เราเรียนรู้อะไรจากการหายไปของ "ชุมชนป้อมมหากาฬ"

เราเรียนรู้อะไรจากการหายไปของ "ชุมชนป้อมมหากาฬ"

ย้อนรอยประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านพื้นที่ “ชานพระนคร” เมื่อ “ชุมชน” กับ “การพัฒนา” กลายเป็นทางคู่ขนานที่ไม่มีวันบรรจบ

ซากปรักหักพังที่ในอดีตเคยเป็นย่านที่อยู่อาศัยอาจทำให้ใครหลายคนที่คุ้นเคยกับชุมชนป้อมมหากาฬนึกภาพผู้คนหลังกำแพงแห่งนี้ไม่ออก 

20180422174527144

ชุมชนขนาด 66 หลังคาเรือนที่เพิ่งจัดงาน “อำลา มหากาฬ” ไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางบรรยากาศของความเศร้าและเสียดาย ในวงล้อมการเปิดใจถึงเรื่องราวกว่า 2 ทศวรรษของการยืนยันอยู่ร่วมกับการพัฒนาตามแผนแม่บทของกรุงเทพมหานคร 

นอกจาก ตัวแทนบ้าน 13 หลังสุดท้าย ยังมีผู้คนที่เกี่ยวข้องและสนใจมาร่วมกันอย่างหนาตาตรง “ลานกลางบ้าน” พื้นที่กิจกรรมอเนกประสงค์ของชุมชน นอกจากความรู้สึก และคำร่ำลา ก่อนชุมชนป้อมมหากาฬจะปิดม่านลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561 มันยังกลายเป็นคำถามถึงจุดร่วมระหว่าง “ชุมชน” กับ “การพัฒนา” อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง 

ฤานี่จะเป็นภาพการเปลี่ยนผ่านของย่านเมืองที่เราจะได้เห็นกันจนชินตาต่อไปนับจากนี้ 

20180422174532411

ถึงเวลารูดม่านชาวมหากาฬ

“ป้อมมหากาฬ มันไม่ใช่บทเรียนในกระดาษ” เป็นคำยืนยันด้วยน้ำตาของ สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถึงการจากไปของชุมชนแห่งนี้ 

เธอบอกว่า มันจะเป็นบทเรียนที่มีชีวิต และช่วยตอกย้ำสังคม ตอกย้ำกรุงเทพมหานคร ตลอดจนหลายๆ คนที่เข้ามาไล่รื้ออย่างไม่ยอมผ่อนปรน ทั้งๆ ที่ได้มีการเสนอทางออกในการประชุมครั้งสุดท้าย เมื่อกลางปีที่แล้ว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า โครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติตั้งแต่ปี 2502 หนึ่งในโครงการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ได้จุดชนวนเริ่มมหากาพย์ของความขัดแย้งระหว่างชุมชนและการพัฒนา 

หากย้อนไปดูข้อความใน แถลงการณ์ชุมชนป้อมมหากาฬ : จุดยืนและท่าทีต่อกรณีหนังสือแจ้งให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากโรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง ที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ จะพบว่า ตั้งแต่ที่กรุงเทพมหานครได้ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน เมื่อปี 2535 ส่งผลให้ชุมชนป้อมมหากาฬจะต้องถูกไล่รื้อเพื่อนำพื้นที่ไปสร้างเป็นสวน สาธารณะ ตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ 1 ปี กรุงเทพมหานครตกลงจ่ายค่าสินไหมทดแทนในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ชาวบ้านบางส่วนได้มีการยอมรับค่าเวนคืน 

ในปี 2538 กรุงเทพมหานครประกาศว่า จะนำรถมาไถทั้งชุมชน ทำให้ชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งออกมายอมรับค่าเวนคืน ก่อนที่จะนำเงินจำนวนนั้นไปซื้อที่อยู่ในโครงการที่กรุงเทพมหานครจัดเตรียมไว้ กระทั่งต่อมา พื้นที่บริเวณดังกล่าวไม่ได้มีระบบสาธารณูปโภครองรับทั้งในการใช้ชีวิต และรายได้อย่างที่ชาวชุมชนเคยได้ข้อมูล ทำให้มีการรวมตัวกันเจรจากับกรุงเทพมหานครเพื่อแก้ไขปัญหา นำไปสู่การขอคืนเงิน และกลับไปอาศัยในพื้นที่เดิม

20160314104806052

จากนั้นมา ที่นี่ก็กลายเป็นปมขัดแย้งที่เรื้อรังมากว่า 2 ทศวรรษ

กระทั่ง ปี 2548 ชาวชุมชนได้มีการมีการจัดทำข้อเสนอพร้อมแบบการจัดผังชุมชน โดยวิธีปันที่ดิน จากทั้งหมด 4 ไร่ แบ่งการปลูกสร้างบ้านเรือน 1 ไร่ ส่วนที่เหลือใช้สร้างสวนสาธารณะ พร้อมทั้งการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย และกิจกรรมในการพัฒนาชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อยืนยันว่า ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานและคูคลองได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังมีการอนุรักษ์บ้านไม้โบราณเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของเมืองด้วย 

หลังจากผ่านทั้งเวทีตั้งโต๊ะเจรจา เวทีแสดงพลังชุมชน การต่อรองไล่รื้อชุมชนบางส่วน เหตุการณ์รื้อถอนบ้านไม้ 2 ชั้น เลขที่ 99 ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์สำคัญของชุมชนก็กลายเป็นต้นเสียงนับถอยหลังที่ชุมชนจะต้องย้ายตัวเองออกไปจากพื้นที่ในที่สุด 

“...พวกเราจะไปสร้างชีวิตใหม่ ที่เอาคนป้อม... และจิตวิญญาณของป้อมไปอยู่ด้วย...” ถึงจะไม่ต่างจากคำสัญญา แต่ พรเทพ บูรณบุรีเดช รองประธานชุมชนป้อมมหากาฬก็จำต้องพูดทั้งน้ำตาเพื่อบอกลาชุมชนที่พวกเขาร่วมอยู่ร่วมใช้ชีวิตกันมาอย่างเสียไม่ได้  

บทเรียนจากชุมชนชานพระนคร

ไม่ว่าเบื้องหน้าเบื้องหลัง และสิ่งที่กลายเป็นคำถาม หรือความสงสัยของใครต่อใครที่ได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับวาระสุดท้ายของชุมชนริมคูพระนครแห่งนี้ ทั้งสิทธิชุมชนที่ถูกกฎหมายฉีกสะบั้นลงจนไม่เหลือชิ้นดี หรือผู้มีอิทธิพลในผลประโยชน์ของการอยู่ร่วม และอยู่รอดของทั้งผู้เช่าและเจ้าของบ้าน ถึงอย่างนั้น เราก็คงไม่อาจมองข้ามลมหายใจของประวัติศาสตร์ที่หล่อเลี้ยงย่านนี้ไปได้ 

ป้อมมหากาฬ ถือเป็น 1 ใน 14 ป้อมรักษาพระนครที่สร้างขึ้นตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และป้อมประจำพระนครด้านตะวันออกแห่งนี้ถือเป็น 1 ใน 2 ป้อมที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบันเคียงคู่กับป้อมพระสุเมรุ ตรงบริเวณสวนสันติชัยปราการ แถวๆ ถนนพระอาทิตย์ นี่คือข้อเท็จจริงประการหนึ่ง 

20180129102403155

ข้อความในเอกสารทางประวัติศาสตร์ให้รายละเอียดถึงการขุดคลองรอบกรุงเพื่อขยายพระนครให้กว้างออกไป และอำนวยความสะดวกในการคมนาคมทำให้เกิดมีการลงหลักปักฐานอยู่อาศัยกันเป็นชุมชนริมน้ำตามย่านต่างๆ ในเวลาต่อมาจนกลายเป็นย่านชานพระนครที่กระจายอยู่ทั่วไปในเขตเมืองชั้นในของเกาะรัตนโกสินทร์

ป้อมมหากาฬแห่งนี้ เคยเป็นท่าเรือสำคัญสำหรับชาวบ้าน ขุนนาง และเจ้านายที่เดินทางมาตามลำคลองเข้าและออกไปนอกเมือง เพราะเป็นบริเวณที่จะต่อไปยังที่อื่นตามคลองมหานาค คลองแสนแสบ และตามคลองโอ่งอ่างไปยังรอบเมืองอื่นๆ รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการ และชาวบ้านมาหลายยุคสมัย มีการปลูกสร้างอาคาร เป็นแนวยาวตลอดตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจรดแนวคูคลองวัดเทพธิดารามในปัจจุบัน ต่อมาเรียกกันว่า ตรอกพระยาเพชรฯ เพราะเคยเป็นบ้านพักของ พระยาเพชรปาณี (ตรี) ข้าราชการกระทรวงวังและเป็นชาวปี่พาทย์โขนละคร แหล่งกำเนิดลิเกทรงเครื่องนั่นเอง

“เป็นแหล่งกระจายข่าว กระจายความรู้ จากวัง วัด มาสู่ชุมชนนั่นแหละครับ” ธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ หรือ ‘ลุงกบ’ ของชาวป้อมฯ เคยยกตัวอย่างประกอบความเป็นชานพระนคร

นอกจากบ้านพักของพระยาเพชรปาณี บ้านของตำรวจวัง เขาเล่าว่า ที่นี่ยังเคยเป็นที่ผลิตเครื่องดนตรีไทย และกลองในสมัยรัชกาลที่ 6 บ้านเรือนไทยดั้งเดิมของ หมื่นศักดิ์แสนยากร ที่มีหน้าจั่วแบบ ‘จั่วใบปรือ’ ฝาเป็นฝาลูกฟักตามแบบฉบับมาตรฐานของเรือนไทยเดิมของภาคกลาง

ด้วยความที่หลายครอบครัวมีเครือญาติที่มีพื้นเพมาจาก จ.นครราชสีมา อ่างทอง หรือทางสงขลาทำให้ลักษณะการประกอบอาชีพก็มีความหลากหลายแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นงานหัตถศิลป์อย่าง เครื่องปั้นดินเผา ปั้นเศียรพ่อแก่สำหรับไหว้ครู หรือแม้แต่การทำกรงนก

ทั้งหมด เป็นเหง้ารากของวิถีชีวิตที่เคียงคู่มากับสิ่งปลูกสร้าง ซ่อนอยู่เป็นเนื้อเดียวกับชุมชนเก่าที่จะไม่เหลือร่องรอยอะไรไว้นับตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2561 เป็นต้นไป 

เมืองกินคน ทางตันระหว่างชุมชนกับการพัฒนา

นอกจากภาพความเจริญที่กำลังแตกหน่อกระจายไปทั่วประเทศที่ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ เคยให้นิยามว่าเป็น กระแสนคราภิวัฒน์ ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานั้น สิ่งที่ตามมากับความเป็นเมืองก็คือ “การกินชีวิตกันในเมือง” ในงานเสวนา “เมือง กิน คน: นคราภิวัฒน์ การพัฒนาเมือง และสุขภาวะของคนเมืองใหญ่” ที่จัดไปเมื่อปลายปี 2560 

“การพัฒนา” ก็ถือเป็นการจัดการเมืองรูปแบบหนึ่ง เมื่อมองถึงลักษณะการกินกันในมิตินี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การหายไปของย่านชุมชนเก่าไม่ว่าจะเป็นเวิ้งนาครเกษม ชุมชนหวั่งหลี หรือกระทั่งป้อมมหากาฬเอง ล้วนเป็นผลพวงของการพัฒนาในข่ายนี้ทั้งสิ้น 

ในหนังสือเรื่อง Urbanization เมื่อ “เมือง” กลายเป็นโจทย์ของการบริหารจัดการท้องถิ่นสมัยใหม่ โดย ผศ.ดร.อรทัย ก๊กผล สถาบันพระปกเกล้า ได้ให้รายละเอียดถึงแนวโน้ม และทิศทางการโตของเมืองในประเทศไทยนั้น เป็นไปตามยถากรรม และไร้ทิศทาง ทำให้ส่งผลต่อการจัดการเมืองในมิติต่างๆ แม้กระทั่ง ภูมิประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่จะช่วยสร้างความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับเมือง และท้องที่ที่ตนเองอยู่อาศัยที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาเมืองในเบื้องต้นได้ รวมทั้งเรื่องของ “ผังเมือง” ที่ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยบอกว่าจะนำไปสู่การจัดการที่มีประสิทธิภาพ และดีกับทุกฝ่าย 

หากแต่ปรากฏการณ์การแตกหักของชุมชนกับการพัฒนาที่มีมาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมากำลังบอกอะไร 

20180424154455037

เรื่องนี้ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม จากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เคยให้ทรรศนะไว้ในงานเสวนา “ไล่รื้อชุมชน” ความขัดแย้งระหว่างกรรมสิทธิ์โดยกฎหมายและสิทธิชุมชน ภาวะล้าหลังทางวัฒนธรรมในเมืองไทย ว่า นี่คือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “ผู้ถือกรรมสิทธิ์” กับ “ชุมชน” ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีหลายชุมชนในกรุงเทพฯ กำลังถูกไล่รื้อ โดยหารู้ไม่ว่าเป็นการทำลายพื้นที่ทางวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ จึงมีความเป็นไปได้ว่า จากนี้ต่อไปสังคมเมืองอาจไม่มีคนเมืองเก่าแก่อยู่อีกแล้ว และเมืองคงอาจมีแต่เพียงคนร้อยพ่อพันแม่ที่เข้ามาอาศัยอยู่เท่านั้น

การหายไปของชุมชนป้อมมหากาฬจึงยิ่งช่วยย้ำภาพสะท้อนที่กำลังเกิดขึ้นกับเมืองฟ้าอมรแห่งนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น...

และนำไปสู่โศกนาฏกรรมซ้ำซากของเมืองพัฒนาที่ไม่มีที่สำหรับชุมชนเก่าต่อไป ก็เป็นไปได้