BNK48 แค่ใหม่ หรือใช่ ‘ปรากฏการณ์’

BNK48 แค่ใหม่ หรือใช่ ‘ปรากฏการณ์’

ยอดขายซีดีกว่าหมื่นแผ่น ภาพถ่ายพร้อมลายเซ็นที่ราคาไหลไปถึงหลักหมื่นบาทของเกิร์ลกรุ๊ปน้องใหม่ ‘BNK48’  ..หรือนี่คือปรากฏการณ์ใหม่ที่ต้องจับตามอง

ไอดอลที่แท้ทรู

ก่อนจะว่ากันเรื่อง BNK48 เราต้องทำความเข้าใจ “ไอดอล” ให้ตรงกันเสียก่อน เพราะหลายๆ คนอาจจะคิดถึง “เน็ตไอดอล” ออกแนวขาว ใส หรือสายเซ็กซี่อย่างที่เห็นกันบ่อยๆ ตามโซเชียลมีเดีย แต่ถ้าย้อนกลับไปหาต้นตำรับของ “ไอดอล” อย่างในประเทศญี่ปุ่นแล้วนั้น เรากำลังพูดถึงสาวๆ น่ารักที่เต็มไปด้วยเสน่ห์เฉพาะตัว

อาจไม่ได้ร้องเก่ง เสียงทรงพลัง สเต็ปเทพ หรือเดินสายประกวดตามเวทีต่างๆ แต่จุดขายของพวกเธออยู่ที่การเป็นเด็กสาวธรรมดาๆ ที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งแฟนๆ จะได้มีส่วนร่วมในการผลักดันและได้เห็นการเติบโตหรือพัฒนาการของสาวๆ เหล่านี้

และสำหรับ BNK48 ก็ถือเป็นวงไอดอลน้องสาวของ AKB48 ที่โด่งดังมากในประเทศญี่ปุ่น จนภายหลังมีวงสาขาเกิดขึ้นมากมาย จนเรียกรวมๆ กันว่า ‘48 Group’

48 Group เกิดขึ้นจากโปรเจค Akihabara 48 หรือ AKB48 โดย อากิโมโตะ ยาสึชิ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2005 โดยอาศัยแนวคิดที่ว่า  คือ ไอดอลที่ไปพบได้ โดยพวกเธอมีโรงละครเป็นของตัวเอง มีการแสดงหมุนเวียนโดยสมาชิกแต่ละทีมทุกวัน ทำให้แฟนๆ รู้สึกว่า เป็นไอดอลที่ใกล้ตัว สามารถไปพบได้จริง

แม้ในปีแรกๆ ของการก่อตั้งจะเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ แต่ในที่สุด AKB48 ก็สามารถสร้างฐานแฟนๆ ขึ้นมาได้ โดยพวกเธอสามารถทำยอดขายซีดีทะลุ “ล้านแผ่น” ต่อเนื่องในทุกอัลบั้มที่วางจำหน่ายมาอย่างน้อย 7 ปีแล้ว

หนึ่งในความพิเศษของ 48 Group คือ การที่แฟนๆ ได้มีส่วนร่วมในการ “เชียร์” ไอดอลของตัวเองผ่านการ “โหวต” ซึ่งเรียกกันว่า เป็นการเลือกตั้งเพื่อให้ไอดอลที่ตัวเองชื่นชอบได้เป็น “ตัวจริง” ของวงที่จะได้ร้องและเต้นในเพลงหลักที่จะมีขึ้นในครั้งต่อไป โดยบัตรโหวตจะถูกแถมมาในซีดี นั่นย่อมหมายความว่า ยิ่งคุณซื้อมากเท่าไหร่ ไอดอลของคุณก็จะได้คะแนนโหวตเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง (แต่วิธีการคัดเลือกแบบแปลกๆ เช่น เป่ายิ้งฉุบ ก็มีนะ)

อีกหนึ่งอีเวนต์ที่ดูดเงินในกระเป๋าของเหล่าโอตะ นั่นคือ งานจับมือ ซึ่งจะเปิดกันเป็นรอบๆ โดยเชื่อมโยงกับซิงเกิลที่วางขาย.. และเช่นกัน นั่นก็คือ เราต้องไปจองรอบและไอดอลที่เราอยากใกล้ชิดด้วย (ถ้าดังมาก โอกาสได้ก็จะน้อย) และลุ้นว่า จะได้รับเลือกหรือไม่ เพราะระบบจะสุ่มให้ หากได้เป็นผู้โชคดี นั่นก็คือ คุณจะเสียเงินราวพันเยนเศษๆ แลกกับซีดีหนึ่งแผ่น และ “10 วินาที” (ไม่นับเวลาต่อแถวอันยาวเหยียด) ที่จะได้ใกล้ชิดจับมือไอดอลสาวในฝันนั่นเอง

จากญี่ปุ่น สู่ไทย

000 จากโมเดลที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์ของ 48 Group เมื่อมาถึงเมืองไทย กับปรากฏการณ์สาวๆ BNK48 ที่วันนี้ เริ่มมีงานเดินสายไปออกงานอีเวนต์ต่างๆ รวมถึงการไลฟ์สดที่ Digital live studio ในห้างเอ็มควอเทียร์ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นตู้กระจก (เรียกกันเล่นๆ ว่า ตู้ปลา) และถ้าใครเดินผ่านไปแถวนั้นในช่วงเวลากำลังไลฟ์พอดี ก็ไม่ต้องตกใจถ้าเจอคนมุงกันให้แน่น ไม่ใช่นักเรียนช่างตีกัน แต่เหล่าโอตะ เขามามุงให้กำลังใจ และถ่ายรูปขวัญใจที่ตนเองชื่นชอบต่างหาก

และอย่างที่เล่าไว้ข้างต้นเกี่ยวกับยอดขายซีดี 13,500 แผ่นของพวกเธอที่นอกจากจะทำให้คนทั่วไปแอบงงว่า นี่มันวงอะไรกัน ก็คงต้องงงหนักกว่า ถ้ารู้ว่า รูปถ่ายพร้อมลายเซ็นของ เฌอปราง อารีย์กุล กัปตันแห่ง BNK48 ที่ถูกจัดให้เป็นระดับ SSR (Super Super Rare) ราคาถูกปั่นกันไปถึงหมื่นห้ายังหาซื้อไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

หรืออย่างเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา 8 สาว BNK48 ไปร่วมงานบุญ และจัดกิจกรรมประมูลรูปพร้อมลายเซ็น ผลก็คือ พวกเธอสามารถทำยอดประมูลได้รวมกว่า 2 แสนบาท โดยภาพถ่ายของเฌอปราง ถูกประมูลสูงถึง 77,700 บาทเลยทีเดียว

ลายเซ็นศิลปินดาราดังๆ ยังไม่แพงเท่าของเฌอปรางเลย ทั้งๆ ที่ความดังของน้องเทียบไม่ได้เลย เอาง่ายๆ ถ้าน้องไปเดินตามข้างถนน ก็ไม่มีใครรู้จักหรอก แต่ความต่างกันคือ ถึงเราเดินไปเจอน้องจะเข้าไปขอถ่ายรูปด้วยนี่ไม่ได้นะ ซึ่งเอาจริงๆ บางคนเขาเห็นอาจจะหมั่นไส้เลยก็ได้ เพราะไม่ได้ดังแต่ทำไมเข้าถึงยาก ถ้าไปเจอณเดชน์แล้วเข้าไม่ถึงสิ..ไม่แปลก” เฉลิมพล สูงศักดิ์ หรือ “น้าเหลิม” แห่งวงดนตรีโอตะคุแบนด์ Seal Pillow อธิบายถึงปรากฏการณ์ที่คนอื่นอาจเข้าใจยากสักหน่อย ซึ่งในความจริง ไม่ใช่เพราะความหยิ่ง แต่เป็นเพราะโมเดลธุรกิจที่ถูกกำหนดไว้จากวงพี่สาว

“การตีมูลค่าแบบนั้นมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรนะ เพราะนั่นคือการบริหารจัดการมูลค่าของคนดัง” พีรพิชญ์ ฉั่วสมบูรณ์ หรือ “ป๊อกกี้” ผู้เขียนหนังสือ “12-4-48” จากประสบการณ์ 12 วันในประเทศญี่ปุ่น กับมิชชั่นตามกรี๊ดไอดอลเกิร์ลกรุ๊ป AKB48 ร่วมเสริมระหว่างงานเสวนา “ประวัติศาสตร์ไอดอลที่เพิ่งสร้าง” เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 ส.ค.60)

สำหรับ เฉลิมพล เองทั้งในฐานะแฟน และในฐานะคนที่ติดตามวงการนี้มาไม่น้อยบอกว่า “ยอดขายซีดี 13,500 แผ่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ถ้าในระยะยาวคงไม่พอ เพราะ 48 มันคือสถาบัน ไม่ใช่วงดนตรีหรือเกิร์ลกรุ๊ปแบบทั่วๆ ไป ไม่ใช่เฟย์ฟางแก้วที่จะเป็นเฟย์ฟางแก้วไปตลอด แต่สำหรับน้องๆ 48 พอวันนึง เขาก็ต้อง Grad ออกไป (Graduate - จบการศึกษา หมายถึงการออกจากวง) ซึ่งระหว่างที่น้องยังอยู่ ทางค่ายก็ต้องพยายามพัฒนาศักยภาพ หรือต่อยอดให้เด็กสามารถเข้าสู่วงการบันเทิงอย่างเต็มตัวได้ ซึ่งถ้าคิดแต่จะดูดเงินจากโอตะอย่างเดียว มันไม่ใช่โมเดลที่ยั่งยืน”

ทำอย่างไรให้ไกลกว่า ‘นิช’

JOOX & BNK48_6_1

สำหรับหลายๆ คนที่สนใจการมาถึงของ BNK48 แน่นอนว่า ต้องตั้งคำถามถึงความอยู่รอดในระยะยาวของสาวๆ วงนี้ ซึ่งทั้ง พีรพิชญ์ และ เฉลิม ต่างเห็นตรงกันว่า การปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับตลาดไทย คือ เรื่องจำเป็น

“เหมือนเคเอฟซีน่ะครับ ที่เขาก็ต้องหาเมนูใหม่ๆ จะให้กินไก่ทอดตลอดคงไม่ได้ ซึ่ง BNK ก็ต้องหาข้าวยำไก่ซี้ดที่คนไทยอยากกินให้เจอ” พีรพิชญ์ เอ่ย

เสริมโดย ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล หรือ “นัทคุง” แฟนพันธุ์แท้ญี่ปุ่น และเจ้าของเพจ Nut Kun นัทคุง ที่แสดงความเป็นห่วงถึงการบริหารศิลปินในตอนนี้ว่า อาจยังไม่ได้เหมาะกับตลาดไทยเท่าไรนัก โดยเขาเปรียบเทียบขนาดตลาดตอนนี้ว่า แม้จะเป็นตลาดเล็กแต่ก็เป็นเล็กที่ลึก (จริงจัง และพร้อมจ่าย) ซึ่งถึงแม้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ยังไม่สามารถพอใจในขนาดตลาดเท่านี้ได้ นอกจากนี้ที่น่าเป็นห่วงอีกอย่าง คือ การทำตลาดในลักษณะของการเป็นพรีเมียม เข้าถึงยาก และทุกอย่างมีราคานั้น เหมาะกับบ้านเรามากน้อยเพียงใด..

“มันเหมือนเอาความพรีเมียม (AKB48) ที่ประสบความสำเร็จแล้วมาใช้ในไทยแบบเป๊ะๆ ซึ่งกว่าเขาจะมาเป็นพรีเมียมได้ เขาต้องฝ่าฟันเยอะมาก แต่เด็กๆ ที่นี่ เขาเพิ่งเริ่มต้น บางทีก็ต้องคิดให้มากในเรื่องนี้นะ ส่วนตัวอยากให้แข่งกันด้วยการพัฒนาของที่ดีออกมา สร้างทางเลือกใหม่ให้วงการเพลง อาจจะมีนักร้องศิลปินหน้าใหม่ ที่ไม่ต้องโผล่มาจากรายการประกวดร้องเพลงเดิมๆ มันก็เป็นอีกทางเลือกนึงของสังคม ซึ่งสำหรับคนดูเอง เราก็สนุกกับการได้เชียร์การเจริญเติบโตของเด็กคนนึง จากบ๊องๆ แบ๊วๆ เขาพัฒนามาได้ไกล เหมือนมอนสเตอร์ตัวนึง ตบคนเป็นแสนได้ มันไม่เหมือนคนที่เราเห็นจากเวทีประกวดที่เขา ready pack มาพร้อมแล้ว แต่ไอดอลนี่ ดูๆไป เริ่มน่ารัก เราเห็นแล้วสนุก อยากเชียร์” เจ้าของตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้ญี่ปุ่น เอ่ยเสริม

ไม่ต่างกันกับเฉลิมที่มองว่า ณ ตอนนี้ สิ่งที่ค่ายน่าจะโฟกัสให้มาก ก็คือการพยายามผลักดันและพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ ให้ไปได้ไกลขึ้น

“การไปสู่แมสสำคัญสำหรับเด็กมาก วงไอดอลถ้าทำแล้วเวิร์ค มันก็สนับสนุนวงการเพลงไทยด้วยนะ วงการเพลงไทยมันดูเหมือนจะแย่ แต่ถ้าจับทางถูกก็น่าจะสามารถดึงผู้บริโภคให้กลับมาคึกคักได้” เฉลิม บอก

และตบท้ายโดยป๊อกกี้ที่ย้ำว่า

“เสน่ห์ของเด็กๆ คือ เราได้เห็นเขาเริ่มต้นจากศูนย์ และค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปถึง 100 แต่สำหรับค่ายนี่ไม่ได้นะ คุณต้องเริ่มต้นที่ 100 และรักษามาตรฐานเอาไว้ให้ได้”