“กลบทศึก” หนึ่งด้าวฯ ถึง “สารลับ” โยดะยาพ่าย

“กลบทศึก” หนึ่งด้าวฯ ถึง “สารลับ” โยดะยาพ่าย

ถอดรหัสจาก “กลบท” จากหนึ่งด้าวฟ้าเดียว ถึง “สารลับ” ในลิลิตโยดะยาพ่าย เทียบเคียงกรณีเสียกรุงในงานวรรณกรรมของไทยและพม่า

หนึ่งด้าวฟ้าเดียว โดย วรรณวรรธน์ เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าเอกทัศ ช่วงเวลาก่อนเสียกรุงไม่นาน จนถึงพระเจ้าตากสินกอบกู้เอกราชสำเร็จในตอนท้ายเรื่อง 

นวนิยายเรื่องนี้แตกต่างจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เรื่องอื่นๆในบรรณพิภพไทย ตรงที่พระเอกเป็นขันทีชาวต่างด้าว ประเด็นนี้ นับว่าเป็นการสร้างตัวละครเอกที่แปลกใหม่ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทย เพราะไม่ค่อยพบเห็นการลงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องบทบาทหน้าที่ของขันทีในสมัยอยุธยาสักเท่าไหร่ 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าหนึ่งด้าวฟ้าเดียวมีพล็อตที่แปลกใหม่ แต่ก็ยังผลิตซ้ำเรื่องเล่าเหตุแห่งการเสียกรุงว่าเป็นเพราะ “ไส้ศึก” แพะรับบาปในเรื่องเล่ากรณีเสียกรุงในวรรณกรรมไทย

ปมของเรื่องนี้ คือ เรื่องการทรยศชาติบ้านเมืองอันเป็นการเมืองภายในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเกี่ยวกับข้องกับสารลับที่ตัวละครแมงเม่าเก็บได้ การอ่านสารลับนี้จำต้องต้องใช้วิชาความรู้เรื่องการแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอน กอปรกับความรู้เรื่องตำราพิชัยสงคราม เพื่ออ่านถอดความหมาย และความลับ ที่ซุกซ่อนอยู่ในกลกลอน

อันเป็นต้นเหตุแห่งการเสียกรุงศรีอยุธยาในเวลาต่อมา!

large

"สารลับ" ที่ตัวละคร แม่แมงเม่า เก็บได้มีต้นเหตุมาจากการพบกับชายแปลกหน้า ซึ่งกำลังนอนบาดเจ็บอยู่ได้สะพาน ข้างกายมีกลักใส่ของบางอย่าง เธอจึงเก็บขึ้นมา ก่อนชายผู้นั้นจะสิ้นใจไปต่อหน้าต่อตา ได้กระซิบบอกอะไรบางอย่าง และในกลักก็พบจดหมายที่เขียนไว้อย่างประหลาด ไม่สามารถอ่านเป็นคำได้ แม้แต่เเมงเม่าเองที่เชี่ยวชาญด้านกลบทโคลงกลอน ยังคิดหาวิธีมาอ่านไม่ออก

ด้วยความเก่งกาจด้านกลบทนี้เอง ทำให้ ออกพระศรีขันทิน ขันทีหลวงผู้มีใบหน้าสวยจนคนหลงใหลทั้งหญิงและชาย ต้องรับเป็นธุระมารับหญิงสาวเข้าวัง เพื่อช่วยถอดกลบทที่เล่นประลองแข่งขันกันในตำหนักฝ่ายใน และได้รับหน้าที่ให้ดูแลแม่แมงเม่าระหว่างที่อยู่ในวัง

เขาเป็นอีกคนที่เก่งในโคลงกลอน และเป็นผู้คิดช่วยแม่แมงเม่าแก้กลบทในครั้งนี้ แต่กำชับแม่แมงเม่าว่าอย่าบอกใครว่าเขาเป็นผู้ช่วยแก้กลบท เพื่อมิให้มีมีผู้ใดระแคะระคายได้ว่า ขันทีชาวตุรกีจะมีความรู้เรื่องกลกลอนไทยได้อย่างลึกซึ้ง แต่แท้จริงแล้ว เขาคือจารบุรุษ ผู้ปลอมตัวเป็นขันที เพื่อสืบข่าวผู้คิดกบฏในวังให้แก่พระยาตาก และค้นหาตัวผู้ลวงล่อเสือขุนทอง บิดาผู้เก่งกาจ และคงกระพันชาตรีของเขาไปให้พม่าฆ่าตาย

สารลับที่แม่แมงเม่า และออกพระศรีขันทินช่วยกันแก้เพื่อตามหาเบาะแสเกี่ยวกับต้นเหตุแห่งการเสียกรุงเป็นกลบทศึกที่พระยาพลเทพคบคิดกับเจ้าจอมเพ็ญในพระเจ้าเอกทัศน์ลอบส่งให้กองทัพพม่า เพื่อส่งข่าวให้กองทัพพม่ารู้เกี่ยวกับความลับของกรุงศรีอยุธยา 

เรื่องเล่าทำนองว่า ออกญามีชื่อของกรุงศรีอยุธยาเป็นไส้ศึกลอบส่งข่าวสารราชการลับให้แก่ฝ่ายตรงข้ามหรือทำนองว่า เป็นผู้เปิดประตูเมืองให้ข้าศึกยกเข้ามาในกำแพงเมืองได้โดยง่าย ถูกเลือกนำมาผูกปมเรื่องการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง และผลิตซ้ำในวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ไทยหลายเรื่อง จนกลายเป็นส่วนผสมหลักที่จะขาดเสียมิได้

เรื่องพระยาพลเทพเป็นไส้ศึก และลอบส่งกลบทศึกให้แก่กองทัพพม่าในหนึ่งด้าวฟ้าเดียว เป็นข้อมูลชุดเดียวกันกับที่ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์ไทย คือ คำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งมีความตอนหนึ่งระบุว่าเหตุแห่งการเสียกรุงเป็นเพราะ 

พระยาพลเทพเอาใจออกห่างลอบส่งศาสตราวุธ เสบียงอาหารให้พม่า สัญญาจะเปิดประตูคอยรับ พม่าเห็นทีก็ระดมเข้าตีปล้นกรุงศรีอยุธยา ทำลายเข้ามาทางประตูที่พระยาพลเทพนัดหมายไว้... 

เรื่องเล่านี้เป็นชุดข้อมูลที่ยังทรงพลังและยังไหลเวียนอยู่ในบรรณพิภพไทย ตัวละครออกญามีชื่อดังกล่าวถูกประทับตราเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าเป็น “คนขายชาติ”

4(391)

ขณะที่ในวรรณกรรมพม่าที่เล่าถึงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แตกต่างออกไป คือ โยดะยาหน่ายหม่อกูน หรือ ลิลิตโยดะยาพ่าย ประพันธ์โดยนายทหารพม่า นามว่า และแว-นอยะทา ผู้ซึ่งได้เข้าร่วมรบในสงครามคราวเสียกรุง ครั้งที่ 2  

ผู้ประพันธ์อาศัยวัตถุดิบ คือ เหตุการณ์ที่ตนได้พบเห็น และมีส่วนร่วมมาเรียงร้อยเป็นบทร้อยกรอง และพรรณนาเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างละเอียดลออ แม้ว่าจะเป็นงานร้อยกรอง มิใช่งานร้อยแก้วก็ตาม งานประพันธ์ประเภท หม่อกูน มีลักษณะคล้าย ลิลิต ของไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการแต่งเหมือนกัน คือ เพื่อประกาศเกียรติคุณบุคคลสำคัญ เช่น กษัตริย์ ต่างแต่ว่าลิลิตของไทยใช้คำประพันธ์ประเภทโคลง และร่ายสลับกันเป็นช่วง ๆ แต่หม่อกูนใช้คำประพันธ์ประเภทกลอนสี่แบบพม่า คือ บาทหนึ่งมีสี่พยางค์รับส่งกันไป

แม้ว่าลิลิตโยดะยาพ่าย ประพันธ์โดยผู้ชนะสงคราม แต่ก็เปิดใจกว้างกล่าวถึงความสูญเสียของคู่สงครามทั้งสองฝ่าย ไม่ละเลยที่จะกล่าวถึงชีวิตไพร่บ้านพลเมืองที่ต้องล้มตายสังเวยชีวิตในช่วงสงครามเป็นจำนวนมากด้วย

ลิลิตโยดะยาพ่าย กล่าวถึงราชสำนักอยุธยาส่งสารลับไปยังกองทัพพม่าที่ยกทัพมาปิดล้อมกรุงศรีอยุธยา เพื่อรอเวลาเข้าโจมตี เนื้อความในสารลับปรากฏในกลอนบทที่ 29 ถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ครอบครองซึ่งช้างเผือก ช้างพลายทั้งหลายในกรุงเทพทวารดีศรีอยุธยา มีรับสั่งให้พระยามนตรีผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการดูแลพระนครส่งสารมายังกองทัพพม่าที่พรั่งพร้อมด้วยพละกำลัง ปัญญา แลวิริยะ ซึ่งกรีธาทัพมาในการนี้ตามรับสั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนปุระอังวะ ผู้ครอบครองซึ่งบ่ออัญมณีมีค่าสิบอย่าง มี บ่อทอง บ่อเงิน บ่ออำพัน เป็นอาทิ 

กรุงศรีอยุธยาและกรุงอังวะ เคยอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีศึกสงครามติดพันมาช้านานแล้วตั้งแต่รัชกาลพ่ออยู่หัวแผ่นดินก่อน ทั้งสองแผ่นดินเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูตอยู่ไม่ขาด ดุจทองแผ่นเดียวกัน ไม่ว่างเว้นบรรณาการเป็นต้นว่า ช้าง ม้า ทว่าเพราะการอันเกิดกบฏตะเลง (มอญ) เป็นเหตุให้ตัดขาดสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งอังวะ หากต่อแต่นี้ไป ข้างกรุงศรีอยุธยาจักดำเนินการทางสัมพันธไมตรีกับข้างกรุงอังวะเหมือนธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันมา

สารลับที่อยุธยามีไปถึงกองทัพพม่าในลิลิตโยดะยาพ่ายนี้นัยว่า ต้องการขอประนีประนอมการทำศึกสงคราม ในลิลิตโยดะยาพ่ายมิได้เล่าเรื่องถึงขุนนางอยุธยาเป็นไส้ศึกลอบส่งข่าวสารให้กองทัพพม่าเหมือนในวรรณกรรมไทย 

ในเรื่องนี้กล่าวถึงพระยามนตรี ผู้เป็นพี่ชายของเจ้าจอมพระองค์หนึ่งในพระเจ้าเอกทัศน์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเจรจาขอหย่าศึกกับฝ่ายอังวะ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ สุดท้ายกองทัพพม่าก็สามารถเข้าโจมตี และยึดเอากรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งกวาดต้อนเชลยชาวอยุธยากลับไปยังกรุงรัตนปุระอังวะเป็นจำนวนมาก

31239185170_be7977915e_b

การเล่าเรื่อง ไส้ศึก และ หย่าศึก ในเรื่องเล่าการเสียกรุงศรีอยุธยาสัมพันธ์กับผู้เล่าเรื่อง ในข้างฝ่ายไทยซึ่งเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้อาจต้องหาแพะรับบาปให้เรื่องเล่า และโบ้ยความผิดให้ ตัวละคร พระยาพลเทพ คือบุคคลเดียวกันทั้งในหนึ่งด้าวฟ้าเดียว และคำให้การ ชาวกรุงเก่า ซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่เชลยศึกชาวอยุธยาเล่าให้ฝ่ายพม่าฟังเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา 

ว่ากันว่า น่าจะบันทึกเป็นภาษามอญโดยล่ามชาวมอญที่รู้ภาษาไทย และแปลออกเป็นภาษาพม่าอีกทอดหนึ่ง 

พระยาพลเทพ เป็นบุคคลที่หมู่เชลยไทยที่ถูกกวาดต้อนไปกรุงอังวะกล่าวโทษ และรองรับความโกรธที่ตามมาหลังเหตุหายนะ เขาคือไส้ศึก และเป็นต้นเหตุให้เสียกรุงเพราะเขาลอบส่งสารการข่าวให้กองทัพพม่า อีกทั้งยังลักลอบส่งเสบียงอาหารและอาวุธให้ด้วย

เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่จะปักใจเชื่อได้ยาก เพราะเวลานั้นสภาพการณ์ของกรุงศรีอยุธยาก็ขาดแคลนเสบียงอาหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นอย่างมาก จะมีปัญญาส่งสิ่งของทั้งหลายดังกล่าวไปให้พม่าได้อย่างไร

ขนาดว่า ชาวบ้านบางระจันส่งคนมาขอปืนใหญ่ยังกรุงศรีอยุธยาตามเรื่องเล่าวีรกรรมชาวบ้านบางระจัน เพื่อนำไปใช้ต่อสู้ป้องกันข้าศึก แต่ทางกรุงศรีอยุธยาก็ไม่ให้ปืนใหญ่แก่ชาวบ้านบางระจัน โดยอ้างว่าปืนใหญ่ในกรุงก็มีไม่พอใช้งานอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ถ้าเราฟังคำของ นายพี. วัน เดอวูร์ท พ่อค้าชาวฮอลันดาผู้อ้างว่า รู้เห็นเหตุการณ์การเสียกรุง ก็จะไม่พบการกล่าวโทษพระยาพลเทพเหมือนในคำให้การ พ่อค้าชาวฮอลันดาผู้นี้กลับเล่าว่า การที่กรุงแตกเป็นเพราะในกรุงศรีอยุธยามีจารบุรุษคอยสืบราชการอยู่ทั่วไป จารบุรุษดังกล่าวเป็นพวกพม่าที่อาศัยอยู่ในพระนคร และลอบติดต่อกับพวกพม่าที่อยู่นอกกำแพงพระนคร

ขณะที่ในลิลิตโยดะยาพ่ายของและแว-นอยะทาเล่าเรื่องนี้ด้วยน้ำเสียงของผู้มีชัย เขาเลือกที่จะเล่าว่า อยุธยาส่งสารลับมาขอประนีประนอม และหย่าศึกเพราะต้องการสร้างความชอบธรรมให้กองทัพพม่า และแสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของกองทัพพม่า แม้แต่กรุงศรีอยุธยาก็หวั่นเกรงจนต้องสยบยอม

อย่างไรก็ดี การอ่านเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์หรือการดูละคร-ภาพยนตร์แนวอิงประวัติศาสตร์อย่างไม่มีอคติเลือกข้าง ฝักฝ่าย เป็นไปได้ที่เราอาจมองเห็นด้านตรงข้ามของความเลวร้ายในเรื่องเล่า แต่อยู่ที่ว่า เราจะมองเห็นมันและเข้าใจเรื่องเล่านั้นหรือไม่

บ่อยครั้งที่เรื่องเล่ามักทำให้คนอย่างเราๆ เผลอตัว เผลอใจ กลมกลืนไปกับพฤติกรรมในเรื่องเล่า!