“สภาพแวดล้อมทำให้ต้องฝึกซ้อมดนตรีอย่างหนัก” - เมือง เหลืองวิสุทธิ์ นักดนตรีและนักศึกษาแพทย์ ในเอดินบะระ

“สภาพแวดล้อมทำให้ต้องฝึกซ้อมดนตรีอย่างหนัก” - เมือง เหลืองวิสุทธิ์ นักดนตรีและนักศึกษาแพทย์ ในเอดินบะระ

เมือง เหลืองวิสุทธิ์ นักไวโอลินหนุ่ม และนักศึกษาแพทย์ ที่มุ่งมั่นในเส้นทางดนตรี แต่ยังรักษาอีกสายงานที่เขารักไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

เพื่อนพ้องวงการดนตรีคลาสสิกของผู้เขียนท่านหนึ่ง แนะนำผู้เขียนว่า มีนักไวโอลินหนุ่มไทยคนหนึ่ง ซึ่งไปเรียนหมอ เรียนดนตรี เล่นดนตรีอยู่ในประเทศสหราชอาณาจักร กลับมาบ้านเราช่วงปิดเทอม

คิดว่าผู้เขียนน่าจะหาโอกาสไปทำความรู้จัก พูดคุยเรื่องราวทางดนตรีกันบ้าง ก่อนที่เขาจะบินกลับไปร่วมซ้อมกับวงออร์เคสตรา เพื่อเดี่ยวบทเพลง ไวโอลิน คอนแชร์โต ผลงานเพลงของกลาซูนอฟ

ผู้เขียนพบปะกับ เมือง เหลืองวิสุทธิ์ นักไวโอลินไทย วัย 22 ปี เย็นย่ำวันหนึ่ง หนุ่มร่างเล็ก แต่งตัวง่ายๆ พูดคุยเป็นกันเอง ภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำ ไม่ติดกลิ่นอายหรือผสมผสานภาษาอังกฤษออกมามากนัก แม้ไปเรียนในต่างประเทศหลายปี

“ผมคิดว่า คนที่ต้องการมุ่งไปทางดนตรี ต้องมุ่งมั่นอย่างเดียว ทุกอย่างคือดนตรีอย่างเดียว ส่วนผมต้องการทำอย่างอื่น แล้วเล่นดนตรีด้วย”

เส้นทางชีวิต และเส้นทางดนตรีของเมือง อาจต่างไปจากนักดนตรีชาวไทย ที่ผู้เขียนเคยพูดคุยกันมาแล้วหลายคน เพราะแม้มุ่งเรียนดนตรีในสถาบันดนตรีต่างประเทศ แต่ท้ายสุด ความสามารถ และความสนใจอีกส่วนหนึ่งของเขา ทำให้เมืองรักษากิจกรรมความชอบทั้งสองอย่างของเขาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

นั่นคือ การเรียนวิชาแพทย์ศาสตร์ ใน มหาวิทยาลัยเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร พร้อมกับการเล่นไวโอลิน ตำแหน่งหัวหน้าวง หรือ คอนเสิร์ต มาสเตอร์ วง เอดินบะระ ยูนิเวอร์ซิตี ซิมโฟนี ออร์เคสตรา และ วงออร์เคสตรา, วงสตริง ควอร์เต็ต อีกหลายวง อีกทั้งมีโอกาสเดี่ยวไวโอลินร่วมกับวงออร์เคสตราด้วย

LyHrC4o2

ในวัย 4 ขวบ เมือง เหลืองวิสุทธิ์ เริ่มเรียนเปียโน ปีต่อมาเรียนไวโอลินควบคู่ไปด้วย ได้ทุน (บางส่วน) ไปเรียนต่อระดับมัธยมวิชาสามัญเป็นเวลา 1 ปี โรงเรียนเอลส์เมียร์ (Ellesmere College) ประเทศอังกฤษ

ต่อมาเรียนวิชาสามัญควบวิชาดนตรี โรงเรียนดนตรีเชแทม (Chetham’s School of Music) เป็นเวลา 4 ปี จนจบชั้นมัธยมปลาย และเข้าเรียนแพทย์ศาสตร์ต่อ ในมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4

--------------------------

คำถามแรกที่ผู้เขียนถามว่า ทำไมตั้งชื่อว่า “เมือง” นักไวโอลินหนุ่มตอบว่า

“คุณพ่ออยากตั้งชื่อเป็นคำไทย ชื่อคำเดียวโดดๆ ง่ายๆ พี่น้องผมทุกคนตั้งชื่อจริงเป็นคำไทยสั้นๆ ทุกคนครับ”

“ตอนแรกเรียนเปียโน เห็นพี่สาวเรียนไวโอลิน ผมก็อยากเล่นไวโอลินด้วย เลยเรียนควบ 2 เครื่องดนตรี เรียนไวโอลินกับ Alessandro Cappello เรียนเปียโนกับครู นพดล อัศวโกวิท และครู ณัฐ ยนตรรักษ์

เมืองเล่าต่อถึงการไปเรียนดนตรีในประเทศอังกฤษว่า “ตอนที่ผมเรียนเทอมต้นชั้น ม.3 ที่โรงเรียนโยธินบูรณะ เห็นโฆษณาลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า โรงเรียนเอลส์เมียร์ ให้ทุนด้านดนตรีและกีฬาแก่นักเรียนไทย ผมเล่นไวโอลินอัดเทปส่งไปให้ทางโรงเรียนพิจารณา ในที่สุดก็ได้ทุนไปเรียนที่นั่น”

“ผมเรียนที่โรงเรียนนี้ 1 ปี เรียนวิชาสามัญ รวมถึงเรียนไวโอลินและเปียโนด้วย ปี 2011 ผมชนะการแข่งขันระดับเขต ทั้งไวโอลินและเปียโน ครูที่โรงเรียนแนะนำให้ผมเรียนต่อด้านดนตรี”

“ผมสมัครเรียนต่อที่ โรงเรียนดนตรีเชแทม เมืองแมนเชสเตอร์ เป็นโรงเรียนสอนดนตรีที่สอนทั้งวิชาสามัญและวิชาดนตรี เรียนอยู่ 4 ปี เรียนไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีหลัก และเปียโนเป็นเครื่องดนตรีรอง จนจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย”

เมืองบอกถึงชีวิตการเรียนดนตรีว่า “การเรียนที่นี่การแข่งขันทางดนตรีสูงมาก ผมซ้อมดนตรีวันละ 5 ถึง 6 ชั่วโมง ทุกอาทิตย์นักเรียนจะเล่นดนตรีโชว์กัน”

“เรียนที่นี่ 4 ปี ผมพัฒนาด้านดนตรีไปมาก เพราะซ้อมมาก บรรยากาศโดยรอบ ทุกคนเล่นดนตรี คุยกันแต่เรื่องดนตรี เห็นคนอื่นเล่นดนตรี มีโอกาสฟังเพื่อนเล่นเพลงๆ เดียวกัน แต่ตีความต่างกัน สภาพแวดล้อมทำให้ทุกคนต้องฝึกซ้อมดนตรีอย่างหนัก”

“ที่โรงเรียนดนตรีเชแทม ช่วงผมเรียนอยู่ ปีหนึ่งมีนักเรียนประมาณ 50 คน 40 คนเรียนจบแล้วมุ่งเรียนดนตรีต่อ อีก10 คน เห็นสภาพแวดล้อมการเรียนดนตรีแล้ว ไม่อยากเรียนดนตรีต่อ อาจเพราะการแข่งขันสูง ตัวเองไม่ได้ชอบที่จะทำงานด้านดนตรีเป็นอาชีพอย่างจริงจัง”

“ผมคิดว่า คนที่ต้องการมุ่งไปทางดนตรี ต้องมุ่งมั่นอย่างเดียว ทุกอย่างคือดนตรีอย่างเดียว ส่วนผมต้องการทำอย่างอื่น แล้วเล่นดนตรีด้วย”

“ตอนเรียนมัธยมปลายที่เชแทม เกรดการเรียนผมใช้ได้ ผมชอบวิชาชีววิทยา เคมี และคณิตศาสตร์ เลยสมัครเรียนด้านแพทย์ศาสตร์ ทางมหาวิทยาลัยเอดินบะระตอบรับ ผมเลือกเรียนที่เอดินบะระ เพราะเมืองสวย เล็กๆ น่ารัก”

---------------------

การได้รับเลือกเป็นหัวหน้าวงออร์เคสตราของมหาวิทยาลัย

“เรียนที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ นอกจากเรียนด้านแพทย์ศาสตร์แล้ว ยังมีโอกาสเล่นในวงออร์เคสตรา ได้เล่นในวงสตริงควอร์เต็ต ได้เล่นเดี่ยวไวโอลิน คลอด้วยเปียโน ได้เล่นดนตรีกับเพื่อนๆ นักดนตรีคนอื่น มีโอกาสแสดงบ่อยครั้งมาก ทั้งคอนเสิร์ตในมหาวิทยาลัย คอนเสิร์ตในเมืองอื่น และคอนเสิร์ตในต่างประเทศ เช่นการไปแสดงในประเทศอิตาลี”

“การเป็นหัวหน้าวงต้องออดิชั่นครับ ทุกๆ ปี จะมีการออดิชั่นนักดนตรีในวงออร์เคสตราของมหาวิทยาลัย พร้อมกับเลือกนักดนตรีที่เหมาะสมที่สุดให้เป็นหัวหน้าวง ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องเทคนิคการเล่นล้วนๆ คนที่เล่นดีที่สุดในการออดิชั่น จะได้เป็นหัวหน้าวง”

“นอกจากหน้าที่หลัก การเรียนวิชาต่างๆ ในโรงเรียน เราควรมีงานอดิเรกอื่นๆ เช่น ดนตรี กีฬา วาดรูป อะไรก็ได้ที่เราทำแล้วมีความสุข”

DRTJhqJR

การแบ่งเวลาระหว่างการเรียนและการเล่นดนตรี

“เวลาเรียนและเวลาซ้อมวง ส่วนใหญ่กำหนดไว้แน่นอนอยู่แล้ว ซ้อมวงเวลาเดิมตลอด เวลาไปเรียนผมก็ถือไวโอลินไปด้วย เช่นเรียนเวลา 11 โมงเช้า ผมไปถึงมหาวิทยาลัย 9 โมงเช้า มีเวลาก็ซ้อมไวโอลิน แล้วเรียนต่อเลย”

การบริหารจัดการวงออร์เคสตราในมหาวิทยาลัย

“ปัญหาใหญ่ แล้วแต่วง วงเล็กมักเป็นปัญหาเรื่องเงิน ต้องทำการระดมทุน หาเงิน เช่น อบเค้กขาย เล่นดนตรีเปิดหมวก วงใหญ่ก็เงินแยะหน่อย เพราะนักดนตรีมาก นักดนตรีต้องจ่ายเงินสนับสนุนวง ประมาณคนละ 40 ปอนด์ต่อปี วงใหญ่เล่นคอนเสิร์ตมาก คนดูแยะ เพราะมีพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง มาฟังแยะ ขายบัตรได้มาก”

“ค่าใช้จ่ายของวงประกอบด้วย ค่าจ้างวาทยกร ค่าเช่าหอแสดงดนตรี ค่าโน้ตและสกอร์เพลง ค่าเช่าเครื่องดนตรี เครื่องแปลกๆ บางครั้งต้องจ้างนักดนตรีจากที่อื่น จากวิทยาลัยดนตรีมาเล่นในกรณีที่บางเพลง ต้องใช้นักดนตรีเพิ่มขึ้น”

คุณสมบัติของผู้อำนวยเพลงที่ดี

“คอนดักเตอร์ที่เก่งๆ คือ พูดออกมาแล้วนักดนตรีเชื่อ ทำงานกับนักดนตรีกว่า 100 คน ทำอย่างไรให้เขาเชื่อเรา คอนดักเตอร์ที่ดี อีโก้ต้องไม่สูง มีเทคนิคการอำนวยเพลงที่ดี อาทิ การใช้ไม้บาตอง การขยับแขน การขยับตัว การให้คิวนักดนตรี ท้ายสุดคือ การตีความเพลงของคอนดักเตอร์ครับ”

ทัศนะการส่งเสริมดนตรีคลาสสิกในประเทศไทย

“บ้านเรา คนเรียนดนตรีตอนเด็กๆ มีมาก แต่พอโตแล้วไม่มีเวลา เด็กๆ เรียนดนตรีมาแล้ว พอขึ้น ม.4 ทิ้งเรื่องดนตรี ต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไม่มีเวลาซ้อม วันเสาร์ วันอาทิตย์มีการซ้อมรวมวง มาเล่นไม่ได้ เพราะต้องไปเรียนพิเศษ”

“การเล่นดนตรี ผู้เล่นต้องมี Commitment ต้องใส่เวลาเข้า เมื่อไม่มีเวลาฝึกซ้อม ก็เลยไม่มีนักดนตรีที่เล่นถึงระดับดีพอ การแก้ไขปัญหานี้คือ คนที่เรียนดนตรีอยู่แล้วให้เรียนต่อไป อย่าทิ้ง”

 คำแนะนำสำหรับ “รุ่นน้องๆ” ที่สนใจดนตรีคลาสสิกและอื่นๆ

“นอกจากหน้าที่หลัก การเรียนวิชาต่างๆ ในโรงเรียน เราควรมีงานอดิเรกอื่นๆ เช่น ดนตรี กีฬา วาดรูป อะไรก็ได้ที่เราทำแล้วมีความสุข”

“ถ้าเรามีสิ่งนี้แล้ว เราต้องพยายามรักษาเอาไว้ เพราะเป็นเวลาแห่งความสุขของเราเอง จะได้ไม่เครียด”

“เราควรมีอะไรที่เป็นตัวของเราเองที่ชอบทำ สิ่งที่เราต้องการทำจริงๆ ทำแล้วมีความสุข”