ปลอกคอ...พิทักษ์ช้าง

ปลอกคอ...พิทักษ์ช้าง

อีกก้าวของนวัตกรรมที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาคาราคาซังระหว่าง "คน" กับ "ช้าง"

ศพแหลกคาสวน! ช้างป่าลงเขาหากิน กระทืบเจ้าของสวนเงาะโชคร้าย...

ชาวบ้านผวา!! โขลงช้างป่ากว่า 70 ตัว บุกไร่มันสำปะหลัง...

ช้างป่า เขาอ่างฤาไนหลงโขลงเหยียบคนตาย...

บ่อยครั้งที่ความขัดแย้งระหว่าง “คน” กับ “ช้าง” ได้กลายเป็นความสูญเสีย พอๆ กับปัญหา ช้างออกหากินนอกผืนป่า หรือ คนรุกที่ตัดเส้นทางเดินช้างที่ยังลุกลาม และเรื้อรัง บ่อยครั้งมักจบลงด้วยโศกนาฏกรรม และความเสียหาย

ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานพยายามหาทางแก้ไขเพื่อทุเลาปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ดูเหมือนจะยังไม่ได้ผลนัก ไม่ว่าจะจุดประทัดไล่ หรือติดลวดปล่อยกระแสไฟฟ้า ส่วนหนึ่งก็เพราะช้างเรียนรู้ได้เร็ว เริ่มคุ้นชินกับชาวบ้าน ปรับตัวไม่กลัวเสียงดัง แม้ว่าจะเคยมีข่าวช้างป่าถูกไฟช็อตจนเสียชีวิต ก็ไม่ได้ทำให้จำนวนช้างลดลง หรือช้างตัวอื่นหวาดกลัว จากการที่พรายสีดอแดงช้างป่าเขตเขาตะกรุบแหกรั้วหนี เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ด้วยการใช้โคลนทาตัวเป็นฉนวนกันไฟฟ้า จากนั้นใช้งวงแตะที่ลวดเพื่อดูความแรงและจังหวะของกระแสไฟแล้วหลบหนีไป แสดงว่าการจัดการปัญหายังไม่ได้ผล หนำซ้ำยังเป็นอันตรายทั้งคนและช้างด้วย

_ARN8773

ล่าสุด กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช จับมือกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF เปิดตัว “ปลอกคอช้าง” นวัตกรรมตัวใหม่สำหรับเกาะติดพฤติกรรม การใช้ชีวิตของช้างตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อนำไปสู่การจัดการช้างให้อยู่ในพื้นที่ป่าเขาอ่างฤาไน และลดความขัดแย้งคนกับช้าง

ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มองถึงการปลอกคอมาใช้กับช้างนั้น ปลายทางคือการนำช้างกลับคืนผืนป่า และทำให้มองเห็นปัญหาที่ชัดเจนขึ้น จากการติดตามความเคลื่อนไหว ก็จะพบตลอดว่าช้างออกนอกพื้นที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานตลอดเวลา ดังนั้นการจัดการกับช้างที่มีประสิทธิภาพจะต้องเข้าใจพฤติกรรมการเคลื่อนที่ รวมถึงนิเวศวิทยา และชีววิทยาในเชิงลึกของสัตว์ป่า ซึ่งปลอกคอตัวนี้จะเป็นส่วนช่วยที่จะทำให้เข้าใจในองค์ประกอบสำคัญดังกล่าว 

ความไม่สมดุลกันของพื้นที่ป่าต่อจำนวนช้าง หรือความไม่สมบูรณ์ของแหล่งอาหาร ทำให้ช้างป่ายังคงออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เข้าไปหากินในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน กลายเป็นการเปิดฉากความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี เหตุจาก ประชากรช้างที่เพิ่มขึ้นสูงและรวดเร็ว แหล่งน้ำ แหล่งอาหารในป่าเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ทำกินของชาวบ้านอยู่ติดแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่เดิมเป็นแหล่งอาหาร และเป็นเส้นทางเดินหากินของช้าง

ปลอกคอช้าง ได้ทดลองใช้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนเป็นที่แรก ดร.ศุภกิจ อธิบายถึงการเลือกพื้นที่แห่งนี้ก็เพราะพื้นที่ป่านี้มีปัญหาความขัดแย้งระดับความรุนแรงสูง ถ้าเทียบกับพื้นที่ป่าอื่นๆ 

จากสถิติ 5 ปี ย้อนหลัง พื้นที่ป่าตะวันออก มีประชาชนได้รับบาดเจ็บจากช้างป่ากว่า 100 คน เสียชีวิตกว่า 50 คน และพบว่าช้างป่าตายมากกว่า 50 ตัว

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา ผืนป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในภาคตะวันออกกินอาณาบริเวณราว 2,500 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมดในประเทศไทย ป่าแห่งนี้ถือเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของภาคตะวันออก แต่ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าดิบที่ราบต่ำผืนนี้ หลังจากการอพยพคนออกจากพื้นที่ใจกลางป่า พื้นที่การเกษตรที่เคยมีอยู่จึงถูกปล่อยทิ้งกลายเป็นแหล่งอาหารของช้าง อีกทั้งเมื่อไม่มีผู้ล่าขนาดใหญ่ในธรรมชาติ อย่างเสือโคร่ง และมาตรการป้องกันการล่าสัตว์ของทุกฝ่าย ทำให้มีประชากรช้างเพิ่มขึ้นปีละ 8 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดว่า ปัจจุบันมีช้างป่าที่อาศัยอยู่ภายใน และรอบพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออกราว 420-450 ตัว จากที่เคยมีอยู่ 40-60 ตัว ในปีพ.ศ. 2520

_ARN9330

เมื่อปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เกิดจากการสะสมมาเป็นเวลานาน การแก้ปัญหาจึงต้องใช้เวลาเช่นกัน ด้วยการวิเคราะห์หาสาเหตุ เพื่อค้นพบวิธีที่เหมาะสมและตรงจุด จึงต้องมีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง อาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ด้วย รวมทั้งงานวิจัยมารองรับ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง

ชุดปลอกคอช้าง มีส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน ด้วยกัน คือ ตัวส่งสัญญาณอิเล็คทรอนิกส์ แบตเตอรี่ และเครื่องส่งสัญญาณที่มีอายุการใช้งาน 5-10 ปี ส่วนสายรัดที่ใช้เป็นตัวเชื่อมส่วนประกอบทั้งหมดทำจากโพลีเมอร์ ผสมยางพารา มีความคงทน ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติเมื่ออายุการใช้งานประมาณ 6-7 ปี รวมแล้วหนัก 8 กิโลกรัม แต่พอเทียบกับน้ำหนักตัวช้างจะหนักแค่ 0.3 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต่างจากคนใส่สร้อยคอปกติ เหมาะกับงานที่ต้องเก็บข้อมูลเป็นเวลานาน ไม่ต้องเข้าไปเปลี่ยนแบตเตอรี่บ่อยเหมือนอุปกรณ์อื่น จุดเด่นของนวัตกรรมชิ้นนี้อยู่ที่สามารถควบคุมได้ผ่านแอปพลิเคชั่น และสั่งปลดปลอกคอได้โดยไม่ต้องเข้าใกล้ตัวช้าง

"ความยากในการทำงานนั้น ไม่ได้อยู่ที่การใส่ปลอกคอ เพราะการสวมจะใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้น แต่อยู่ที่การเข้าถึงตัวช้างมากกว่า เราต้องใช้ยาสลบช่วย" หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่คนเดิมบอกถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นในการทำงาน 

_ARN97153444

เขายืนยันว่า การทำงานนี้ต้องอาศัยความทุ่มเทอย่างมาก ทั้งทีมวิจัยที่ติดปลอกคอช้าง และตรวจวัดทำอัตลักษณ์ของแต่ละตัว ทีมสัตว์แพทย์ที่คอยตรวจสุขภาพช้างพร้อมกับเก็บข้อมูล DNA ทีมเจ้าหน้าที่หน่วยเฝ้าระวังที่คอยติดตามพฤติกรรมการเคลื่อนที่ของช้าง และดูแลความปลอดภัยของทุกฝ่าย ทุกคนต่างทำงานบนความเสี่ยง เพราะยาสลบที่ให้ช้างจะรู้สึกตัวพอดีกับเวลาที่ใช้ในการติดปลอกคอ เมื่อติดตั้งเสร็จทีมก็จะต้องรีบออกจากจุดนั้นทันที เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดความสูญเสียทั้ง 2 ฝ่าย

ส่วนเรื่องที่หลายคนกังวลว่า ปลอกคอช้างจะไปรบกวนการใช้ชีวิตของช้างหรือไม่ เยาวลักษ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย WWF อธิบายว่า ปลอกคอช้างเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับการวิจัย และทดลองใช้แล้วในหลายประเทศของแอฟริกา และเอเชีย ใช้งานได้จริงโดยไม่รบกวนหรือเป็นอุปสรรคต่อตัวช้าง ช้างสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ทั้งการเคลื่อนที่ การหากิน และพฤติกรรมตามธรรมชาติ

แม้เราจะเข้าใจกันดีว่า ช้างป่า ควรที่จะอยู่ในป่า มากกว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งอย่างที่เกิดขึ้นมาตลอด แต่การที่จะพาช้างป่ากลับสู่ธรรมชาตินั้น ความพร้อมของแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งฟื้นฟู ดร.ศุภกิจมองว่า เมื่อคนอพยพออกจากพื้นที่แล้ว ก็เหลือเพียงพื้นที่เสื่อมโทรม ทำให้ช้างต้างออกหาแหล่งอาหารใหม่ ดังนั้นจึงต้องฟื้นฟูให้ผืนป่ากลับมาสมบูรณ์ที่สุด ส่วนการตามติดชีวิตช้างก็เพื่อที่วันใดช้างออกมาหากินนอกพื้นที่ก็จะพากลับสู่ธรรมชาติอย่างปลอดภัย

ปลอกคอช้างชิ้นนี้ นอกจากเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่นำมาใช้กับการศึกษาชีวิตสัตว์ป่าแล้ว ยังนำไปสู่การ "พิทักษ์" ช้างพ้นจากคำครหาว่าเป็น “ฆาตกร” จากพฤติกรรมตามธรรมชาติเพื่อปรับตัวของอารมณ์ และการใช้ชีวิตให้เข้ากับสภาพแวดล้อม 

เพื่อที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาระหว่างคนกับช้างอย่างยั่งยืนในที่สุดจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาระหว่างคนกับช้างอย่างยั่งยืนในที่สุด