รีวิวละครเวที ‘กุหลาบสีเลือด’ รอยเชือดกลางกลีบไร้โลหิต

รีวิวละครเวที ‘กุหลาบสีเลือด’  รอยเชือดกลางกลีบไร้โลหิต

อีกสีสันหนึ่งของวงการละครเวทีไทย ที่แม้จะไม่ถึงกับสมบูรณ์ลงตัวเท่าไหร่ แต่ก็น่าจะถูกใจคอละครหรือนักวิชาการละครที่นิยมดูละครในแบบ ละค้อน ละคอน

ถึงตอนนี้ ‘ทองหล่อ Art Space’ คงถือได้ว่าเป็น ‘บ้าน’ อีกหลังหนึ่งของวงการละครเวทีร่วมสมัยไปแล้ว ด้วยทำเลดีในซอยทองหล่อใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS และพื้นที่อาคารห้องแถวห้าชั้นที่สามารถปรับใช้เป็นสถานที่แสดงละครมาแล้วทุกระดับ โดยเฉพาะโถงชั้นหนึ่งที่มีชั้นลอยซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สร้างสรรค์งานละครเนรมิตฉากต่าง ๆ อย่างมีมิติได้ดั่งใจ จึงไม่น่าแปลกใจที่ ‘ทองหล่อ Playhouse’ แห่งนี้ จะมีการแสดงดี ๆ มาให้ชมกันอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย

และล่าสุด ผู้กำกับหญิง ภัทรสุดา อนุมานราชธน ก็ได้ปัดฝุ่นนำเอาบทละครดั้งเดิมตัวละครหญิงล้วนที่ ดาริกา วงศ์ศิริ เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ. 2541 ชื่อเรื่อง ‘กุหลาบสีเลือด’ มาจัดแสดงอีกครั้ง หลังจากที่เคยมีการนำบทละครเรื่องนี้ไปเล่นในเวทีต่าง ๆ ทั้งใหญ่และเล็กจนแทบจะกลายเป็นละครเวทีที่เหมาะกับผู้ศึกษาศิลปะการละครไปอีกเรื่องหนึ่ง

CrimsonRose2018-123

CrimsonRose2018-61

โครงเรื่องของ ‘กุหลาบสีเลือด’ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในคฤหาสน์หลังใหญ่ของ ‘โรส’ ผู้ดีเก่าที่เคหะสถานบ้านของเธอค้างดอกเบี้ยจำนองและกำลังจะถูกยึด ในขณะเดียวกันก็ได้เปิดเป็นหอพักหญิงสำหรับนักศึกษาและสตรีวัยทำงาน ต้อนรับทั้ง ‘เดือน’ ลูกสาวนายตำรวจผู้มีความทะเยอทะยาน ‘สลิล’ นักศึกษาสาว sideline หารายได้จากเรือนร่าง ‘ละอองฝน’ ที่กำลังเครียดหลังตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจกับเพื่อนชาย และ ‘สีฟ้า’ นักศึกษาแพทย์ผู้ฉลาดเฉลียว เปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ มาร่วมอาศัยในชายคาเดียวกัน

และในคืนหนึ่งหลังการถาโถมโจมตีของพายุใหญ่ หญิงสาวผู้หนึ่งก็ถูกฆาตกรรมซ้ำซ้อนในบ้านหลังนั้น เรื่องราวเบื้องหลังของตัวละครแต่ละรายจึงค่อย ๆ เผยออกมาว่าภายใต้ใบหน้าอันสวยงามเหล่านี้ ได้ซุกซ่อนเรื่องราวอำมหิตอัปรีย์สุดที่จะทนทานประการใดบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครั้งนี้ไม่ใช่การสังหารกันจนตายครั้งแรกในบ้านใหญ่ที่ฉาบไว้ด้วยดงกุหลาบสีเลือดในมุมสวน

ถึงจะเคยจัดแสดงมาหลายครั้ง แต่ก็คงต้องสารภาพกันก่อนว่าเพิ่งจะได้ชมละคร ‘กุหลาบสีเลือด’ ฉบับนี้เป็นครั้งแรก และจากการได้ร่วมชมรอบ preview เมื่อคืนวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ก็รู้สึกเห็นด้วยเลยว่ามันเป็นละครเวทีที่เหมาะสำหรับการศึกษา ‘ศาสตร์แห่งการละครเวที’ จริง ๆ ด้วยองค์ประกอบหลายสิ่งอย่างที่สามารถอ้างถกอภิปรายในมุมวิชาการ โดยเฉพาะด้านธรรมเนียมบรรทัดฐานแห่งการละครซึ่งค่อนข้างจะปรากฏชัดในบทละครเรื่องนี้

poster_edit-03

บทละคร ‘กุหลาบสีเลือด’ ของ ดาริกา วงศ์ศิริ มีโครงเรื่องในแนวย้อนค้นมูลเหตุดลใจอันนำไปสู่การฆาตกรรมของตัวละคร ที่ซ้อนเงื่อนปมความพิพาทต่าง ๆ ได้อย่างน่าติดตามดี แม้จะมีบางจุดที่อาจไม่ make sense นัก เช่นชุด monologue สารภาพอดีตและการกระทำของตัวละครแต่ละรายหลังเหตุฆาตกรรม ที่ดูจงใจจนไม่เป็นธรรมชาติ แต่ก็ยังมีความฉลาดในการเลือกเล่าจากมุมมองของผู้หญิง โดยกันตัวละครเพศชายออกไปจากฉาก แม้ว่าพวกเขาล้วนมีบทบาทสำคัญในการสร้างปัญหาหนักอกให้ตัวละครสตรีเหล่านี้

แต่สิ่งที่ชวนให้วิเคราะห์วิพากษ์มากที่สุดในบทละครเรื่องนี้ ก็คือสำนวนภาษาและวิธีการเขียนบทที่มีความเป็น ละค้อน ละคอน ซึ่งจะย้อนกลับมาสะท้อนชัดว่าทุกสิ่งที่ผู้ชมได้เห็นเป็นเพียงการแสดงผ่านการเสแสร้ง องค์ประกอบของเนื้อหา เรื่องราว และความรู้สึกต่าง ๆ จึงต้องขับให้ ‘แรง’ ให้เหมาะกับขนบทางการแสดงที่ต้องการอะไรที่ ‘ใหญ่’ กว่าชีวิตสามัญในลักษณะ larger than life  บทพูดหลายส่วนจึงมีอาการประดิดประดอยไม่ค่อยเป็นธรรมชาติในลักษณะละครหลังข่าว ยิ่งต้องมาเจอกับความวิปริตสุดขั้วของเรื่องราว บทละครชิ้นนี้จึงมีดีกรีที่เยอะล้นจนค่อนไปทางลิเกอยู่เหมือนกัน

ด้วยบทสนทนาที่เต็มไปด้วยการสังเคราะห์ซึ่งก็อาจจะเหมาะควรแล้วกับบทละครที่มีจริตเชิงวิชาการ แพรวพราวไปด้วยลูกเล่นโวหารการเล่าอันพิสดาร ทว่าแห้งแล้งกันดารในเชิงอารมณ์ความรู้สึกส่วนลึก ทำให้ละครเรื่องนี้จัดเป็นงานท้าทายฝีมือนักแสดงทุกรายที่มาร่วมรับบท

ซึ่งจากรอบการแสดงที่ได้ดู นักแสดงนำรายเดียวที่สามารถ ‘รอดชีวิต’ ได้ในละครฉบับนี้ก็คือ รัศม์ประภา วิสุมา ในบท นักศึกษาแพทย์ ‘สีฟ้า’ ที่สามารถจัดการกับบทพูดอันไม่เป็นธรรมชาติและขาดมิติ ให้กลับมีชีวิตและดูน่าเชื่อไปเสียทุกขณะที่เธอปรากฏตัว เรียกได้ว่าสามารถเอาตัวรอดได้อย่างสง่างาม

อีกรายที่สามารถนำเสนอปมของตัวละครได้ระดับกำลังดี ก็คือ ธัญภัส จินต์จันทรวงศ์ ในบท สลิล นักศึกษาสาว sideline เสียแต่เวลาที่บทพูดมาแบบรัว ๆ การเปล่งเสียงของเธอจะเร่งรวบจนไม่ชัดถ้อยชัดคำ ทำให้หลายครั้งคนดูอาจจะไม่เข้าใจว่าเธอกำลังบ่นอะไร ในขณะที่ ธัญญรัตน์ ประดิษฐ์แท่น ในบทนำ ‘โรส’ แม้จะมีสมาธิในการแสดงและสื่ออารมณ์ความบอบช้ำได้ดี แต่การแสดงของเธอก็เหมือนจะมีอยู่มิติเดียว mode เดียว mood เดียว จนกลายเป็นการปล่อยพลังที่ดูจืด

แต่ที่ค่อนไปทางน่าผิดหวังเลยก็คือ นวลปณต ณัฐ เขียนภักดี และ วรัฏฐา ทองอยู่ ในบท ‘เดือน’ และ ‘ละอองฝน’ ตามลำดับ ซึ่งเลือกเล่นเป็น ‘นางร้าย’ และ ‘นางฟูมฟาย’ ตรงตามสูตรสำเร็จละครโทรทัศน์ไทย จนกลายเป็นตัวละครที่เรียบแบนขาดมิติทั้งที่ต่างก็มีส่วนสำคัญต่อตัวเรื่องราวทั้งคู่ การแสดงในบท ‘เดือน’ จึงดูพยายามและตั้งใจมากเกินไป ในขณะที่การแสดงในบท ‘ละอองฝน’ ก็ง้องแง้งเผินผิวจนไม่เห็นความเจ็บปวดภายใน กลายเป็นยิ่งดูก็ยิ่งรำคาญไปเสียดื้อ ๆ

ทว่าสิ่งที่น่านับถือประการหนึ่งในละคร ‘กุหลาบสีเลือด’ ฉบับนี้ ก็คือวิสัยทัศน์ในการกำกับของผู้กำกับหญิง ภัทรสุดา อนุมานราชธน ที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีรสนิยม ทั้งจากการออกแบบฉากที่สะท้อนข้าวของเครื่องใช้ในสภาพกำลังหักพังแสดงชีวิตช่วงขาลงของเหล่าผู้ดีที่ดูไม่จงใจจนเกินไป การใช้พื้นที่ชั้นลอยให้ตัวละครสลับตำแหน่งขึ้นลง  วิธี blocking การเดินสวนเข้าออกและตัดผ่านฉากของนักแสดงที่สง่าและดูดี รวมถึงแสงสี การเล่นเงา และเสียงประกอบที่มาช่วยเติมมิติให้ละครมีบรรยากาศแห่งความชำรุดทรุดโทรมทั้งด้านเคหะสถานและจิตวิญญาณของตัวละครได้ดียิ่งขึ้น

โดยสรุปแล้ว ‘กุหลาบสีเลือด’ ฉบับทองหล่อ Playhouse นี้ จึงอาจถือเป็นอีกสีสันหนึ่งของวงการละครเวทีไทย ที่แม้จะไม่ถึงกับสมบูรณ์ลงตัวเท่าไหร่ แต่ก็น่าจะถูกใจคอละครหรือนักวิชาการละครที่นิยมดูละครในแบบ ละค้อน ละคอน ละคร สมดั่งวาทะ ช่างเป็นละครเวที้ ละครเวที ที่เป็นละครเวทีจริง ๆ ให้ดิ้นตาย

กลายเป็นผู้วิจารณ์เองนั่นแหละที่ควรจะเป็นฝ่ายหันมาทบทวนว่า แล้วการที่ละครเรื่องหนึ่งจะทำออกมาได้ ละค้อน ละคร ตามแบบแผนและขั้นตอนแห่งขนบธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมา มันจะไม่น่าชื่นชมได้อย่างไร  ซึ่งก็คงให้คำตอบเบื้องต้นได้เพียงสั้น ๆ ว่า พอรู้สึกว่ากำลังนั่งดูละค้อนละคอน มันก็เสมือนกับการดูมวยอยู่นอกสังเวียนแบบไกล ๆ ที่ไม่สามารถร่วมเจ็บปวดไปกับหมัด ศอก เข่า ที่พวกเขาโดนหวดซัดได้ ต่อให้เลือดสด ๆ จะกระเซ็นมาโดนตัวก็ตาม

ละครเวที ‘กุหลาบสีเลือด’ จัดแสดงที่ ทองหล่อ Art Space จนถึงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

CrimsonRose2018-144

  CrimsonRose2018-28