ปัจจุบันและวันพรุ่งนี้ของ'นนทรีย์ นิมิบุตร'

ปัจจุบันและวันพรุ่งนี้ของ'นนทรีย์ นิมิบุตร'

สำรวจมุมมองว่าด้วยความสุข ความสำเร็จที่ไม่ได้มาจากโชคช่วย และพินัยกรรมชีวิตก่อนตายของผู้กำกับที่เราคุ้นเคยกันดี

2499 อันธพาลครองเมือง ถูกฉายเมื่อปี 2540 แต่วันนี้-ในปี 2561 เรายังเห็นท่าทีและคำคมซึ่งอยู่ในหนังถูกพูดถึงอยู่บ่อยๆ ยกตัวก็อย่างก็เช่น “แล้วแต่ปุ๊”  (ดำ เอสโซ่ พูดกับแดง ไบเลย์) , "แถวนี้แม่งเถื่อน บอกตรง ๆ นะ ถ้าไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้ (หมู่เชียร พูดกับแดง ไบเลย์)  “เป็นเมียเรา ต้องอดทน”  (แดง ไบเลย์ พูดกับวัลลภา)

ชื่อของผู้กำกับ อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร ก็เช่นกัน นับจากหนังที่ว่า เขาก็มีชื่อปรากฏในทำเนียบผู้กำกับภาพยนตร์แถวหน้าของประเทศ รวมไปถึงเป็นผู้กำกับละคร โปรดิวเซอร์ อาจารย์พิเศษสาขาภาพยนตร์ รวมไปถึงเร็วๆ นี้ เขาก็ไปปรากฎเป็น 1 ในโค้ชคอร์สสอนออนไลน์ ว่าด้วยการถ่ายภาพยนตร์ด้วยโทรศัพท์มือถือ ในโปรเจค My one class ร่วมกับ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด

สายวันหนึ่งที่ร้านกาแฟย่านถนนรัชดาภิเษก หลังจากพูดคุยธุระสำคัญไม่กี่นาที เรากลับพบถ้อยคำ เรื่องเล่า ในห้วงอารมณ์สบายๆ ทว่าสะท้อนมุมมองของนนทรีย์ได้

เป็นความคิดของคนทำงานหนักคนหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่มีคำคมๆ เหมือนกับหนังที่เขาผลิต แต่อธิบายถึงผู้ชายวัย 57 ปี ที่กำลังมุ่งหาความสุขของชีวิตในแบบเฉพาะตัว

ทุกวันนี้ ผู้กำกับหนังที่ประสบความสำเร็จอย่างคุณยังทำงานเยอะอยู่ไหม

พูดไปอาจจะไม่เชื่อนะ คือเราเป็นคนที่มีงานเยอะมาก ถ้าเปิดโทรศัพท์แล้วดูปฏิทินงาน จะเห็นจุดเต็มไปหมด เราเป็นคนทำอะไรหลายๆ อย่าง แล้วก็เป็นคนเกรงใจคน ใครให้ทำอะไรเราก็ไปช่วย ใครให้เราไปพูด ไปสอน ไปตัดสินภาพยนตร์ ไปเป็นโปรดิวเซอร์ที่ไหนเราทำหมด ถ้าคิดว่าตรงไหนมีประโยชน์เราก็จะทำ คิดแค่นั้น แม้กระทั่งมีคนมายืนคุยเราก็จะอธิบายเรื่องที่เขาอยากรู้ สำหรับผมจะมีอะไรให้ทำตลอด แม้กระทั่งทีมฟุตบอล ผมเป็นคนจังหวัดนนทบุรี วันหนึ่งมีคนมาบอกว่าทั้งที่เมืองนนท์มีเด็กเก่งๆ เยอะ แต่ทีมฟุตบอลไม่ค่อยดีเลย ซึ่งแม้ผมจะเล่นฟุตบอลไม่ค่อยเป็น แต่ก็ดูว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง นำมาสู่การจัดฟุตบอลดาราหาสปอนเซอร์พัฒนาทีมเยาวชนจังหวัด

เวลามีคนเข้ามาคุยกับคุณ คำถามไหนถูกถามมากที่สุด

ถ้าเป็นเรื่องหนัง ที่โดนถามมากที่สุดคือเขาอยากทำหนัง เขาจะทำอย่างไรดี บางคนก็บอกว่าจะเริ่มอย่างไร บางคนมีเรื่องย่อมาแล้วด้วย... เราก็จะย้อนถามกลับไปว่า เขาเอาเรื่องนี้มาจากไหน ถ้าเขาตอบเพียงแค่ “ชอบดูครับ” แล้วเอาส่วนนี้มาจากหนังเรื่องโน้น เรื่องนี้ นั่นหมายถึงว่าเราก็คงต้องคุยกันยาว

ผมมักจะตอบคนที่เขามาถามผมว่า อย่างแรกคุณต้องคิดตอบตัวเองให้ได้ว่า ทำไมหนังของคุณต้องเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ แล้วมันแตกต่างจากที่มีอยู่แล้วอย่างไร ไม่ใช่เอาหนัง 10 เรื่องที่คุณชอบมารวมกัน จริงอยู่ ทุกวันนี้หนังมันมีไม่กี่พล็อตหรอก มีตลก ดรามา หนังผี การผจญภัย แต่คุณต้องหาไอเดียให้ได้ว่าภายใต้เรื่องเก่าๆ ที่คนเขาคุ้นชินกันดี คุณจะใส่เสื้อตัวใหม่ให้คนดูเข้าใจได้อย่างไร โอเคสำหรับการเริ่มต้นอาจจะไม่ได้ลึกขนาดนั้น แต่คุณก็ต้องตอบให้ได้ทำไมต้องมีหนังนี้ บนโลกใบนี้

แล้วสำหรับตัวคุณเองล่ะ เป็นผู้กำกับ เป็นโปรดิวเซอร์ เป็นอาจารย์พิเศษสอนภาพยนตร์ ทำไมต้องเอาตัวเองเกี่ยวข้องกับเรื่ืองนี้ตลอด

สำหรับผม หนังมันเป็นเมจิค (Magic) มันเป็นเวทีที่ถ่ายทอดความคิดในมุมมองของเราจริงๆ ไปสู่คนดู ลองถามผู้กำกับทุกคนดูได้ งานที่ทำมันเริ่มจากการตั้งคำถาม เริ่มจากความสงสัยในบางสิ่งบางอย่าง แล้วหาคำตอบ

เมื่อมันได้คำตอบแล้ว กระจ่างแจ้งแล้ว ก็นำมาสู่การถ่ายทอดความรู้สึกกระจ่างแจ้งเหล่านั้นไปสู่ผู้ชม อยากจะถ่ายทอดให้คนดูสนุก บันเทิง ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากคำถามนั้นด้วย แล้วพอคนดูรู้สึกเช่นนั้น หรือได้รับแรงบันดาลใจ หรืออยากจะมีแรงบันดาลใจที่จะอยู่บนโลกนี้ได้อย่างมีความสุข มันก็ถือเป็นความสุขมากๆ สำหรับคนทำหนัง อย่างผมถ้าเกิดความสงสัย ผมจะใช้เวลาเป็นปี จะหาคำตอบจากมันได้ แล้วระหว่างการถามคำถาม และหาคำตอบนั้น เราก็คิดกับมันเรื่อยๆ ถามแล้วตอบ หาคำตอบแล้วถามใหม่จนตกผลึก แล้วเอาที่ตกผลึกนั้นส่งต่อให้กับคนดู ผมชอบความรู้สึกนี้ในการทำหนัง

 ที่กล้าพูดแบบนี้ได้ เพราะคิดว่าคนที่ดำรงอาชีพผู้กำกับ ทำหนังในประเทศไทย เน้นที่ประเทศไทยนะ เราไม่ได้ดำรงชีพจากการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์หรอก พวกเราส่วนใหญ่ทำหนังเพราะความรัก ความชอบ แต่ใช้อาชีพอื่นในการเลี้ยงชีวิต ดังนั้นคนที่ทำหนังทุกวันนี้เพราะเขามีความสุข เขารักมัน แต่ถ้าถามว่าหาเลี้ยงชีวิตได้อย่างไร ก็เลี้ยงชีวิตด้วยวิธีอื่น เช่น ทำละคร ทำโฆษณา รับจ้างทั่วไป พอเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งก็มาทำหนัง

ตลอดการทำงานของคุณ ตั้งแต่หนังเรื่องแรกจนถึงปัจจุบันอะไรเป็นช่วงไฮไลท์ที่ต้องจำ

พูดยากนะ เพราะทั้งชีวิตตัวผมเองมันก็มีเทิร์นนิ่งพอยต์กับชีวิตบ่อยมาก อย่างหนัง 2499 อันธพาลครองเมือง ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่ง

ผมเริ่มจากการทำมิวสิควีดีโอ แล้วเทิร์นไปทำโฆษณา จากโฆษณาแล้วก็มาทำหนัง มันเป็นจุดเปลี่ยนบ่อยๆ พอเปลี่ยนทีหนึ่ง ก็ทำให้ชีวิตที่เหลือเปลี่ยนมหาศาล คือเปลี่ยนเยอะ เปลี่ยนไปร่ำรวย เปลี่ยนมายากจน ชีวิตมันก็เป็นแบบนี้ เวลาที่เพื่อนทำกราฟชีวิตให้ดู เส้นกราฟชีวิตผมตลกมาก คือไม่ขึ้นสุด ก็ลงสุดตลอดเวลา

ถ้าถามว่าช่วงเวลาที่พีคคืออะไร ก็น่าจะเป็นตอนนางนาก (พ.ศ.2542) คือตอนนั้นไม่ใช่แค่เมืองไทยแล้ว อย่างตอนทำหนัง 2499 หนังผมได้ไปเทศกาลแล้วก็จริง แต่ตอนนางนากหนังเราไปไกลขึ้น ได้ไปเทศกาลหนังเมืองคานส์ จากนั้นก็ได้ทำจันดาราที่เป็นหนังร่วมทุน ได้มาทำหนังปืนใหญ่จอมสลัดที่ใช้ทุนมากที่สุด คือตั้งแต่นางนาก มันทำให้เราได้ทำอะไรที่อยากทำตลอดเวลาจนถึงวันนี้

ล่าสุดมีคนมาบอกว่า  พี่ ผมอยายามจะทำหนังมาปีนึงแล้ว พี่ทำอย่างไรทำไมเสร็จได้ เห็นทำมาหลายเรื่องแล้ว”  เราก็บอกไปว่า เรามีเป้าหมายของทุกๆ งานเสมอ เช่น เรามีเป้าหมายว่าเราจะทำอะไรให้เสร็จบ้างในวันนี้ เราจะกำหนดเวลาไว้เลย เช้านี้ บ่ายนี้จะทำอะไรให้เสร็จ เราจะไม่ไปเรื่อยๆ กับมัน จะไม่ปล่อยไป อย่างปีนี้ผมวางแผนว่าจะเปิดกล้องหนังใหม่เดือนตุลาคม ผมจะวางไว้เลยว่าจะเขียนบทเสร็จเมื่อไร ทำ pre-production เมื่อไร ถ่ายเมื่อไร และในกระบวนการที่ว่าเราจะเร่งให้มันสมบูรณ์ที่สุด เมื่อก่อนเราอาจจะเรื่อยๆ ได้ แต่วันนี้เราว่าเราควรจะมีวินัยให้มาก แม้กระทั่งการใช้ชีวิต ตื่นขึ้นมา สิ่งแรกที่เราต้องทำทุกวันคือหยิบจักรยานไปปั่น กลับมา 9 โมงเช้าค่อยอาบน้ำ แต่งตัว ไปทำงาน

ปกติคนอายุ 57 ก็จะเริ่มคิดถึงการรีไทร์ตัวเอง แต่ดูเหมือนสปีดชีวิตคุณมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

เราคิดว่าชีวิตคนเรามันไม่ยาวไง เราไม่รู้หรอกจะตายวันตายพรุ่ง นี่พูดจริงๆ นะ แล้วที่พูดไม่ได้หมายความว่าตัวเองปลง แต่เรารู้สึกแบบนั้น เพื่อนที่อยู่กันมา 30 กว่าปี ค่อยๆ ล้มหายตายจาก ไปทีละคน เราค่อยๆ เห็นภาพนั้น แล้วเราก็คิดไปว่าเราจะตามไปเมื่อไรไม่รู้ ดังนั้นเวลาที่เหลืออยู่ เราก็อยากจะใช้ให้มีคุณค่ามากที่สุด นอกจากจะยังทำงาน ทุกวันนี้เราเริ่มปั่นจักรยาน เราเริ่มวิ่ง เราคิดถึงไปวิ่งมินิมาราธอน ไม่ใช่เพราะแฟชั่น แต่คิดว่าเราอยากแข็งแรง

ทุกวันนี้เรามีออฟฟิศ มีบ้าน ไม่ได้มีเงินเก็บเยอะแยะ แต่ก็ไม่เดือดร้อน เราสามารถมีเงินส่งลูกถึงฝั่ง คือลูกอยากมีเงินเรียนถึงระดับไหน เราก็ทำได้ ชีวิตไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่านี้

ช่วงเวลาก่อนหน้านี้ เราเข้าไปในองค์กรหนึ่งเกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนจะตาย แล้วเริ่มศึกษามัน เริ่มจากเราสงสัยว่าการตายมันเตรียมตัวได้ด้วยหรือ พอเราไปแล้วก็พบว่ามันดีจริงๆ มันทำให้เราหมดห่วง เราเริ่มจัดการทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต เริ่มจากทรัพย์สิน เราเอาบัญชีเงินออกไปให้คนอื่น จะได้ไม่ยุ่งยากในเวลาตาย เริ่มดีไซน์อะไรที่ทำได้ แล้วคิดต่อว่าเป็นไปได้ไหมที่ทุกคนไม่ต้องมางานศพเรา อาจจะอำลาในเฟสบุ๊ค ในเพจ ใครอยากบริจาคก็ตั้งเป็นมูลนิธิ แค่นี้พอแล้วมั้ง แล้วก็ทำพินัยกรรม ที่เขาเรียกว่าพินัยกรรมชีวิต

ทำไมถึงไปสู่จุดนี้ได้

เราสงสัยมานานจริงๆ แล้วว่า ชีวิตเป็นของเราหรือเปล่า เราเคยเห็นเพื่อนที่เสียชีวิต ในขณะที่เขาบอกเราว่าเขาไปแล้วนะ แล้วเขาก็หลับแล้วก็ตายไปเลย ซึ่งแบบนี้เราคิดว่ามันเลือกได้ แต่อีกกลุ่มหนึ่งเราไปเจอคนที่นอนนิ่งๆ เป็นปีๆ แบบเลือกไมได้เลย เราก็ไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไรกับที่หมอเอาท่อออกซิเจนใส่ไปในคอ แล้วอยู่แบบนั้นเป็นปีๆ เขาพูดไม่ได้ แต่ดูจากสายตา จากคำบอกเล่าของหมอก็น่าจะทรมานมาก เราเลยตั้งคำถามว่า เราเลือกได้รึเปล่า และถ้าเราเลือกได้ เราขอให้เขาทำแบบนี้กับเราได้ไหม คือขอให้เราไปแบบสบายๆ เถอะ ผมคุยกับลูกสาวตลอดว่าอย่านะ ถ้าพ่อป่วยแล้วต้องปั๊มหัวใจ ใส่ท่ออะไรต่ออะไรอย่าดึงพ่อขึ้นมา และการทำพินัยกรรมชีวิตจะบอกได้

ครอบครัวคุณยอมเหรอ

บ้านเราคิดแบบเดียวกันครับ พอคุยเรื่องนี้กันเสร็จ ต่างคนก็ต่างบอกว่า เราขอแบบนั้นบ้างนะ เพราะถ้าถึงเวลาต้องไปแต่เรายังยื้ออยู่ก็คงไม่มีประโยชน์กับใคร อย่างในเรื่องทรัพย์สินเพื่อไม่ให้มีปัญหา ทุกวันนี้ผมแบ่งไว้เลย ก้อนไหนใครทำอะไร แล้วบัญชีนี้จะใส่ชื่อกี่คนก็แล้วแต่การเตรียมตัวอื่นๆ และผมก็บริจาคร่างกายมา 30ปีแล้ว

ปกติความคิดเช่นนี้มักมาพร้อมกับคนที่เริ่มอยากรีไทร์ อยากใช้ชีวิตช้าๆ แต่ตารางงานคุณก็ยังแน่นเอี๊ยด?

เพราะความเข้มข้นที่ทำให้เราทำอะไรเยอะไปหมดนี่แหละ ทำให้ไม่รู้ว่าไอ้ที่ทำไปมันจะขาดเมื่อไร มันก็เลยเตรียมพร้อมกับทุกอย่างให้ดีที่สุด เหมือนการถ่ายหนังบนโต๊ะ นั่นคือการเตรียมตัวนะ เราชอบอะไรที่มันเตรียมตัว ไม่ใช่เซอร์ไพรส์ เรารู้สึกว่าอะไรจะเกิดแล้วเราป้องกันไว้ก่อน เตรียมทุกอย่างมันก็จะไม่เกิดขึ้น เว้นแต่มีอะไรที่เราคอนโทรลไมได้ เช่น รถชน อุบัติเหตุ แต่ถ้าอะไรคอนโทรลได้เราก็จะเตรียมตัว

อีกแผนหนึ่งเคยคิดในใจว่า อยากไปทำนา คือไอ้คำว่าอยากทำนาไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นนะ แต่มันเริ่มต้นจากคำว่าประเทศไทยจะไป 4.0 แล้วคนไทยต้องปรับตัว ทำอะไรโน่นนี่เต็มไปหมด จนเราคิดว่า “เฮ้ย เราจะเหนื่อยกันขนาดนั้นเลยเหรอ” เลยคิดว่าถ้าโลกจะเปลี่ยนแปลงขนาดนั้น แล้วไอ้สิ่งที่เราทำทุกวันมันเยอะพอแล้ว แต่เราต้องเรียนรู้เทคโนโลยี ดูการตลาดออนไลน์ รู้กลไกของโซเชียลมีเดีย และอีกฯลฯ เพื่อต้องไปให้ถึง 4.0 เราขอกลับไปที่ 1.0 น่าจะแฮปปี้กว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็เคยมีคำสอนว่าด้วยการพอเพียง เราก็คิดจะกลับไปสู่ความต้องการพื้นฐานของเรา แล้วเราคิดว่าถึงจะเป็นชาวนา แต่เราก็ทำประโยชน์ได้อยู่

เป็นชาวนา ที่ไม่ไ่ด้คิดจะขายข้าว?

ปลูกข้าวไม่จำเป็นว่าต้องขาย แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้นเราก็น่าจะมีของกิน ไม่ต้องดิ้นรน เพราะถ้าสังคมไทยเป็น 4.0 ไป 5.0 เราคงเหนื่อยเกินกว่าจะไล่ตาม เรากลับมาหาชีวิตที่มันง่ายกว่าผมคิดมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว มันเหมือนว่าสปีดของโลกมันเร็ว เร็วจนตั้งคำถามว่าการที่เรามีสมาร์ทโฟน มันควรจะทำให้เรามีเวลาว่างมากขึ้นเพราะทุกอย่างมันง่ายขึ้นไม่ใช่เหรอ แต่ทำไมมันกลายเป็นเรายิ่งไม่ว่าง มันสวนทางกับความเป็นจริงเลย แต่ก่อนเรามีแค่แฟกซ์ มีแค่โทรศัพท์ออฟฟิศ เรายังว่างกว่านี้ตั้งเยอะ แต่ทำไมตอนนี้มันกลับตรงกันข้าม

ทำอะไรเยอะขนาดนี้ อยากให้คนจดจำคุณในฐานะอะไร

(นิ่งคิด) เป็นคนทำงานคนหนึ่ง ที่ชีวิตไม่ได้ง่ายเลย ไม่ได้เกิดมาเก่ง จำได้ว่าตอนทำงานโฆษณาใหม่ๆ ไอดอลผมคือต้อม-เป็นเอก (รัตนเรือง) นั่นเพราะเขาทำหนังแปลกใหม่ ได้รางวัลตลอดเวลา ผมก็บอกว่า ถ้าเป็นเอกอ่านหนังสือวันละ 2 เล่ม ผมต้องอ่าน 4 เล่ม ผมคิดแค่ว่าทำอย่างไรถึงจะอยู่ข้างๆ เขาได้ เก่งแบบที่เขาเก่งได้ ผมว่าคนเราต้องอย่าคิดว่าตัวเองเก่งนะ ผมเคยเห็นหลายคนที่เก่งกว่านี้ แต่วันหนึ่งเขาก็อยู่ตรงนั้น ในขณะที่ถ้าคุณมีความพยายาม คุณจะอยู่ข้างๆ เขา หรือทำได้มากกว่าเขาด้วยซ้ำ

ผมเจอเพื่อนสมัยเรียน มันบอกผมว่า “เฮ้ยอุ๋ย นายโคตรโชคดีเลย” ผมบอกว่า ผมไม่เคยโชคดีเลยนะ ผมทำงานหนักมาก คุณทำงาน 9 โมงเลิก 5 โมงเย็น ผมทำงานตี 4 เลิกตี 3 ของอีกวัน ผมเป็นแบบนี้มาตลอดชีวิต เราไม่ได้เรียนหนัง ไม่ได้เรียนในภาพยนตร์ ผมก็ต้องทำงานหนัก ตอนเปลี่ยนจากฟิลม์มาดิจิตอล ผมยังลงเรียนอยู่เลย