จากนักท่องเที่ยวสู่ผู้อาศัย ปรากฏการณ์จีนในชุมชนไทย

จากนักท่องเที่ยวสู่ผู้อาศัย  ปรากฏการณ์จีนในชุมชนไทย

รู้จักย่านจีนใหม่ในชุมชนไทยผ่านการวิจัย เมื่อช่องว่างและโอกาสเปลี่ยนเรื่องเที่ยวให้เป็นธุรกิจ

เหตุการณ์เรือโดยสารทางทะเล 'ฟินิกซ์ พีซีไดฟ์วิง' อับปางกลางทะเล คือโศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นกับการท่องเที่ยว แต่คำถามถึงปัญหานอมินีข้ามชาติเกิดขึ้นมาสักระยะแล้ว

ในตอนแรกเราอาจคิดไปว่า กระแสการท่องเที่ยวของคนจีนในไทยเกิดขึ้นเพราะภาพยนตร์ Lost in Thailand (แก๊งม่วนป่วนไทยแลนด์) ซึ่งเข้าฉายในประเทศจีนปลายปี 2555 แต่ทว่า 5-6 ปีผ่านไป ปรากฎการณ์จีนในไทยไม่ใช่เพียงแค่กระแสวูบวาบ เพราะกลายเป็นนักท่องเที่ยวจีนนั่นเองที่เป็นกลุ่มท่องเที่ยวหลักที่ส่งเสริมรายได้ให้กับภาคธุรกิจไทย

จำนวนเงินที่หมุนเวียนในระบบมากขึ้นคือข้อดี แต่หากในทางกลับกัน นี่ก็เป็นช่องทางของคนบางกลุ่มที่เห็นโอกาสในการลงทุนอุตสาหกรรมแบบครบวงจร เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากชาติเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าที่ระลึก ฯลฯ

'ห้วยขวาง' โมเดลจีนในกรุง

ย่านเที่ยว ร้านอาหาร ที่อยู่อาศัย ตลอดถึงการหาช่องทางทำธุรกิจของคนต่างชาติไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะชาวจีนในกรุงเทพฯ ซึ่งเคยมีงานวิจัยโครงการ 'การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนรุ่นใหม่ : กรณีศึกษาชุมชนจีนแห่งใหม่' โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งค้นพบว่า นอกจากย่านไชน่าทาวน์อย่างเยาวราชแล้ว ยังมีชุมชนจีนเกิดใหม่จากการท่องเที่ยว และชัดเจนที่สุดคือบริเวณ ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง

ดร.ชาดา เตรียมวิทยา นักวิจัยศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา หัวหน้าคณะโครงการ บอกว่าชาวจีนย่านห้วยขวางไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวมาแล้วกลับ หรือคนจีนเก่าแก่แบบเยาวราช ทว่ากลุ่มคนเหล่านี้คือชาวจีนรุ่นใหม่ซึ่งได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในประเทศไทย อาทิ การเข้ามาศึกษาในประเทศไทย การเข้ามาสอนภาษาจีน กระทั่งเป็นนักท่องเที่ยวซึ่งย้ายถิ่นฐานชั่วคราวเพราะเล็งเห็นช่องทางในการทำธุรกิจในไทย

"ส่วนใหญ่เป็นจีนกวางสี จีนยูนนาน ซึ่งพวกเขาเริ่มต้นจากแค่ท่องเที่ยว หรือมาทำธุระ นำไปสู่การตัดสินใจอยู่นานขึ้น พอวีซ่าท่องเที่ยวหมด ก็ยังไม่กลับ จากนั้น เมื่อเห็นช่องทางจะเริ่มเรียกครอบครัวให้ตามมา แล้วหาที่อยู่พร้อมๆ กับหาช่องทางทำงานไปด้วย เป็นการตั้งถิ่นฐานลักษณะแบบใยแมงมุม (Spider's Web Settlement) คือกำหนดให้ชุมชนถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เป็นศูนย์กลาง มีร้านอาหารจีน ร้านค้า ร้านเสริมสวย ร้านขนส่งโลจิสติกส์ อยู่สองข้างทางฝั่งถนนส่วนอาชีพของคนกลุ่มนี้ ได้แก่ มัคคุเทศก์, ล่าม ครูสอนภาษาจีน รวมถึงธุรกิจที่นักท่องเที่ยวจีนมีความต้องการ”

“เขาอาจจะเปิดร้านอาหารไทย ขายของที่ระลึกจากเมืองไทยก็ได้ แต่มีคนจีนเป็นเจ้าของธุรกิจตัวจริงและเป็นเป้าหมายหลัก มีคนไทยที่เสนอตัวเองเป็นผู้จดทะเบียน มีคนต่างด้าวเป็นแรงงานหลัก และจากการสำรวจพูดคุยนั้นเป็นลักษณะการแสวงหาประโยชน์ร่วมกัน เช่น นักธุรกิจชาวจีนจะให้ค่าเช่าที่สูงกว่ามาตรฐานกับเจ้าของคนไทย บางกรณีเป็นคนไทยเองด้วยซ้ำที่ไปติดต่อขอทำธุรกรรมแทน”

ถึงเวลานี้ เมื่อรัฐบาลไทยเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะเกิดเหตุสดๆ นำไปสู่การกวดขัน กลุ่มธุรกิจนอมินีทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กก็ปรับตัวและรัดกุมมากขึ้น มีการลดเวลาเปิด-ปิด การจ้างแรงงานไทยเพิ่ม พร้อมขยายขอบเขตไปรอบๆ จากห้วยขวางสู่ย่านอื่นๆ เช่น สุทธิสาร, ดินแดง, ถนนเสือป่า ส่วนหัวเมืองท่องเที่ยวก็อย่างเช่น เชียงใหม่, เชียงราย,ขอนแก่น, ภูเก็ต, อุบลราชธานี, นครราชสีมา สวนผลไม้บางแห่งในภาคตะวันออก

20150819140212573

เชียงใหม่ ไชน่าทาวน์?

ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีจุดพีคเมื่อราว 2-3 ปีก่อน งานวิจัยเรื่อง 'ผู้ประกอบการจีนรุ่นใหม่กับความมั่นคงด้านธุรกิจท่องเที่ยวในภาคเหนือ' โดย ผศ.ดร. อรัญญา ศิริผล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุตอนหนึ่งว่า ผู้ประกอบการจีนในเชียงใหม่ส่วนใหญ่คือ คนจีนหนุ่มสาว ซึ่งมีทั้งหญิงชายอายุระหว่าง 25-40 ปี จบการศึกษาอย่างต่ำมัธยมปลายและระดับปริญญาตรี มาจากพื้นฐานครอบครัวชนชั้นกลางในจีนที่เคยหรือกำลังประกอบอาชีพรับราชการ บริษัทเอกชน เช่น เจ้าหน้าที่รัฐ (สถาบันขงจื่อ นักศึกษาแลกเปลี่ยน รัฐวิสาหกิจ ครู) หรือทำงานบริษัทเอกชนต่างประเทศในจีน

บางรายผันตัวเองมาทำธุรกิจด้วยเพราะเล็งเห็นช่องทาง พวกเขาเลือกอยู่ในไทยพร้อมกับเป้าหมายหวังประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ จึงให้คุณค่ากับการทำงานแบบสร้างเนื้อสร้างตัว และพร้อมที่จะทดลองเรียนรู้ทางธุรกิจใหม่ๆ มีความกล้ารับความเสี่ยงและความท้าทายจากโอกาสทางเศรษฐกิจที่เปิดขึ้นในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ผู้ประกอบการจีนรุ่นใหม่ในจังหวัดเชียงใหม่ มาจากทั่วทุกภาคของจีน เงื่อนไขหลักที่ทำให้คนเหล่านี้มาจากทั่วทุกแห่งเพราะการเดินทางที่สะดวกขึ้นจากเส้นทางการบิน ทำให้พวกเขาสามารถจัดการการเดินทางเพื่อธุรกิจการค้าที่จีนกับไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ถ้าถามว่าสถานการณ์แบบนี้จะส่งผลอะไร แน่นอนว่าในด้านบวกก็จะส่งผลถึงภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะจากการสำรวจพวกเขายังใช้ขนส่งสาธารณะในพื้นที่สัญจรเป็นหมู่คณะ เช่น บริการรถบัส หรือรถนำเที่ยวชุมชนแบบ Local Agency แต่มองอีกด้าน ผลกระทบด้านลบกำลังเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไทยทั้งระดับกลางและเล็ก เพราะการแข่งขันสูงขึ้นและเงื่อนไขเทคนิควิธีการทำตลาดอันซับซ้อน

“ถ้าในเชียงใหม่ ขึ้นอยู่กับกลุ่มนำเที่ยวแบบ Local Agency ว่าจะต่อรองได้มากน้อยขนาดไหน เพื่อให้กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนใช้บริการ มีคนไทยเป็นเจ้าของผลิต เช่น เข้าร้านอาหารคนไทย ใช้ขนส่งมวลชนไทย หรือไปตามเส้นทางที่เอื้อต่อการจำหน่ายสินค้าคนไทยนั้นก็ยังไปได้ ที่กังวลบางรายมองเพียงกำไรระยะสั้น คือได้ค่าหัวจากการนำเที่ยวเท่านั้น แต่ผลิตภัณฑ์และภาคบริการอื่นๆ ไม่ถูกส่งเสริม”

หรือการกวดขันเรื่องการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมามักจะเป็นผู้ค้าคนไทยเท่านั้นที่ถูกจับตาเรื่องการเสียภาษี แต่กับผู้ค้าชาวต่างชาติกลับมักไม่ถูกพูดถึง กลายเป็นเปิดโอกาสให้กลุ่มบริษัทขนส่งสินค้า (ชิปปิ้ง) ของนักธุรกิจจีนเข้ามาเปิดบริการรับส่งสินค้ากลับไปยังจีน หรือบริษัทจีนขายส่งสินค้าไทยแบบปลีก-ส่งในประเทศจีน

เช่น ในเขตหางดง เชียงใหม่มีไม่ต่ำกว่า 5 รายในช่วงปีพ.ศ. 2559 โดยที่ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันทางการค้าได้ ผู้ประกอบการไทยบางกลุ่มจำต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง บ้างรายสามารถปรับตัวได้ เช่น หาหุ้นส่วนร่วมทุน หาตลาดใหม่ผ่านเครือข่ายใหม่ๆ หรือเพิ่มพูนความรู้ที่เกี่ยวเนื่อง แต่สำหรับผู้ที่ปรับตัวไม่ได้ ก็ต้องออกไปจากธุรกิจที่เคยทำมา เปลี่ยนมือกิจการให้แก่ผู้ประกอบการจีน เป็นต้น สภาวะเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของคนในสังคมไทยอย่างมาก หากไม่ได้มีการปรับตัวหรือได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

20160710114544104

ตั้งรับชุมชนใหม่ท่องเที่ยว

โมเดลที่ห้วยขวางหรือที่เชียงใหม่ ไม่ได้หมายความว่าคนจีนที่เดินทางมายังไทยจะเป็นเช่นนั้น หากแต่อธิบายถึงการตั้งชุมชนและเครือข่ายธุรกิจซึ่งเห็นโอกาสและช่องว่าง เปลี่ยนตัวเองจากนักท่องเที่ยวธรรมดาๆ มาทำธุรกิจเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวด้วยกันเอง

จีนทุกวันนี้ ไม่ใช่ชาวจีนรุ่นย้ายถิ่นฐานแบบที่เรียกว่า 'จีนเก่า' หรือ 'เหล่าตี้ง' อีกต่อไป แต่เป็นจีนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า 'ซิน อี้ หมิน' ที่ทำให้ย่านท่องเที่ยวกลายเป็นไชน่าทาวน์แห่งใหม่

ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช ศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ชุมชนและเครือข่ายธุรกิจต่างชาติซึ่งเกิดจากการท่องเที่ยวเกิดขึ้นตามธรรมชาติ และควบคุมยาก กลุ่มคนเหล่านี้ตั้งชุมชนแล้ว ยืด-หดตัว ตามตลาดนักท่องเที่ยว เพราะเมื่อมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก นักท่องเที่ยวเหล่านั้นจะเห็นช่องทางทำกิน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เมืองสุราบายา ประเทศอินโดนีเซีย และแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อต่างๆ ดังนั้นเมื่อห้ามไม่ได้ ประเด็นจึงกลับมาสู่การควบคุมให้เด็ดขาด ต้องทำข้อบังคับให้ชัดว่าอะไรทำได้ อะไรไม่ควรทำ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศในระยะยาว

ผศ.ดร.อรัญญา กล่าวว่า อย่างกรณี ปี พ.ศ. 2558-2559 รัฐบาลไทยพยายามจะหยุดธุรกิจจีนผิดกฎหมายที่มาตั้งบริษัททำธุรกิจในรูปนอมินี ให้คนไทยถือหุ้นแทน กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เริ่มตรวจสอบธุรกิจที่ทำผิดกฎหมายในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน รถยนต์ ธุรกิจเช่าบ้าน-เช่าซื้อ บริษัทนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตร พบว่ามีมากกว่า 13,000 บริษัท จีนและต่างประเทศที่ถูกตรวจสอบว่าอาจจะทำผิดกฎหมายดังกล่าวกระจายอยู่ใน 10-17 จังหวัดทั่วประเทศ แต่ในเวลาต่อมาก็พบว่าการจับกุมปราบปรามเป็นไปตามวาระโอกาส ตั้งรับปัญหา ลดแรงเสียดทานจากสังคมมากกว่าการมองการณ์ไกลเพื่อเป้าหมายความมั่นคงอย่างยั่งยืนในระยะยาว

รอบนี้ใครๆ จึงตั้งความหวังไว้ว่า ปัญหาที่คาราคาซังจะยุติไปได้สักที