จินตนาการในโลกสลับสี ของเนียม มะวรคนอง

จินตนาการในโลกสลับสี ของเนียม มะวรคนอง

หลายครั้งความผิดปกติหรือแตกต่างกลายเป็นคำสาปให้แปลกแยก แต่ในโลกของศิลปะ "ความต่าง" กลับกลายเป็นจุดเด่นให้สร้างงานที่มีเอกลักษณ์ขึ้นมา

หลายครั้ง “ความผิดปกติ” หรือความแตกต่างจากคนทั่วไป ถูกมองว่าเป็น “คำสาป” ที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้คนที่แบกรับคำนี้ไว้ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการปรับตัวให้เข้ากับวิถีของโลก...โลกของคน “ปกติ”

แต่ในอีกโลก...โลกของศิลปะ การมีความคิด มุมมอง ที่แตกต่าง หลายครั้งกลับกลายเป็นจุดเด่นเฉพาะตัว เป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางการสร้างผลงานที่เป็นเอกลักษณ์

21125707_10155670550989894_7024718926582776428_o

เนียม มะวรคนอง เกิดมาพร้อมกับการเห็นสีที่ผิดแผกจากคนทั่วไป นั่นเป็นทั้งอุปสรรคและพรสวรรค์ที่แลกมาด้วยความพยายามที่มากกว่า

“ตาบอดสีนี่เป็นตั้งแต่เกิดครับ ผมเห็นสีไม่เหมือนคนอื่น สีเขียวจะเพี้ยนหนักสุด สีเขียวฟ้าผมจะมองคล้ายสีเทา เขียวอมเหลืองผมจะมองเห็นเป็นน้ำตาลหรือส้ม ทำให้เรามีข้อจำกัด ผมอยากจะวาดป่า อยากวาดต้นไม้นี่กลุ้มเลยเพราะเขียวทั้งนั้นเลย เราจะเลือกใช้สีแบบที่เรารู้สึกว่าโอเค สีชุดที่เราค่อนข้างจะมั่นใจคือโทนสีฟ้าๆ จะใช้บ่อยหน่อย การใช้โครงสีเราก็มีวิธีคิดของเราเอง มีกฎเกณฑ์อยู่ในหัวชุดนึงว่าจะใช้สียังไง ใช้ทฤษฎีศิลปะเข้ามาช่วย”

“แต่ตาบอดสีก็เป็นข้อดีด้วย เพราะการที่มีข้อจำกัดมันทำให้เราต้องหาทางออก ทำให้เราต้องหาวิธีแก้ปัญหา คิดวิธีทำงานใหม่ๆ"

"บางคนก็บอกว่าการใช้สีของเรามันมีความพิเศษอะไรบางอย่าง แล้วมันก็ทำให้เราเห็นโลกในแบบที่คนอื่นไม่เห็น เป็นมุมมองเฉพาะที่คนตาดีไม่รู้”   

ย้อนเส้นทางศิลปะของ “เนียม” จากการเรียนระดับปวช.ที่วิทยาลัยช่างศิลป์ ไปต่อที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ไปเรียนจบที่ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มช. ก่อนจะทำงานศิลปะเรื่อยมา

เนียม_มะวรคนอง 2  

“จริงๆ ตอนจบมาก็เริ่มทำงานศิลปะเลยนะ แต่ตอนแรกเราไม่ได้ตั้งใจจะเป็นศิลปินอาชีพ เรียนจบมาก็ทำไปเรื่อยๆ สักพักก็เริ่มจริงจังขึ้นเรื่อยๆ ช่วงนั้นจิตใจแปรปรวนไม่ค่อยปกติเท่าไหร่ วาดรูปก็ช่วยได้ พยายามอยู่กับงานจะได้ไม่ฟุ้งซ่าน เพื่อนมาเห็นเราทำงานก็เลยพาไปยื่นพอร์ทขอแสดงงานที่หอศิลป์จามจุรี ก็ได้แสดงครั้งแรกปี 2008 ใช้เวลาตั้งแต่เรียนจบถึงแสดงงานครั้งแรกประมาณ 5 ปี”

จากนิทรรศการครั้งแรก “ฉันอยากไปอยู่ป่าดงดิบ” (I Wanna Lose Myself in a Jungle) ในปี 2008 ตามมาด้วย ชุดที่ 2 “ผีอากาศ” (Spirit, Air) ในปี 2010 ช่วงนั้นเนียมได้ไปรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า “การทดสอบทางจิตวิทยาด้วยการวาดรูป” ที่หาคำตอบโดยการวาดภาพอย่างไม่ต้องคิดวางแผนล่วงหน้า และใช้วิธีนี้ในการทำงานในชุดต่อๆ มา

ปี 2013 เนียมแสดงผลงานในนิทรรศการ “ความตายมาเลียดวงจันทร์” (Lunar Animalia) ยังคงโดดเด่นด้วยการวิธีการใช้สีเฉพาะตัว นำเสนอเรื่องราวที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจ เรื่องของชีวิต ความตาย เพศ ความรู้สึกภายในของศิลปิน ก่อนจะแสดงงานอีกครั้งในปี 2014 ในนิทรรศการ “Trans Universe” ตามด้วยนิทรรศการ “แมวห่วย” (Loser Cat) และ “มินิม่อน” (Minimon) ในปี 2015

21083518_10155670542854894_4385196922582252492_o

กับผลงานชุดล่าสุด “A place called Earth : นี่แหละโลก” ผลงานจิตรกรรมสีอะคลิริค 20 ชิ้น สะท้อนมุมมองของศิลปินที่ผ่านประสบการณ์การแสดงผลงานศิลปะมาหลายครั้ง ผ่านช่วงเวลาของความสับสนกับระบบ ขนบ ธรรมเนียมต่างๆ ในวงการศิลปะ สู่วันที่ทำความเข้าใจและยอมรับกับวิถีของโลกศิลปะได้ดีขึ้น

“จากที่ผมเคยวาดรูปตามใจตัวเอง ไม่มีแผนใดๆ ทั้งสิ้น พอได้เข้ามาในวงการศิลปะ เข้ามาสู่ระบบแกลเลอรี มันไม่เหมือนที่เราคิด มันมีกฎเกณฑ์ มีระบบอยู่ มีระบบของแกลเลอรี รสนิยมของคนดู เรื่องการซื้อขายผลงานที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน เหมือนทุกอย่างมันถล่มใส่เราทีเดียวจนเรารับไม่ทัน ที่ชัดที่สุดคือความรู้สึกว่าโลกนี้มันช่างเยือกเย็นเหลือเกิน ช่างไร้ชีวิต แล้วเราจะอยู่ยังไง” 

21199523_10155670548959894_5472603062803507071_o

ความรู้สึกนั้นถูกถ่ายทอดผ่านองค์ประกอบในผลงานที่มักประกอบด้วยเส้นสายและรูปทรงเรขาคณิต กับเส้นขอบฟ้าที่อยู่ไกลออกไป สื่อถึงสิ่งที่ศิลปินสัมผัสหลังจากเข้าสู่โลกของการทำงานศิลปะ ที่มีเรื่องแปลกใหม่ให้ต้องคิดมากกว่าการทำงานศิลปะตามแต่ใจอย่างแต่ก่อน   

“เข้ามาในวงการศิลปะตอนแรกๆ เราก็รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง จะไปต่อยังไง พออยู่ในระบบแกลเลอรีต้องทำงานเป็นชุด ต้องสื่อสารกับคนดูได้ ต้องมีข้อมูลให้สื่อ มีความเป็นทางการมากขึ้น แนวคิดที่เคยทำมันใช้ไม่ได้แล้ว ก็เลยต้องหาวิธีทำงานใหม่ โลกมันเปลี่ยนไปเลยสำหรับเรา"

"ช่วงที่ทำงานชุดนี้เราเลยรู้สึกปลอดภัยที่จะวาดรูปเรขาคณิตเพราะมันมีกฎของมันอยู่ อย่างน้อยวาดเส้นตรงมันก็มีกฎว่าเส้นมันต้องไปทางนี้ ถ้าเราตามกฎไปเราจะปลอดภัย ก็กดดันนะ แต่ในความกดดันเราเริ่มเรียนรู้กฎระเบียบ หลักเกณฑ์ว่าโลกศิลปะเค้าอยู่กันอย่างไร พยายามรับความจริงจนกลายมาเป็นงานชุด "นี่แหละโลก" ชุดนี้”

21083549_10155670549799894_3515042541684145296_o

ความกดดันที่เป็นทั้งอุปสรรคและโอกาสที่ทำให้ศิลปินสะท้อนความรู้สึกที่เกิดขึ้นออกมาในผลงาน บางภาพแสดงถึงองค์ประกอบที่ดูเหนือจริงบนเส้นสายของรูปทรงเรขาคณิตที่ศิลปินใช้ยึดเหนี่ยวเหมือนแผนที่นำทาง

แต่ในผลงานบางชิ้นก็สัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่นิ่ง สงบ อย่างคนที่เข้าใจโลก...เข้าใจว่านี่แหละโลก และมองเห็นเส้นทางการทำงานต่อไปของตนเองชัดเจน

21083605_10155670541369894_6895077401547202980_o

 “งานชุดนี้ใช้เวลา 1 ปีกับการพยายามทำความเข้าใจโลกศิลปะ การทำงานก็เหมือนกระบวนการทำความเข้าใจว่าเราจะรับมือกับวงการศิลปะยังไง ตอนนี้เข้าใจแล้ว ความรู้สึกว่าวงการนี้ช่างเย็นเยียบมันหายไปแล้ว เราเข้าใจวิธีการทำงานในวงการศิลปะแล้ว ถึงตอนนี้ผมคิดว่าผมโอเคขึ้นเยอะ พร้อมที่จะทำงานชุดใหม่ต่อไป”  

นิทรรศการ “A place called Earth : นี่แหละโลก” โดย เนียม มะวรคนอง จะมีพิธีเปิดนิทรรศการในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2560 เวลา 18.00 น. ที่ศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์ สุขุมวิท 39 จัดแสดงจนถึง 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560 สอบถามโทร.0 2258 5580 ต่อ 401