ภาษารัก ลับๆ ในเสียงดนตรี ลาหู่

ภาษารัก ลับๆ ในเสียงดนตรี ลาหู่

มีความลับซ่อนอยู่ในการสื่อสารเสมอ แม้แต่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ที่อาศัยอยู่ตามภาคต่างๆ ของไทย

ธรรมดาของคนรักกัน ย่อมมีวิธีการแสดงออกถึงความรู้สึกที่มีแก่กันและกันอยู่เสมอ ไม่ว่าใคร

ชาวลาหู่เองก็เหมือนกัน

พวกเขาเป็นอีกชาติพันธุ์หนึ่งที่มีถิ่นที่อยู่กระจัดกระจายตามพืนที่สูงในภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย ตั้งแต่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลงมาจนถึง กำแพงเพชร 

คนลาหู่มีอยู่ราว แสนเศษ และแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม อาทิ ลาหู่นะ ลาหู่ญี ลาหู่บาหลา ลาหู่บาเกียว ลาหู่เชเล เป็นต้น 

2

นอกจากการละเล่นในช่วงเทศกาล ลูกข่าง สะบ้า และลูกช่วง เสียงดนตรียังถือว่า เป็นอีกอัตลักษณ์สำคัญของคนกลุ่มนี้ อีกด้วย

เสียงดนตรี กับลาหู่นั้นเป็นของคู่กัน พวกเขาชำนาญการเล่นดนตรีประเภทหลากหลายชนิด ส่วนใหญ่ เครื่องดนตรีลาหู่มักทำมาจากไม้ไผ่ ไม่ว่าจะเป็น หน่อกู่มา (แคน) แล้ ก่า ชุ่ย (ขลุ่ย) เต่อสื้อโก่ย หรือซึง ไปจนถึง จะโก (กลอง) ใช้บรรเลงประกอบการเต้นรำ

1

ไม่ว่าจะ ฉลองปีใหม่ กินข้าวใหม่ หรือวันสำคัญทางศาสนา คนที่นี่มักจะมีเสียงดนตรีเคล้าคลออยู่เสมอ

รวมทั้งภาษารักที่เอาไว้เกี้ยวกันระหว่าง หนุ่ม-สาว 

แม้วันนี้ เทคโนโลยีการสื่อสารจะรวดเร็ว และล้ำสมัยปานใด เพรียกทำนองเกี้ยวสาวของชายหนุ่มลาหู่ก็ยังถือเป็นเสน่ห์ไม่ต่างจากปลายจวักของแม่ครัวเลย

อย่าง ขลุ่ย ที่นอกจากจะใช้เป่าเพื่อความเพลิดเพลินแล้ว สำหรับคนลาหู่ ยังเป็นที่รู้กันว่า นี่เป็นเครื่องเป่าที่รังสรรขึ้นเพื่อสื่อรักอีกนัยหนึ่งด้วย

มีกฎของการเป่าขลุ่ยที่ต้องจำอยู่ 2-3 ข้อ

ข้อแรก ห้ามเป่าในชุมชน

ข้อสอง เป่าเวลาไปไร่นา

หรือไปเป่าท้ายหมู่บ้านเพื่อพบปะกัน

ส่วนจะพูดคุยกันเรื่องอะไร ...มันเป็นความลับ

ไม่ต่างจากจึ๊งหน่อง (อ้าทา) ซีกไม้ไผ่ชิ้นเล็กๆ ที่ใช้แรงสั่น และลมปากเป่าให้เกิดเสียง “เบา” มากถ้าไม่ได้ตั้งใจฟังให้ดี และเสียงนี้เอาไว้ส่งภาษารักกันท่ามกลางสายลมกลางคืน

สุนทรีย์ในเครื่องดนตรีสำหรับคนลาหู่เองจึงเป็นทั้งความรัก

และความลับ