เงาตัวเองในเก้าอี้

เงาตัวเองในเก้าอี้

งานดีไซน์ของ 'เก้าอี้' ที่ไม่เหมือนกัน เกิดจากความคิดมากมายของนักออกแบบ แสดงให้เห็นภาพสังคม ณ เวลานั้นๆ ขณะเดียวกันก็สะท้อนไลฟ์สไตล์และบุคลิกของผู้คนที่เลือกซื้อไปใช้งาน

เคยสังเกตหรือเคยนับบ้างหรือไม่ ในบ้านคุณมี เก้าอี้ กี่ตัว, คุณนั่งเก้าอี้บ่อยแค่ไหน, เวลาซื้อเก้าอี้...คุณนึกถึงอะไรเป็นอันดับแรก .“บางที...เก้าอี้อาจเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ใกล้ชิดกับร่างกายของเรามากที่สุด นอกจากประโยชน์ใช้สอยโดยตรงเกี่ยวกับการนั่ง เก้าอี้ยังทำหน้าที่อีกหลายอย่าง” ดำรง ลี้ไวโรจน์ บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร room เริ่มตอบข้อสงสัยที่ว่า ทำไมจึงเลือกจัดแสดงนิทรรศการ The Chairmen of Thai Design รวบรวมเก้าอี้ดีไซน์เด่น จำนวน 30 ตัว ของนักออกแบบคนไทย เป็นไฮไลต์ในงาน บ้านและสวน แฟร์ ซีเล็ค 2018 (Baan Lae Suan Fair Select)

“ดีไซน์ของเก้าอี้ นอกจากบอกรสนิยมและไลฟ์สไตล์ของคนนั่งหรือคนที่เลือกใช้ ยังแสดงให้เห็นถึงศิลปะของวิศวกรรมการผลิต จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และความท้าทายใหม่ๆ ในการออกแบบของ ‘นักคิด-นักออกแบบผลิตภัณฑ์’ ในการผลิตชิ้นงานออกสู่ตลาด ทั้งในแง่การนำเสนอแนวคิดของตนเอง และการทำให้ตรงกับความต้องการของตลาด สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราสามารถดูและศึกษาผ่านการออกแบบเก้าอี้ในแต่ละช่วงเวลา” ดำรงกล่าวเพิ่มเติมพร้อมกับพาเดินไปชม Fluctuation of Precision หรือเก้าอี้ซึ่งโชว์นวัตกรรมวัสดุใหม่ จัดแสดงอยู่ในบริเวณงาน

C6

Fluctuation of Precision เก้าอี้คอนกรีตจากเทคโนโลยี 3D Printing ออกแบบโดย  อานนท์ ไพโรจน์

“เก้าอี้ตัวนี้ขึ้นรูปจากปูนซีเมนต์ด้วยเทคโนโลยี Concrete 3D Printing มีวัสดุพื้นฐานเป็นคอนกรีตเสริมด้วยไฟเบอร์ชนิดพิเศษ ช่วยให้สามารถขึ้นรูปชิ้นงานได้อิสระโดยไม่ต้องใช้เหล็กเสริม เป็นการเล่นกับความรู้สึกของคนทั่วไป เวลามองคอนกรีตว่าเป็นวัสดุที่มีความแข็ง แต่ผลงานนี้กลับสามารถทำให้ดูนุ่มนวลขึ้นได้ ผ่านรูปทรงที่ดูเหมือนที่นั่งบุเส้นใยผ้าหนานุ่มซึ่งเกิดจากการตั้งโปรแกรม เหมาะใช้งานในอาคารหรือนอกอาคารก็ได้” คุณดำรง กล่าว

Fluctuation of Precision (ความผันผวนในความแม่นยำ) เป็นชื่อคอลเลคชั่นพิเศษซึ่ง อานนท์ ไพโรจน์ จาก Anon Pairot Design Studio ทำงานร่วมกับทีมค้นคว้าวิจัยด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยี Concrete 3D Printing ของ สยาม ซีเมนต์ กรุ๊ป(SCG) เมื่อปีที่แล้ว ออกแบบและสร้างสรรค์ออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ตัวอย่าง 3 ชิ้น คือ โซฟาคอนกรีต โต๊ะกลาง(coffee table) และโซฟาสองที่นั่งพนักพิงสูงโค้ง เหมาะสำหรับงานตกแต่งภูมิสถาปัตย์

ปีพ.ศ.2568 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ เต็มรูปแบบ คอนเซปต์การออกแบบเก้าอี้ก็ตามติดไปด้วยเช่นกัน 

Deesawat (ดีสวัสดิ์) นำเสนอ Braise Stool เก้าอี้เพื่อผู้สูงอายุลุกนั่งอย่างเป็นธรรมชาติ ออกแบบโดย จิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ ซึ่งอธิบายไว้ว่า

“ผลงานนี้ออกแบบมาให้เหมาะสมกับหลักสรีรวิทยาของร่างกายมนุษย์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้มีปัญหาเรื่องหลัง ให้สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวก ที่เท้าแขนที่ไม่เท่ากัน จะช่วยให้ผู้ใช้งานจับที่เท้าแขนแล้วพยุงตัวลุกขึ้นยืนได้ง่ายดาย เหมือนเราทำมือเป็นค้อนกับกระดาษ แขนทั้งสองข้างจะยาวไม่เท่ากัน น้ำหนักในการลุกจึงไม่ได้อยู่แค่ตรงกลาง ขณะลุก ตัวเราจะหมุนออกจากเก้าอี้โดยอัตโนมัติ ส่วนช่องว่างที่เปิดไว้ ก็ช่วยให้เขยิบตัวไปยังรถเข็น หรือลุกขึ้นเดินได้สะดวก”

C3

Braise Stool เก้าอี้ผู้สูงอายุลุกนั่งเป็นธรรมชาติ ออกแบบโดย จิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์

C2

Rush Chair เก้าอี้ทำเอง-ทุกชิ้นส่วนมาจากธรรมชาติ ออกแบบโดย ปิติ อัมระรงค์และจุฑามาส บูรณะเจตน์

หากอยากลองทำเก้าอี้ด้วยตัวเองและใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัด ปิติ อัมระรงค์ และ จุฑามาส บูรณะเจตน์ สองดีไซเนอร์แบรนด์ o-d-a ทำให้ดูเป็นตัวอย่างกับผลงาน Rush Chair บอกเล่ากระบวนการผลิตที่ง่ายดายไม่ซับซ้อน ใช้เครื่องมือน้อยชิ้น โดยตามเก็บท่อนไม้เหลือทิ้งตามข้างทางมาประกอบเป็นเก้าอี้

บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร room เล่าว่า สองดีไซเนอร์ o-d-a เลือกใช้กิ่งไม้จากไม้โตเร็วที่มีลำต้นแข็งแรงและเหนียวทนทาน ตัดให้มีขนาด 50 เซนติเมตร ก่อนนำไปประกอบขึ้นเป็นโครงเก้าอี้ดีไซน์เรียบง่ายสไตล์สแกนดิเนเวียน สานพนักพิงและที่นั่งด้วยเชือกย้อมสีธรรมชาติ หรือเส้นใยพืชที่หาได้ในแต่ละท้องถิ่น หากชำรุดสามารถซ่อมแซมเองได้ หรือหากต้องทิ้ง วัสดุต่างๆ จะย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

C5

Gom  เก้าอี้ไม้ถอดประกอบได้ ออกแบบโดย ชญานิน ศักดิกุล และ ณัฐดนัย ศิริบงกช

ภาษาเหนือเรียกม้านั่งตัวเล็กๆ สำหรับใช้สอยภายในบ้าน ว่า ‘ก้อม’ กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับ ชญานิน ศักดิกุล และ ณัฐดนัย ศิริบงกช สองดีไซเนอร์แบรนด์ HariOra สร้างสรรค์เก้าอี้ไม้ทรงเตี้ย(stool) มีไอเดียจาก ‘ลายขัด’ ของเครื่องจักสาน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย คลี่คลายรูปทรงจนกลายเป็นเก้าอี้ที่ถอดประกอบได้ โดยใช้ไม้เป็นองค์ประกอบหลัก 4 ชิ้น สานขัดกันจนเกิดเป็นเก้าอี้ 1 ตัว แต่เมื่อแยกชิ้นส่วน ก็จะได้ม้านั่ง 4 ตัว ตั้งชื่อว่า Gom ตอบโจทย์การใช้งานของคนรุ่นใหม่ที่มีพื้นที่จำกัดได้อย่างดี

ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่อยู่อาศัย ถ้าเก้าอี้มีประโยชน์ใช้สอยมากกว่าการนั่งก็คงดี เป็นที่มาของ The Placer เก้าอี้รูปทรงเรียบง่ายภายใต้แนวคิด 50/50 ซึ่งผู้ออกแบบตั้งใจสร้างความสมบูรณ์ของเก้าอี้ตัวนี้ออกมาเพียง 50% เท่านั้น เพราะอีก 50% ที่เหลือจะเติมเต็มผ่านการวางข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งจะสะท้อนตัวตนของผู้ใช้งานจริง

C1

The Placer เก้าอี้ที่มีดีมากกว่าแค่ไว้นั่ง ออกแบบโดย พิชญา มณีรัตนะพร

“เราอยากให้เก้าอี้เป็นมากกว่าเก้าอี้ เก้าอี้ตัวหนึ่งมันคงจะดีถ้าเราเอามาวางรองเท้าได้ แขวนของได้ นั่งใส่รองเท้าหน้าบ้านได้ The Placer จึงเป็นความคิดแรกที่เริ่มอยากจะออกแบบเก้าอี้ บวกกับว่าหลายปีที่ผ่านมาผู้คนนิยมออกกำลังกายด้วยการขี่จักรยานกันจำนวนมาก เลยนำความต้องการของตลาด มาบวกกับไอเดียความต้องการของตัวเองในการออกแบบเก้าอี้ตัวนี้ขึ้นมา” พิชญา มณีรัตนะพร ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบ The Placer และผู้ก่อตั้ง Whoop แบรนด์เฟอร์นิเจอร์แนวมินิมัล กล่าว

การดูแลจิตใจด้วย ‘การนั่งสมาธิ’ เป็นแรงบันดาลใจของการออกแบบเก้าอี้ได้เช่นกัน

“พอทำงานในออฟฟิศ เวลาเครียด ผมจะชอบออกไปนั่งมองท้องฟ้า ความรู้สึกมันคล้ายกับการนั่งสมาธิ ก็เลยลองหาดูว่าจริงๆ แล้วเรามีเก้าอี้เกี่ยวกับการนั่งสมาธิใช้หรือเปล่า ซึ่งมันก็มีอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่คนทั่วไปเห็นคือ มันมีฟังก์ชันที่เป็นมากกว่าแค่หนึ่งชิ้นในบ้าน ผมจึงอยากออกแบบเก้าอี้นั่งสมาธิที่มีฟังก์ชันกึ่งงานประติมากรรมขึ้นมาสักตัว สามารถใช้เป็นประติมากรรมตกแต่งบ้านได้ในตัว” รัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ กล่าวถึง Sora (โซระ) เก้าอี้นั่งสมาธิที่เขาออกแบบภายใต้แบรนด์ SATAWAT Design และไปชนะรางวัลที่ 3 จากงานแสดงเฟอร์นิเจอร์ IFDA 2017 ที่เมือง Asahikawa ประเทศญี่ปุ่น

C4

Sora  เก้าอี้นั่งสมาธิ ออกแบบโดย รัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ

รัฐธีร์ เปรียบเปรยแนวคิดของผลงานชิ้นนี้เป็นเหมือน ‘ถ้วยชา’ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเติมเต็มพิธีกรรมในวัฒนธรรมญี่ปุ่น และสะท้อนจิตวิญญาณในการอุทิศตนของช่างฝีมือ ส่วนคำว่า ‘โซระ’ อ้างอิงความหมายได้ 2 นัย คือ ‘ท้องฟ้า’ ที่เป็นรูปธรรม และ ‘ความว่างเปล่า’ ที่เป็นนามธรรม สะท้อนผ่านเก้าอี้นั่งสมาธิที่มีฟังก์ชันกึ่งงานประติมากรรมที่ดูเรียบง่ายในตัว

เก้าอี้รูปทรงเรียบง่าย-หน้าตาธรรมดาที่เคยใช้งานกันมา 40-50 ปี นักออกแบบก็นำมาลองใส่ดีไซน์ให้ดูสะดุดตาขึ้นได้เหมือนกัน เช่นเก้าอี้แป้นกลมบนโครงเหล็กเล็กๆ 4 ขาที่ร้านก๋วยเตี๋ยวในอดีตนิยมใช้

"ตอนนั้นผมก็นั่งทานก๋วยเตี๋ยวอยู่ปกติ แต่ก็สังเกตเห็นว่า เจ้าเก้าอี้ในร้านนี้มันเป็นเก้าอี้ที่ฟังก์ชันนัลมาก น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้สะดวก จึงเกิดคำถามขึ้น ว่าทำไมไม่มีใครเอามา Re-design ให้สวยงามน่าใช้หรือทันสมัยขึ้น จากนั้นผมกลับมารีเสิร์จจริงจังแล้วค้นพบว่าเจ้าเก้าอี้ในร้านก๋วยเตี๋ยวที่เราคุ้นเคยนี้ มีเรื่องราวในประวัติศาสตร์อีกมากมาย ผมจึงหยิบรูปทรง ลวดลาย ออกมาเป็นเก้าอี้ชุดนี้” ศรัณย์ เย็นปัญญา ผู้แปลงโฉมเก้าอี้ก๋วยเตี๋ยวโบราณด้วยการเปลี่ยนวัสดุเบาะนั่งใหม่ให้แตกต่างจากที่เคยเป็นลวดลายรูปช้าง โดยเปลี่ยนเป็นลายเสือจากประเทศญี่ปุ่น ปักลงบนงานหัตถกรรมอย่างเสื่อทอมือของชาวอีสาน ผ้าทอมือ และวัสดุจากท้องถิ่นอื่นๆ เกิดเป็นพื้นผิวใหม่ๆ ที่กลมกลืนกับสีของขาเหล็กอันเป็นดีไซน์ดั่งเดิม ตั้งชื่อผลงานนี้ว่า Noodle Stool ให้กับแบรนด์ 56th Studio

C7

Noodle Stool เก้าอี้ก๋วยเตี๋ยวสุดชิค ออกแบบโดย ศรัณย์ เย็นปัญญา

C8

Jaak Stool  ที่นั่งจากงานหัตถกรรม ออกแบบโดย ศุภชัย แกล้วทนงค์

“ผมมองว่าเก้าอี้เป็นเหมือนเครื่องประดับอย่างหนึ่งสำหรับบ้าน ก็เหมือนกับที่คนใส่เครื่องประดับให้กับร่างกาย เก้าอี้ยังเป็นสิ่งแรกๆ ที่แขกผู้มาเยือนบ้านมักจะได้สัมผัสก่อนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นอื่นๆ ทั้งบ่งบอกถึงรสนิยมการตกแต่งของเจ้าของบ้านไว้ด้วย ซึ่งเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป รสนิยมการแต่งบ้านของคนก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เก้าอี้ก็เช่นกัน ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นงานดีไซน์ใหม่ๆ ขึ้นอยู่ตลอดเวลา หน้าที่ของนักออกแบบจึงต้องสร้างดีไซน์ที่ตอบสนองรสนิยมอันดีงามให้เจ้าของบ้านได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของเทรนด์ ความชอบส่วนตัว หรือฟังก์ชันใช้งานก็ตาม” ศุภชัย แกล้วทนงค์ ให้มุมมองที่มีต่อ ‘เก้าอี้’ และเขาได้สร้างสรรค์เก้าอี้ที่ต่อยอดมาจากโคมไฟ ‘ทลายจาก’ ซึ่งเกิดจากการพลิกแพลงเทคนิคการทำกรงนกของชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดดเด่นด้วยการเข้าเดือย ต่อไม้ขึ้นโครง ฉลุลาย ไปจนถึงการกลึงไม้ พร้อมกับใส่ฟังก์ชันการรับน้ำหนักเพิ่มเข้าไป เพื่อช่วยเสริมให้สตูลมีความแข็งแรง ทนทาน ใช้งานได้จริง เรียกเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้ว่า Jaak Stool นอกจากเป็นเฟอร์นิเจอร์ ด้วยรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ ผลงานชิ้นนี้ยังเปรียบเสมือนประติมากรรมใช้ตกแต่งบ้านได้ไม่ต่างจากงานศิลปะ

C9

Sputnik เก้าอี้สานปะทะงานดีไซน์ยุคอวกาศ ออกแบบโดย อัญชนา ทองไพฑูรย์และพิพิธ โค้วสุวรรณ

วัตถุที่ถูกส่งออกไปนอกโลก ก็เป็นแรงบันดาลใจของการออกแบบเก้าอี้เมื่อสองดีไซเนอร์แห่ง Salt and Pepper Studio อัญชนา ทองไพฑูรย์ และ พิพิธ โค้วสุวรรณ นำโครงสร้างของดาวเทียม ‘สปุตนิก’ จากปีค.ศ.1957 มาเป็นองค์ประกอบในส่วนของขาเก้าอี้ ขณะที่พนักพิงและที่นั่งเป็นงานเชือกสานวัสดุรีไซเคิลสำหรับงานกลางแจ้ง  โทนสี และแพตเทิร์นได้แรงบันดาลใจจากบรรยากาศของภาพยนตร์ยุควินเทจ โดดเด่นด้วยคู่สีที่มีให้เลือกหลากหลาย ช่วยสร้างความรู้สึกสนุกสนานให้กับ ‘พื้นที่’ ที่นำ Sputnik ไปจัดวาง

วันนี้กลับไปดูเก้าอี้ที่บ้าน...คุณมองเห็นตัวเองในนั้นไหม

-------------------------------

บ้านและสวน แฟร์ ซีเล็ค

งาน ‘บ้านและสวน แฟร์ ซีเล็ค’ เป็นงานแสดงเฟอร์นิเจอร์น้องใหม่ของงาน ‘บ้านและสวนแฟร์’ เน้นจัดแสดงเฟอร์นิเจอร์ที่พัฒนาโดยดีไซเนอร์ไทย ของแต่งบ้านและงานฝีมือ เป็นงานขนาดย่อมประมาณ 300 บูธ กำหนดจัดระหว่างไตรมาสแรกของปี ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่าง 30 พฤษภาคม-3 มิถุนายนที่ผ่านมา ขณะที่งานบ้านและสวนแฟร์เป็นงานใหญ่ครบวงจร ครอบคลุมสินค้าและบริการสำหรับบ้าน สวน และการก่อสร้าง มากกว่า 2,000 บูธ ซึ่งมีกำหนดจัดงานช่วงกลางปีและปลายปี และที่เพิ่มเข้ามาใหม่อีกคือบริการซื้อสินค้าภายในงานแบบออนไลน์ 

“หลังจากที่งานจบไปแล้ว มีคนถามเราเข้ามาเสมอ ว่าจะติดต่อร้านค้าที่เข้ามาจัดแสดงในงานได้อย่างไร และเนื่องจากข้อจำกัดของระยะเวลาและสถานที่จัดงาน ทำให้ผู้สนใจงานในหลายจังหวัดห่างไกลไม่สามารถเดินทางมาร่วมงาน หรือมาดูงานไม่ทัน ทีมงานจึงตัดสินใจพัฒนาเว็บไซต์บ้านและสวน(www.baanlaesuan.com) เพิ่มบริการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ โดยเป็นแพลตฟอร์มให้กับร้านค้าที่มาออกบูธซึ่งพร้อมสำหรับการติดต่อสั่งซื้อออนไลน์ หรือบางคนที่ต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ก็ไม่ต้องรีบตัดสินใจภายในวันงาน และยังคงได้ราคาโปรโมชั่นเดียวกับภายในงาน” ประภัสสร มั่งศิริ ผูัจัดการฝ่ายดิจิทัลคอนเทนต์ นิตยสารบ้านและสวน กล่าว 

--------------------------------