รักดี รักเรียน จนได้เป็นหมออนามัย

รักดี รักเรียน จนได้เป็นหมออนามัย

ทั้งๆ ที่ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ เพราะเป็นไทใหญ่ แต่ก็เพียรพยายาม จนเรียนจบคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

 คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะผลักดันตัวเองให้มีชีวิตที่ดีได้... 

เหมือนเช่น ฝ้าย-แสงเดือน ลุนเต๊ะ คนไทใหญ่ กว่าจะมีวันนี้ ความยากจนและไร้สัญชาติ ไม่ได้ทำให้เธอยอมสยบต่อชะตากรรม 

เธอผลักดันตัวเองร่ำเรียนจนจบคณะแพทยศาสตร์ สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ (อนามัยชุมชน) มหาวิทยาลัยพะเยา จ.พะเยา เพราะความเพียรพยายาม ประกอบกับมีคนให้โอกาสช่วยสนับสนุนทุนการศึกษา

ฝ้ายก็ไม่ต่างจากเด็กไร้สัญชาติมากมายตามชายขอบทางภาคเหนือของประเทศไทย แม่เคยอยู่ที่รัฐฉาน (รัฐหนึ่งในพม่า) แล้วอพยพมาอยู่ จ.เชียงใหม่ เธอเกิดที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ชีิวิตจึงวนเวียนอยู่กับการเห็นแม่ใช้แรงงานราคาถูก รับจ้างทั่วไป ไม่ว่าภาคเกษตรหรือร้านอาหาร

“เราเป็นคนไทใหญ่ ตอนเด็กๆ ต้องไปช่วยแม่เก็บสตรอว์เบอร์รีที่สวนสะเมิง ตอนนั้นอายุ 6-7 ขวบ ค่าเก็บสตอเบอร์รี่ เขาให้ถังละ 5 บาท เก็บตั้งแต่สี่โ มงเย็นถึงเที่ยงคืน วันหนึ่งก็เก็บได้ประมาณยี่สิบถัง ได้เงินวันละ 150 บาทก็เอาให้แม่ทั้งหมด เพราะแม่เป็นหนี้”

และไม่ได้แค่รับจ้างเก็บสตรอว์เบอร์รีอย่างเดียว เด็กตัวเล็กๆ อย่างเธอ ต้องนั่งตัดหัวสตรอว์เบอร์รี เพื่อนำเข้าโรงงาน ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น และบางคืนทำงานเกือบถึงเช้า

ในฐานะผู้อพยพที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย สิ่งเดียวที่เด็กอย่างเธออยากทำมากที่สุด คือ ไปโรงเรียน เรียนหนังสือ

“ตอนที่หนูช่วยเขาตัดหัวสตรอว์เบอร์รีเพื่อเอาเข้าโรงงาน ก็จะมีหนังสือพิมพ์ที่ใช้รองตะกร้า หนูก็เก็บหนังสือพิมพ์ไปอ่านที่บ้าน เพราะเคยมีคนสอนให้อ่าน ก็ค่อยๆ หัดสะกดคำ เพราะตอนนั้นไม่มีหนังสืออ่าน หนูก็เลยอ่านหนังสือได้ตั้งแต่เด็ก ตอนเห็นเพื่อนใส่ชุดนักเรียน สะพายกระเป๋าไปโรงเรียน ก็อยากเรียนบ้าง จนได้ไปโรงเรียนที่สอนเด็กม้ง”

เพราะแม่ทำงานรับจ้าง ย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย เมื่อมีโอกาสไปโรงเรียน เดินข้ามดอยที่สูงชันเป็นลูกๆ ลำบากแค่ไหน ก็ทนได้ ขอเพียงได้เรียนหนังสือ และระหว่างเรียนก็ต้องหางานทำ ทำให้ฝ้ายต้องเข้าๆ ออกๆ โรงเรียน เรียนซ้ำชั้นประถม และบางครั้งหยุดเรียนเป็นปี 

จนเมื่อโรงเรียนเปิดสอบจัดระดับความรู้สำหรับนักเรียนไทใหญ่ที่อายุมากแต่ยังเรียนชั้นที่ต่ำกว่าอายุ เธอก็สอบเลื่อนชั้นได้

“ฝ้ายเรียนได้เกรด 4.0 ทุกวิชาตั้งแต่เด็ก เพราะตอนนั้นโตเกินวัย ก็เลยต้องไปเรียนกับรุ่นน้อง แต่ขาดเรียนบ่อย ไม่จบซะที”      

3 เธอทำงานตั้งแต่เด็ก เพื่อเอาเงินไปซื้อข้าวและใช้จ่ายส่วนตัว ทำตั้งแต่รับจ้างปลูกหอม ปลูกพริก ปลูกถั่ว หรือเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ก็ทำหมด

“ส่วนใหญ่ฝ้ายจะสอบได้อันดับ 4-6 ของชั้น ฝ้ายจะทำงานและเรียนไปด้วย จนจบมัธยมปีที่ 6   ตอนแรกตั้งใจว่าจะเรียนหมอและพยาบาล แต่เรามีข้อจำกัด ไม่มีสัญชาติไทย เราก็คิดว่า ถ้าเป็นหมออนามัยคงช่วยคนได้เยอะกว่าอาชีพอื่น เพราะที่ที่ฝ้ายอยู่ทุกแห่ง มันเป็นชนบท ขาดทั้งหมอและพยาบาล คนป่วยจะลำบากเวลาไปหาหมอ" 

ฝ้ายตั้งเป้าไว้ว่า จะเป็นหมออนามัย เธอจึงสอบจนติดมหาวิทยาลัยพะเยา และระหว่างนั้น แทบจะไม่มีเวลาทำงานหาเงินเรียน เนื่องจากเรียนหนักมาก จนได้รับการสนับสนุนจากนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักเขียนตัวเล็กๆ ที่ทำงานด้านชาติพันธุ์ เห็นว่าเธอเป็นคนรักเรียน ก็เลยชวนเพื่อนอีกคนคือ ดร.พรสวรรค์ ตรีพาสัย คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงเพื่อนๆ น้องๆ คนอื่น มาช่วยกันส่งเสียให้เรียนจนจบปริญญาตรี โดยมีเงื่อนไขทางใจว่า ให้เอาวิชาความรู้กลับไปช่วยคนไทใหญ่

“เราไม่ได้มีสัญชาติไทย ก็เลยหางานลำบาก พี่ที่ส่งเสียให้เรียน ก็อยากให้นำความรู้ความสามารถกลับไปช่วยเหลือคนไทใหญ่ หรือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก ตอนเด็กๆ เราต้องการความช่วยเหลือยังไง พวกเขาก็ต้องการความช่วยเหลือแบบนั้นเหมือนกัน” ฝ้าย เล่า 

หลังจากเรียนจบปริญญาตรี เธอตกงานอยู่สามเดือน ยอมที่จะไม่ไปทำงานคลีนิคที่ได้เงินเยอะๆ จนได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงาน มูลนิธิรักษ์เด็ก เชียงใหม่ ทำงานช่วยเหลือแรงงานชาติพันธ์ุ ทั้งเรื่องการส่งเสริมอาชีพและสุขภาพ

“เราอยากจะช่วยเหลือญาติพี่น้องกลุ่มนี้ของเรา ฝ้ายช่วยในเรื่องการให้ความรู้ด้านสุขภาพและการส่งเสริมอาชีพ ช่วยอบรมแกนนำชุมชน เพื่อให้พวกเขานำไปเผยแพร่ต่อ ถ้ามีผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน และคนเจ็บไข้ได้ป่วย เข้าโรงพยาบาลไม่มีค่ารักษา เราก็ช่วยประเมินและประสานงานให้ รวมถึงช่วยตรวจรักษาอาการในเบื้องต้น”

ฝ้าย บอกว่า การเป็นหมออนามัยสามารถช่วยพี่น้องของเราที่ลำบากได้ อยากให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความรู้ดูแลตัวเองได้ และให้สังคมไทยเปิดโอกาสให้มากขึ้น เพราะส่วนใหญ่อยู่แบบตามมีตามเกิด ไม่รู้วิธีการดูแลสุขภาพ 

"เรามาทำงานตรงนี้ เราก็ได้เจอสิ่งที่ไม่เคยเจอ เราเองก็ต้องพยายามพัฒนาตัวเอง เพื่อจะได้ช่วยเหลือพวกเขาให้ได้มากที่สุด มีน้องๆ อีกเยอะไม่มีเงินเรียนหนังสือ แม้จะมีทุนของมูลนิธิที่ส่งให้น้องๆ เรียน แต่ไม่มาก ปีละสามพันบาท เราก็แนะนำให้เขียนขอทุนเรียนหนังสือ ฝ้ายเอง ถ้าไม่มีคนส่งเสียให้เรียน อาจไม่ได้เรียนในระดับมหาวิทยาลัย คงได้เรียนด้านอื่น ไม่ใช่สายสุขภาพที่เราสนใจ ”

แม้ก่อนหน้านี้จะมีคนดูถูก ดูแคลนว่า คนไร้สัญชาติอย่างเธอ คงไม่มีโอกาสเป็นหมออนามัยหรือหมอชุมชน แต่เธอก็ผลักดันตัวเองจนมาถึงจุดนี้ และเธอก็ทำตามสัญญา คือ เรียนจบแล้วกลับมาช่วยเหลือคนไทใหญ่

 “มีน้องๆ หลายคนบอกว่า ฝ้ายเป็นไอดอลของเขา พี่มาถึงจุดนี้ได้ยังไง อาจารย์บางคนก็บอกว่าเรียนถึงจุดนี้ได้ยังไง น้องๆ ชาติพันธุ์หลายคนก็มาปรึกษา เพราะส่วนใหญ่ไม่มีเงินเรียนหนังสือ และพ่อแม่อยากให้ออกไปช่วยทำงานหาเงิน "

...........................

หมายเหตุ : ใครอยากช่วยเหลือให้เด็กๆ ไทใหญ่ได้เรียนหนังสือ หรืออุปกรณ์การเรียน ติดต่อได้ที่ แสงเดือน เบอร์ 092 5372100