น้อยแต่มากที่ Nubra Valley

น้อยแต่มากที่ Nubra Valley

“ความไม่คาดหวัง มักไม่ทำให้ผิดหวัง แล้วนำมาซึ่งความประหลาดใจได้เสมอ” นอกจากประโยคนี้จะใช้ได้ดีกับเรื่องความรักแล้ว ยังใช้ได้อย่างเหมาะเจาะกับเรื่องการเดินทาง

จากเลห์เมืองหลวงของแคว้นลาดักห์ เขตแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย เดินทางไปอีก 125 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของ Nubra Valley (นูบร้าวัลเลย์) หรือชื่อเดิม Ldumra เมืองที่มีความหมายสวยงามละมุนละไมว่า “หุบเขาแห่งดอกไม้” เป็นปลายทางของเราในวันนี้ใช้เวลาเดินทางจากเลห์ประมาณ 6 ชั่วโมง

เส้นทางเขาสูงชันไปยัง Nubra Valley (1)

เป็นอีกครั้งที่พวกเราทั้ง 14 คนต้องเดินทางบนถนนสูงชัน เลี้ยวลดคดเคี้ยวไต่ไปตามไหล่เขาซึ่งไม่มีรั้วกั้น ฟังดูเป็นเส้นทางที่น่าหวาดเสียว แต่พอเอาเข้าจริงวิวภูเขารูปทรงประหลาดและสีสันแปลกตาสองข้างทาง ทำให้ลืมความหวาดเสียวนั้นไปจนหมด เหลือแต่ความรู้สึกตื่นตาที่สร้างความประทับใจมาไว้แทนที่ เส้นทางไต่ระดับขึ้นไปสูงขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากทัศนียภาพที่แปลกตาไปในแทบทุกชั่วโมง แนวเขาออกสีดินน้ำตาลอ่อนๆ ดูแห้งแล้งเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นจึงค่อยๆ เห็นสีขาวจากหิมะเข้ามาเติมแต้มสีสัน เผลออีกทีภูเขาทั้งลูกก็กลายเป็นสีขาวล้วนเมื่อขึ้นไปยังจุดที่สูงขึ้นจากระดับน้ำทะเล

เมื่อมาอยู่ในที่สูงออกซิเจนบางเบาระดับนี้ สำหรับคนแปลกถิ่นอย่างพวกเรา การเดินและทำทุกอย่างให้ช้าที่สุด เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรฝ่าฟืนกฎเป็นอันขาด แต่ฉันก็ลืมอยู่เป็นประจำ ยิ่งเส้นทางวันนี้ด้วยแล้วอาจจะเจอกับ Altitude Sickness (AMS) โรคหรือภาวะที่เกิดจากการอยู่ในพื้นที่เหนือระดับน้ำทะเลเอาง่ายๆ อาการก็มีตั้งแต่ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ เหนื่อยง่าย หายใจไม่ทัน บางคนคลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ เห็นภาพซ้อน ไปจนถึงขั้นแน่นหน้าอก หมดสติ เป็นภาวะที่ไม่เข้าใครออกใครและสามารถเกิดได้กับทุกคนเพราะฉะนั้นไม่ประมาทและดูแลตัวเองไว้ก่อนเป็นดีที่สุด

"DON”T RUN, WALK SLOWLY!!” เสียงไกด์เตือนอีกครั้งเมื่อมาถึง Khardung La Pass เส้นทางถนนที่สูงที่สุดในโลก จุดไฮไลท์ระหว่างทางบนระดับความสูงราว 5,602 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ครั้งนี้น่าจะเป็นการเตือนครั้งที่ร้อยแปดแล้วเห็นจะได้

Diskit Gompa ที่ Nubra Valley (3)

เกือบตลอดเส้นทางมีการซ่อมปรับปรุงถนน ได้ยินมาว่าถนนแถบนี้ต้องซ่อมแซมบำรุงอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากมักได้รับความเสียหายจากหินถล่ม การกัดกร่อนของหิมะหรือไม่ก็จากการกัดเซาะของน้ำอยู่ตลอด ป้ายริมทางเขียนข้อความคล้ายเป็นคำคมให้ขับรถไม่ประมาท มักมีตัวอักษร ‘BRO’ สอดแทรกอยู่ในข้อความเสมอ สืบเสาะไปมาจึงได้รู้ว่า BRO ย่อมาจาก Border Roads Organisation ถนนทุกสายที่สร้างขึ้นบนที่สูงแถบภูมิภาคลาดักห์ของอินเดียเหนืออยู่ภายใต้โครงการ Himank Project โดยเริ่มการก่อสร้างต้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ.1985 เป็นต้นมา หลังอินเดียเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังพื้นที่แถบนี้ได้ในช่วงปี ค.ศ.1974

จาก Khardung La Pass เราเดินทางลดระดับลงมายัง Nubra ที่ระดับความสูง 3,084 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ช่วงพฤษภาคมต้นไม้ใบหญ้ายังไม่ผลิดอกออกใบให้เห็นมากนัก เราจึงยังไม่ได้ซึมซับกับภาพความงามของหุบเขาดอกไม้ในจิตนาการ แต่แค่ถูกโอบล้อมด้วยเทือกเขา Karakoram (คาราโครัม) และเทือกเขาหิมาลัย ปราการธรรมชาติอันยิ่งใหญ่กั้นเขตแดนระหว่างอินเดียกับปากีสถาน แค่นี้ก็รู้สึกว่าตัวเล็กลงมากแล้วเมื่อเทียบกับความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ

จากที่พักเรานั่งรถมาอีกหน่อย เพื่อมาชมความงามของทะเลทรายสีเงินที่หมู่บ้าน Hunder (ฮุนเดอร์) รถวิ่งขนานไปตามแนวทะเลทรายทอดยาวไปราว 3 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน Hunder กับ Diskit แม้ไม่ใช่ระยะทางที่ยาวนัก แต่ก็มีพื้นที่พอให้ทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างเช่นการขี่อูฐได้ 

Hundur Village Sand Dunes (2)

อูฐนูบร้า เป็นอูฐสองหนอก พันธุ์ Bactrain ตัวไม่ใหญ่เหมือนอูฐแถบโอมานหรืออิยิปต์ อูฐสองหนอกพบได้ในพื้นที่อื่นทางตอนเหนือของอินเดียเช่นกัน เดิมทีใช้เป็นพาหนะหลักสำหรับขนส่งสินค้าตามเส้นทางแถบเอเชียกลาง ถึงจะรู้แบบนี้แต่เมื่อได้ยินเสียงอูฐร้องระงมเทียบกับปริมาณนักท่องเที่ยวที่มาขี่อูฐในแต่ละวัน พวกเรารู้สึกสงสารอูฐกันมาก หลายคนถึงขนาดบอกว่าต่อไปนี้จะไม่ขี่อูฐอีกแล้ว จึงหันไปให้ความสนใจกับเนินทรายและต้น Seabuckthron ที่ขึ้นแซมเป็นหย่อมๆ อยู่ในทะเลทรายแทน ฉันว่าเนินทรายสีเงิน ต้นไม้ทรงพุ่มกับฉากของภูเขาไล่เฉดสีที่แสนอลังการก็เพียงพอให้เต็มอิ่มกับความงามบนทะเลทรายขนาดย่อมนี้ได้แล้ว

Diskit Monastery เป็นพระอารามเก่าแก่ที่สุดของนูบร้า สร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 14 โดยลามะชื่อ Changzem Tserab Zangpo มีอายุกว่า 500 ปี เป็นพระนิกายหมวกเหลืองหรือ Gelugpa (เกลุกปะ) จากประวัติพบว่า วัดแห่งนี้เป็นสาขาของวัด Thiksey ที่อยู่ในเมืองเลห์ พื้นที่วัดแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกวัดเก่าดั้งเดิม (Old Diskit Gompa) อยู่บนเนินสูงติดกับหน้าผาระหว่างหุบเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่าน สมัยก่อนลามะใช้บันไดที่สร้างขึ้นเลียบริมผาขึ้นลงไปตักน้ำมาใช้ยังอาราม ต้องใช้ทั้งความอดทนและความเสี่ยง จากวัดเก่ามองออกไปเห็นพระพุทธรูปพระศรีอาริยเมตไตรองค์ใหญ่ หรือที่ชาวทิเบตเรียกว่า ‘จัมปะ’ ทางฝั่งวัดใหม่ (New Diskit Gompa) ตั้งประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง

Diskit Gompa ที่ Nubra Valley (5)

 

ลาดักห์เต็มไปด้วยวัดวาอารามมากมายที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมเยือน บรรยากาศภายในวัดของที่นี่ เป็นศรัทธาความเชื่อที่มาจากความเคารพ มากกว่าความงมงายหรือการอ้อนวอนขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วิถีปฏิบัติที่เคร่งครัดผสานไปกับความยืดหยุ่น เราจึงยังเห็นลามะนั่งจับกลุ่มคุยกันสนุกสนาน ทำกิจกรรมบางอย่างที่ออกไปทางบันเทิง เช่น การเต้นรำ หรือแม้แต่การออกกำลังกาย แต่ทุกวิถีถูกยึดโยงไว้ด้วยการรู้ตัว สติและสมาธิ ที่จับต้องได้มากกว่าเป็นแค่ทฤษฎี

ตอนได้ยินว่าแผนการเดินทางว่าเราจะไปยังหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ Nubra เป็นหมู่บ้านที่ไม่เจริญนัก การใช้ไฟฟ้าต้องกำหนดเวลาเปิดปิด แล้วต้องค้างที่นั่นหนึ่งคืนก่อนไปต่อ คำว่า ‘เล็กๆ’ ทำให้ฉันไม่คาดหวังว่าจะได้เจออะไรที่ทำให้ประหลาดใจ แต่เอาเข้าจริง Nubra เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่เหมาะกับนิยามที่ว่า “น้อยแต่มาก” ความอ่อนโยนของผู้คน หรือแม้แต่ความเงียบสงบ ที่ว่าไปแล้วยังแตกต่างจากที่อื่น ความเงียบของที่นี่ชวนให้สัมผัสถึงความเงียบที่ไม่ใช่แค่ ‘เสียง’ แต่เป็นความเงียบที่ชวนให้จิตใจสงบเมื่อได้อยู่ห้อมล้อมด้วยธรรมชาติ คล้ายว่าธรรมชาติกำลังร่ายมนตราส่งพลังบางอย่างให้กับเรา

Diskit Gompa ที่ Nubra Valley (1)

"1 วันกับอีก 1 คืน ไม่พอ...เราใช้เวลากับที่นี่น้อยเกินไป!” ทุกคนลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกัน

แต่อาจเพราะเหตุผลนี้ที่ทำให้ความทรงจำของ Nubra เป็นความทรงจำที่มักมีเสียงเรียกจากข้างในบอกให้กลับไปอีกสักครั้ง ความขรุขระคดเคี้ยวของเส้นทางอาจทำให้รู้สึกเหนื่อยและเมื่อยล้า แต่ความสดชื่นและพลังที่ได้กลับมานั้นมีคุณค่ามหาศาล เพราะบรรยากาศรอบข้างทำให้หัวใจเต้นแรงเหมือนถูกชุบชีวิตกลับมาอีกครั้ง...