จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ไร้รากแต่ไม่ไร้ตัวตน

จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ไร้รากแต่ไม่ไร้ตัวตน

รู้จักมุมของนักเขียนซีไรต์คนล่าสุด และผลสะท้อนจะชีวิตวัยเด็กที่ปรากฏในงานเขียนของเธอ

จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท หรือ ลี้ นักเขียนรางวัลซีไรต์คนล่าสุดผู้มีอายุน้อยที่สุดให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า ตั้งแต่อายุ 12 เป็นต้นมาเธอย้ายบ้านหลายครั้ง ย้ายไปมาตลอด

“ผลนั้นอยู่ในตัวเรา เวลาบอกว่าอยากกลับบ้าน เราจะไม่รู้ว่าบ้านหลังไหน หรือพอพูดถึงบ้าน เราจะไม่รู้สึกว่าบ้านคืออดีตตอนเด็กที่ฉันอยู่ เพราะไม่ได้เป็นบ้านหลังเดียวกัน ถ้าเราเกิดความรู้สึกแบบนอสทัลเจีย (Nostalgia) ก็จะไม่ได้รู้สึกกับบ้านหลังปัจจุบัน แล้วก็ไม่เกิดกับบ้านหลังอดีตเช่นกัน เพราะเราอยู่แป๊บเดียว มันทำให้เราเหมือนเป็นคนไม่มีความทรงจำผูกเนื่องว่าเป็นคนที่ไหน”

เรามาพบลี้ที่บ้านในจังหวัดเชียงราย ในบ่ายวันที่อยู่ๆ ฝนก็ตกและอุณหภูมิยะเยือก ลี้บอกว่า การย้ายมาอยู่เชียงราย อยู่กับแม่และพี่สาว ไม่ใช่เป็นการแสวงหาบรรยากาศที่เหมาะสำหรับการเขียน แต่จังหวัดเชียงรายที่ค่าครองชีพต่ำนั้น เอื้อต่อการดำรงชีพด้วยงานเขียน ซึ่งเธอบอกว่ารายรับไม่สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ

ลอยตัว ไร้ราก แต่อยู่ได้กับทุกที่

เมื่อไม่ผูกพันกับ “บ้าน” หลังไหน ลี้ก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของที่ไหนเช่นกัน เธอบอกว่าสิ่งนี้มีผลต่องานเขียนของเธออย่างเห็นได้ชัด

เธอไม่ได้มองว่าการไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนของสถานที่ใดเลยเป็นข้อเสีย แค่เป็นตัวตนของเธอในแบบนั้นเคยมีคนวิจารณ์งานเขียนของลี้ว่า

“เรื่องที่เราเขียนมันไม่มีรากของพื้นที่ หรือรากของวัฒนธรรมที่ไหน ลี้ยอมรับว่านั่นเป็นคำตำหนิ และคำตำหนินั้นถูกต้อง เพราะเราไม่ได้บีลอง (Belong) ที่ไหนเลย แต่ไม่รู้สึกว่าคำตำหนินั้นกระทบตัวลี้ แต่รู้สึกว่าจริงด้วย ใช่ค่ะ ไม่เถียง และไม่รู้สึกว่าเป็นจุดด่างพร้อยของชีวิต บางคนจะรู้สึกถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นในตัวที่เขาเล่าได้ อย่างมีเพื่อนที่เขาเป็นมอญ เขาก็จะมีเรื่องเล่าของเขา ซึ่งเราไม่มี

_D3M9613

"จริงๆ บ้านลี้เป็นจีนแคะ หรือฮากกา แต่ปู่ย่าตายายเสียตั้งแต่เรายังเด็ก ก็เลยไม่มีความรู้สึกถึงเจนเนอเรชั่นที่อยู่เกินเราออกไป เคยเขียนเรื่องนี้ด้วยแหละ แต่ไม่ผ่านการพิจารณา คือปู่พูดฮากกา ไม่พูดภาษาไทยเลย แล้วลี้ไม่พูดภาษาจีน คนที่อยู่บ้านเดียวกัน จึงไม่เคยคุยกันเลย ส่วนย่า ตอนที่ลี้เกิดมา เขาเป็นผู้ป่วยใส่ออกซิเจน ฉะนั้น ลี้จึงไม่รู้สึกถึงย่า เขามีชีวิตอยู่ แต่ไม่รู้ตัวแล้ว เราเลยรู้สึกว่าเหมือนไม่มีปู่ย่าตายาย เพราะคุณตาคุณยายก็เสียไปก่อนที่ลี้จะเกิดอีก”

ไม่เพียงแต่ไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของที่ไหน แต่ก็ไม่เป็นส่วนหนึ่งของอะไรเลยเช่นกัน เราชวนคุยถึงเรื่องคนเจน Y และเจน Z ในปัจจุบัน ที่ตอนนี้ก็มีแนวโน้มเคลื่อนย้ายตัวเองได้ง่าย ไม่ยึดติดกับถิ่นที่อยู่ใด ลี้บอกว่าช่วงวัยของเธอคาบเกี่ยวระหว่าง 2 เจน และไม่แน่ใจว่าจะนิยามคนในรุ่นตัวเองอย่างไร แต่เธอเริ่มเห็นเพื่อนรุ่นเดียวกันหลายคน โดยเฉพาะเพื่อนต่างชาติสามารถเคลื่อนย้ายตัวเองได้ง่าย การคิดเรื่องเรียนต่อหรือไปทำงานประเทศไหนดูเป็นเรื่องปกติมาก “โลกปัจจุบันเอื้อให้คนใช้ชีวิตแบบนั้น”

ลี้เสริมว่า งานเขียนอันไร้ฉากไร้ที่มาของเธอ “อาจมาจากเราเป็นคนเขียนบรรยายฉากไม่เก่ง เราก็ไม่ค่อยบรรยายฉาก บางคนไม่ชอบ เพราะเหมือนตัวละครลอยๆ ไม่มีฉาก แต่มันก็สามารถเข้าไปทาบได้ทุกที่”

เช่นเดียวกับลักษณะการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน เคลื่อนย้ายไปมา ไม่ปักหลัก แต่ก็สามารถอยู่ได้ทุกที่ในโลก

สรรพเสียงในโลกอันหมกมุ่น

งานเขียนคือหนึ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยว ลี้เริ่มเขียนงานมาตั้งแต่สมัยมัธยม เมื่อค้นพบว่าไม่ใช่แต่ผู้ใหญ่ที่เขียนงานตีพิมพ์ได้

แรกๆ เธอก็ยังไม่มีวินัยเพราะงานเขียนเป็นงานอดิเรก ต่อเมื่อเริ่มส่งงานประกวด มีกำหนดส่งต่างๆ เข้ามาก็ทำให้เธอต้องจัดตารางชีวิตให้ลงตัว จนกระทั่งงานเขียนมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และเป็นอาชีพของเธอลี้ไม่มีงานอดิเรกอื่นใด เธอว่านี่แหละข้อเสีย เพราะเวลาเครียดจะหลบไปหาเรื่องอื่นก็ยาก

“มีคนบอกว่าเครียดก็ให้พักอ่านหนังสือ แต่เครียดจากการเขียนแล้วไปอ่านหนังสือ ถ้าไม่สนุกก็จะไม่ดี หรือถ้าสนุกก็จะคิดว่าทำไมเราเขียนไม่สนุกแบบนี้ หรือถ้าไปดูหนังก็คิดตลอด พล็อตดีอะ ทำไมเขาเล่าแบบนี้ สุดท้ายก็จะวนเวียนอยู่กับการเล่าเรื่อง ทำอะไรก็จะคิดเรื่องงานตลอด ไม่ผ่อนคลาย เลยมีเป้าหมายว่าต้องหางานอดิเรกอย่างอื่นให้ได้ แต่ตอนนี้ยังทำไม่สำเร็จ”

PKB_9025_1

ช่วงนี้เป็นช่วงที่เธอกำลังตั้งใจทำงานเขียนออกมาให้มากที่สุด ลี้ผ่านช่วงเตรียมพล็อตเรื่องไปแล้ว ตอนนี้ปัญหาเดียวของเธอคือสองมือจะพิมพ์เรื่องราวที่พรั่งพรูออกมาอย่างไรให้ทันใจทันกำหนด

แม้ไม่ต้องสร้างบรรยากาศในการเขียนขนาดนั้น แต่ลี้ก็เป็นนักเขียนที่ต้องการความเงียบในการเขียน เพราะ “หู” ของเธอมักไปจับเอาเสียงรบกวนที่ไม่ควรได้ยิน “เวลาพี่สาวเรียกลี้ไม่ได้ยิน กลับไปได้ยินเรื่องไม่จำเป็นของข้างบ้าน”

แต่ความหูดีของเธอก็ไม่เท่ากับการบรรยายเสียงต่างๆ ออกมาเป็นคำ แต่กลับทำให้เกิดฉากความสนใจแปลกๆ แบบที่คนอื่นไม่สะดุด แต่เธอกลับปล่อยผ่านไม่ได้ “อย่างพัดลมที่หมุนแล้วเสียงดังแก่กๆ คนอื่นอาจไม่สนใจ แต่เราสะดุดมาก”

เธอนิ่งคิดถึงเรื่องต่างๆ ที่อาจมีผลต่องานเขียนของเธออีก

“ธรรมศาสตร์” คือชื่อที่เธอบอกออกมา ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่มีกิจกรรมทางการเมืองโดดเด่น “แต่ไม่ได้เป็นสังคมด้านการเมือง เพราะเด็กธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่ก็เหมือนเด็กมหาลัยอื่นๆ ไม่ได้แอคทีฟด้านการเมือง แต่ก็มีบรรยากาศบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ได้นะ สังคมธรรมศาสตร์ก็มีผลต่อเรามากเหมือนกัน”

ในวัย 25 ที่ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของชีวิต และลี้ก็มีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างมากระทบ สิ่งหนึ่งที่เธอคิดและตกผลึกได้

“ลี้คิดว่าคนคนหนึ่งจะเจอเหตุการณ์แบบเดิมๆ ปะทะซ้ำๆ เช่น ชีวิตของนางสาว ก อาจต้องเปลี่ยนงานซ้ำๆ นางสาว ข ไม่ต้องเปลี่ยนงานเลย แต่เปลี่ยนแฟนซ้ำๆ อย่างลี้เองก็จะเจอปัญหาจากความสัมพันธ์ในการคบเพื่อนแบบนึงซ้ำๆ แล้วเราก็รู้สึกว่า ในที่สุดเราก็มาถึงจุดที่เราพบว่า ที่เราเจอแบบนี้ซ้ำๆ ไม่ได้เป็นเพราะเพื่อน แต่เป็นวิธีที่เราทรีตเพื่อน 

“ช่วงนี้ลี้กำลังเริ่มรู้สึกว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะตัวเอง ‘ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะฉัน’ เป็นคำพูดที่คิดลบมาก แต่จริงๆ ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเราเอง เช่น ทำไมเราติดต่อกับใครก็วุ่นวายไปหมด ก็เพราะเราไม่พูดให้ชัดเจน เพราะเราเกรงใจ บางครั้งเราจึงลองพูดแบบไม่เกรงใจ บอกตรงๆ ไปเลยว่า ‘ไม่สะดวกค่ะ’ ทั้งๆ ที่รู้สึกว่าไม่สุภาพเลย แต่ก็ทำให้เราไม่มีปัญหา และความจริงเขาก็ไม่ได้มีปัญหาด้วย เราก็รู้สึกว่า รู้งี้ควรทำแบบนี้มาตั้งนานแล้ว”

แม้เอาเข้าจริง เธอก็ทำไม่ได้แบบนี้ทุกครั้ง แต่เริ่มสังเกตและเปลี่ยนจากตัวเอง มากกว่าจะมองปัญหาว่ามาจากคนอื่น 

PKB_9038

ลี้สะสมประสบการณ์งานเขียนมาระดับหนึ่งแล้ว ลี้คือนักเขียนคนหนึ่งที่มองงานในอดีตของตัวเองแล้ว รู้สึกว่าควรเขียนให้ดีกว่านี้ในบางจุด แต่ไม่เคยรู้สึกอายกับงานเขียนเมื่อครั้งยังเยาว์ กลับกันบางยังรู้สึกว่าบางฉากบางอารมณ์ อย่างความสดใสร่าเริงนั้นเธอในวัยเด็กเขียนได้ดีกว่าตอนนี้

แต่นี่ก็คือการเติบโตที่เธอยอมรับ ในวัย 25 ปีที่สามารถส่ง “สิงโตนอกคอก” ให้ได้รางวัลซีไรต์ ก็น่าสนใจว่าเมื่อเธอเติบโตขึ้น งานเขียนของเธอจะสะท้อนอะไรตามมาอีก