามาขายในนี้ แต่ปัจจัยดังกล่าวเปลี่ยนไป มีแหล่งรับซื้อกระจายอยู่หลายแห่ง

“ปัจจัยด้านการประมงที่ซบเซาก็มีผล เมื่อก่อนกันตังมีเรือประมงเยอะมาก หาปลาไปไกลสุดท้ายก็กลับมาขึ้นที่กันตัง คนที่มากับเรือขึ้นมาจับจ่ายใช้สอย ออกไปที หนึ่งเดือน สองเดือน กลับมาได้เงินเป็นก้อนก็กลับมาจับจ่ายใช้สอย”

ความรุ่งเรืองไม่หมดแค่นั้น เมื่อก่อนมีเรือเฟอร์รี่จากกันตังไปเที่ยวเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย มิหนำซ้ำยังมีคลังน้ำมัน ชาวบ้านเห็นภาพเรือน้ำมันขนาดใหญ่เข้ามาต่อท่อถ่ายน้ำมันเข้าคลัง แล้วมีรถมาขนถ่ายไปยังที่ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีเรือขนถ่านหิน แร่ริกไนต์ ยิปซั่ม นำมาขึ้นหรือส่งออกที่ท่าเรือกันตังอย่างเอิกเริก

สถานีรถไฟและรางรถไฟเป็นอีกหลักฐานความเฟื่องฟู สุธีระบอกว่าอดีตรางรถไฟลากยาวไปถึงท่าเรือ เพื่อใช้ขนย้ายสินค้า นับว่าเป็นเมืองท่าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

แต่มีขึ้นย่อมมีลง ผ่านไปไม่กี่สิบปี ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้น...

“ความที่ร่องน้ำของท่าเรือกันตังค่อนข้างตื้นเขินบ่อย และขยายพื้นที่ไม่ได้มาก นโยบายการขยายท่าเรือจึงไปตกที่จังหวัดอื่น ความสำคัญของที่นี่จึงลดน้อยลงเรื่อยๆ ประมงหรือยางพาราที่จะนำมาขายก็มีรับซื้อภายนอกมากขึ้น ทางรถไฟก็ย้ายกลับเข้าไปในเมืองมากขึ้น รูปแบบการขนส่งก็เปลี่ยนไป”

37732967_1862912317100905_3145558215647821824_o

  • ปั๊มหัวใจให้ ‘กันตัง’

ไล่เรียงปัจจัยที่บั่นทอนได้หลายข้อ แต่ประธานกลุ่ม YEC จังหวัดตรัง บอกว่ามุมของการท่องเที่ยวยังมีอยู่ นับเป็นโชคดีที่มีอาคารบ้านเรือน อาหารการกิน และยังมีคนเก่าคนแก่ จึงยังได้เห็นรถทัวร์ขนนักท่องเที่ยวมาลงที่กันตังอยู่เนืองๆ แต่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเองเพราะระบบขนส่งสาธารณะยังไม่เพียบพร้อม ซึ่งนั่นอาจเป็นผลพวงจากการเป็นเมืองถูกแช่แข็ง ในยุคที่คนเริ่มโหยหาอดีต กันตังกำลังนั่งรออยู่อย่างเงียบๆ

ด้าน ผศ.ปริญญา ชูแก้ว อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ด้วยความที่คร่ำหวอดอยู่กับสถาปัตยกรรมเก่า อาคารบ้านเรือน และเมืองเก่า เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงของเมืองผ่านสถานีรถไฟ

เนื่องจากตลอดหลายปีการเดินทางด้วยเครื่องบินราคาถูกลงมาก เป็นยุคที่ everyone can fly รถไฟจึงค่อยๆ ลดบทบาทลง สำหรับเมืองที่พึ่งพารถไฟเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยง นำผู้คนและเศรษฐกิจเข้ามาอย่างกันตังจึงกระทบหนัก

สถานีรถไฟกันตังเป็นสถานีรถไฟแห่งหนึ่งที่มีชื่อด้านความสวยงาม เก่าแก่ และเป็นปลายทางสายอันดามัน ซึ่งก็น่าเสียดายที่ผ่านมาถูกปล่อยให้ทรุดโทรม ผุพัง แต่ด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์จนได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน กรมศิลปากรและท้องถิ่นจึงเข้ามาปรับปรุงฟื้นฟูจนสวยงามอย่างทุกวันนี้

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ‘รอดตาย’ ก็ไม่ได้หมายถึง ‘ไม่เฉียดตาย’ หากเอานิ้วไปอังจะรู้ว่ากันตังกำลังหายใจโรยริน

สุธีระบอกว่า “เมื่อก่อนกันตังไม่มีใครสนใจเรื่องท่องเที่ยวหรอกครับ เพราะธุรกิจ อุตสาหกรรม การเกษตร ประมง มันเฟื่องฟู แต่ตอนนี้อย่างที่ผมบอกว่าต้องอาศัยเรื่องการท่องเที่ยว ขณะที่รัฐบาลบอกว่า GDP เราโตขึ้น 4.5-4.8 เปอร์เซ็นต์ ส่งออกมากขึ้น แต่ประชาชนยังไม่รู้สึกถึงสิ่งที่รัฐบาลบอกว่ามันโตขึ้น ที่ประชาชนไม่รู้สึกเพราะมันกระจุกตัวอยู่ที่ธุรกิจใหญ่ ส่งออก อุตสาหกรรม แต่การกระจายรายได้ต่ำมาก แล้วธุรกิจที่กระจายรายได้มากที่สุดคือธุรกิจการท่องเที่ยว”

การท่องเที่ยวถูกยกเป็นอีกหนึ่งเครื่องกระตุ้นหัวใจ การพัฒนาจึงไม่ใช่คำตอบเสมอไป เพราะจุดแข็งของกันตังคือความเป็น Old Town เขายกตัวอย่างว่าถ้าสถานีรถไฟเก่าแก่ถูกแปลงโฉมเป็นอาคารปูนโครงเหล็ก หรือเมืองที่บ้านเรือนมีแต่ปูนตั้งแต่ตัวบ้านยันหลังคาเหมือนกันหมด ใครจะอยากมาเที่ยว การอนุรักษ์ในความหมายของประธาน YEC ตรัง จึงไม่ใช่แค่ ‘เก็บรักษา’ แต่คือ ‘อนาคตของเมือง’

37726686_1862912403767563_7407740295405633536_o

  • ศิลป์สร้างเมือง

เมื่อต้องการ ‘ปลุก’ ให้เมืองตื่นจากหลับใหล ทว่าเมืองที่เหลือเพียงคนรุ่นเก่ากับรุ่นเด็กไปเลยจึงกลายเป็นว่ามีแต่ความง่วงเหงาหาวนอน คนรุ่นกลางที่เป็นรอยต่อของช่วงวัยจึงต้องหยิบเครื่องมือมาช่วยกัน นั่นคือ ‘ศิลปะ’

เป็นที่มาของการจัดงาน ‘กันตังบ้านเรา’ ครั้งที่ 1 โดยความร่วมมือของหลายฝ่าย ได้แก่ เทศบาลเมืองกันตัง, สถานีรถไฟกันตัง, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มอ.ตรัง, คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาสถาปัตยกรรม สจล., ภาคพลเมือง กลุ่มกันตังเมืองเก่า และ กลุ่มTRANG+ (ตรัง Positive) เพื่อสร้างความตระหนักรู้คุณค่า ผ่านศิลปะ สถาปัตยกรรม และวิถีชุมชนกันตัง

โดยจุดเริ่มต้นแนวความคิดจากกลุ่ม ‘ตรัง Positive’ นำทีมโดย ยิ่งยศ แก้วมี และคณะร่วมกันจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเมืองกันตัง และจังหวัดตรัง สำหรับงานกันตังบ้านเรา งานศิลปะ สถาปัตยกรรม และวิถีชุมขน ถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลาง เช่น กิจกรรมสำรวจรังวัด Kantang Vernadoc  (กันตัง เวอนาดอก) เขียนแบบอาคารเก่าเพื่อการอนุรักษ์บริเวณตัวเมืองกันตัง, กิจกรรม Kantang Sketcher (กันตัง สเก๊ทเชอร์) เดินเล่น วาดเส้น เป็นเรื่อง รอบๆ ตัวเมืองกันตัง โดยนักศึกษา 2 สถาบัน จาก ครุ- สถาปัตย์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มอ. วิทยาเขตตรัง

ผศ.ปริญญา แห่งสถาปัตย์ สจล. บอกว่าการเกิดของกิจกรรมนี้ที่กันตัง อันที่จริงเคยมีแล้วที่เมืองตรัง

“ที่เมืองตรังจัดงานแนวนี้มา 2-3 ปีแล้ว จัดเสวนา กิจกรรมศิลปะ ทำขนม ฯลฯ ทำกันเล็กๆ เท่าที่ผ่านมาเมืองตรังเวลาจัดงานจะจัดเป็นงานๆ ไป แต่ไม่มีคนพูดถึงเมืองของตัวเองเลย คนที่อยู่ในตัวเมืองก็มาบอกว่าเราควรจะคุยกันเรื่องเมืองแล้วแหละ ผมก็ถามว่าจะเอาอย่างไร จะจัดงานเสวนา จัดถนนคนเดิน หรืออย่างไร เขาบอกว่าจัดเล็กๆ ในเมือง ตรงเวิ้งเมืองเก่า ปิดถนน มีกิจกรรมต่างๆ พูดคุยกันว่าเมืองจะพัฒนาไปรูปแบบใดได้บ้าง”

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของกันตังและเมืองตรังคือคนส่วนมากมีฐานะดี ยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเอง เหมือนจะไม่มีปัญหา ทว่าความเฉื่อยชาและการที่ไม่ต้องดิ้นรนให้ลูกหลานกลับบ้านกลายเป็นปัญหา

“คนที่นี่อยู่ด้วยตัวเองมาตลอด เพียงแต่ว่ากระแสการอนุรักษ์ กระแสของเก่า ชุมชน เขาก็อยากทำบ้าง ไม่ได้มีความขัดแย้ง เพราะที่นี่ก็เป็นเมืองคนมีสตางค์ คือ ถึงเขาไม่ทำอะไรก็มีเงิน ไม่เหมือนที่อื่นที่อาจโดนไล่รื้อ บริบทไม่เหมือนกัน

ทีนี้จะทำอย่างไร พอคนมีสตางค์ ลูกหลานก็ไปอยู่เมืองตรัง ไปอยู่ที่อื่น เมืองก็ถูกปิดไว้เฉยๆ เมืองมันก็แห้งไง เราจึงต้องเชิญคนมาทำเรื่องเมือง”

กลุ่มตรัง positive จึงพยายามผลักดันสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าในพื้นที่อำเภอกันตัง เริ่มต้นด้วยอาคาร 5 หลัง ได้แก่ สถานีรถไฟกันตัง, ศาลเจ้าไหหลำ, ศาลเจ้าฮกเกี้ยน, อาคารเรือนแถวบริษัทบั่นเซงหิ้น และอาคารเรือนแถวจีน เป็นตัวแทนรูปแบบสถาปัตยกรรมในพื้นที่อำเภอกันตัง แล้วทำแบบสำรวจรังวัด จากนักศึกษา 2 สถาบัน จำนวนกว่า 60 คน

เมื่อปฏิบัติการสำรวจรังวัดแล้วเสร็จได้แสดงผลงานคุณค่าความงามของสถาปัตยกรรมต่างๆ ในนิทรรศการกันตังบ้านเราต่อคนในพื้นที่รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาในอำเภอกันตัง เพื่อสืบทอดให้เห็นความสำคัญและเกิดความตระหนักในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าต่อไป

ยิ่งยศ เล่าว่ากลุ่มรวมตัวกันทำเพื่อสังคม มีภารกิจเติมให้จังหวัดตรังเต็ม ชดเชยสิ่งที่ขาด เขาเคยถามคนในเมืองกันตังว่า อยู่กันลำบากขึ้นไหม ส่วนมากตอบว่าลำบากขึ้น แต่ถามว่าให้เลือกจะย้ายหนีความลำบากนี้ไหม คำตอบคือ “ไม่ย้าย”

เขาเชื่อว่าสิ่งที่ขับเคลื่อนโลกนี้ได้มี 4 อย่าง Food (อาหาร), Art (ศิลปะ), Culture (วัฒนธรรม) และ Travel (การท่องเที่ยว) นี่คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความสุข

“คนที่ถนัดทำอาหารก็นำศิลปะด้านอาหารมาขับเคลื่อน คนที่ถนัดศิลปะแขนงอื่นก็เดินหน้าเต็มที่”

แม้แต่กราฟิกดีไซน์เนอร์ชาวรัสเซีย อย่าง Ludmila Letnikova หรือ ‘Luda’ ที่เคยสร้างสรรค์ผลงานสรีตอาร์ตในย่านเมืองเก่าภูเก็ต ก็ร่วมใช้ศิลป์สร้างเมืองกันตัง

ภาพที่สะท้อนวัฒนธรรมชาวจีนโพ้นทะเล แต่แต่งแต้มด้วยลีลาสมัยใหม่ ความสวยทันสมัยเข้ากันดีกับกำแพงเก่าอย่างน่าประหลาด ขณะที่สองมือกำลังตวัดปลายพู่กัน

เจ้าของบ้านกำแพงเก่าฝากบอกคนที่รู้ภาษาอังกฤษแถวนั้น

“บอกเขาหน่อยว่าถ้าจะเข้าห้องน้ำหรือหิวน้ำก็เข้ามาในบ้านได้เลยนะ ฝากบอกหน่อยนะ”

คล้ายว่าสัญญาณชีพของกันตังจะกลับมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยิ่งยศ ในฐานะคนทำงานก็ยังบอกว่า “คำตอบต้องอยู่ที่เมือง บางทีเราเอาศิลปะไปยัดเยียด แล้วมันจะกลายเป็นตราบาปว่าถ้าเขาไม่รักศิลปะแล้วเขาผิด แต่ถ้าเราทำเป็นตัวอย่าง แล้วคนเมืองมานับสอง ผมว่าดีกว่า”

37723346_1862912500434220_2101467694808170496_o

37844467_1862912460434224_4982182653433217024_o