ชวนมา “อ่าน” กันและกัน ใน Fathom Bookspace

ชวนมา “อ่าน” กันและกัน ใน Fathom Bookspace

ผลักประตูเข้าไปในร้าน Fathom Bookspace ตัดฉับความจอแจของซอยสวนพลูเข้าสู่โลกอีกใบที่น่าสบาย มีเสียงเปียโนต้อนรับ นักเปียโนหนุ่มในชุดลำลองกำลังบรรเลงเพลงอ่อนหวานกลืนกับบรรยากาศอุ่นเหมือนบ้าน คนของทางร้านกำลังเล่นอยู่หรือ?

ป่าน – ภัทรอนงค์ สิริพิพัฒน์ และกุ๊กไก่ – ขนิษฐา ธรรมปัญญา 2 สาวเจ้าของร้านชวนเราขึ้นไปนั่งคุยบนชั้น 2 ที่ทำเหมือนชั้นลอย มีโต๊ะเตี้ย แล้วก็หมอน หมอน หมอน เอาไว้นั่งกับพื้นและนอนเอกเขนก “ตรงนี้เราเอาหนังสือของเรามาวางไว้ให้อ่าน เหมือนเป็นห้องสมุดค่ะ” มองลงไปชั้นล่างที่เป็นร้านหนังสือ ความเป็นชั้นลอยทำให้ส่วนหน้าเป็นพื้นที่แบบ Double Volume เปิดโล่งให้ร้านเล็กๆ นั้นดูโปร่งขึ้น

ชวนมา “อ่าน” กันและกัน ใน Fathom Bookspace

อีกไม่กี่เดือน Fathom Bookspace ก็จะเปิดมาครบปีแล้ว 2 สาวไม่ใช่หน้าใหม่ในโลกของหนังสือ ป่านทำงานเกี่ยวกับหนังสือมาโดยตลอด ส่วนกุ๊กไก่เป็นวิทยากรและทำงานออกแบบกระบวนการเรียนรู้ แต่กับการเปิดร้านถือเป็นงานใหม่ที่พวกเธอตั้งใจทำให้เป็นมากกว่าร้านขายหนังสือ แต่นี่คือพื้นที่เพื่อให้คนมาพบและพูดคุยกัน โดยมีการอ่านเป็นตัวเชื่อมโยง

“มีหลายเรื่องที่คนเราคุยกันยาก แค่เราคิดเห็นไม่เหมือนกันก็กลายเป็นว่าคุยกันไม่ได้ เราเลยอยากให้คุยกันง่ายๆ เหมือนคนนึงชอบกินก๋วยเตี๋ยว อีกคนชอบผัดกะเพรา ง่ายแบบนั้น เราเลยทำพื้นที่ที่คนมาคุยกันแชร์กันได้” กุ๊กไก่บอก

แต่มาถึงจะให้นั่งคุยกันเลยก็ลำบาก ต้องมีเครื่องมือเข้ามาช่วย นอกจากเครื่องมือที่ดีอย่างหนังสือแล้ว ยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่ 2 สาวช่วยกันคิดทำขึ้นมา ป่านยกตัวอย่างให้ฟัง

“ที่ร้านจะมีการสร้างธีมหนังสือ 12 เดือน นอกจากทำให้พวกเราเองไม่เบื่อแล้ว ก็ทำให้เราชวนทุกคนคุยเรื่องต่างๆ ได้แบบเนียนๆ เช่น ที่ผ่านมาก็มีธีมเรื่อง ‘ติด tag’ คือเรากำลังตีตราใครอยู่หรือเปล่า? เราก็นำเสนอผ่านนิทรรศการเล็กๆ โดยคัดเลือกหนังสือที่เกี่ยวข้อง มีรูปให้ชวนคิด ผ่านประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง มีโพสต์อิท ให้ทุกคนก็จะมาเขียนแปะไว้ และอ่านความเห็นของคนอื่นได้ด้วย”

ชวนมา “อ่าน” กันและกัน ใน Fathom Bookspace

นิทรรศการเล็กๆ ที่เปลี่ยนตามธีมแต่ละเดือนจะแปลงโฉมหน้าร้านไปด้วย กุ๊กไก่บอกว่าไม่ถึงกับเป็นนิทรรศการให้ความรู้หนัก เป็นเพียงการตั้งคำถามเพื่อชวนคิดชวนคุยเท่านั้น นักออกแบบกระบวนการอย่างกุ๊กไก่สนุกกับการคิดเครื่องมือต่างๆ มาพูดคุยกัน เช่น เวิร์คชอปปักผ้า ก็ไม่เป็นเพียงการเรียนปักผ้าให้ได้วิชากลับไป แต่ยังชวนดูใจและรู้จักจังหวะของตัวเองระหว่างปักไปด้วย เป็นต้น ป่านบอกว่าพวกเธอสนใจเรื่องการเรียนรู้ภายในตน ซึ่งไม่ได้เท่ากับธรรมะที่สงบนิ่งเท่านั้น การทำความเข้าใจตัวเองมีวิธีการหลากหลาย สนุกสนานขำกลิ้งก็ได้ พวกเธอเคยจัดโยคะภาวนา ที่การภาวนาคือเสียงหัวเราะของคนทั้งคลาส

ชวนมา “อ่าน” กันและกัน ใน Fathom Bookspace

เพราะสนใจบทสนทนาระหว่างภายในและภายนอก หนังสือในร้านซึ่งส่วนใหญ่เน้นวรรณกรรมและปรัชญา จึงมีหนังสือแนวเรียนรู้ตัวเอง เชื่อมโยงกับธรรมชาติ และหนังสือเกี่ยวกับครอบครัวอีกด้วย

ทำให้ลูกค้าประจำของพวกเขามีหลากหลาย ทั้งครอบครัวที่พาลูกๆ มาอ่านหนังสือ เล่านิทานกัน เด็กนักเรียนสาวๆ ที่จับกลุ่มมานอนอ่านหนังสือกันที่ชั้น 2 พนักงานออฟฟิศที่สู้อุตส่าห์เดินมาจากที่ทำงานตัวเอง 20 นาทีทุกพักเที่ยง เพื่อซื้อหนังสือ อ่านหนังสือ อยู่ในร้าน 20 นาที แล้วก็เดินกลับไปทำงาน

บางคนก็มาพร้อมกับคีย์เวิร์ด อย่าง “เพิ่งเลิกกับแฟน ช่วยแนะนำหนังสือให้หน่อย”

นี่ก็เป็นบริการที่เจ้าของร้านยินดียิ่งที่จะทำให้ “เราสองคนชอบเลือกหนังสือให้คนอ่านค่ะ” อ้อ แล้วเราก็เพิ่งรู้ว่านักเปียโนหนุ่มที่นั่งเล่นเปียโนอยู่ คือลูกค้าที่ทำงานในละแวกนั้น เปียโนที่ตั้งไว้จึงไม่ใช่เพื่อคนของทางร้านเท่านั้น แต่สำหรับผู้มาเยือนได้นั่งลงเล่นผ่อนคลายทั้งตัวเองและผู้มาเยือนร้านแห่งนี้ด้วย

ชวนมา “อ่าน” กันและกัน ใน Fathom Bookspace

บางคนบอกว่าที่นี่บรรยากาศเหมือนบ้าน หรือเป็นโลกอีกใบอันแสนสงบ และชอบจนอยากเก็บเอาไว้คนเดียวไม่บอกใคร แต่จริงๆ แล้วบอกต่อเถอะ เพราะร้านหนังสือเล็กๆ จะอยู่ได้ยั่งยืนก็ต้องอาศัยจำนวนคนมาอุดหนุนร้าน นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ป่านและกุ๊กไก่เลือกทำเลในซอยสวนพลู นอกจากจะมีคนพลุกพล่านแล้ว ยังมีส่วนผสมของชุมชนผู้อาศัยอยู่แต่ดั้งเดิม และชุมชนคนทำงานท่ามกลางตึกระฟ้าอีกด้วย

ต่อให้บรรยากาศร้านแตกต่างจากภายนอกโดยสิ้นเชิง Fathom Bookspace ก็ไม่ได้วางตัวผิดแผกไปจากคนอื่น แถมยังค้นพบว่าร้านรวงเก่าแก่ในซอยแห่งนี้ก็มีทีเด็ดที่น่าสนใจอยู่มากมาย แผนการในอนาคตของพวกเธอจึงอยากทำกิจกรรมบางอย่างกับชุมชนรอบข้าง ยืนยันว่าพวกเธอไม่ได้อยากทำให้เป็นแนว NGO จ๋า แต่อยากให้สิ่งที่นำเสนอเป็นเรื่องธรรมดา

“ไม่ได้อยากให้การอ่านเป็นเรื่องของคนมีการศึกษา” หรือ "การรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของนักกิจกรรมเท่านั้น " แต่เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้ และทำอย่างสนุกด้วย พวกเธอสอดแทรกสิ่งเหล่านี้ไว้เป็นส่วนหนึ่งของร้าน เช่น มีบัตรรักษ์วาฬ รักษ์ต้นไม้ เป็นบัตรส่วนลดให้กับคนที่ซื้อเครื่องดื่มแล้วเอาแก้วมาเอง ให้สิ่งเหล่านี้หลอมเข้าไปในชีวิตปกติ

ที่นี่เป็นร้านหนังสือช่างจัดกิจกรรม แต่ละอันก็สนุกสนานเปิดมุมมองความคิดได้ดี “บางคนใหม่มาก คือไม่เคยเจอกับการทำกระบวนการ ไม่เคยคุยเรื่องนี้เลย แปลกใหม่สำหรับเขามาก บางคนที่คุ้นเคยอยู่แล้ว ก็ได้มาทบทวนตัวเอง” เราเคยร่วมกิจกรรม “หนังสือมนุษย์” ของที่นี่ บอกเลยว่าสนุกมากกว่าที่คิดเยอะ ใครอยากลอง “คุย” กับคนอื่น เพื่อ “อ่าน” ความคิดทั้งในและนอกตน เราว่าที่นี่เหมาะนะ

ไปแล้วอย่าลืมถามว่า ทำไมเขาตั้งชื่อร้านว่า Fathom ด้วยนะคะ

Fathom Bookspace สาทรซอย 3 (ซอยสวนพลู) ตรงข้ามสน.ทุ่งมหาเมฆ Facebook: fathombookspce