ทำลายและแผดเผา เพื่อความว่างเปล่าที่จับต้องได้

ทำลายและแผดเผา เพื่อความว่างเปล่าที่จับต้องได้

The Intangibles of Emptiness การแสดงชุดล่าสุดของ Pichet Klunchun Dance Company บริษัทนักเต้นกับศิลปะการแสดงร่วมสมัย ที่พยายามหาทางใหม่ๆ เพื่อไปต่อ

ติดตามการแสดงของ พิเชษฐ กลั่นชื่น มาสิบกว่าปีตั้งแต่โรงละครช้างที่ย่านชิดลม จนมาถึง Pichet Klunchun Dance Company ผลงานของเขาปักธงในใจตั้งแต่ I am a Demon – ผมเป็นยักษ์ อันเป็นการแสดงร่วมสมัยที่ทำให้เราเข้าใจโขนลึกซึ้งยิ่งกว่าที่เคย ความชอบในแต่ละชิ้นงานนั้นมีขึ้นลง แต่ยังคงตามดูอยู่เสมอมา

สำหรับงานล่าสุด “The Intangibles of Emptiness – ความว่างเปล่าที่จับต้องไม่ได้”  ซึ่งเป็นการแสดงชุดใหม่ หลังจากไม่ได้มีมานาน จึงตั้งตารอคอยเพราะงานนี้เป็น “การแสดงสด+จิตรกรรม”

คำโปรยนำนิทรรศการ “นักเต้นคือบุคลที่ใช้ร่างกายเพื่อสร้างความหมายเรื่องราวในพื้นที่ว่างเปล่าของอากาศ การเคลื่อนไหวของร่างกายจะเกิดขึ้นในความว่างเปล่าของพื้นที่และจบลงด้วยความว่างเปล่าอีกครั้ง โดยที่ไม่มีอะไรเหลือคงอยู่ในพื้นที่ของความว่างเปล่านั้นเลย แตกต่างจากงานศิลปะแขนงอื่นที่เริ่มต้นจากความว่างเปล่าแต่จบลงด้วยสิ่งที่จับต้องได้” บอกให้รู้ว่าในการแสดงนี้จะต้องหลงเหลือสิ่งที่จับต้องได้อยู่

เรื่องของเมืองและคนที่มองไม่เห็น

พื้นที่สีขาวภายในแกเลอรี่ ไม่มีเวทียกพื้น มีแต่ผ้าใบที่ขึงไว้เต็มผนัง ถุงน้ำเกลือบรรจุสีอะคริลิค 13 สีแขวนเรียงกัน ค่อยๆ ปล่อยหยดสีมารอท่า เหล่าคนงานใช้เครื่องมือก่อสร้าง เกรียง เชือก ลูกดิ่งวัดระดับ ไม้ฉาบ ฯลฯ ขยับ ปาด เคลื่อนให้เกิดร่องรอยต่างๆ “พวกเราต้องไม่พยายามวาด เพราะเราไม่ใช่นักวาดภาพ” พิเชษฐ ที่เรามองว่ารับบทโฟร์แมนเล่าให้ฟังภาพหลัง ระหว่างที่คนงานวาดร่างกายไปบนเฟรมและความว่างเปล่า สีที่หยดลงมาก็บันทึกทุกสิ่งที่เกิดจากการนั้น ระหว่างที่ ‘โฟร์แมน’ ก็ก่ออิฐถือปูนปิดทางเข้าแกเลอรี่ไปเรื่อย

20190112_195239

จากชุดและอุปกรณ์ เดาไม่ยากว่านี่คือเรื่องของชนชั้นกรรมาชีพที่มีชีวิตอยู่เบื้องหลังการก่อร่างสร้างเมือง แล้วเสร็จพวกเขาก็หายไปไหนสักแห่ง

แต่ก็ไม่ใช่เพียงเท่านั้น นอกจากเสียงที่เราได้ยินจากแรงงาน เรายังได้ยินเสียงของนักเต้นด้วย

ให้มันแผดเผาไป

การก่ออิฐปิดทางเข้าแกเลอรี่นั้นคงคล้ายกับการสร้างงาน ในขณะที่เราสร้างสรรค์สิ่งหนึ่งขึ้น ในทางหนึ่งก็คือขังตัวเองไว้ในกรอบที่ชอบเรียกกันว่าลายเซ็น เป็นสไตล์ที่ชัดเจนมีอัตลักษณ์ ใครๆ ก็จดจำได้ นี่คือสิ่งดีสำหรับการสร้างงานอย่างไม่ต้องสงสัย แต่หากยังคงติดอยู่ในกำแพงนั้นเล่า ท้ายที่สุดแล้วจะเดินวนอยู่ในนั้นตลอดกาลหรือเปล่า?

ก่อกำแพงปิดทางเข้าแกเลอรี

พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์ คอมพานี มีมาเป็นสิบปีแล้ว ปีที่ผ่านมาพื้นที่โรงละครช้างเน้นเปิดให้กับการแสดงงานของศิลปินอื่นๆ การนำงานชุดเก่ากลับมา และการแสดงชุดใหม่บ้าง แต่ยังไม่ได้เต็มตัวเท่าไหร่ พิเชษฐบอกว่าเขาให้เวลาตัวเองและทีมนักเต้นคิดร่วมกันขึ้นมาว่า เราควรจะไปต่ออย่างไรดี

ในขณะที่การแสดงลักษณะเดิมก็ยังมีแฟนๆ ติดตาม แต่ในฐานะศิลปินแล้ว การทำลายของเดิม เพื่อให้กำเนิดใหม่นั้นสำคัญ

ทะลุสู่อีกบทหนึ่ง

โครม! หลังจากที่ก่อปิดทางเข้าเรียบร้อย และผู้ชมจำนวนหนึ่งยังติดอยู่ในแกเลอรี่ มองหน้ากันเลิกลั่กว่าตกลงเขาจะขังพวกเราจริงหรือ พิเชษฐก็ตัดทึ้งดึงผ้าใบที่เพิ่งประทับร่องรอยจากการเต้น แล้วถีบกำแพงแกเลอรีจนทะลุ แล้วพาผู้ชมออกไปอีกฟากของกำแพง ที่ด้านนอกนั่น มีอีกเวทีหนึ่งที่กำลังประกอบสร้างขึ้น การแสดงยิ่งทวีความเข้มข้น ขึงขังจนไม่อยากละสายตา

ผ้าใบผืนใหญ่ต่อๆ กันคือเวทีของพวกเขา ผู้ชมยืนล้อมใกล้ชิดไม่ต่างจากในแกเลอรี่ นักเต้นออกแรงมากกว่าที่เคย พวกเขาแบกหาม กอบโกย โม่หิน เต้นรำ และสร้างร่องรอย ทุกอย่างชวนให้ใจเต้น จับโยนผืนผ้าที่ถูกระบายแล้วลงเครื่องโม่ แล้วจุดไฟเผา เปลวและควันไฟพวยพุ่ง เผาไปเถอะกรอบเก่า เผาไปเถอะศิลปะ เมื่อมันราบเป็นหน้ากลอง สิ่งใหม่ก็พร้อมจะเกิดขึ้น

20190121_163354

การละวางความสำเร็จเดิม เพื่อตั้งคำถามใหม่ และหาคำตอบครั้งแล้วครั้งเล่า ถือเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม

เสียงแห่งความเงียบ

คือผู้คนที่ไม่มีใครฟังเสียง ตั้งแต่ความม่วนระคนอึดอัดจากการแสดงในแกเลอรี่ จนถึงทะลุกำแพง ออกมาระเบิดพลัง ดนตรีที่เปิดในการแสดงปนเปตั้งแต่คลาสสิค ป๊อบ ลูกทุ่ง หมอลำ จนใครๆ สงสัยว่าเพลย์ลิสต์นี้มีที่มาอย่างไร “ก็ในไซต์งานก่อสร้างใครจะเปิดเพลงอะไรตามใจชอบก็เปิด ผมก็ให้ทุกคนเลือกเพลงที่ตัวเองชอบมาคนละเพลงสองเพลง” พิเชษฐเฉลย

มาถึงเพลงสุดท้าย The Sound of Silence เวอร์ชั่นเฮฟวี่เมทัล ตอบเนื้อหาทั้งหมดของการแสดง...อย่างเจ็บปวด ผู้คนที่ลงแรงทั้งชีวิต เพียงเพื่อที่จะหลายเป็นคนที่คนมองข้าม และไม่มีสิทธิ์เสียง ไม่มีอะไรจะชัดเท่านี้แล้ว

จบด้วยเสียงแห่งความเงียบ

การแสดงส่วนใหญ่ของแดนซ์ คอมพานีนี้คล้ายงานด้นสด แต่ที่จริงผ่านการซ้อมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจังหวะการเดินเข้าออก การกำเนิดเส้นสาย อาจมีบ้างบางสิ่งที่เกิดขึ้นเองในขณะนั้น การแสดงนี้จะนำกลับมาแสดงใหม่ตามวาระ และเมื่อพูดถึงคนงานก่อสร้าง ในอนาคตก็อาจมีการชักชวนคนงานตัวจริงมาแสดง พร้อมกับองค์ประกอบต่างที่คิดเอาไว้และยังไม่ได้ปล่อยหมดในคราวนี้ เมื่อนั้นสารที่สื่อจากการแสดงจะเข้มข้นยิ่งขึ้น

ชมวิดีโอบันทึกการแสดงและงานศิลปะที่เกิดจากการแสดงนี้ได้ที่ แกเลอรี Artist+Run ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 22 จนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้

ร่องรอยที่หลงเหลือยู่

20190123_181243