ทางของ ‘เธอ’ เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

ทางของ ‘เธอ’  เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

ไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับผู้บริหารหญิงแห่งอาณาจักรเสนา มีแต่เวลาและความพยายามเท่านั้นที่ทำให้ทุกอย่างสำเร็จ

โลกของผู้หญิงไม่ได้มีแค่สีชมพู แต่เป็นโลกที่เต็มไปด้วยสีสันและความท้าทาย เช่นเดียวกับเส้นทางที่แม้จะไม่มีขวากหนามแต่ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของนักธุรกิจหญิงคนนี้ ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หรือ ‘ดร.ยุ้ย’

หลังจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้วยวัยเพียง 25 ปี ดร.ยุ้ย เริ่มต้นชีวิตการทำงานในสายวิชาการ ด้วยการเป็นอาจารย์ประจำที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลายมาเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในวัยเพียง 28 ปี ก่อนจะพลิกผันวางตำรามานั่งเก้าอี้บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว ในตำแหน่งปัจจุบัน กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

ความเป็นผู้บริหารหญิงไม่เพียงทำให้เธอก้าวมายืนอยู่แถวหน้าแบบสวยๆ แต่การปรากฎตัวในโฆษณาคอนโดแนวคิดใหม่ที่เอาใจผู้หญิงสุดๆ ด้วยประโยคที่ว่า "ถ้าผู้หญิงอยู่สบาย ผู้ชายก็แฮปปี้" ยังเชิญชวนให้ ‘จุดประกาย’ เปิดประเด็นสนทนาถึงมุมมองความคิดที่อยู่เบื้องหลัง

20180519094915958

ทำไมถึงจับคอนเซ็ปต์ Made from her มาเป็นจุดขาย

ปกติเวลาเราขายคอนโด สิ่งแรกที่คิดคือโลเคชั่น จากนั้นก็คิดต่อว่าราคาของโลเคชั่นนี้ประมาณเท่าไร ขนาดห้องจะประมาณไหน พอเสร็จแล้วทุกห้องก็จะเหมือนๆ กัน เลยเริ่มมานั่งคิดว่าทำไมถึงคิดไม่ได้ลึกกว่านั้น ก็เลยกลับไปดูว่าลูกค้าคอนโดเราที่มีอยู่ 20-30 โปรเจกต์เนี่ยพฤติกรรมเขาเป็นอย่างไรบ้าง ปรากฎว่าสิ่งหนึ่งที่เจอก็คือ คอนโดเป็นสินค้าที่่ผู้อยู่อาศัยเป็นผู้หญิงเยอะกว่า เราก็เลยทำโฟกัสกรุ๊ป ทำให้เข้าใจว่าผู้หญิงโสดและผู้หญิงทำงานยุคนี้จะรู้สึกว่าอยู่คอนโดปลอดภัยกว่า และเดี๋ยวนี้เทรนด์คนยุคใหม่ชอบออกกำลังกาย ชอบอยู่ใกล้เมือง ก็เลยรู้สึกว่าคอนโดเป็นโปรดักต์ที่ผู้หญิงชอบ

จากนั้นพอมาดูเทรนด์ของกรุงเทพฯ ของประเทศ ผู้หญิงก็เยอะกว่าผู้ชายด้วย เลยคิดว่าถ้าเราทำสินค้าโดยคิดถึงผู้หญิงเป็นหลัก โดยเปลี่ยนวิธีการคิดใหม่เลยจะเป็นอย่างไร แรกๆ ก็มีคนตั้งคำถามว่า คุณยุ้ยจะขายคอนโดให้ผู้หญิงเหรอ จะยังไง...จะทาคอนโดเป็นสีชมพูเหรอ เราก็บอกไม่ใช่ แต่ให้คิดแบบผู้หญิงคิด ทำโปรดักต์ที่ผู้หญิงชอบ ลองดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็เลยทำโฟกัสกรุ๊ปเชิญผู้หญิงมา แล้วดูว่าเวลาผู้หญิงเข้ามาดูคอนโดเราสนใจอะไรเป็นพิเศษ ชอบอะไรเป็นพิเศษ ใช้เวลาหาข้อมูลสัก 2-3 เดือน ปรากฏว่ามันต่าง มันลึกขึ้นเยอะเลย คราวนี้ก็เริ่มมาแบ่งหัวข้อในการคิดให้ครอบคลุมทุกด้าน ก็คิดว่าเป็นไอเดียที่ทำให้โปรดักต์เราต่าง

ไม่ใช่แค่คิดจากความเป็นผู้หญิง พรีเซนเตอร์ก็ใช้ผู้บริหารหญิงคนนี้ด้วย?

อันนี้คือโดนเขาบังคับนะ (ยิ้ม) ด้วยความที่สินค้าเราถือว่ามีความสำคัญสูงมาก คนซื้อบ้านหลังหนึ่งเขาผ่อนเป็นสิบๆ ปี แล้วจะมีสินค้าสักกี่ชนิดที่ซื้อไปแล้วต้องมีพระเจิมด้วย ต้องเรียกพ่อแม่ครอบครัวจากต่างจังหวัดมาดู พูดตรงนี้ให้พนักงานฟังบ่อยมาก เพื่อให้เห็นว่าของที่เราขายมีค่าในชีวิตคนคนนึงมาก ถามว่าของที่มีค่าขนาดนี้คนซื้อต้องการอะไร คนซื้อต้องการความน่าเชื่อถือ คนซื้อต้องการเมคชัวร์ว่าฉันจ่ายเงินไปแล้ว คนที่ทำให้ฉัน ฉันไว้ใจได้ ทั้งหมดทั้งปวงมันเลยเป็นที่มาของการทำแบรนดิ้งว่า ถ้าอย่างนั้นเอาเจ้าของมาให้เขาเห็นหน้าหน่อยได้มั้ย เพื่อจะได้ให้คนซื้อไว้ใจว่าคนทำคือใคร ซึ่งเราเห็นด้วยกับหลักการนั้น เพราะถ้าเราซื้อของใหญ่ๆ เราก็อยากจะเข้าใจมัน อยากจะรู้ว่าคนทำเป็นใคร อันนี้ก็เลยเป็นที่มาว่าทำไมเวลาเสนาทำแอดตามที่ต่างๆ ถึงมีหน้าซีอีโอไปแปะๆ อยู่ ยิ่งอันนี้เน้นไปที่ผู้หญิง เขาก็เลยอยากให้เห็นว่าสิ่งที่คิดให้ผู้หญิง ผู้หญิงเป็นคนคิดนะ รับรองว่าไม่พลาดแน่นอน

20180519094917469

จากประสบการณ์ในฐานะผู้บริหาร ความเป็นผู้หญิงถือเป็นอุปสรรคหรือแต้มต่อ?

ในโลกของเรา ทำไมถึงต้องมีการเรียนเรื่องเกี่ยวกับเฟมินิสต์ ทำไมยูเอ็นยังต้องมีการส่งเสริมความเท่าเทียมกันของสิทธิสตรี แสดงว่าในสังคมโลกของเรายังมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่บ้าง แต่จริงๆ แล้วในประสบการณ์ของตัวเอง ในแต่ละวัฒนธรรมมีความแตกต่างระหว่างหญิงชายไม่เท่ากัน บางประเทศความแตกต่างหรือการถูกมองในแง่หญิง-ชายมี Gap (ช่องว่าง)ใหญ่ บางประเทศมี Gap ไม่ใหญ่ แล้วปกติแล้วเรื่องนี้มีความสำคัญยังไง ทุกคนก็คงรู้ว่ามุมมองที่เรามีต่อกันมันมีผลเยอะมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่วงการผู้หญิงอยากให้เปลี่ยนก็คือ ผู้หญิงไม่ได้เพศที่ทำงานไม่เก่งเท่าคุณนะ ผู้หญิงไม่ได้เป็นเพศที่สู้คุณไม่ได้ อะไรอย่างนี้

แต่สำหรับเมืองไทยเรารู้สึกว่ามุมมองตรงนี้ Gap ไม่ได้ใหญ่มาก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละวงการด้วยว่าจะมี Perception(ความเข้าใจ)ต่อเรื่องนี้อย่างไร เพราะว่าบางวงการ อย่าง Developer (นักพัฒนา) ทั้ง 25 บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะหาผู้หญิงสักคนยังหาไม่ได้เลย แล้วเราก็ไม่ปฏิเสธว่าตอนทำธุรกิจนี้ใหม่ๆ ตอนเข้าสมาคมเราสวยที่สุดเลย ไม่ต้องแข่งกับใคร (หัวเราะ) อันนี้ไม่ได้หมายความว่าเขามองผู้หญิงไม่เก่งนะ แต่กำลังจะให้ภาพว่าเผอิญเรามาอยู่ใน Industry ที่ Dominate by Men เท่านั้นเอง มันก็เลยทำให้บางครั้งก็อาจมีมุมมองอย่างนี้ได้บ้าง

บางทีก็จะมีคำพูดประมาณว่า เฮ้ย...บริษัทนี้ผู้หญิงรัน เอาจริงป่าววะ เมื่อก่อนเคยได้ยินนะ ตอนนั้นยังไม่มีลูก “เดี๋ยวตอนมีลูกนะสงสัยบริษัทจะไม่ Expand (ขยายตัว)แล้วล่ะ” เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่เวลามีลูกจะหายไป แต่สังคมมันเปลี่ยนไป อย่างตัวเองทำมาเป็นสิบปีแล้วเหมือนกัน มันก็พิสูจน์อะไรบางอย่างว่าผู้หญิงก็รันธุรกิจได้ เพราะฉะนั้นตอบไม่ถูกเหมือนกันนะว่าเป็นจุดแข็งหรือจุดอ่อน แต่ว่าปัจจุบันเราไม่ได้รู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมกันมากนัก เมื่อก่อนอาจจะมีบ้าง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเจอเท่าไหร่ อาจจะอยู่นาน

คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ผ่านบททดสอบนั้นมาได้

ในแง่ของการเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์มันต้องมีคุณสมบัติบางอย่างที่เหมือนๆ กันทั้งผู้หญิงผู้ชาย เช่น เป็นคนกล้าตัดสินใจ เป็นคนที่มีแบล็คกราวน์ทางการเงินที่เข้าใจได้ เพราะอสังหาฯเป็นธุรกิจประเภทหนึ่งที่่ข้อมูลไม่ค่อยดี คือเหมือนกับถามว่าเปิดคอนโดที่นี่รู้มั้ยว่าจะมีคนซื้อกี่คน ไม่รู้หรอก ประเมินคร่าวๆ เอา เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเป็นคนที่กล้าได้กล้าเสียระดับหนึ่งถึงจะทำได้ในธุรกิจนี้ ในขณะเดียวกันการที่เราเป็นผู้หญิงก็จะมีบางอย่างโดยนิสัยที่ต่างออกไป เช่น ความละเอียด ความประนีประนอม ที่จะมีมากกว่า ซึ่งเราก็ใช้มันให้เป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันเรื่องบางเรื่องที่เป็นนิสัยแบบผู้ชายจะดีกว่า เราก็ต้องฝึกให้เป็นแบบนั้น เพราะว่าเราต้องมีการตัดสินใจที่ดีระดับหนึ่งไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม

อีกความต่างที่เด่นชัดมากๆ คือความเป็นนักวิชาการ?

อันนี้โดนตั้งคำถามมากกว่าความเป็นผู้หญิงด้วยซ้ำ เพราะว่ามันเปลี่ยนสายมากเลย คือตั้งแต่เรียนจบก็เป็นอาจารย์มานานมาก แต่โดยส่วนตัวมองว่าอันนี้เป็นความโชคดีที่เราสอนในคณะบริหารธุรกิจที่จุฬาฯ แล้วส่วนใหญ่สอน MBA ปกติแล้วเวลาสอนก็จะอ่านหนังสืออ่านเคสแล้วไปแลกเปลี่ยนกับเด็ก แล้วก็ทำวิจัย ซึ่งวิชาที่เราสอนมันเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ แสดงว่าเมื่อก่อนเราสอนให้คนไปทำธุรกิจให้เก่งขึ้น เสร็จปุ๊บในระหว่างที่เป็นอาจารย์ก็ทำงานคอนซัลท์ด้วย เอาวิชาการไปให้คำแนะนำให้เขาทำ โดยได้เคสจริงๆ มาเรียนรู้ นั่นคือโลกของเราในตอนนั้นซึ่งเป็นการให้คำแนะนำ แล้วฟังฟีดแบ็คกลับมา แต่ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ

คราวนี้เวลามาทำธุรกิจเรารู้สึกแค่ว่าหนังเรื่องนี้มันยาวขึ้น ไม่ใช่แค่อ่านแล้วแนะนำ วันนี้ต้องปฏิบัติเอง ก็เลยมองว่ามันเหมือนการเดินทางที่ยาวขึ้นแค่นั้นเอง เอาสิ่งที่ปฏิบัติได้มานั่งคิด แล้วก็เขียน แล้วก็อ่านเหมือนเดิม คือมันไม่ได้เปลี่ยนอะไรไป เราอยู่ในโลกใบเดิมเพียงแต่ว่ามีพาร์ทของการปฏิบัติขึ้นมา แล้วเดี๋ยวนี้ผู้บริหารที่ดีก็ต้องศึกษาวิจัย ต้องอ่าน แล้วก็ต้องมี Communication skills (ความสามารถในการสื่อสาร)ที่ดี มันก็ใช้ skill อาจารย์เหมือนกัน เพียงแต่อาจารย์ไม่ได้ปฏิบัติ แล้วเราก็สามารถเอาสิ่งที่ปฏิบัติมาคิดให้ดีขึ้นได้ ก็เลยมองว่าอยู่ในโลกเดียวกันอยู่ และไม่ได้ละทิ้งความเป็นอาจารย์เท่าไหร่ ยังอ่านเยอะ ยังเขียนอยู่บ้าง

ทราบมาว่าเป็นนักอ่านตัวยง ชอบอ่านหนังสือแนวไหน

เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามวัยนะ แล้วก็สิ่งที่เราเจอ ตอนที่เป็นอาจารย์เหมือนเป็นภาคบังคับ ไม่อ่านไม่ได้ ทุกวันนี้ก็เหมือนกัน ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปไวมาก เราอยู่ในจุดที่ต้องสอนตัวเองว่าโลกกำลังเปลี่ยนไปทางไหน เรื่องแบบนี้ไม่มีใครมาสอนเรา ก็ต้องเอามาจากการอ่านนี่แหละ ทีนี้หัวข้อที่อ่านมันขึ้นอยู่กับว่า เรามองว่าจุดไหนเป็นจุดที่จำเป็นต้องรู้ในเรื่องอะไร อย่างช่วงนี้เรื่องเทรนด์ต่างๆ เป็นเรื่องที่อ่านบ่อยมาก คืออ่านแล้วก็มาผสมดูว่ามันเกิดได้มั้ย อย่างเล่มที่กำลังอ่านอยู่เรื่องอิคิไก อันนี้มันเกี่ยวข้องกับวิธีคิด แล้วก็เกี่ยวข้องกับเรื่องของการทำโปรดักต์ด้วย คือเริ่มรู้สึกว่าคนยุคนี้พอมีรายได้ระดับนึงแล้ว เขาเริ่มใช้ชีวิตหรือมองการใช้ชีวิตยังไง ปกติวิธีการตั้งข้อสังเกตของเราก็คือ เข้าร้านหนังสือแล้วดูว่าหนังสืออะไรมีขายเยอะ ก็เลยเอามาอ่าน ก็สนุกดี

เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็พูดถึง Work–life balance คิดอย่างไรคะ

 มันเหมือนคำว่าทางสายกลางของศาสนาพุทธ ทุกเรื่องในโลกต้องมีทางสายกลาง แต่คำว่าทางสายกลาง ไม่ได้หมายความว่าทุกช่วงเวลาจะต้องกลางเสมอ แต่ว่าเวลาเรามองไปยาวๆ ทางสายกลางคือทางที่ทำให้เราอยู่กับมันได้ดีที่สุดและยาวที่สุด ก็เลยคิดว่าในที่สุดแล้วมันต้อง Find balance (หาจุดสมดุล) แต่คนทุกคนอาจไม่เท่ากัน ไม่ได้หมายความว่ามี 24 ชั่วโมง เราทำงาน 10 ชั่วโมง คนอื่นทำงาน 8 ชั่วโมง แล้วเราไม่บาลานซ์ คือมันเป็นเรื่องของแต่ละคนว่าบาลานซ์ของตัวเองอยู่ตรงไหน เพราะการบาลานซ์เท่านั้นที่จะทำให้เราอยู่กับเรื่องนี้ได้ยาวๆ Work-life balance สำหรับตัวเองมันก็คือทางสายกลางในแง่ที่ว่า ชีวิตมันไม่ได้มีด้านเดียว ก็งาน ครอบครัว พ่อแม่ เราต้องบาลานซ์ทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องเวลาอย่างเดียว แต่ก็เป็นเทรนด์ที่ดี

ปกติถ้ามีเวลาว่างจะชอบทำอะไร

จริงๆ เป็นคน Introvert มากเลยนะ เป็นคนแบบไม่เก่งเรื่องสังคมเท่าไหร่ ชอบที่จะนอนอ่านหนังสืออยู่บ้าน อยู่กับลูก แล้วถ้าว่างก็ชอบออกกำลังกาย คือการออกกำลังกายมันไม่ใช่การใช้เวลาว่างนะ แต่เป็นการสร้างวินัย อย่างเมื่อก่อนก็จะว่ายน้ำ เดี๋ยวนี้ต่อยมวยทุกเช้า ตอนนี้ก็พยายามเล่นโยคะ สำหรับตัวเองวันไหนไม่ได้ออกกำลังเหมือนสติไม่ดีเลย รู้สึกว่าการที่เหงื่อออก แล้วก็ได้เอ็กเซอร์ไซส์เป็นส่วนสำคัญมาก แล้วก็ทำมาหลายปีแล้ว

ทำบ้านให้คนอื่นมาเยอะ อยากให้นิยามคำว่า ‘บ้าน’ ในความหมายของ ดร.ยุ้ย

เป็นที่ที่เป็น Happiness Moment คิดง่ายๆ อย่างนี้ สมมติเราอ่านหนังสือเล่มเดียวกันเลย อ่านอยู่ที่ทำงานใช้เวลา 1 ชั่วโมง กลับบ้านนั่งอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน 1 ชั่วโมง อ่านหนังสือที่บ้านน่าจะแฮปปี้กว่า ทำไม เพราะเรารู้สึกว่าเป็นตัวเองได้เต็มที่ นอนยังไงก็ได้ นั่งยังไงก็ได้ แต่อยู่ที่อื่นเราต้องดูว่าสวยหรือยัง ใครจะเข้ามามั้ย บ้านมันจะเป็นเรื่องแบบนั้นคือเป็น Happiness Moment ที่เราสามารถใช้ในเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เป็นที่ของเราจริงๆ

20180519094917227

ถึงตอนนี้วางเป้าหมายหรือโครงการอะไรไว้อีกบ้าง

บริษัทเราทำโครงการชื่อว่า'ร่วมทางฝัน' เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่นำกำไรมอบให้การกุศล โครงการนี้เกิดขึ้นจากความคิดของคุณพ่อที่ต้องการตอบแทนสังคม แล้วตอนนั้นคุณพ่อป่วย จริงๆ ถ้าคุณพ่อไม่ป่วยเราก็ไม่ได้กลับมาทำธุรกิจนี้ ที่ผ่านมาเราทำร่วมทางฝันมา 3-4 โครงการแล้วส่วนใหญ่ก็นำเงินไปมอบให้โรงพยาบาล แต่สิ่งที่รู้สึกคืออยากทำให้ดีกว่านี้ ให้เกิดประโยชน์มากกว่านี้ อย่างตอนนี้เสนาปีนึงเรามี 30-40 โครงการ มีร่วมทางฝันอันเดียวในแต่ละช่วงเวลา อยากทำให้ได้มากกว่านี้ สร้างอิมแพ็คให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ อันนี้เป็นอีกอย่างที่ทำทีไรก็มีความสุข

กว่าจะมาถึงจุดที่สตรองได้ขนาดนี้มีหลักคิดในการใช้ชีวิตอย่างไรคะ

เป็นคนที่เชื่อว่า ถ้าทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องพยายามให้ถึงที่สุด ภาษาที่พ่อเคยพูดเสมอๆ คือ “ถ้าชกไม่ครบสิบยกห้ามเลิก” แล้วถ้าไม่ได้ก็ต้องยอมรับในความไม่ได้ ต้องอยู่กับมันให้ได้ เราทำเต็มที่แล้ว แต่ว่าถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำไม่เต็มที่แล้วเลิกไปก่อน รู้สึกว่ามันไม่ได้อะไรเลย อันนี้ก็เป็นหลักคิดของตัวเอง อีกอันหนึ่งที่เป็นหลักคิดในการตัดสินใจทุกเรื่องคือ เราจะมีสูตรการคิดที่เรียกว่า Worst-case scenario (สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด) เรื่องที่จะตัดสินใจวันนี้ แย่ที่สุดที่จะเกิดคืออะไร ถ้าแย่สุดแล้วเรารับได้ แสดงว่าทั้งหมดที่จะเกิดของเรื่องนี้เราโอเคหมด คิดอย่างนั้นแล้วก็จะเดินได้ด้วยความสบายใจในทุกๆ วัน