ก้าวไกล...ไทยแลนด์แดนเมกเกอร์

ก้าวไกล...ไทยแลนด์แดนเมกเกอร์

สำรวจสุดยอดไอเดียล้ำในเวทีเมกเกอร์โลก ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์สู่วงการเมกเกอร์ไทย

หุ่นยนต์ปลาหมึก Mechateuthis ขยับหนวดอย่างพลิ้วไหวราวกับมีชีวิตด้วยเซนเซอร์ที่ตรวจจับการหมุนจากมือคน ไอเดียสุดสร้างสรรค์ที่เริ่มต้นเพียงเห็นกลไกการบิดเกลียวของลวดล้างท่อ ขณะที่ หุ่นยนต์กระป๋องจากของใช้ในครัวขนาดมหึมากำลังพ่นไฟออกมาจากปากตามจังหวะดนตรีอย่างน่าทึ่ง แต่ที่เรียกเสียฮือฮาได้มากที่สุด คือ หุ่นยนต์ FURRION EXO-BIONIC หุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่ใช้กำลังคนควบคุม 100% สิ่งประดิษฐ์ไฮไลต์ของงาน Maker Faire Bay Area 2018 มหกรรมแสดงสิ่งประดิษฐ์ของเหล่าเมกเกอร์ระดับโลก ณ เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

Pic หุ่นยนต์ FURRION EXO-BIONIC ไฮไลต์ของงาน

ภายในงานยังมีผลงานต่างๆ ทั้งหุ่นยนต์กู้ภัย หุ่นยนต์จากอุปกรณ์เหลือทิ้งจากครัวเรือน รถบังคับพลังงานแสงอาทิตย์ การแสดงต้นแบบจากเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printing) รวมทั้งการจัดโซนโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม หรือ Fabrication Lab เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชน

เมกเกอร์โลก

ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของคำว่า “เมกเกอร์” และเป็นต้นตำรับการจัดงาน Maker Faire งานแฟร์ที่รวมนักประดิษฐ์ที่พร้อมแบ่งปันความรู้ และนำผลงานมาแลกเปลี่ยนแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันงาน Maker Faire Bay Area 2018 จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 13 แล้ว

บรรยากาศ 3

ความตื่นตัวในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ที่นำมาอวดโฉมในงาน Maker Faire สร้างกระแส Maker movement ให้กับคนอเมริกันอย่างมาก และได้กลายมาเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่งที่กำลังมีความสำคัญมากในสหรัฐอเมริกา ถึงขนาดที่ว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา เปิดทำเนียบขาวให้จัดงานเมกเกอรแฟร์เป็นครั้งแรกเลยทีเดียว รวมทั้งเขายังเชื่อว่า วัฒนธรรมความเป็นเมกเกอร์ และ Maker movement ที่เกิดขึ้น จะเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าให้กับชาติอเมริกันและมนุษยชาติด้วย

นิมิตร หงษ์ยิ้ม อาจารย์สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ (วิทยาเขตนนทบุรี) ในฐานะนักวิจัยอิสระและเมกเกอร์ตัวยงของเมืองไทย ซึ่งได้มีโอกาสไปร่วมงาน Maker Faire Bay Area มาแล้วหลายครั้ง กล่าวว่า วัฒนธรรมของคนอเมริกา อยากให้เด็กๆ ช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะว่าค่าแรงที่นั่นแพงมาก และให้คุณค่ากับความรู้ความเชี่ยวชาญของคนที่ทำงานเฉพาะด้าน หลักสูตรของโรงเรียนมัธยมที่อเมริกาจึงเต็มไปด้วยวิชาช่างเครื่องยนต์ เครื่องกลโรงงาน การซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เป็นต้น กลายเป็นพื้นฐานด้านวิศวกรรมที่จะต้องมีติดในตัวทุกคน และเป็นสาเหตุที่สังคมเมกเกอร์เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในประเทศสหรัฐอเมริกา

นอกจากสร้างหลักสูตรที่ฝึกทักษะการประดิษฐ์แล้ว อเมริกายังให้ความสำคัญกับการเรียนรู้นอกห้องเรียน และเน้นการได้ลงมือปฏิบัติจริง

“สังคมเมกเกอร์ในอเมริกาเกิดขึ้นมาได้จากวัฒนธรรมที่เขาเป็น เด็กที่อเมริกาไม่ได้เรียนหนักเหมือนเด็กมัธยมบ้านเรา ฉะนั้นบ่ายสองโมงเขาเลิกเรียนแล้ว จากนั้นจะไปเข้าชมรม หรือ work shop ต่างๆ เช่น ชมรม Home Brew Robot Club เป็นชมรมเกี่ยวกับการสร้างหุ่นยนต์ เขาจะมีเมกเกอร์ที่มีประสบการณ์มาคอยแลกเปลี่ยนให้ความรู้ มีการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ การแข่งขันหุ่นยนต์ Table Bot เป็นการนำหุ่นยนต์เล็กๆ ที่ทำจากกล่องกระดาษมาแข่งกัน เอาหุ่นยนต์มาชนกันบนโต๊ะ หุ่นยนต์ใครตกโต๊ะช้าสุดชนะ เด็กๆ จะภูมิใจและมีแรงบันดาลใจที่จะสร้างหุ่นยนต์ที่เก่งขึ้นเรื่อยๆ” นิมิตร กล่าว

เมกเกอร์ไทย 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรม คือรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก วัฒนธรรมเมกเกอร์จึงไม่เพียงได้รับความสนใจแค่ประเทศอเมริกาเท่านั้น แต่ยังขยายวงกว้างไปทั่วโลก มีประเทศที่มาขอซื้อลิขสิทธิ์เพื่อร่วมจัดงานเมกเกอร์แฟร์แล้วมากกว่า 100 ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น อิสราเอล ออสเตรเลีย สเปน อังกฤษ อิตาลี สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย

“เราอยากส่งเสริมให้วัฒนธรรมเมกเกอร์เกิดขึ้น เพื่อสร้างสังคมนวัตกรในเมืองไทย”กุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าว ก่อนอธิบายว่าเมกเกอร์คือกลุ่มของนักคิด นักประดิษฐ์ ที่จะเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันของประเทศได้ ฉะนั้นทำอย่างไรที่จะปลุกความเป็นเมกเกอร์ที่มีอยู่ในคนไทยออกมาให้ทั่วโลกได้เห็น

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ติดต่อซื้อลิขสิทธิ์เพื่อจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire ขึ้นเป็นครั้งแรกของเมืองไทย ในปี 2016 จากนั้นได้ขยับสู่การจัด Maker Faire Bangkok อย่างเต็มตัวในปี 2017 และล่าสุดได้จัดงาน ‘Maker Faire Bangkok 2018 : ลานอวดของ ประลองไอเดีย' ปีที่ 2 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

กุลประภา กล่าวว่า Maker Faire Bangkok 2018 จัดอย่างเต็มรูปแบบ และยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเหล่านักเมกเกอร์ทั่วเอเชียร่วมแสดงผลงานกว่า 100 ผลงาน ถือเป็นการเปิดพื้นที่สนับสนุนให้เหล่าเมกเกอร์หรือ “นักสร้างสรรค์นวัตกรรม” ได้แสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์แบบไร้ขีดจำกัด รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์แก่เยาวชนและบุคคลทั่วไป เพื่อขับเคลื่อนวัฒนธรรมเมกเกอร์ให้เติบโตเป็นที่รู้จักในสังคมไทยตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่สำคัญยังมีเวที ‘การประกวดสิ่งประดิษฐ์เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในชุมชน’ ในโครงการ Enjoy Science : Young Makers Contest ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Chevron Enjoy Science ‘สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ เป็นกิจกรรมไฮไลต์ ที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นักศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษา ได้แสดงออกถึงไอเดียการประดิษฐ์ผลงานเพื่อแก้ปัญหาความปลอดภัยในชุมชนของตนเอง

444

สำหรับผู้ชนะการประกวดในปีนี้ ประกอบด้วย นักเรียนสายสามัญ ได้แก่ พิวัฒน์ ศุภวิทยา และ ศุภสิทธิ์ พัน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จากผลงาน ‘BCC E-TM อุปกรณ์จัดระเบียบช่องจราจรบนท้องถนนเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดหน้าโรงเรียน’ และสายอาชีวศึกษา ได้แก่ เตมีย์ เนตรพุกกณะ และ วีระพล บุญจันทร์ นักศึกษา ปวส. 2 สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จากผลงาน ‘ทุ่นเตือนภัยร่องน้ำและแนวปะการัง เพื่อป้องกันแนวปะการังชายฝั่งจากเรือท่องเที่ยวและเรือประมง’ ซึ่งผู้ชนะการประกวดในปีนี้ไม่เพียงได้สิทธิร่วมงาน Maker Faire Bay Area 2018 ณ เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เยาวชนไทยทั้ง 4 คน ยังได้รับเชิญให้ขึ้นพูดนำเสนอผลงานในเวทีใหญ่ระดับโลก เป็นที่น่ายินดีแก่วงการเมกเกอร์ไทยและประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

พิวัฒน์ ศุภวิทยา กล่าวว่า การได้มีโอกาสไปนำเสนอผลงานในงาน Maker Faire Bay Area ซึ่งเป็นเวทีระดับโลก นับเป็นความภูมิใจอย่างมาก ที่สำคัญการได้ไปชมงานช่วยเปิดไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ ให้ได้เห็นว่าเมกเกอร์ระดับโลกเขาก้าวไปถึงไหนแล้ว

“จากการชมงาน ผมชอบสิ่งประดิษฐ์หุ่นยนต์ปลาหมึกชื่อ Mechateuthis บางท่านอาจจะมองว่าเป็นแค่ของเล่นเด็กที่หมุนๆ แล้วหนวดของปลาหมึกจะหมุนตาม แต่แท้ที่จริงแล้วมีส่วนประกอบของการใช้กลไก เครื่องกล และอิเล็กทรอนิกส์มาผสมกันได้อย่างลงตัวมากๆ เพราะการที่เราจะขึ้นรูปชิ้นส่วนโลหะให้เป็นรูปหนวดปลาหมึก ต้องใช้ขั้นตอนและกระบวนการหลายอย่าง ส่วนกลไกอิเล็กทรอนิกส์ ต้องเขียนโปรแกรมที่บังคับทิศทางของหนวด ตามแรงที่เราจะหมุน ซึ่งผมคิดว่าสิ่งประดิษฐ์นี้นอกจากเป็นเครื่องเล่นเด็กแล้ว ยังสามารถบอกกับเมกเกอร์ นักประดิษฐ์ หรือผู้ที่ไม่ได้เป็นนักประดิษฐ์ให้เห็นถึงความสำคัญของการผสมผสานเทคโนโลยีพื้นฐานในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งหุ่นยนต์ บอร์ด หรือเครื่องเล่นต่างๆ ก็ใช้กระบวนการเหล่านี้แทบทั้งสิ้น”

อีกหนึ่งตัวแทนเยาวชนที่ได้ไปร่วมงานครั้งนี้ เตมีย์ เนตรพุกกณะ แสดงความเห็นหลังได้ชมผลงานสิ่งประดิษฐ์หลากหลายรูปแบบว่า เป็นประสบการณ์ที่ดีที่ได้เห็นอุปกรณ์ เครื่องมือ แผงวงจร เทคโนโลยีต่างๆ ที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก 

"ผมชอบหุ่นยนต์ FURRION EXO-BIONIC เนื่องจากเป็นการออกแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความสมดุลทั้งด้านโครงสร้างรูปแบบ ส่วนการจัดวางสายอุปกรณ์ต่างๆ แม้จะระเกะระกะไปหน่อย แต่คือเสน่ห์ของความเป็น Maker ที่ชิ้นงานจะมีความเฉพาะ ไม่สมบูรณ์แบบจนเกินไป ทำให้คงเสน่ห์ความเป็นงานฝีมือในชิ้นงาน

ส่วนตัวผมชื่นชอบหุ่นยนต์บังคับมากอยู่แล้ว การได้มาเห็นหุ่นยนต์มากมาย จึงเป็นแรงบันดาลใจและมองเห็นประโยชน์ที่จะนำไปต่อยอดในประเทศไทย โดยสามารถนำไปพัฒนาใช้คนบังคับยกสิ่งของขนาดใหญ่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง โดยไม่เปลืองแรงงานคน ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและแรงงานคนได้”

pic บรรยากาศเยาวชน สนใจผลงานต่างชาติ

เมกเกอร์เนชั่น 

จากความช่างคิดช่างประดิษฐ์ของกลุ่มคนที่เรียกว่า ‘เมกเกอร์’ ก่อให้เกิดผลงานสิ่งประดิษฐ์แปลกใหม่ที่เต็มไปด้วยไอเดียสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ซึ่งการจะส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมเมกเกอร์ในเมืองไทยได้นั้น ต้องเร่งสร้างแรงบันดาลใจ สร้างโอกาสให้เยาวชนและประชาชนได้เรียนรู้จากการลงมือทำจริงอย่างต่อเนื่อง

 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เล็งเห็นความสำคัญ และได้มีการจัดทำนโยบาย ‘วิทย์สร้างคน’ ภายใต้โครงการพิเศษขนาดใหญ่ หรือ Big Rock มุ่งเน้นสร้างเยาวชนไทยให้เป็นนักประดิษฐ์ คิดค้น เพื่อเตรียมกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น ‘Makers Nation’ หรือประเทศแห่งนักพัฒนา และนำพาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กุลประภามองว่าการจัดงาน Maker Faire และการจัดทำโครงการ Enjoy Science : Young Maker Contest ที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนาจากทั่วประเทศได้ประดิษฐ์ สร้างสรรค์อุปกรณ์และนวัตกรรมมาประลอง แบ่งปันกัน จะเป็นเวทีสำคัญที่ช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมเมกเกอร์ในประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง อีกทั้งยังกระตุ้นให้เยาวชนไทยสนใจวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ ‘STEM’ ทั้งในและนอกห้องเรียน

“ทุกหน่วยงานควรหันมาร่วมมือกันสนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ ได้รับโอกาสทำกิจกรรมเมกเกอร์ในลักษณะ Maker Space ตามนโยบาย ‘ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้’ เพื่อเพิ่มศักยภาพเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และช่วยต่อยอดความสำเร็จให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการประดิษฐ์ ผลักดันประเทศไทยสู่สังคมแห่งนวัตกรรม 4.0 ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”

ทั้งนี้ การจัดงาน Maker Faire Bangkok ถือเป็นอีกหนึ่งเวทีที่จะสร้างแรงกระตุ้นให้ทุกคนลงมือสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง ก่อเกิดเป็นสังคมนักประดิษฐ์ขึ้นในประเทศไทย สร้างบรรยากาศขยายความสนใจไปยังเด็กและเยาวชนในภูมิภาคต่างๆ 

และเมื่อไหร่ก็ตามที่วัฒนธรรมเมกเกอร์ (Maker Culture) แตกหน่อต่อยอด นั่นจะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Makers Nation ประเทศที่คนมีวัฒนธรรมและความเชื่อมั่นในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง