เจ้าของหลักฐานการสื่อสารทางไปรษณีย์ กฤชทิพย์ ศิริรัตน์ธำรงค์

เจ้าของหลักฐานการสื่อสารทางไปรษณีย์ กฤชทิพย์ ศิริรัตน์ธำรงค์

ไม่เคยนึกฝันว่า ของเล่นในวัยเยาว์ของ กฤชทิพย์ ศิริรัตน์ธำรงค์ ที่มีเพื่อคลายเหงา จะส่งผลให้เขากลายเป็นนักสะสมหลักฐานประวัติศาสตร์การสื่อสารทางไปรษณีย์ (Portal History Collection) 

เกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสยามกับเยอรมนี รวมทั้ง 140 ปี บี.กริม ห้างฝรั่งที่เก่าแก่ในประเทศไทย เตรียมนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ  ‘ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม’ ระหว่างวันที่ 10-20 มิถุนายนศกนี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยก่อนการจัดแสดงนิทรรศการจะเริ่มขึ้น ‘กรุงเทพวันอาทิตย์’ พาคุณๆ ไปรู้จักกับ ‘กฤชทิพย์’ นักสะสมรายนี้ 

EAK_6343

เขามีหน้าที่การงานเป็นสถาปนิก เจ้าของผลงานบูรณะอาคารโบราณสถานสำคัญหลายแห่งในต่างประเทศและที่เมืองไทย เคยเป็นผู้บูรณะการก่อสร้าง ‘พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ’  ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง, พระราชวังเดิมและกองทัพเรือ การทำงานในประเทศต่างๆ ทำให้กฤชทิพย์มีโอกาสเดินทางไปเดินเสาะหาของสะสมตามย่านต่างๆ 

"ตอนนั้นผมเพิ่งจะ 8 ขวบเอง แม่ของผมเป็นคนชวนให้สะสมแสตมป์ เริ่มจากแสตมป์ดวงเล็กๆ ก่อน เก็บเรื่อยมา ก็เริ่มสังเกตว่า ภายใต้กรอบสี่เหลี่ยม มีรายละเอียดอะไรมากมาย ทำให้เราเริ่มศึกษาค้นคว้าเพื่อหาคำตอบว่า สิ่งที่อยู่ในนั้นคืออะไร ต่อจากนั้นผมก็ไปตามที่ต่างๆ เพื่อเก็บสะสมซองจดหมาย ตราประทับ ตราไปรษณียากร การ์ดไปรษณียบัตร ไปรษณียบัตร รูปภาพ 

มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ว่าคนในสมัยนั้นเป็นยังไง ผ่านคำบอกเล่าลงไปในเอกสารทางไปรษณีย์ พอใครได้ยินชื่อประเทศสยาม โอ้ว...ใครฟังก็อยากมาดูดินแดนใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก เพราะด้วยระยะทางของสองประเทศอยู่ห่างกันมาก ถ้าจะทำมาค้าขาย เขาจะทำอะไรกันดี พออยู่กันไปสักระยะแล้วถึงค่อยตัดสินใจว่าควรอยู่ต่อดีมั้ย โดยอาศัยข้อมูลจากคนที่เดินทางไปถึงสยามประเทศ  

postal 5

พวกฝรั่งเป็นคนช่างจดบันทึก มักเขียนจดหมายกลับมายังคนที่บ้านเกิดเมืองนอน เพื่อเล่าว่าสิ่งที่เขาพบเห็นลงไปในกระดาษแผ่นนั้น เมื่อคนหนึ่งมาแล้วก็ชวนคนอื่นมาด้วย มาแล้วก็ตั้งรกราก สร้างครอบครัว จุดนี้เองที่ทำให้ผมซึ่งเป็นคนไทยได้รู้เรื่องราวประเทศตัวเองไปพร้อมกัน เพียงต่างกันแค่ห้วงเวลาเท่านั้น"

ในจำนวนเรื่องราวของการแกะรอยประวัติศาสตรของกฤชทิพย์ ยังพบความเป็นไปของ ตระกูลลิงค์ในช่วง 6 แผ่นดิน 

"การเก็บสะสมสิ่งของต่างๆ ผมนำมาแยกเป็นหมวดหมู่ ประเทศต่างๆ หนึ่งในจำนวนนั้นมีเรื่องของตระกูลลิงค์รวมอยู่ด้วย ว่าเข้ามาทำธุรกิจร้านขายยา เพราะระบบสาธารณสุขการแพทย์ของไทยเรายังไม่กว้างขวาง คนเจ็บป่วยก็มาก ต่อจากนั้นก็มีธุรกิจห้างสรรพสินค้าและอื่นๆ ตามมา เช่น จดหมายจากกรุงเบอร์ลิน ส่งถึงแอร์วิน มุลเลอร์ ที่ห้างบี.กริม แอนด์โก กรุงเทพ ในปีค.ศ.1889 จดหมายจากสยามเล่าถึงห้างบี.กริม ฮัมบูรก์ เยอรมนี ในปีค.ศ.1929 หรือ ในปีค.ศ.1947 เป็นจดหมายจากไทยส่งถึงเภสัชกร ออทโท ลิงค์ ที่เมืองลือเบค เยอรมนี พร้อมแสตมป์รัชกาลที่ 7 รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9    

ผมเจอเรื่องราวของตระกูลลิงค์ด้วยความบังเอิญ ก็เล่าให้คุณนันทินี แทนเนอร์(หนึ่งในผู้บริหารบี.กริม) และคุณฮาราลด์ ลิงค์ (ทายาทรุ่นที่ 4 และประธานบริษัทบี.กริม) ฟังบ่อยๆ เขาสนใจมาก ยังบอกต่อไปอีกว่า ช่วยเก็บสะสมต่อไปนะ แต่ผมก็ไม่ละทิ้งเรื่องอื่นๆ ที่เราพบเห็นว่า การมาทำธุรกิจของชาวเยอรมันในไทยมีการรวมตัวกันเหนียวแน่นมาก ทุกสัปดาห์ พวกเขาจะไปพบปะสังสรรค์กันที่สมาคมชาวเยอรมันในบางกอก ย่านถนนสุรวงศ์ ซึ่งเรื่องทำนองนี้ ถ้าเราจะหาบันทึกจากคนไทยด้วยกันเอง ก็เป็นเรื่องยากมาก เพราะระบบการศึกษาในต่างประเทศเจริญกว่าเรามาก ประชากรไทยยุคนั้นส่วนใหญ่ยังไม่รู้หนังสือ เพิ่งมีการวางรากฐานในสมัยรัชกาลที่ 4 และมีระบบโรงเรียนสอนเขียนอ่านอย่างกว้างขวางก็มาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 แล้ว" 

postal 6

ไปรษณียบัตรรูปภาพอาคารสโมสรชาวเยอรมันในบางกอกตั้งแต่ ค.ศ. 1899, 1901 จนถึงปี 1906 แสดงให้เห็นกลุ่มอาคารสโมสรเยอรมันที่มีการต่อเติมให้โอ่โถงขึ้น

 

ดังนั้นการจดบันทึกเรื่องเมืองไทย เราจำเป็นต้องอาศัยจากเอกสารเหล่านี้เชื่อมโยงเรื่องต่างๆ ทั้งการภาพในอดีต ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ความขัดแย้งระหว่างรัฐต่อรัฐอันนำมาสู่สงครามโลก การคมนาคมของคนแต่ละยุคสมัย ซึ่งในนิทรรศการครั้งนี้ กฤชทิพย์คัดสรรมาจำนวน 50 ชิ้นจาก  232 ชิ้น แบ่งออกเป็น 6 หมวด ได้แก่ หลักฐานทางการสื่อสารของผู้ก่อตั้งบี.กริม หลักฐานการสื่อสารระหว่างสมาชิกตระกูลลิงค์ หลักฐานการสื่อสารทางการทูตระหว่างกงสุลเยอรมนีและสยาม หลักฐานการสื่อสารทางธุรกิจของบี.กริม หลักฐานการสื่อสารของบริษัทเยอรมันที่เข้ามาทำธุรกิจในสยาม ชุดไปรษณียบัตรที่ส่งโดยสมาคมชาวเยอรมันในบางกอก ทั้งหมดนำมาจัดแสดงที่ ‘หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร’ ให้ผู้สนใจชมเป็นเวลา 10 วัน 

postal 10

จดหมายจาก อดอล์ฟ ลิงค์ ซึ่งกลับไปยังฮัมบูร์ก ส่งถึงบริษัท Bergman & Co ที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ในพ.ศ.2483 สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้จดหมายฉบับนี้ถูกระงับการส่งนานถึง 7 ปี และถึงผู้รับในที่สุดเมื่อปีพ.ศ.2491 

 

"ร่องรอยบนการสื่อสารทางไปรษณีย์ในรูปแบบรอยประทับตรายาง ทำให้เรารู้ว่าต้นทางของจดหมายส่งไปที่ไหน ปลายทางคือสถานที่ใด ใครกันคือผู้ที่ได้รับเอกสารชิ้นนี้จดหมายที่ส่งออกไป ถ้าโชคดี จดหมายจะใช้เวลาแค่เป็นเดือนก็ถึงที่หมายแล้ว แต่ถ้าโชคร้ายเกิดเจอพายุกลางทะเล กัปตันเรือหลบหลีกไม่ทันจนเรืออัปปาง จดหมายที่ติดไปกับเรือลำนั้น ก็ไปไม่ถึงมือผู้รับ คนที่รอข่าวก็ไม่รับรู้ข้อความนั้นซึ่งการเดินทางเป็นเรื่องสุดคาดเดา 

postal 8

ซองจดหมายจากค่ายเชลยโทะคุชิมะในญี่ปุ่นที่ส่งถึงสถานกงสุลเยอรมันในกรุงเทพฯ มีตราประทับ 検閲済 (Ken-entsu-zumi) แปลว่าผ่านการเซ็นเซอร์แล้ว พร้อมตราประทับชื่อนายทหารญี่ปุ่น ทะคะกิ ผู้ตรวจสอบ

 

แต่ถึงอย่างไรจดหมาย โปสการ์ด รูปถ่าย ก็ยังหลงเหลือมาถึงทุกวันนี้ให้เราได้ค้นคว้าและนำมาจัดเป็นจัดนิทรรศการให้เราได้ชมกัน แม้อุณหภูมิหรืออากาศในบ้านเรา อาจกระทบต่อเอกสารโบราณไปบ้าง ผมยินดีและเต็มใจที่จะแบ่งปันให้คนอื่นได้ร่วมกับศึกษาคุณค่าจากของสะสม"