นิทรรศการ "ศาสตรา สถาปัตย์ ไทย: พระเมรุมาศ จุดเชื่อมจักรวาลและการออกแบบ"

นิทรรศการ "ศาสตรา สถาปัตย์ ไทย: พระเมรุมาศ จุดเชื่อมจักรวาลและการออกแบบ"

รู้จักและเข้าใจงานสถาปัตย์ไทย ผ่านพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9

ครั้งหนึ่งในช่วงชีวิตที่เราจะได้เห็นสถาปัตยกรรมชั้นสูง “พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9” ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาในรัชสมัยของพระองค์ คนไทยจะได้เห็นพระเมรุและพระเมรุมาศของพระบรมวงศานุวงศ์มาแล้ว แต่นี่คือครั้งแรกในรอบ 67 ปี ที่เราจะได้เห็นพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์อันยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ซึ่งเกิดจากแรงกายแรงใจของผู้ที่อยู่เบื้องหลังงานออกแบบและก่อสร้างพระเมรุมาศ สถาปัตยกรรมอันแสนวิจิตร แต่ก็เป็นสถาปัตยกรรมชั่วคราวที่ต้องรื้อลง เมื่อพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้น

พวกเราหลายคนคงได้เห็นพระเมรุมาศจากภายนอกสนามหลวง ก่อนที่พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จะเกิดขึ้นในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ แต่ยังไม่ได้เห็นอาคารพระเมรุมาศอย่างเต็มตา และสนใจว่าพระเมรุมาศอันงดงามแม้เพียงเห็นไกลๆ นั้น มีแนวคิดคติใดแฝงอยู่

ทางศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบได้ร่วมมือกับกรมศิลปากร จัดนิทรรศการ “ศาสตรา สถาปัตย์ ไทย: พระเมรุมาศ จุดเชื่อมจักรวาลและการออกแบบ” (Insight I Thai I Architecture) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ผ่านพระเมรุมาศและพระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งถอดรหัสคติจักรวาลจากวรรณคดี “เตภูมิกถา” ว่าด้วยภพภูมิในวัฏฏสังสารตามคติในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นรากฐานของงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทย จนมาถึงกระบวนการทำงานสำคัญที่อยู่เบื้องหลัง

แบ่งการเล่าเรื่องเป็น 4 โซน ได้แก่

1 คติจักรวาลสู่สถาปัตยกรรมไทย

โซนคติจักรวาลและงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทย นำเสนอความเชื่อทางศาสนาที่มีผลต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย บอกเล่าความเป็นมาของพระเมรุมาศซึ่งได้รับการสืบทอดมาจากสมัยอยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ การปรับเปลี่ยนพระเมรุมาศให้เข้ากับสถานการณ์ของโลก ในพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสืบทอดต่อมายังรัชกาลที่ 9 โดยมีบทอธิบายให้เราได้เห็นถึงแผนผัง อาคารในมณฑลพิธี และอาคารประกอบต่างๆ ซึ่งสอดแทรกแนวคิดของการวางผังเอาไว้ และที่สำคัญคือหุ่นจำลองพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ขนาด 1 : 50 สามารถเข้าไปพินิจพิเคราะห์ได้ใกล้ๆ (แต่โปรดเอามือออกห่างๆ) จะเห็นรายละเอียดประณีตสมจริงงดงามมาก

โซนโรงขยายแบบเท่าจริง

โซนโรงขยายแบบเท่าจริง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการนำแบบไปขยายสู่การก่อสร้าง จากแบบ 1:20 ของผู้ออกแบบต้องมีการขยายลายในสัดส่วนเท่าจริง เพื่อนำไปจัดสร้างได้อย่างสมบูรณ์แบบ โซนนี้เป็นการจำลองบรรยากาศของ “วิธานสถาปกศาลา” หรือโรงขยายแบบ เพื่อให้เห็นการทำงานของเหล่าช่างศิลปกรรมและสถาปนิกที่ร่วมลงมือในงานนี้ นอกจากงานขยายแบบยังแสดงรายละเอียดของศิลปกรรมที่เป็นองค์ประกอบประดับตกแต่งต่างๆ เช่น ศิลปะการซ้อนไม้แทนการแกะสลักถาวร ศิลปะการฉลุผ้าทองย่น การสาบสี สอดแววแทนการประดับกระจกสีแบบอาคารถาวร และศิลปะการตบสี คล้ายแทนการทำกระจกสีสมัยโบราณ

ศิลปะการฉลุผ้าทองย่น

โซนครูสร้างนักออกแบบให้เป็นคน บอกเล่าแนวคิดและการถ่ายทอดทักษะจากครูผู้ส่งต่อองค์ความรู้ เพื่อสืบทอดงานศิลปะและสถาปัตยกรรมอันเป็นมรดกของชาติสู่คนรุ่นหลัง

โซนเวิร์กช็อป ทดลองการทำตบสี

โซนเวิร์กช็อปตามรอยสถาปัตย์ไทย ลองศึกษากระบวนการทำงานด้านนี้ด้วยการลงมือสักครั้ง ด้วยแบบฝึกหัดร่างแบบลายไทยเบื้องต้น ทดลองการทำตบสี เพื่อให้เข้าใจความอดทนและทุ่มเทของช่างศิลป์ไทยมากยิ่งขึ้น

ทรงวาด สุขเมืองมา ภัณฑารักษ์อาวุโส ของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ผู้ออกแบบนิทรรศการนี้ ได้ทำงานร่วมกับกรมศิลปากรคัดสรรเนื้อหาเบื้องหลังการออกแบบพระเมรุมาศให้ครอบคลุมตั้งแต่คติความเชื่อ ศิลปะ สถาปัตยกรรมไทย และกระบวนการทำงาน ซึ่งตั้งใจออกแบบโซนคติความเชื่อไว้ส่วนหน้า เพื่อปูรากฐานให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจที่มาของสถาปัตยกรรมไทยก่อนว่าไม่ได้ไกลตัว แต่มีที่มาที่ไป และเข้าใจถึงกระบวนการก่อสร้าง ที่แม้ว่าพระเมรุมาศจะเป็นสถาปัตยกรรมชั้นสูงที่รวมเอาศิลปกรรมทุกแขนงเข้ามารวมกันไว้ ก็ยังเป็นสถาปัตยกรรมชั่วคราวที่ต้องรื้อลงเมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีฯ จึงมีวิธีการเฉพาะสำหรับการทำงานนี้ ตั้งแต่การเลือกวัสุด และการก่อสร้าง

จำลองบรรยากาศ วิธานสถาปกศาลา

การเป็นภัณฑารักษ์ในนิทรรศการนี้ ทรงวาดก็เหมือนได้เรียนรู้เรื่องราวศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยชั้นสูงอันเข้มข้นในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งสำหรับผู้เข้าชมแล้วนี่เป็นหนึ่งในนิทรรศการที่หายากยิ่งที่จะได้ชม ทั้งด้วยวาระโอกาส ทั้งความครบครันในความรู้และวัตถุจัดแสดง

นิทรรศการนี้เปิดให้ชมตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2560 – 7 มกราคม 2561 เวลา 10.30 – 21.00 น. ทุกวันอังคาร – อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) ณ ห้องแกเลอรี่ ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก