ให้เบตงเป็น...สีชมพู

ให้เบตงเป็น...สีชมพู

เบตง ในวันที่ไร้ พรก.ฉุกเฉิน กำลังอัพเกรดเวอร์ชั่นใหม่ เพื่อเปลี่ยน “พื้นที่เสี่ยง” ให้เป็น “พื้นที่สุข” ที่เต็มไปด้วยความหวังในฐานะเมืองต้นแบบการท่องเที่ยวที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

การปลดล็อคพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา พ้นจากพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และให้นำมาตรการตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2551 มาบังคับใช้ในพื้นที่แทน มีผลวันที่ 20 มีนาคม 2561 ต้องถือว่ามีความหมายอย่างมาก

20170213120531744

จากพื้นที่เสี่ยง เมื่อวันวาน วันนี้ "เบตง” เมืองเล็กๆ กลางหุบเขากำลังกลายเป็นหนึ่งในเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจภาคใต้ ควบคู่ไปกับ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และ อ.สุไหง-โกลก จ.นราธิวาส ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2559

นี่จะถือเป็นความสำเร็จก้าวแรกในพื้นที่ใต้สุดดินแดนสยาม ที่กำลังเปลี่ยนพื้นที่สีแดงให้ค่อยๆ กลายเป็นพื้นที่สีชมพูในอีกไม่ช้า 

ให้มันเป็นสี “ชมพู”

เมื่อแสงสุดท้ายหลังอาทิตย์อัสดงลาลับขอบเขา เป็นสัญญาณบ่งบอกเวลานัดหมายการรวมพลของเหล่าราษฎรอาสาพิทักษ์เมืองอย่างน้อย 4 เหล่าทัพ ที่ตบเท้าเข้าแถวเรียงหน้ากระดานอย่างอาจหาญทั้งชาย และหญิงยืดอก ยกมือขวาแสดงความเคารพ พร้อมร่วมกันกล่าวคำปฎิญาณดังกึกก้อง

“เราจะร่วมกันปกป้องบ้านเมืองให้สงบสุข ด้วยพลังความร่วมมือของภาคประชาชน” คำมั่นจากกองกำลังประจำถิ่นที่จะเข้ามารับไม้ต่อการดูแลความปลอดภัยเมืองเบตง

20180323131437772

ที่นี่ถือเป็นเมืองขนาดเล็กที่มีเนื้อที่เพียง 1,328 ตารางกิโลเมตร รายล้อมด้วยภูเขาสูงใหญ่เรียงสลับซับซ้อน ซ่อนให้เบตงเป็นเมืองในหุบเขา แต่ก็พรั่งพร้อมด้วยความศิวิไลซ์ในฐานะเมืองหน้าด่านที่เปิดประตูเชื่อมความสัมพันธ์พรมแดนไทย-มาเลเซีย เบตงจึงเป็นแหล่งการค้า และการท่องเที่ยวขนาดย่อมที่ขับเคลื่อน รวมทั้งพยุงสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ให้กลายเป็นพื้นที่อันตราย

ย่ำรุ่งวันที่ 4 มกราคม 2547 ปฎิบัติการปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 (ค่ายปิเหล็ง) อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดินแดนปลายด้ามขวาน ห่างไกลความปลอดภัยและขยับเข้าใกล้เหตุความไม่สงบมากขึ้น ด้วยการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายพิเศษที่เกิดขึ้นแบบเหมายกเข่งครอบคลุมทุกพื้นที่จังหวัดชายภาคใต้ และ 4 อำเภอรอยต่อจังหวัดสงขลา

ผ่านมา 14 ปีมีเพียง 2 พื้นที่คือ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี และล่าสุดอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่หลุดพ้นจากพันธนาการพิเศษทางกฎหมาย การปรับตัวของเมือง “เบตง” นับจากนี้จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง

ดำรงค์ ดีสกุล นายอำเภอเบตง อธิบายความสำคัญของพ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า เป็นกฎหมายที่นำมาใช้เมื่ออยู่ในภาวะคับขัน มีการใช้กำลังและมีการประทุษร้ายกันอย่างรุนแรง ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของฝ่ายบริหารว่า จะมอบหมายให้ตำรวจหรือทหาร ข้อดีของพ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด และนำตัวผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย เช่น การตรวจค้นเป้าหมายไม่จำเป็นต้องมีหมายศาล

20161005104856724_1

โดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะมีกรอบเวลากำหนดคราวละไม่เกิน 3 เดือน และสามารถขยายเวลาออกไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น อีกทั้งผ่านเกณฑ์ประเมินจึงจะยกเลิกการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหมือนที่เบตง

นิยามของพรก.ฉุกเฉิน ในมุมมองของนักปกครองที่ประจำการอยู่ในพื้นที่มีความเห็นต่างจากฝ่ายความมั่นคงที่มองในแง่บวกว่า กฎหมายพิเศษจะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทำงานเชิงรุกได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น

แต่ผลในแง่ลบ พ.รก.ฉุกเฉินกระทบภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้หล่อเลี้ยงผู้คนชายขอบ ไม่ต่างจากการผลักให้เบตงเข้าข่ายเมืองอันตรายที่นักท่องเที่ยวต่างแดนหวั่นไหวในกรอบกติกาของกฎหมายพิเศษ และเมื่อพิจารณาสถิติการก่อเหตุตลอด 14 ปีที่เบตงอยู่ใต้เงาพรก.ฉุกเฉินก็เกิดเหตุความรุนแรงน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ทำให้การมีหรือไม่มีพรก.ฉุกเฉินอาจไม่ต่างกัน

ดูนอก ปลอดใน

สำหรับมาตรการดูแลความปลอดภัยในวันที่ไร้ทหารถืออาวุธปืนลาดตระเวนนั้น ต้องถือว่า เบตงเป็นต้นแบบความร่วมมือของภาคประชาชนที่หลอมรวมความสามัคคีได้อย่างเหนียวแน่น จากการมี มีกองกำลังภาคประชาชนหรือกองกำลังประจำถิ่นที่สามารถเข้ามาปฎิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัยเสมือนหนึ่งเจ้าหน้าที่รัฐ

20180323131446465

เจ้าหน้าที่ชุดราษฎรอาสารักษาเมือง หรือ อรม. คือหนึ่งในองคาพยพที่เข้ามาเสริมทัพกองกำลังประจำถิ่นที่มีอยู่ในพื้นที่ ทั้งชุดอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส),ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ.) และสมาชิกไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) ในการปฎิบัติภารกิจเฝ้าระวังดูแลความปลอดภัยชุมชนของตัวเอง

บัณฑิต ประเสริฐคงแก้ว หัวหน้ากองพัน อรม.เบตง ชายฉกรรจ์ร่างใหญ่แต่งกายไม่ผิดจากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเฝ้ามองการฝึกปฎิบัติของชุดราษฎรอาสาด้วยแววตาที่มุ่งมั่น สลับกับการเดินวนเวียนตรวจแถวเหล่าราษฎรอาสาทั้งชาย และหญิงที่ยืนนิ่งสงบสองมือไขว่หลัง ยืดอกตรงสง่างามเยี่ยงชาตินักรบ

เสร็จสิ้นภารกิจปล่อยแถวทุกคนออกปฎิบัติหน้าที่พร้อมเพรียงกัน หนึ่งชุดเดินลาดตระเวนเท้าตามแหล่งการค้า ชุดสองคร่อมรถจักรยานยนต์ออกไปลาดตระเวนเส้นทาง และชุดสามกระโจนขึ้นท้ายรถกระบะมุ่งหน้าออกไปพื้นที่รอบนอก

20180323131445672

แสงสลัวยามค่ำคืนในเขตเมืองมองไปทิศทางไหนก็ยังรู้สึกอุ่นใจที่ปรากฏภาพราษฎรอาสายืนประจำการเฝ้าระวังภัยให้ชุมชน

หัวหน้ากองพันอรม.เบตง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของกองกำลังภาคประชาชนแบบง่ายๆ ว่า ขึ้นชื่อว่าเป็น “กองกำลังประจำถิ่น” คือเป็นกลุ่มพลังมวลชนโดยชอบด้วยกฎหมายที่เข้ามาทำหน้าที่ และภารกิจจำเป็นในการอาสาป้องกันชาติในยามฉุกเฉิน

เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ซึ่งจากนี้ไปกำลังภาคประชาชเหล่านี้จะเข้ามาปฎิบัติหน้าที่การดูแลความปลอดภัยแทนกำลังทหารที่ต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่

 “การมีหรือไม่มีพรก.ฉุกเฉินสำหรับคนในพื้นที่ไม่ได้รู้สึกแปลกหรือแตกต่างเพราะ14 ปีที่ผ่านมาภาพจนท.ทั้งกำลังหลักและกำลังเสริมถือปืนลาดตระเวนบนท้องถนนกลายเป็นเรื่องปกติที่ชินชา แต่หากคิดในมุมการท่องเที่ยวการปลดล็อคพื้นที่ความรุนแรงออกไปได้จะช่วยให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเบตงดีขึ้นแน่นอน” หัวหน้าชุดราษฎรอาสา กล่าวย้ำ

20180320134028864

ก้าวใหม่สนามบินเบตง

มูลค่าการค้า และการท่องเที่ยวนอกจากจะเป็นแหล่งรายได้หลักของเบตง ยังที่ทำหน้าที่เหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนชายขอบไม่ให้ติดลบความยากจนด้วย  

ความคาดหวังหลังจากทลายกำแพงแห่งความกลัวที่อยู่ใต้ร่มเงาพื้นที่พิเศษ จึงประกาศเดินหน้าโหมกระแส “เบตงเมืองท่องเที่ยว” ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวจากปีละ 6 แสนคนเพิ่มเป็น 1 ล้านคน

สกุล เล็งลัคน์กุล รองประธานหอการค้าจังหวัดยะลา นักธุรกิจสายเลือดเบตงแท้ ที่มีส่วนผลักดันให้เมืองนี้ไม่หยุดพัฒนาตัวเองให้สมกับเป็นเมืองท่องเที่ยว โดยเฉพาะในวันที่เบตงกำลังจะมีสนามบินใหม่

20180326122449940

สนามบินเบตง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ยะรม บนเนื้อที่ 920 ไร่ อยู่ห่างจากเขตเทศบาลเมืองเบตง 12 กิโลเมตร มีรันเวย์ยาว 2,100 เมตร

การออกแบบอาคารโดยสารจะเน้นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่มีการนำไม่ไผ่หรือไผ่ตงซึ่งมีอยู่มากในท้องถิ่น และเป็นที่มาของคำว่า “ เบตง” ที่มาจากภาษามลายู “Buluh Betong” หมายถึงไม้ไผ่ขนาดใหญ่มาเป็นสัญลักษณ์

ทำไมต้องมีสนาบินเบตง?!

คำตอบที่ได้คือ เบตงเป็นเมืองในหุบเขาการเดินทางเข้า-ออก มีเพียงเส้นทางเดียว คือทางหลวงหมายเลข 410 ระยะทางจากจังหวัดยะลาถึงอำเภอเบตงประมาณ 140 กิโลเมตร การสร้างสนามบินเบตงจึงตอบโจทย์ ยกระดับเบตงให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มตัว

ที่สำคัญเม็ดเงินที่ได้จากการท่องเที่ยวจะเพิ่มจาก 4 พันล้านบาทเป็น 7 พันล้านบาททันทีที่สนามบินเบตงเปิดให้บริการในปี 2563

“เบตง ยิ่งกว่าโอเค " จึงน่าจะเป็นวลีใหม่บนเส้นทางที่ปลดเปลื้องพันธะพื้นที่สีแดงชายแดนใต้ได้สำเร็จ