สติกเกอร์ไลน์ สาย "เกรียน"

สติกเกอร์ไลน์ สาย "เกรียน"

หมีขาวสายแดนซ์ แมวอ้วนกวนประสาท แล้วยังเจ้าหัวกลมที่แสนจะปากคอเราะร้าย เบื้องหลังสติกเกอร์ไลน์สายเกรียนที่ทำยอดขายถล่มทลายทั้งสามเป็นมาอย่างไร โปรดตามมา!

ผ่านมาเกือบครบ 5 ปีเต็มแล้ว ที่เหล่า “มนุษย์ไลน์” ได้เรียนรู้ที่จะสื่อสารผ่าน “สติกเกอร์” โดยเราผ่านวิวัฒนาการของสติกเกอร์กันมาตั้งแต่ยุคที่ว่ากันตรงๆ อย่างขอบคุณ สวัสดี ขอโทษ ในรูปแบบสวยงาม ก็มาสู่การเพิ่มมุกที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวันแบบกวนๆ สำหรับใช้กันในหมู่เพื่อนฝูง 

และที่เห็นชัดเจนในตอนนี้ก็คือ การมาถึงของสติกเกอร์ไลน์สายเกรียน ซึ่งนิยมใช้อำกันในหมู่กลุ่มเพื่อน รวมถึงไอเดียแหวกๆ ที่เปิดกว้าง แม้กระทั่งลายกระเบื้องก็ยังมโนให้เป็นการสื่อสารได้

 “เดิมที กลุ่มที่ดาวน์โหลดสติกเกอร์ไลน์มาใช้จะเป็นผู้หญิงเสียส่วนใหญ่ แต่เดี๋ยวนี้ กลุ่มผู้ชายหันมานิยมเล่นมากขึ้น เราจึงเห็นสติกเกอร์ที่กวนๆ ไม่เน้นความสวยงาม แต่มาทางตลกขบขัน หรือคำพูดประชดประชันได้รับความนิยมมากขึ้น” กณพ ศุภมานพ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจ B2C LINE ประเทศไทย ให้ข้อมูลถึงแนวโน้มความนิยมในการใช้สติกเกอร์ของมนุษย์ไลน์ชาวไทย

เขาเพิ่มเติมว่า ปีนี้ทั้งปี เราได้เห็นสติกเกอร์ประเภทลายเส้นเรียบๆ ขาว-ดำได้รับความนิยมสูงมากขึ้น โดยเฉพาะในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ความนิยมก็เบนมาสู่สติกเกอร์ที่เล่นกับคำ แบบที่ไม่ต้องพูดถึงเรื่องความสวยงามเลยก็ยังได้

Sorry misspell

Sorry misspell

“อย่างสติกเกอร์ชุด Sorry misspell ขึ้นอันดับหนึ่งมาสองสัปดาห์แล้ว ทั้งๆ ที่ดูแล้วไม่น่าจะดังแต่กลับดัง จริงๆ ต้องบอกว่า ตอนนี้คนนิยมสติกเกอร์ที่เล่นกับคำ เน้นการสื่อสารแบบที่ใจอยากจะพูด ซึ่งถ้าพิมพ์ออกไป มันอาจจะไม่โอเค แต่ถ้าส่งสติกเกอร์ไป เพื่อนยังคบอยู่ (หัวเราะ) อย่าง เซอร์เคิลดุ๊กดิ๊ก นี่ก็เหมือนกัน ต้องสนิทกันนะครับถึงจะส่งให้กันได้” เขาขยายความพร้อมเสียงหัวเราะ

สำหรับ เซอร์เคิลดุ๊กดิ๊ก หรือ “หัวกลมดุ๊กดิ๊ก” ที่กณพ เอ่ยถึงนั้น ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของงานลายเส้นง่ายๆ แต่มีข้อความจิกกัดโดนใจ ซึ่งปัจจุบันออกมา 4 เวอร์ชั่นแล้ว 

“จริงๆ หนูวาดเป็นลายเส้นแบบนี้ เพราะตัวเองเป็นคนขี้เกียจน่ะค่ะ

รู้ตัวว่า ถ้าต้องมานั่งลงสีทั้ง 48 ตัว คงไม่เสร็จ ก็เลยทำมันแบบนี้ละกัน”

แคท-คัทลียา แว่นแก้ว เจ้าของผลงานหัวกลมฯ เฉลยเรื่องจริงเบื้องหลังการทำงานที่ไม่ได้มองเห็นเทรนด์อะไร.. แค่ขี้เกียจลงสี เท่านั้นเอง

แม้ลายเส้นจะง่าย แต่สาเหตุที่ขายดิบขายดีก็เพราะมุกจิกกัดของเจ้าหัวกลมฯ ที่แคทบอกว่า มาจากความเป็นตัวเองนี่แหละ

“เวลาคุยกับเพื่อน หนูจะชอบมีคำพูดเอาไว้ด่ากัน แล้วก็เลยลองทำเป็นสติกเกอร์ดู ตอนแรกก็ตั้งใจจะทำไว้ใช้เอง แต่พอทำไปทำมา คนเกิดชอบค่ะ หลายคนบอกว่า เห็นแล้วทั้งรักทั้งเกลียด คือ มันเป็นสติกเกอร์ที่เอาไว้คัดเพื่อนน่ะค่ะ.. แต่เป็นแบบ ‘คัดออก’ นะ(หัวเราะ)”

แคท-คัทลียา แว่นแก้ว

แคท-คัทลียา แว่นแก้ว

แต่ถ้าถาม โยชิตาเกะ อุเอคิ ผู้พัฒนาสติกเกอร์ชุด “Betakkuma” หรือเจ้าหมีขาวสายแดนซ์สุดเกรียนจากประเทศญี่ปุ่นที่โด่งดังและมาถึงเวอร์ชั่นที่ 7 แล้วตอนนี้ เขาเล่าถึงประวัติของเจ้าหมีขาวว่า ตอนแรกที่วาดไว้ก็เป็นแค่ลายเส้นหมีขาวตัวกลมๆ แต่มายืดตัวขึ้นทีหลังก็เพราะอยากจะทำให้มันเต้นแล้วได้อารมณ์กวนๆ 

เบทาคุมะ 2

เบทาคุมะ

“ที่ญี่ปุ่น จะชอบใช้สติกเกอร์รูปสัตว์ที่เป็นลายเส้นเรียบๆ แต่มีความพิลึกๆ หน่อย ซึ่งเบทาคุมะนั้นตอนแรกก็เป็นหมีตัวกลมๆ ไม่ได้มีรูปร่างเหมือนคนอย่างตอนนี้ แล้วพอผมคิดที่จะทำสติกเกอร์ที่ขยับได้ด้วย ก็เลยจะออกแบบให้มันเต้น ก็เลยเปลี่ยนดีไซน์ให้ตัวยืดขึ้นให้เหมาะสมขึ้น ซึ่งส่วนตัวผมชอบอะไรที่ขยับได้แล้วก็ตลกด้วย เลยออกแบบสติกเกอร์เป็นแบบนี้” เขาเล่าโดยชื่อของเจ้าหมีตัวนี้ก็แปลได้ประมาณว่า หมีที่ทำอะไรที่แลดูเหมือนธรรมดาจนเชยแต่ไม่เชย

โยชิตาเกะ อุเอคิ

โยชิตาเกะ อุเอคิ

จากหมีสายแดนซ์ก็มาสู่ “แมวอ้วนกวนโอ๊ย” กันบ้างกับ “Haughty Smelly Cat” จากประเทศไต้หวัน ผลงานการดีไซน์โดย โมชิ แดด พ่อค้าผู้ว่างงานเพราะตลาดปิดตัวลง จนไม่มีอะไรทำ เลยงัดวิชาก้นหีบสมัยเป็นนักเรียนออกแบบมาขีดๆ เขียนๆ จนได้ออกมาเป็นสติกเกอร์หมาน้อยออกมาก่อนในชื่อสติกเกอร์ว่า French Bulldog Mochi และต่อด้วยแมวอ้วนที่ดังเปรี้ยงปร้างจนตอนหลังขยายไลน์มาทั้งขายสินค้าพรีเมียมแล้วยังมีงานคอลาบอเรทกับแบรนด์ต่างๆ มากมาย

“ตอนแรกผมทำสติกเกอร์หมาออกมาก่อน เพราะปกติเลี้ยงหมาอยู่แล้ว ก็เลยอจากจะทำสติกเกอร์มาใช้เอง กะว่าจะเอาไว้คุยเล่นกับเพื่อน ก็เลยพยายามคิดถึงคำพูดของเพื่อนๆ เวลาอำกันมาใช้ในสติกเกอร์ แล้วตอนหลังถึงได้วาดแมวเพิ่มเข้ามา โดยอยากให้มันดูกวนๆ ประมาณว่า อยู่เหนือทุกสิ่ง” โมชิ แดด เล่าให้ “จุดประกาย” ฟัง

ส่วนที่มาของดีไซน์แมวอ้วนสีส้มสุดกวนนี้ เขาเฉลยถึงที่มาว่า

“ที่ไต้หวันเรามีสุภาษิตว่า แมวสีส้ม 10 ตัวจะเป็นแมวอ้วนซะ 9 ตัว

ส่วนอีกตัว คือ อ้วนมากๆ ก็เลยออกมาเป็นแบบนี้ล่ะครับ (หัวเราะ)”

Haughty Smelly Cat

โมชิ แดด

โมชิ แดด

จากความแสบๆ กวนๆ ทำเอามันก็เลยกลายเป็นสติกเกอร์ทำเงินได้เป็นเรื่องเป็นราว จะมีก็เพียงคุณหมีขาวสายแดนซ์ฝีมือของ โยชิตาเกะ อุเอคิ เท่านั้น ที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นในฐานะนักออกแบบมืออาชีพให้กับบริษัท Quan Inc. ขณะที่แมวอ้วนก็กลายมาเป็นบริษัท Thatfish Corporation ที่บริหาร 4 คาแรคเตอร์ รวมเป็นสติกเกอร์ 20 ชุดในนามของ “โมชิ แดด” ที่มีรายได้จากทั้งการขายสติกเกอร์รวมถึงการขายลิขสิทธิ์ในสัดส่วนที่พอๆ กัน และด้วยความที่เป็นสติกเกอร์ภาษาจีน ทำให้แมวส้มอ้วนแสบตัวนี้ขยายตลาดไปได้ในหลายประเทศที่ใช้ภาษาจีน

ย้อนกลับมาดูที่ไทยเรา หัวกลมดุ๊กดิ๊ก ซึ่งเกิดขึ้นเพราะอยากทำมาใช้เอง แต่เมื่อมันโดนใจคน จากงานทำเล่นๆ ก็เลยเป็นจริงจังขึ้นมาได้จนวันนี้มีถึง 4 เวอร์ชั่นแล้ว โดยแคท พูดถึงรายได้จากส่วนแบ่งยอดขายว่า ทำได้ไม่เลวเลยเพียงแต่อาจจะยังไม่สามารถเป็นอาชีพที่มั่นคงเสียทีเดียว

“เอาจริงๆ ก็เลี้ยงตัวเองได้เลยนะ แต่เราห้ามเป็นมะเร็ง หรือแต่งงานมีลูก” แคทตอบพร้อมรอยยิ้มที่อดกวนไม่ได้ 

สำหรับตัวแคท เธอมองว่า การเป็นสติกเกอร์ครีเอเตอร์ คือ งานที่น่าสนใจ เพียงแต่อาจจะยังไม่สามารถเป็นอาชีพที่มั่นคงได้ ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ทางไลน์ประเทศไทยมองเห็นเช่นเดียวกัน จึงเป็นที่มาของการจัดงานฉลองครบรอบ 3 ปี LINE CREATORS MARKET โดยชวนทั้งสามมาพูดคุยสร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงการเปิดแอพพลิเคชั่น Creator Studio เพื่ออำนวยความสะดวกให้ใครๆ ก็สามารถสร้างสติกเกอร์ด้วยตัวเองได้

นอกจากนี้ก็ยังช่วยสนับสนุนให้ครีเอเตอร์มีช่องทางสร้างรายได้มากขึ้น เช่น การจัดอันดับไรซิ่งสตาร์สำหรับสติกเกอร์ที่มียอดขายอันดับหนึ่งของเดือนนั้นๆ โดยทางไลน์จะให้เงิน 5 หมื่นบาทเพื่อนำไปเป็นทุนในการผลิตสินค้าเมอร์ชั่นไดส์และนำมาขายผ่านช่องทางไลน์กิฟต์ช็อป โดยทั้งหมดก็เพื่อส่งเสริมให้วงการครีเอเตอร์ไทยเติบโตได้อย่างแท้จริง