มนตรา Azulejo เรื่องเล่าจากกระเบื้องแผ่นเล็ก

มนตรา Azulejo เรื่องเล่าจากกระเบื้องแผ่นเล็ก

ต้องมนตรา Azulejo ทันทีที่ถึงลิสบอน เมืองหลวงของโปรตุเกส ตึกรามบ้านช่องร้านค้า ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็พบเจอแต่การประดับตกแต่งด้วย Azulejo สารพัดลวดลายจับตาไปทั้งนั้น

CIMG1778 (Large)

อะซูเลฮู ( Azulejo) คือกระเบื้องเขียนลายที่ใช้สำหรับประดับตกแต่งอาคารทั้งภายในและภายนอก หากเราอยากรู้ว่ากระเบื้องนี้มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่นั้น ชื่ออะซูเลฮู กล่าวได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญเพราะเป็นคำที่มาจากภาษาอาหรับ หมายถึง หินก้อนเล็กๆ

กระเบื้องเขียนลายที่เรียกขานกันว่า อะซูเลฮู นี่เองที่ทำให้เราต้องย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของโปรตุเกสในอดีตก่อนสร้างชาติในคริสตวรรษที่ 12 ว่าก่อนหน้านั้นเคยมีกลุ่มคนที่เข้ามาครอบครองและค้าขายกันบนดินแดนนี้บ้าง พ่อค้ากรีกเข้ามาเมื่อ 700 ปีก่อนคริสตกาล ถัดมาอีก 100 ปี ชาวเคลต์ก็มาตั้งถิ่นฐานที่คาบสมุทรไอบีเรียแห่งนี้ ตามด้วยชาวโรมันที่เข้าเมื่อ 219 ปีก่อนคริสตกาลแล้วครอบครองดินแดนนี้อยู่ถึง 700 ปี โดยมีมรดกที่ทิ้งไว้คือ สะพานส่งน้ำแบบโรมัน ถนน รวมทั้งภาษาละตินที่เป็นรากภาษาของโปรตุเกส

20180517_123502 (Large)

ส่วนศิลปะการทำกระเบื้องอะซูเลฮูนั้นได้มาจากแขกมัวร์ ซึ่งเดินทางจากทวีปแอฟริกาเหนือมายังดินแดนแห่งนี้ในปี ค.ศ.711 และครอบครองดินแดนอยู่นาน 500 ปีก่อนถูกชาวคริสต์ขับไล่ออกไปในเวลาต่อมา

ศิลปะการประดับกระเบื้องแบบชาวมัวร์ ส่งอิทธิพลไปยังสเปน โปรตุเกสก็รับมาด้วยหากนำมาพัฒนาต่อยอดจากยุคเริ่มต้นที่มีเพียงลวดลายเรขาคณิต ดอกไม้ ใบไม้ มาเพิ่มเติมลวดลายบุคคล สัตว์ ต่อมาเป็นภาพเล่าเรื่องทางศาสนา ประวัติศาสตร์ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของโปรตุเกสที่โดดเด่นและได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ลองนับย้อนเวลาก็ราว 5 ศตวรรษแล้ว

CIMG1715 (Large)

อยากรู้จักอะซูเลฮูอย่างลึกซึ้งและชมศิลปะเขียนลายบนกระเบื้องอย่างอิ่มตาอิ่มใจ ต้องไปที่ National Azulejo Museum แค่โถงต้อนรับก็ทำให้ร้องว้าว !แล้ว ร้านค้าและร้านอาหารในพิพิธภัณฑ์ประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องเขียนลายสีน้ำเงิน-ขาว ดูเก๋ไก๋ โดยเฉพาะในร้านอาหารซึ่งประดับด้วยอะซูเลฮูเขียนลายเป็นรูปปลา อาหาร ผลไม้ และเครื่องครัวดูร่วมสมัยมากๆ แถมที่ตั้งของร้านยังมีสวนสวยๆให้นั่งพักผ่อนและรับประทานอาหารได้อย่างรื่นรมย์

GOPR0128 (Large)

การประดับตกแต่งภายในโบสถ์ Madre Deus

ตัดกลับมาที่ประตูฝั่งตรงข้าม ทางเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่นำเราเข้าไปสู่โถงทางเดินด้านในที่มีสวนอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบไปด้วยอาคาร 2 ชั้น อาคารหลังนี้เดิมเป็นที่ตั้งของคอนแวนต์ Madre Deus สร้างขึ้นโดยพระประสงค์ของราชินี ดี.ลีโอนอร์ ในปี ค.ศ.1509 จึงมีความใหญ๋โตโอฬารไม่น้อย โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นโบสถ์นั้นประดับตกแต่งด้วยเครื่องไม้ ปูนปั้น และกระเบื้องเขียนลายที่วิจิตรตระการตาทีเดียว

20180517_123648 (Large)

ในส่วนของนิทรรศการที่จัดแสดงนั้นพาเราย้อนกลับไปยังยุคเริ่มต้นของอะซูเลฮู พร้อมจัดแสดงขั้นตอนการทำ ตั้งแต่การเตรียมกระเบื้องดินเผา การลอกลายจากกระดาษที่เจาะเป็นรูปแล้วใช้ผงสีในห่อผ้ากดลงไป เมื่อยกกระดาษออกก็จะได้เค้าโครงของลายบนกระเบื้องแล้วนำไปวาดเส้นระบายสี จากนั้นนำไปเคลือบแล้วเข้าเตาเผาในอุณหภูมิสูงถึง 980 องศาเซลเซียส ก็จะได้กระเบื้องเคลือบที่มีสีสวยสดมากกว่าก่อนนำเข้าเตาเผา

ความจริงแล้วอะซูเลฮูมีด้วยกันหลายสี ได้แก่ สีเหลือง สีเขียว สีแดง แต่สีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ สีขาวกับสีน้ำเงิน กล่าวกันว่าเป็นสีแห่งแฟชั่นในยุคคริสตศตวรรษที่ 15-18 อันเป็นยุคทองของโปรตุเกส ไม่ว่าจะเป็นการค้าขายและการเดินเรือ

20180517_132546 (Large)

ในยุคแห่งการค้นพบนี้เองที่ชาวโปรตุเกสได้พบกับเครื่องถ้วยกระเบื้องจีนสมัยราชวงศ์หมิงที่เขียนลายสีน้ำเงินบนกระเบื้องสีขาว ศิลปะส่งอิทธิพลและสร้างแรงบันดาลใจซึ่งกันและการเสมอ จากยุคสมัยของการค้นพบดินแดนซีกโลกตะวันออก ทางตะวันตกก็นำสิ่งที่พบเห็นมาสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบของตนเอง

การประดับตกแต่งอาคารด้วยกระเบื้องเขียนสีนี้ เรียกได้ว่าประดับกันได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ขอบประตู ขอบหน้าตา ผนังริมบันได ทางเดิน พื้นที่ทุกแห่งไม่ต่างกับผืนผ้าใบที่ศิลปินพร้อมวาดรูปลงไปได้ตามใจคิดฝัน นอกจากความงามแล้วประโยชน์ของการประดับกระเบื้องยังช่วยป้องกันเสียงรบกวน ปรับอากาศร้อนในฤดูร้อนให้กลายเป็นเย็น ยามฤดูหนาวกลับทำให้อบอุ่น

20180517_132443 (Large)

ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้แสดงให้เห็นลวดลายบนกระเบื้องทุกชนิด ตั้งแต่ลายเรขาคณิต พันธุ์พฤกษา สัตว์น้อยใหญ่ ผู้คน รวมไปถึงฉากเหตุการณ์ทางศาสตร์และประวัติศาสตร์ จำนวนมากมายตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันที่บรรดาศิลปินรุ่นใหม่พากันมาสร้างสรรค์ผลงานอะซูเลฮูในรูปแบบศิลปะร่วมสมัย มีทั้งผลงานกึ่งนามธรรม และบ้านเมืองในวันนี้ให้ชมกันอีกด้วย

20180517_124725 (Large)

20180517_130950 (Large)

มนตราอะซูเลฮู เรื่องเล่าจากกระเบื้องชิ้นเล็กที่มีคุณค่าและความงามยิ่งใหญ่เหลือเกิน

เอกสารอ้างอิง – คู่มือคนไทยในโปรตุเกส จัดพิมพ์โดย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน