รื่นรมย์ในไร่ เกษตรหัวใจชุมชน

รื่นรมย์ในไร่ เกษตรหัวใจชุมชน

เพราะต้องการอยู่อย่างเข้าใจธรรมชาติ และอาศัยอยู่ในโลกอย่างยั่งยืน ทางเดินของสาวรุ่นใหม่นักพัฒนา จึงเลือกที่จะทำไร่ "ไร่รื่นรมย์" ที่ดึงองค์ความรู้หลากหลายมาพัฒนาที่ดินรกร้างรวมถึงชุมชนรอบข้าง

“ทำไมเวลาคุณไปซื้อกาแฟแพงๆ หรือซื้อของในห้างคุณไม่กล้าต่อสักบาทเลย แต่พอมาซื้อของเกษตรกร ยิ่งโดยเฉพาะสินค้าอินทรีย์คุณกลับกล้าที่จะต่อพวกเขา บางทีห้าบาท สิบบาทก็ต่อ เปิ้ลว่าตรงนี้มันไม่ได้ทำให้ชีวิตใครดีขึ้นเลย คนที่ทำอินทรีย์ทุกคนต้องการกำลังใจ จิตใจที่เข้มแข็งคือหัวใจสำคัญ เชื่อไหมคะว่าเกษตรกรหลายคนที่คิดทำอินทรีย์มักโดนบอกว่าทำไม่ได้หรอก เป็นไปไม่ได้ เพราะทุกขั้นตอนมีความลำบากเหมือนทำเคมีหมด ยกตัวอย่างเช่น ทำเคมีเจอปูในแปลงนาก็แค่เอายาไปหยอด ปูก็ตาย และไม่ใช่แค่ปูตาย ทุกชีวิตในนั้นจะตายทั้งหมด ถามว่าคุณสามารถเดินเท้าเปล่าลงนาได้ไหม ไม่ได้แน่นอน แต่คนทำอินทรีย์ต้องรอถึงตอนกลางคืนถึงจะไปจับออกมา เห็นไหมคะว่าพวกเขาไม่ได้ลงแค่แรง แต่ใจทั้งใจมันอยู่ในนั้น”

               แอปเปิ้ล - ศิริวิมล กิตะพาณิชย์ เจ้าของไร่รื่นรมย์ ในจังหวัดเชียงราย

ทุกปัญหาจะทำให้เข้มแข็ง

“ตอนไปเข้าโครงการ 1 ไร่ 1 แสน แรกๆ ตะไคร้ กะเพรา โหระพา คืออะไร เราไม่รู้จักเลย คนเขาก็งงกันทำไมไม่รู้จัก พอไปถามเพื่อนรุ่นเดียวกันหลายคนก็ไม่รู้จัก เราเลยคิดว่าตัวเองก็ไม่น่าจะแปลกมั้ง ฮ่าๆ แต่พอได้เข้ามาอยู่ในโครงการจนครบหนึ่งปี มันเหมือนเราได้เรียนรู้การใช้ชีวิตจริงๆ อยากกินอะไรก็ต้องทำเอง หาเอง เจอจุดหมายของชีวิตที่ชัดเจนขึ้น เราตั้งใจแล้วว่าจะทำงานเกี่ยวกับธรรมชาติ และพัฒนาคน”

RRR General Photos_9435_0

หลังจบโครงการ 1 ไร่ 1 แสน เธอตัดสินใจขอครอบครัวกลับไปพัฒนามรดกที่ดินรกร้างที่มีอยู่แล้วใน อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย โดยเริ่มจากการทำนาเป็นอย่างแรก แต่เมื่อฤดูฝนย่างเข้ามา ทุกอย่างที่แอปเปิ้ลทำก็หายไปกับสายน้ำ

“ไม่เคยมองว่าปัญหาเป็นอุปสรรคหรือทำให้เราอ่อนแอ แต่ทุกปัญหาจะทำให้เราเข้มแข็งขึ้น หลายครั้งที่คิดว่าเข้าใจธรรมชาติแล้ว แต่เปล่าเลย ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงตลอด ดังนั้นคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ก็ต้องไม่หยุดพัฒนาเช่นกัน เพราะเปิ้ลเชื่อว่าถ้าเข้าใจธรรมชาติ ก็จะเข้าใจเกษตรกร เราต้องไม่ฝืนธรรมชาติ และต้องหาพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ของเรา ถ้าเราคืนสมดุลให้กับธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะตอบแทนเราด้วยผลผลิตที่ดี

เราไม่ได้ต้องการให้ทุกคนมาขุดดินหรือเป็นเกษตรกรนะ เราต้องการให้เขาเรียนรู้ว่าออแกนิคไลฟ์สไตล์เป็นยังไง

"มีหลายคนถามเปิ้ลเหมือนกันว่าท้อบ้างไหม มันก็มีท้อบ้าง แต่เราหยุดไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ถ้าทำเพื่อตัวเองเราพอไปนานแล้ว แต่เราตั้งใจแล้วว่าจะทำเพื่อชุมชน มีหลายคนที่รอโอกาสจากเราอยู่ เปิ้ลเลยอยากใช้สิ่งที่ตัวเองมีทำให้ดีที่สุด เปิ้ลบอกทุกคนที่ทำงานด้วยเสมอว่า ไม่รู้หรอกนะว่าสิ่งที่ทำจะสำเร็จไหม แต่เพื่อชุมชนพวกเราต้องทำให้ดีที่สุด เพราะขนาดในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านเหนื่อย ท่านยังไม่หยุดเลย และเราเป็นประชาชนตัวเล็กๆ จะหยุดได้ยังไง”

เปลี่ยนแปลงด้วยใจไม่ใช่เพื่อเงิน

หลังตัดสินใจแล้วว่าจะทำงานเพื่อชุมชน แอปเปิ้ลจึงต้องไปใช้ชีวิตอยู่กับเกษตรกรจริงๆ พวกเขากินอะไร อยู่แบบไหน นอนยังไง เธอก็จะทำแบบนั้น

Apple สำหรับส่ง PR_๑๘๐๕๒๘_0049

“เราต้องมองปัญหาจากข้างในว่าจริงๆ แล้วที่เกษตรกรหลายคนไม่กล้าเปลี่ยนมาทำอินทรีย์เกิดจากอะไร เพราะถ้าเปลี่ยนแล้วไม่สำเร็จ ผลกระทบมันไม่ได้อยู่ที่ตัวเขาคนเดียว มันคือครอบครัวเขาทั้งครอบครัว ดังนั้นเปิ้ลจึงต้องทำให้สำเร็จ ทำให้เขาดูว่าเปิ้ลทำได้ และไม่ใช่แค่เราที่ทำได้ เปิ้ลต้องสร้างแกนนำของชุมชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ขึ้นมา เพื่อให้พวกเขาเห็นว่าคนมีต้นทุนเท่ากันก็ทำได้ และที่สำคัญต้องให้ความรู้ว่าสารเคมีไม่ดียังไง ไม่ใช่ให้เขาเปลี่ยนด้วยเงิน เพราะถ้าทำเพื่อเงิน เมื่อไม่สำเร็จก็จะกลับไปทำเคมีต่อ แต่ถ้าเข้าใจว่าเคมีไม่ดียังไง ถึงตอนนี้ยังไม่สำเร็จ เขาก็จะไม่กลับไปหาเคมีอีก”

Apple สำหรับส่ง PR_๑๘๐๕๒๘_0052

ตลอดระยะเวลาที่ทำไร่รื่นรมย์ แอปเปิ้ลพบว่านอกจากธรรมชาติที่เริ่มมีความสมดุลกลับคืนมาแล้ว คนในชุมชนหลายคนก็เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน พวกเขากล้าคิด กล้าทำ กล้าออกความเห็นมากขึ้น ที่สำคัญรู้จักสังเกตและใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้ามาทำเกษตรด้วยตัวเอง

พัฒนาชุมชนผ่านธุรกิจ

“เมื่อใจมาแล้ว ต้องช่วยให้เขามีรายได้ด้วยค่ะ เราเลยต้องเอาความรู้เรื่องการตลาดเข้ามาเสริมเพื่อให้วันนึงถึงเปิ้ลไม่อยู่ ชาวบ้านก็สามารถไปต่อได้ด้วยตัวเอง ซึ่งตรงนี้มีพี่สาวเข้ามาช่วยค่ะ แรกๆ ก็มีตีกันอยู่ เพราะบางครั้งพี่เขาเห็นโอกาส เห็นตลาด แต่ศักยภาพชุมชนเรายังไม่ถึง ก็ไม่สามารถทำได้ เลยต้องให้พี่สาวลงมาเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ เรื่องเกษตรอินทรีย์ เพื่อที่เขาจะได้เข้าใจกลไกลของธรรมชาติ และมองตลาดได้ออกว่าจะไปในทิศทางไหน จะได้เป็นภาพเดียวกันว่าเราจะเอาธรรมชาติเป็นหลัก แล้วเอาการตลาดมาเสริมนะ เรามีสิ่งดีๆ อยู่แล้ว แต่จะสื่อสารยังไงให้ผู้บริโภคเข้าใจ ซึ่งตรงนี้เปิ้ลเรียกว่าเป็นการพัฒนาชุมชนผ่านทางธุรกิจค่ะ ไม่ใช่โลกสวยว่ากลับมาช่วยกันดูแลธรรมชาตินะ แต่ตัวเขาไม่มีรายได้ มันไม่ใช่ ต้องทำให้ทั้งสองอย่างเดินไปพร้อมๆ กันระหว่างธุรกิจกับธรรมชาติค่ะ”

หลายครั้งที่คิดว่าเข้าใจธรรมชาติแล้ว แต่เปล่าเลย ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงตลอด

ศูนย์เรียนรู้การอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน คือหัวใจหลักของไร่รื่นรมย์ที่แอปเปิ้ลตั้งไว้ จึงทำให้ไม่ใช่แค่เกษตรกรเท่านั้นที่จะมาเรียนรู้ได้ แต่คนธรรมดาอย่างเราๆ ก็สามารถเข้าไปได้เช่นกัน

รูปที่เลือกไปล้าง_๑๘๐๕๑๕_0123

“มันเกิดจากผู้บริโภคไม่เข้าใจอินทรีย์ที่แท้จริงค่ะ การกลับหาธรรมชาติคืออะไร เราไม่ได้ต้องการให้ทุกคนมาขุดดินหรือเป็นเกษตรกรนะ เราต้องการให้เขาเรียนรู้ว่าออแกนิคไลฟ์สไตล์เป็นยังไง ทุกคนสามารถส่งเสริมและมีส่วนร่วมได้ยังไงบ้าง

"เช่น ทำผ้ามัดย้อมจากวัตถุดิบธรรมชาติ เราก็เชิญวิทยากรจากแมนคราฟที่เชี่ยวชาญในการทำผ้ามัดย้อมจากสกลนครมาให้ความรู้กับผู้เรียน ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องใช้ครามในการย้อมเท่านั้น แต่ดูว่าพื้นที่คุณมีอะไรก็ก็ปรับใช้จากตรงนั้น แบบนี้เป็นต้นค่ะ และที่สำคัญ เปิ้ลอยากให้ทุกคนรู้ที่มาของอาหารว่ามาจากไหน ทำด้วยอะไร ซึ่งตรงนี้จะทำให้เข้าใจเลยว่าคนทำอินทรีย์ลงแรงลงใจไปมากขนาดไหน เรามาช่วยกันสนับสนุนพวกเขาให้ทำสิ่งดีๆ กันเถอะ ไม่ต้องมาเป็นเปิ้ลก็ได้ เป็นใครก็ได้ แล้วทีนี้ทุกคนก็จะได้กินของดีๆ ตอบแทนกลับไปค่ะ”