Pure Gold - Upcycled! Upgraded! : รูปทองจากของเหลือทิ้ง

Pure Gold - Upcycled! Upgraded! : รูปทองจากของเหลือทิ้ง

แนวทางการนำ 'ขยะ' และ 'เศษวัสดุเหลือทิ้ง' มาสร้างมูลค่าใหม่ด้วย 'การออกแบบ' และ 'ความคิดสร้างสรรค์' ผ่านการจัดนิทรรศการ Pure Gold - Upcycled! Upgraded!

การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและการบริโภค นอกจากทำให้ชีวิตความเป็นอยู่สุขสบายขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิด ‘ขยะ’ มากขึ้นด้วย ยิ่งถ้าขาดประสิทธิภาพในการกำจัดขยะ ยิ่งส่งผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของผู้บริโภคในที่สุด

เยอรมนี เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับปัญหา ‘ขยะ’ ในโอกาสครบรอบ 100 ปีการก่อตั้ง ifa (Institut für Auslandsbeziehungen) สถาบันส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศเพื่อสันติภาพ ศ.โฟลเคอร์ อัลบุส (Volker Albus) ได้ขอความร่วมมือไปยังภัณฑารักษ์ 6 ประเทศในภูมิภาคต่างๆ ของโลก เพื่อร่วมกันจัดนิทรรศการ Pure Gold แสดงแนวทางการนำ ‘ขยะ’ และ ‘เศษวัสดุ’ มาสร้างมูลค่าใหม่

มร.โฟลเคอร์ อัลบุส เป็นนักออกแบบชาวเยอรมันและเป็นศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยคาร์ลสรูเออ (Karlsruhe University of Arts and Design) เขาและภัณฑารักษ์อีก 6 คน หนึ่งในนั้นคือ เอกรัตน์ วงศ์จริต จากประเทศไทย ช่วยกันรวบรวมและคัดสรร ‘ผลิตภัณฑ์’ ที่เกิดใหม่จากการนำขยะมา ‘ออกแบบ’ หรือไม่ก็ ‘แปรรูป’ จนได้ประโยชน์ใช้สอยใหม่ในรูปของเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง และผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ จำนวน 79 ชิ้น เป็นผลงานของนักออกแบบ 53 คน จากประเทศในยุโรป ละตินอเมริกา แอฟริกาเหนือและตะวันออกใกล้ เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียอาคเนย์

‘ขยะที่เปลี่ยนเป็นทอง’ จำนวน 79 ชิ้น ได้รับการจัดแสดงภายใต้ชื่อนิทรรศการ Pure Gold - Upcycled! Upgraded! ครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์แห่งศิลปะและธุรกิจเมืองฮัมบวร์ก (Museum für Kunst und Gewerbe Hamburg) เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2560

ศ.โฟลเคอร์ กล่าวว่า จุดเด่นของผลงานการออกแบบทั้ง 79 ชิ้นนี้ มีทั้งเกิดจากการนำ ‘ขยะ’ หรือ ‘วัสดุดั้งเดิม’ มาออกแบบให้เกิดประโยชน์ใช้สอยรูปแบบใหม่ โดยยังเห็นว่าวัสดุดั้งเดิมคืออะไร และเกิดจากการนำวัสดุดั้งเดิมที่เหลือทิ้งหรือใช้ไม่ได้แล้ว ไปผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีบางอย่าง เพื่อสร้างสรรค์ของเป็นของชิ้นใหม่ที่ไม่ทราบว่าเดิมเคยเป็นขยะหรือวัสดุอะไร แต่ไม่ว่าจะ ‘เกิด’ ด้วยวิธีการใด ผลงานออกแบบที่เกิดใหม่ก็คำนึงถึงรูปลักษณ์ที่สวยงามและใช้งานได้จริง

20180517231942275

Styrene โคมไฟทรงกลมทำจาก ‘ถ้วยน้ำพลาสติก’

ดังตัวอย่างผลงานชื่อ Styrene โคมไฟทรงกลมทำจาก ‘ถ้วยน้ำพลาสติก’ เกิดจากความคิดของ Paul Cocksedge นักออกแบบชาวอังกฤษ โดยเขาคิดว่า ถ้วยน้ำพลาสติกขนาดเล็กนับพันใบที่ใช้กันทุกวันตามโรงอาหาร ตู้น้ำดื่ม ตู้กาแฟ ทำด้วยกระดาษ หรือไม่ก็พอลิสไตรีน(polystyrene)ให้เป็นพลาสติกเนื้อบางในรูปของ ‘ถ้วยน้ำ’ เมื่อใช้แล้วกลายเป็นขยะเหลือทิ้งมากมาย ถ้วยพลาสติกเนื้อบางเหล่านี้เมื่อโดนความร้อนจะหดตัวแข็งเป็นรูปร่างไม่แน่นอน เขาจึงนำถ้วยน้ำพลาสติกเหลือทิ้งจากตู้กดกาแฟมาเข้าเตาอบธรรมดาที่ใช้ตามบ้าน แล้วนำมาประกอบเป็นโคมไฟ สวยงามอย่างที่เห็น เป็นวัสดุที่มองใกล้ๆ ก็ยังงงว่านี่เคยเป็นแก้วกาแฟเหลือทิ้ง เสนอแนวคิดนี้ไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2545

G1 Conical Neck Vessel  ทำจากลังกระดาษลูกฟูกเหลือทิ้ง

ตามซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อมักมี ‘ลังกระดาษลูกฟูก’ เหลือทิ้งมากมายหลังพนักงานนำสินค้าออกจากลังไปจัดวางบนชั้นแสดงสินค้า Roswitha Berger-Gentsch  กราฟิกดีไซเนอร์หญิงชาวเยอรมัน จึงทดลองนำลังลูกฟูกเหลือทิ้งมาตัดเป็นวงแหวนหลายขนาด แล้วนำมาเรียงซ้อนกัน ได้เป็น Conical Neck Vessel ภาชนะใส่ของทรงโรมันโบราณที่มีผิวด้านนอกปรากฏลวดลายสวยงามแปลกตาด้วยโพรงของกระดาษลูกฟูก สร้างสรรค์ผลงานนี้ไว้เมื่อปีพ.ศ.2555

G4

เทปกาว เทปสี เทปลาย เทปพิมพ์สำหรับสินค้า แปะที่ไหนก็กลายเป็นวัสดุใช้แล้วทันที นำมาดัดแปลงใหม่ในรูปภาชนะ

G2 Endless Chair ทำจากพลาสติกในตู้เย็น

ตู้เย็นใช้วัสดุพลาสติกเป็นจำนวนมาก ทั้งชั้นวาง ช่องเก็บผัก ถาดวางไข่ ตัวตู้ทั้งภายในและภายนอก Dirk Vander Kooij นักออกแบบหนุ่มชาวดัตช์ที่มีความคิดสนุกๆ ละลายพลาสติกจากตู้เย็นที่ใช้งานไม่ได้แล้ว นำเข้ากระบวนการอัดรีดขึ้นรูปผ่านหัวฉีดแขนกลให้ออกมาเป็นเส้นกลม แล้วนำมาเชื่อมต่อกันเป็นเก้าอี้รูปทรงทันสมัย ให้ชื่อว่า Endless Chair หรือฉีดให้เป็นรูปทรงอื่นๆ ได้อีกมากมายตามนักออกแบบจะตั้งโปรแกรม

20180517231950914

Flip Flop โต๊ะเตี้ยทำจากรองเท้าแตะฟองน้ำที่ลอยมากับน้ำตามชายหาด แปะเข้าด้วยกัน แล้วเจียรให้เป็นรูปทรงตามต้องการ ผลงานของ Diederik Schneemann นักออกแบบชาวดัตช์

20180517231943403

Rememberme Chair เก้าอี้จากเสื้อผ้าที่ใส่ไม่ได้แล้ว

เสื้อผ้าเก่าที่พัง มีรูโหว่ หลวม คับเกินไป ใส่ไม่ได้แล้ว แต่เต็มไปด้วยความทรงจำ ไม่อยากทิ้ง Tobias Juretzek นักออกแบบผลิตภัณฑ์ชาวเยอรมัน นำมาอัดรวมกันแล้วแปลงรูปเป็นเก้าอี้ Rememberme Chair เมื่อปีพ.ศ.2554 แม้สวมไม่ได้ แต่ก็ยังใช้นั่งได้และคงไว้ซึ่งความทรงจำ

G3

Knit-Knacks เก้าอี้สตูลเตี้ยทำจากถังซักในเครื่องซักผ้าที่พังแล้ว

จากกรุงเบรุต สองนักออกแบบชาวเลบานอน Lea Kirdikian และ Xavier Baghdadi ตั้งใจออกแบบผลิตภัณฑ์ในคอนเซปต์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเริ่มต้นธุรกิจ(start-up)ภายใต้แบรนด์ Junk Munkez จึงลองสร้างสรรค์ผลงานชุดเก้าอี้สตูลเตี้ยจาก ‘ถังซักสเตนเลสของเครื่องซักผ้าที่พังแล้ว’ ตกแต่งด้วยลวดลายเรขาคณิตที่เต็มไปด้วยสีสันตามขนบอาหรับและอิสลาม ซึ่งมักเห็นได้ตามอาคารบ้านเรือนและศิลปวัตถุท้องถิ่น เรียกเก้าอี้สตูลนี้ว่า Knit-Knacks เมื่อปีพ.ศ.2555

20180517231955258

Digestion n°1 โซฟาจากกระเป๋าสายรุ้ง

กระเป๋าพลาสติกเย็บเป็นทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ติดซิปรูด มีหูหิ้ว พื้นขาวลายตาราง หรือที่บ้านเรามักเรียก ‘ถุงกระสอบสายรุ้ง’ ยุโรปก็มีขายเหมือนกัน ใบละ 1-3 ยูโร(ขึ้นอยู่กับขนาด) แข็งแรงทนทาน ใช้เร็ว-ทิ้งไว นักออกแบบอุตสาหกรรมชาวฝรั่งเศส Matali Crasset นำมาใส่เบาะ ใช้สำหรับนอน-นั่ง บริษัทในอิตาลีซื้อแนวคิดนี้เตรียมผลิตขาย

20180517231534712

ศ.โฟลเคอร์ อัลบุส กับผลงานชื่อ www/www

วัสดุที่กลายเป็นขยะเหลือทิ้งจำนวนมากอีกประเภทหนึ่งคือ ‘ไม้คอร์ก’ ที่ใช้ทำจุกขวด ศ.โฟลเคอร์ อัลบุส นำจุกคอร์กเหลือทิ้งมาบดเป็นผงละเอียด อัดลงบล็อคเรซินสังเคราะห์สำหรับขึ้นแบบ แล้วตัดเป็นวัตถุทรงกลมอย่างลูกฟุตบอล รักบี้ บาสเก็ตบอล วอลเลย์บอล มีคุณสมบัติกันน้ำกันลม ไว้เล่นริมทะเล หรือใช้ทำลูกบอลน้ำหนักสำหรับบริหารกล้ามเนื้อ ตั้งชื่อผลงานชิ้นนี้ว่า www/www ย่อมาจาก we want wind/we want water นำเสนอไว้เมื่อปีพ.ศ.2558

20180517231940624

20180517231205470

Paan  ออกแบบโดย ศรุตา เกียรติภาคภูมิ

ผลงานของนักออกแบบไทยที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงในนิทรรศการนี้ อาทิ พาน (Paan) โต๊ะกลางหน้าตัดวงกลม ประกอบขึ้นจาก ‘เศษเหล็ก’ ที่ผ่านกรรมวิธีปั๊มขึ้นรูปโลหะและเทคนิคตัดแผ่นแบบ die-cut และเชื่อมเหล็กด้วยมือของ ศรุตา เกียรติภาคภูมิ ผู้เพิ่มมูลค่าเศษเหล็กเหลือทิ้งภายในโรงงานที่บ้าน ให้เป็นเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ใหม่

G5

20180517231552177

Horse Hair Collection งานตกแต่งผนังจากเข็มขัดนิรภัย

จากขยะอุตสาหกรรม ‘เข็มขัดนิรภัยสีเพี้ยน’ ไม่เป็นที่ต้องการของลูกค้า ต้องถูกกำจัดทิ้งอย่างสิ้นเปลืองพลังงาน จารุพัชร อาชวะสมิต ดีไซเนอร์สิ่งทอชาวไทย จึงดัดแปลงโดยนำมาสะกิดบางส่วนให้เกิดเท็กซ์เจอร์ดูคล้ายขนม้า แล้วถักเป็นผืนขนาดใหญ่ ตั้งชื่อว่า Horse Hair Collection กลายเป็นงานประดับผนังที่ไม่มีใครเหมือน เข้าตาโรงแรมใหญ่ๆ หลายแห่งที่นอกจากเห็นความงามแล้ว คุณสมบัติป้องกันไฟลามของเข็มขัดนิรภัย ยังดีต่อการใช้ตกแต่งอาคารสถานที่

20180517231544997

Cheap Ass Elites เฟอร์นิเจอร์ที่เกิดจากการผสานกันระหว่างตะกร้าพลาสติกกับขาเก้าอี้สไตล์วิคตอเรีย ออกแบบโดยศรัณย์ เย็นปัญญา

20180517230325505

ห้องแกลอรี่ ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง TCDC, อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก กรุงเทพฯ

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC), สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย, สถาบัน ifa, และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) นำนิทรรศการ Pure Gold - Upcycled! Upgraded! มาจัดแสดงให้ชมฟรี ณ ห้องแกลอรี่ ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง TCDC, อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก กรุงเทพฯ ระหว่าง 18 พฤษภาคม-22 กรกฎาคม 2561 เวลา 10.30-21.00 น. ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ สอบถามโทร.0 2105 7400 ต่อ 213 หรือ www.tcdc.or.th

นิทรรศการนี้จะได้รับการจัดแสดงไปทั่วโลกในระยะเวลา 10 ปีต่อจากนี้ 

'ไทย' เป็นประเทศที่ 2 ที่ได้รับเลือกให้นำนิทรรศการนี้มาจัดแสดงต่อจากเยอรมนี