มวยไทย จากสังเวียนผ้าใบสู่เศรษฐกิจโลก

มวยไทย  จากสังเวียนผ้าใบสู่เศรษฐกิจโลก

หมัด-เท้า-เข้า-ศอก มีความหมายมากกว่าเกมกีฬาต่อสู้ แต่คือสินค้าวัฒนธรรมที่รอเพิ่มมูลค่าสู่เศรษฐกิจ

ตามบันทึกประวัติศาสตร์ แม่ไม้มวยไทยมีไม่น้อยกว่า 4-5 รูปแบบ อาทิ มวยลพบุรี มวยโคราช มวยไชยา มวยท่าเสาหรือมวยพระยาพิชัยดาบหัก มวยพลศึกษา โดยที่ทั้งหมดมีเอกลักษณ์แตกต่างกัน

ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นมวยไทยสายลพบุรี กระบวนท่าจะเกี่ยวข้องกับตำนานการสร้างเมืองและบทละครจากเรื่องรามเกียรติ์ เห็นได้จากชื่อท่า หนุมานถวายแหวน พระรามน้าวศร หักงวงไอยราหักคอเอราวัณ ฯลฯ แต่ถ้าเป็นมวยไทยสายไชยา จะแตกต่างเรื่องการตั้งท่าและจดมวย การไหว้ครู เพราะเคล็ดมวยไทยไชยาจะเด่นเรื่อง ป้อง-ปัด-ปิด-เปิด ขณะที่มวยพลศึกษาเวลาขึ้นชกจะสวมมงคลที่ศรีษะ ผูกผ้าประเจียดที่ต้นแขนทั้งสองข้างเป็นสัญลักษณ์

ศิลปะ-กีฬา-อาชีพ

นิยามของมวยไทยมีมากกว่าเรื่องศิลปะการต่อสู้ แต่มันคือมรดกของประเทศ เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมและความภาคภาคภูมิใจ

ในงาน 'มวยไทย สืบสานอัตลักษณ์ไทยสู่เวทีเศรษฐกิจโลก' ซึ่งจัดขึ้นโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทีมอาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพเผยแพร่ผลวิจัยว่าด้วยมวยไทยและการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจตอนหนึ่งว่า มิติของมวยไทยที่สังคมปัจจุบันรับรู้ร่วมกันมีมากถึง 7 มิติ ทั้งในเรื่องการเป็นมรดกชาติ การกีฬา ศิลปะป้องกันตัว การออกกำลังกาย ศิลปะการแสดง Sport Entertainment และเป็นแบรนด์สินค้าส่งออกที่หลากหลาย ซึ่งทั้งหมดมีทรัพยากรและเม็ดเงินมาเกี่ยวข้องจำนวนมาก

 “มวยไทยเชื่อมโยงกับอาชีพ การสร้างรายได้ หากมองในมุมเศรษฐกิจจะสามารถแบ่งเป็น 3 คลัสเตอร์หลัก ได้แก่ เครือข่ายบุคลากร อาทิ นักมวย ครูมวย เทรนเนอร์ประจำค่าย ผู้ตัดสิน เครือข่ายธุรกิจบริการด้านมวย เช่น ผู้จัดการจัดการแข่งขัน ผู้จัดสปอร์ตอีเวนต์ต่างๆ การโชว์ตัวในงานต่างๆ เครือข่ายสินค้าอุปกรณ์กีฬาและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับมวยไทย เช่น ของที่ระลึก กางเกงมวย ที่รัดแขนนักมวย ซึ่งมักอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวในการซื้อไปฝาก” ดร.กาญจนา ส่งวัฒนา รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะเศรษฐศาสตร์และการลงทุน อธิบาย

จากการรวมรวมข้อมูลสถานการณ์มวยไทย อ้างอิงกับการจดทะเบียนกับการกีฬาแห่งประเทศไทย พบว่า มีค่ายมวยไทยในประเทศไทยทั้งหมด 5,100 ค่าย โดยในจำนวนนี้บุคลากรผู้ฝึกสอนมวยทั้งหมด 1,518 คน ผู้ตัดสินมีทั้งหมด 2,043 คน มีผู้จัดการแข่งขันมีทั้งหมด 3,148 คน มีนายสนามมวย 37 คน

ส่วนการแข่งขันที่จัดเป็นประจำและถูกถ่ายทอดผ่านสถานีโทรทัศน์หลายเวที อาทิ เวทีช่อง 7 เวทีช่อง 3 (อ้อมน้อย) เวทีลุมพินี เวทีราชดำเนิน เวทีรังสิต เวทีอัศวินดำ เวทีอุบลราชธานี เวทีมีนบุรีสปอรต์ มีบริษัทระดับนานาชาติซึ่งถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอด อาทิ Thai Fight โดยบริษัทสปอร์ต อาร์ต จำกัด , Topking World Series โดยบริษัท ท็อปคิง บ็อกซิ่ง เอชเค จำกัด , Max Muay Thai โดยบริษัท แม็กซ์ มวยไทยจำกัด

ขณะที่ค่ายมวยในปัจจุบันก็ปรับตัวรูปแบบธุรกิจไปตามเทรนด์ของผู้บริโภค ไม่ใช่เป็นการฝึกซ้อมนักมวยเพื่อการแข่งขันอย่างเดียวเช่นวันวาน แต่ปรับให้สอดคล้องกับวิถีคนเมืองรุ่นใหม่ ที่ใช้มวยไทยเป็นเครื่องออกกำลังกายนันทนาการ กลุ่มนี้ใช้หลักสูตรพื้นฐานกีฬามวยไทยเพื่อการออกกำลังกาย มีทั้งคอร์สลดน้ำหนัก หลักสูตรการเป็นผู้ตัดสิน การเป็นผู้ฝึกสอน รวมทั้งใช้นักวิทยาศาสตร์การกีฬา นักโภชนาการเข้ามาร่วมด้วย เช่น Fitfac, คงสิทธา, เจริญทองยิม ฯลฯ หรือค่ายมวยแบบผสมผสานทั้งในมุมการสร้างนักกีฬาและเพื่อสันทนาการ เช่น ค่ายมวยศิษย์สองพี่น้อง แฟร์เท็กซ์ ฯลฯ

201609-05-174757_NN-0 7668be26f023f032c8ffbaebea21afaa

มวยไทยช่วยเศรษฐกิจโต

กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงาน 'มวยไทย สืบสานอัตลักษณ์ไทยสู่เวทีเศรษฐกิจโลก' ตอนหนึ่งว่า คลัสเตอร์มวยไทยถือเป็นเครือข่ายที่มีบทบาททั้งในเชิงเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศไทย โดยมูลค่าของมวยไทยที่เกิดขึ้นทั้งในด้านกีฬาอาชีพ กีฬาเพื่อสุขภาพ สินค้าสนับสนุน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี หากหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง คิดค้นวิธีการนำเสนอและปรับรูปแบบให้เข้ากับหลักการทางการตลาดได้ ก็จะสามารถเพิ่มรายได้ของประเทศไทยได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยในส่วนของภาครัฐ ได้มีมาตรการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาประสิทธิภาพในการประกอบการให้กับเอสเอ็มอี มุ่งเน้นกลุ่มเครือข่ายที่มีบทบาทความสำคัญทางเศรษฐกิจของไทยและมีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า ประเทศไทยส่งออกครูมวยไปสอนในต่างประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ธุรกิจมวยไทยได้รับความนิยมมาก สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ และเป็นกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ จนกลายเป็นกีฬาที่สร้างสุขภาพ มีความเป็นอัตลักษณ์ของชาติ

ถึงเช่นนั้นก็ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังขาดแผนแม่บทในการพัฒนาเครือข่ายอย่างเป็นระบบ ดังนั้น ในปี 2561 สสว.จึงได้มีการจัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายมวยไทยขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือและเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการในกลุ่มเครือข่ายมวยไทยที่เป็นที่ต้องการของตลาด มุ่งเน้นการรวมกลุ่มของเครือข่ายต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง

 ปรีชา ส่งวัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย งานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (เอสเอ็มไอ) กล่าวว่า การร่วมผลักดันมวยไทยให้หนุนเสริมเศรษฐกิจ ได้รับการตอบรับที่ดีจากเครือข่าย อาทิ โครงการเครือข่ายมวยไทย สมาคมมวยที่เกี่ยวข้อง ค่ายมวย โรงเรียนสอนมวยไทย โรงยิม และบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปกรณ์กว่า 50 บริษัท ซึ่งในส่วนของภาคอุตสาหกรรม หากธุรกิจต้นน้ำเติบโต ธุรกิจต่อเนื่องทั้งภาคบริการและสินค้า อุปกรณ์ต่างๆ ในภาคการผลิตจะเติบโตไปด้วย รวมถึงอุตสาหกรรมยา สมุนไพร อาหารสนับสนุนนักกีฬาที่เชื่อมโยงกับมวยไทยด้วยเช่นกัน

20170719002733686_1

Made in Thailand สู้ของเลียนแบบ

เมื่อมวยไทยเป็นทั้งกีฬาและเทรนด์ที่คนทั่วโลกรู้จักมานานแล้ว จึงเป็นธรรมดาที่ในตลาดจะมีผู้ประกอบการต่างชาติเข้าร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬาที่ใช้แม่ไม้มวยไทยมาเป็นจุดขาย ผลิตภัณฑ์กีฬา นวม กางเกงมวย คาแรกเตอร์ตัวละครในอุตสาหกรรมบันเทิง ภาพยนตร์ เกมส์ และอื่นๆ

วุฒินันท์ สังข์อ่อง ผู้ผลิตอุปกรณ์มวยแบรนด์ TUFF สะท้อนมุมหนึ่งว่า ทุกวันนี้สินค้าจากประเทศจีนเข้ามาตีตลาด เช่นเดียวกับแบรนด์กีฬาระดับนานาชาติที่ส่งสินค้าที่เชื่อมโยงกับมวยไทยออกมาจำหน่าย

“ถ้าเป็นแบรนด์จากประเทศจีนสินค้าเขาจะถูกกว่าเรา และก็จะได้ตลาดลูกค้าส่วนหนึ่งที่อาจจะเห็นแล้วอยากซื้อไว้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ชื่นชอบกีฬามวยจริงๆ ใช้ใส่ออกกำลังกาย เขาก็จะเลือกแบรนด์จากประเทศไทย เพราะคุณภาพดีกว่า เป็น Original เพราะมวยไทยต้องเป็นสินค้าที่ Made in Thailand เท่านั้น”

วุฒินันท์ บอกว่า สัดส่วนการจำหน่ายอยู่ที่ต่างประเทศเป็นหลัก โดยมีตลาดสากลอย่างอเมริกา ออสเตรเลีย บราซิล ที่ยังเชื่อมั่นในสินค้าจากประเทศไทย และถึงแม้ทุกวันนี้ประเทศเพื่อนบ้านจะมีแรงงานราคาถูกกว่า แต่มองว่ายังไม่ถึงเวลาที่ต้องย้ายฐานผลิตไปนอกประเทศ เพราะวัสดุหลักๆ ในการผลิตยังอยู่ในประเทศไทย และเป็นเรื่องที่รัฐต้องส่งเสริมกระบวนการ R&D สินค้า การเพิ่มกำลังผลิต การสร้างโรงเรียนสอนบุคลากรผลิต การควบคุมราคาต้นทุน ร่วมหานวัตกรรมใหม่ๆ และจัดงานแสดงสินค้าในระดับนานาชาติเพื่อสร้างตลาดและเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการหน้าใหม่ให้มากขึ้น

ธีรพันธ์ ชินานัด เจ้าของค่ายมวย ท.แสงเทียนน้อย กล่าวว่า บุคลากรส่วนใหญ่ในค่าย โดยเฉพาะผู้ฝึกสอน เทรนเนอร์ เป็นอดีตนักมวยเป็นหลัก และเชื่อว่าในประเทศไทยมีผู้ที่มีความรู้ความชำนาญด้านมวยไทยจำนวนมาก หากแต่สิ่งที่ค่ายเล็กค่ายน้อยเหล่านั้นต้องการ คือการหาตลาดที่จะรองรับบุคลากรหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างตลาดงานและชักจูงให้เกิดบุคลากรใหม่ๆ เข้ามาในระบบ

เมื่อจะทำ 'แบรนด์มวยไทย' ให้เป็นไฮไลท์ของประเทศแบบเดียวกับที่อาหารไทยทำได้ เครือข่ายมวยไทยจึงต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ไม่แยกส่วนต่างคนต่างทำอย่างที่เป็นอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้เสน่ห์ของแม่ไม้มวยไทย แปรเปลี่ยนเป็นมูลค่า สร้างผลกำไรให้กับผู้ประกอบในนาม Made in Thailand

ข้อเสนอส่วนหนึ่งของทีมวิจัย บอกว่า เริ่มจากการตั้ง Mindset ว่ามวยไทยไม่ใช่เรื่องต่อสู้ หรือวัฒนธรรมอย่างเดียวแล้ว แต่ความโด่งดังจะสร้างคน สร้างงาน สร้างเศรษฐกิจ เริ่มจากคลัสเตอร์ครูมวย นักมวย บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับมวย ซึ่งต้องใช้ Big data มาช่วยจัดระบบ เช่น การค้นหาครูมวย นักมวย ผู้ตัดสินที่มีมาตรฐานจากเว็บไซต์เพื่อลบจุดด้อยของบุคลากรที่อาจมาแอบอ้าง ไม่ได้มาตรฐาน คลัสเตอร์บริการ สนามมวย ค่ายมวย ยิมมวย สถาบันสอนมวยไทย โรงเรียนมวยไทย การจัดการแข่งขันมวยไทยต้องได้ระดับสากล คุ้มค่า คุ้มราคา ตอบสนองผู้บริโภคทุกกลุ่ม ขณะเดียวกับที่ต้องคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของมวยไทยให้เป็นเสน่ห์และความแตกต่าง

ส่วนคลัสเตอร์ผลิตภัณฑ์มวยไทยจะเชื่อมโยงกับการสร้างมาตรฐานสินค้า โรงงาน ต้นทุนการผลิต การประชาสัมพันธ์ ร่วมทุนกับองค์กรต่างๆ เพื่อสอดแทรกคอนเทนต์ของมวยไทย เข้ากับสินค้าอื่นๆ เช่น ภาพยนตร์ ละคร การท่องเที่ยว พัฒนาภาพลักษณ์มวยไทยให้เป็นกีฬาในระดับสากลและส่งเสริมการเติบโตของทุกห่วงโซ่อุปทาน

ให้มวยไทยวันนี้หรือวันหน้า ยังเป็นแบรนด์สินค้าและภาพลักษณ์ที่แข็งแรงของประเทศ