สุขสันต์วันทะเลโลก

สุขสันต์วันทะเลโลก

เบิร์ธเดย์ทะเลโลกปีนี้.. คุณเตรียมของขวัญดีๆ ไว้ให้ท้องทะเลแล้วหรือยัง​?

ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุถึง “ขยะในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งประเทศไทย” พบว่า มีทั้งหมดประมาณ 2.83 ล้านตัน เป็นขยะพลาสติกจำนวน 339,600 ตัน

ในจำนวนขยะพลาสติกกว่า 3 แสนตัน ราว 15 เปอร์เซ็นต์เป็นขยะที่ยังไม่มีการจัดการที่ถูกต้อง นั่นเท่ากับว่า ขยะพลาสติก 51,000 ตัน ถูกปล่อยลงสู่พื้นที่ชายฝั่ง ระบบการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพเป็นสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งของปัญหาขยะทะเล

ถามว่าตัวเลขดังกล่าวมากแค่ไหน..​เอาเป็นว่า ปัจจุบัน  ประเทศไทยเป็นเจ้าของอันดับที่ 6 ในการปล่อยขยะพลาสติกสู่ทะเลสูงที่สุดของโลก

ขยะทะเล (22)

และอย่างที่ทราบกันว่า "พลาสติก" คือ "เพชฌฆาต" ของสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล หลังผ่าพิสูจน์พบเศษพลาสติกในท้องของมันจำนวนมาก อย่างเช่นที่เพิ่งเป็นข่าวไปก็คือกาตายของเจ้าวาฬนำร่องครีบสั้นซึ่งทีมสัตวแพทย์ได้ผ่าพิสูจน์ซากและพบถุงพลาสติกอยู่ในท้องมากถึง 85 ชิ้น

ประเทศไทยมีขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก
โดยมีการปล่อยขยะลงสู่ท้องทะเลถึงกว่า 1 ล้านตันต่อปี

"ประเทศไทยมีขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยมีการปล่อยขยะลงสู่ท้องทะเลถึงกว่า 1 ล้านตันต่อปี ส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก ที่ผ่านมามีเต่าทะเลกว่า 100 ตัวต้องตายลงเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไป เวลานี้จะเห็นแมงกะพรุนจำนวนมากในหลายพื้นที่ เพราะเต่าทะเลเป็นสัตว์เพียงไม่กี่ชนิดที่กินแมงกะพรุนเป็นอาหาร" ข้อมูลจาก จตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง  ให้สัมภาษณ์ก่อนหาแนวทางกำจัดขยะกว่า 80% ที่ไหลลงทะเล

34531445_1733933806654140_5474272793296109568_n

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะบ้านาเรายังมีขยะจำนวนมากที่ยังมีการบริหารจัดการไม่ดี มีขยะตกค้างจำนวนมาก และปล่อยให้เกิดการปนเปื้อนออกสู่สิ่งแวดล้อม

โดยแหล่งที่มาของขยะทะเล เรียงตามลำดับ คือ

1.กิจกรรมบนฝั่ง (80%) ชุมชน, แหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง, บริเวณท่าเรือ, การท่องเที่ยวชายหาด 

2. กิจกรรมในทะเล (20%) การขนส่งทางทะเล, การประมง, การท่องเที่ยวทางทะเล  ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยาทางทะเล

ขยะพลาสติกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นมากประมาณ 12% ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน  สามารนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ปีละ  0.5 ล้านตัน

ขยะทะเล (14)

พลาสติกหุ้มฝาขวดที่แสนจะไร้ประโยชน์
มีจำนวนมากถึง 2,600 ล้านชิ้นต่อปี

ถ้าเอามาต่อกัน ก็คิดเป็นความยาวรอบโลก 6.5 รอบเลยทีเดียว

โดยนอกจากถุงพลาสติกหูหิ้วที่มีมากถึง 45,000 ล้านใบต่อปีแล้วนั้น ทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบัน เรามีการบริโภคขวดพลาสติกน้ำดื่ม ประมาณ 4,400 ล้านขวดต่อปี โดยมีสัดส่วนการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap seal) ร้อยละ 60 หรือประมาณ 2,600 ล้านขวด 

เจ้าขยะพลาสติกหุ้มฝาขวดที่แสนจะไร้ประโยชน์เหล่านี้ มีจำนวนมากถึง 2,600 ล้านชิ้นต่อปี คิดเป็น 520 ตันต่อปี หรือถ้าเอามาต่อกัน ก็นับเป็นความยาวได้ถึง 260,000 กม. คิดเป็นความยาวรอบโลก 6.5 รอบเลยทีเดียว

เมื่อขยะเหล่านี้ไหลลงสู่ทะเล ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ ผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก จากการกินแล้วเกยตื้น, จากการพันยึดภายนอก ทั้ง เต่าทะเล, โลมาและวาฬ,พะยูน ฯลฯ รวมทั้งหมดแล้วกว่า 518 ตัว (ข้อมูล สรุปจำนวนสัตว์ทะเลหายากในที่ได้รับผลกระทบจากขยะทะเล ปี 2559 - 2560) 

ขยะทะเล (18)

นอกจากนี้ ยังมี “ไมโครพลาสติก” วายร้ายที่มองไม่เห็นเพราะมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรเข้าร่วมทำลายท้องทะเลอีกด้วย

โดยไมโครพลาสติกนั้นเกิดขึ้นจากสองแหล่งหลักๆ ด้วยกัน คือ 

1. ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม และในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น ยาสีฟัน สครับหน้า ยากันแดด โฟม อาบน้ำ และ ผงซักฟอก เป็นต้น (ปัจจุบันได้ห้ามใช้ในหลาย ๆ ประเทศ) 

2.เกิดมาจากการย่อยสลายหรือแตกตัวของพลาสติกขนาดใหญ่พลาสติกที่มีขนาดใหญ่เมื่อไหลลงสู่แม่น้ำและทะเลแล้ว จะเกิดการสลายตัวหรือการแตกเป็นชิ้นเล็กเกิดขึ้นเมื่อได้รับอิทธิพลจากแสงอุลตราไวโอเล็ต และอุณหภูมิที่สูงจากดวงอาทิตย์ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีกับออกซิเจนทำให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของพลาสติก และเกิดการแตกตัวเกิดขึ้น

ปัจจุบันพบการแพร่กระจายของไมโครพลาสติกไปทุกพื้นที่ของทะเลและมหาสมุทร แม้กระทั่งในสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลลึกที่มีความลึกมาก 10 กิโลเมตรก็ยังพบว่า มีไมโครพลาสติกปนเปื้อน

34556367_2184180994955504_1796346071274749952_n

ถามว่า ไมโครพลาสติกมีผลกระทบอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล?? 

พลาสติกมีส่วนผสมทางเคมีที่ใช้ในการกำหนดคุณสมบัติ (additive chemicals) ที่จะถูกปล่อยออกมาเมื่อเกิดการย่อยสลาย ที่อาจสะสมและเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตที่รับไมโครพลาสติกเข้าไป ซึ่งจากการศึกษาในสัตว์หลายชนิด พบมีการสะสมของสารพิษที่มาจากพลาสติกเกือบทั่วโลก, พื้นที่ผิวของไมโครพลาสติกจะเป็นพื้นที่ให้สารมลพิษหรือแบคทีเรียมายึดเกาะและสะสมได้

เมื่อสิ่งมีชีวิตรับเข้าไปจะส่งผลกระทบได้ต่อสิ่งมีชีวิตนั้น, ไมโครพลาสติกส่งผลกระทบต่อทางกายภาพ หรือทางชีววิทยาต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น การพบว่ามีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของแพลงตอนสัตว์บางชนิด รวมทั้งมีผลกระทบที่อาจเกิดกับมนุษย์ที่เป็นผู้บริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์จากทะเล

แม้กระทั่งในสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลที่มีความลึกถึง 10 กิโลเมตร
ก็ยังพบว่า มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนเช่นกัน

แม้ปัจจุบัน หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบดูแลทรัพยากรทางทะเลอย่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะพยายามดำเนินแผนงานในการบริหารจัดการและลดปริมาณขยะทะเล เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และการปนเปื้อนในอาหารทะเลผ่านกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) รวมถึงพยายามบูรณาการความร่วมมือในระดับพื้นที่เพื่อการจัดการขยะในพื้นที่ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเลอย่างจริงจัง

แต่อย่าลืมว่า "ขยะ" ไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง นี่คือเรื่องของทุกคน คือวาระแห่งชาติ คือภารกิจที่เราทุกคนต้องร่วมกันอย่างจริงจัง

เพียงแต่หวังว่า กระแสรณรงค์ที่โหมกระพือหลังการตายของเจ้าวาฬนำร่องในครั้งนี้ จะไม่จางหายไปเหมือนเกลียวคลื่น