เอิบลาภ ศรีภิรมย์ “ผ้าซิ่น”คืองานศิลปะและภูมิปัญญา

เอิบลาภ ศรีภิรมย์ “ผ้าซิ่น”คืองานศิลปะและภูมิปัญญา

ชวนผอ.ททท.สำนักงานแพร่ คุยเรื่องผ้าพื้นเมืองโบราณที่เธอรักและหลงใหล

ชอบและหลงใหลในผ้าพื้นเมืองมาตั้งแต่เริ่มทำงาน อู๋-เอิบลาภ ศรีภิรมย์ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานแพร่ เล่าว่าเธอเห็น คุณแม่(สมศรี ศรีภิรมย์) คุณยาย(เฮียง เพ็ญศรี) คุณย่า(ถนอม ศรีภิรมย์)ใส่ผ้าถุงมาตลอด ทุกวันนี้ยังเก็บรักษาผ้าถุงไหมของคุณย่าเอาไว้อย่างดี บางผืนก็นำมาตัดให้เข้ากับรูปร่างของเธอแล้วนำมาสวมใส่อย่างสวยงาม

DSC_2668

“คุณยายนุ่งซิ่นผ้าฝ้าย คุณย่านุ่งซิ่นผ้าไหม คุณแม่จะไม่นุ่งซิ่นแบบดั้งเดิม แต่จะนำผ้าพื้นเมืองไปออกแบบเป็นเสื้อทันสมัยตามแฟชั่น ด้วยความที่คุณแม่ก็ทำงานอยู่ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเหมือนกัน มีโอกาสได้เดินทางไปตามชุมชนต่างๆ ได้เห็นผ้าในพื้นที่ต่างๆ คนททท.ชอบช้อปปิง คุณแม่มักจะซื้อผ้ากลับมา เราเห็นตั้งแต่เด็กๆ ตอนเรียนหนังสือ (เรียนคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท ด้านการวางแผนภาคและเมือง มหาบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)ก็ไม่ได้ถือกระเป๋าแบรนด์เนมเหมือนคนอื่นๆ

จะใช้ตระกร้าบ้าง หรือเอาผ้าพื้นเมืองมาทำเป็นกระเป๋าบ้าง เหมือนคุณแม่จะปลูกฝังมาโดยทางอ้อม พอมาทำงานททท.ก็ได้มีโอกาสเดินทางเอง ได้เจอแหล่งที่มาของผ้าต่างๆ ก็เลยมีความชอบและเริ่มศึกษา ผ้าบ้านเรามีความหลากหลาย มีลวดลายการทอ เทคนิคการให้สี เป็นงานศิลปะที่มีเสน่ห์ ก็เลยเริ่มเก็บสะสมผ้าเองตอนเด็กๆเงินน้อยหน่อย ก็ซื้อผ้าตามกำลังที่เรามี ปีแรกไปต่างจังหวัดเยอะมากทั้งเหนือ ใต้ กลาง อีสาน เช่นผ้าไหมแพรวา กาฬสิทธุ์ สมัยก่อนหลักพัน เดี๋ยวนี้หลักหมื่นแล้ว ตีนจกของแพร่ ผ้าน้ำไหลของน่าน ผ้าพุมเรียงของจังหวัดสงขลา”

DSC_2724

ผอ.อู๋เล่าต่อไปว่า ถ้ามีโอกาสได้เดินทางไปจังหวัดใดก็จะช่วยอุดหนุนผ้าของชาวบ้าน ทั้งผ้าปาเต๊ะ ผ้าบาติก เครื่องเงิน งานฝีมือ เครื่องไม้เกาะสลัก ฯลฯ ของเหล่านี้จะเห็บไว้เป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งได้มาที่จังหวัดนั้นๆ

“ยิ่งมาอยู่ที่แพร่กับน่าน (ระหว่างเดือน พย. 2559-2561 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการททท.สำนักงานแพร่ อนาคตอันใกล้นี้กำลังจะเดินทางไปดำรงตำแหน่ง ผอ.ททท.สำนักงานสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน) ซื้อใหญ่เลย ทั้งผ้าซิ่น เครื่องเงิน เพราะเราต้องใส่ทุกวันเนื่องจากเราทำงานททท.ต้องใช้ของพื้นถิ่นเพื่อให้คนรู้จัก แต่งตัวด้วยซิ่นทุกวันเวลามีงาน บางทีก็เอาผ้าซิ่นมานุ่งเป็นกระโปร่งหลายๆแบบ เป็นความชอบส่วนตัวด้วย ผ้าซิ่นทอมือที่นี่เหมือนเป็นงานศิลปะ เพราะลายจะไม่เหมือนกัน ด้วยความที่ซื้อไว้เยอะ บางทีก็ยกให้เพื่อนไปบ้าง ขายต่อให้เพื่อนไปบ้าง เพราะเค้าชอบ แต่ปรากฏว่าถ้าเราจะซื้อแบบเดิม ไม่มีแล้ว สีและลายที่เราชอบอาจจะเปลี่ยนไปแล้ว เดิมมีสีน้ำตาลยกให้น้องไปแล้ว ตามกลับไปซื้อแบบเดิมปรากฏว่าลายนี้สีนี้ไม่มีอีกแล้ว ต้องเป็นสีอื่น เพราะคนทอเค้าจะทำสีใหม่ๆ รุ่นใหม่ๆ คนทอจะออกไอเดียใหม่ๆ เอาลายไหนผสมลายไหน ส่วนใหญ่เราจะเก็บลายแปลกๆ แบบที่เราชอบ เค้าบอกว่าผ้าซิ่นเลือกเจ้าของ ผืนที่เราชอบมีคนจองแล้ว ผืนที่มีอยู่เราก็ไม่ชอบ หรือผืนที่เราชอบแต่ไม่ตัดสินใจซื้อ เพราะคิดว่าราคาสูงไป นานแล้วกลับไปผ้าถุงผืนนั้นยังรอเราอยู่ ก็เลยซื้อกลับมา”

DSC_2664

นอกจากจะเป็นผ้าซิ่นลายที่ชอบแล้ว ยังหลงใหลในกรรมวิธีการผลิตเช่น ผ้าที่ย้อมโดยใช้สีจากธรรมชาติ เช่นคราม ฮ่อม มะเกลือ ขมิ้น ฯลฯ ส่วนใหญ่จะเลือกซื้อผ้าถุงที่มีสีสันเนื่องจากใส่ง่าย ใส่กับอะไรก็ได้เช่นเสื้อเชิ้ต เสื้อยืด เสื้อผ้าฝ้าย ที่เป็นสีพื้นๆ

“ส่วนใหญ่จะดูแบบ ดูลายที่เราชอบ ลายที่หายาก ลายที่เค้าไม่ค่อยทอ ลายที่หายากอย่างลายม้าเป็นวัฒนธรรมของไทยลื้อ จะเห็นได้ที่น่าน และเชียงราย ไทยลื้อเค้าจะมีลายขอป๊อก ลายสิงห์ ลายช้าง บางทีเราไม่ชอบสีสดเกินไปเช่นแดงแป๊ด ชมพูช็อกกิ้งพิงค์ก็ไม่ชอบ อย่างหนองน้ำครกใหม่เค้าจะทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ ภาคเหนือของน่านที่อำเภอปัว จะมีซิ่นมัดกาด เหมือนในละครเรื่องรากนคราก็เป็นภูมิปัญญาของภาคเหนือ แต่บังเอิญไปเหมือนมัดหมี่ของภาคอีสานแต่มัดลายไม่เหมือนกัน แต่ใช้เทคนิคเดียวกันคือมัดแล้วย้อม ที่อำเภอ เวียงสาจะมีผ้าซิ่นคำเคิบ( ทอด้วยไหมคำทั้งผืนเป็นลายเหมือนผ้ายันต์เช่นอุ้งตีนหมี ลายนาคเกล็ด ลายขอ ฯลฯ ราคาผืนหนึ่งกว่าหมื่นบาท ) มีลายซิ่นที่เยอะมาก แม้แต่ลายน้ำไหลยังมีน้ำไหลหลากหลายมาก มีโอกาศก็จะซื้อเก็บไว้ทุกลายที่เจอ”

DSC_2578

ล่าสุดเพิ่งซื้อผ้าซิ่นเมืองน่าน เป็น “ซิ่นจกวิเศษ” เป็นหนึ่งในห้านางพญาผ้าซิ่น มีเทคนิคของหลายลวดลายในผ้าซิ่นผืนเดียวกันทั้งการจก การขิด การล้วง มีตีนจก “ซิ่นนางยักษ์” แกะมาจากผ้าซิ่นในลายจิตรกรรมฝาผนัง(ราคา 25,000 บาท) เธอก็จะเก็บไว้เป็นที่ระลึก 1 ชิ้น

ผ้าไหมทอลายแบบโบราณ ราคาสูงเนื่องจากใช้วัสดุดี งานฝีมือละเอียด ผ้าซิ่น 1 ผืน บางทีใช้เวลาทอกว่า 1 เดือน คุณอู๋ว่าเมื่อทราบถึงกระบวนการผลิตแล้วไม่อยากต่อราคาเลยแม้แต่น้อย ซิ่นแพร่กับน่านตอนนี้มีประมาณ 60 ผืน ไม่รวมผ้าซิ่นจากภาคอีสานและภาคใต้อีกจำนวนมาก ถ้าว่าได้นุ่งทุกผืนไหม? เธอตอบว่าไม่ บางชิ้นเก็บไว้มีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากคนทออาจจะไม่อยู่แล้ว

“การนุ่งผ้าซิ่นทำได้หลายแบบ อยากให้ทันสมัยนุ่งเป็นกระโปรงสั่น กระโปรงยาวก็ได้เค้ามียูทูปสอนวิธีนุ่ง ก็เลยเป็นที่มาของโปรเจกงานต่างๆเช่น “นุ่งซิ่นกินขนมเส้น” ที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ มีซิ่นตีนจก โครงการเดือนมีนาคมที่ผ่านมามี “นุ่งซิ่นสุบเกิบแอ่วเนิบๆที่เมืองน่าน” เพื่อเอาเรื่องของผ้ามาเล่าเรื่องเมืองแพร่ น่าน เพื่อให้นักท่องเที่ยวทราบว่าเรามีของดีที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นอยู่นะ”

DSC_2667

“ผอ.อู๋-เอิบลาภ ศรีภิรมย์” มองว่า “ผ้าซิ่นคืองานศิลปะและภูมิปัญญา” เธอจึงหลงใหลในผ้าซิ่น ส่งเสริมให้ชุมชนทอผ้าซิ่น ร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ฟังแล้วชื่นใจแต้ๆเจ้า