อาณาจักรหอยของพ่อ (1)

อาณาจักรหอยของพ่อ (1)

ลองตามอ่านผลงานนักสะสมหอย นักค้าหอย และผู้รู้เรื่องหอยคนนี้

เหมือนที่ผมเล่าให้ฟัง ผมรู้จักหอยตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย แล้วจะไม่ให้ผมรักธรรมชาติได้อย่างไร

ถ้าจะเล่าเรื่องหอย ผมคงต้องเล่าเรื่องพ่อ...

พ่อมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ผมรักธรรมชาติ และรู้จักหาความรู้ด้วยตัวเอง

ก่อนจะมาอยู่ภูเก็ต พ่อเคยอยู่แถวดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี พ่อเป็นนักผจญภัยตั้งแต่เด็ก ชอบดำน้ำ จับปลา จับกุ้ง

ตอนเด็กๆ พ่อเคยดำน้ำงมหอยสองฝา หอยขม มาดูเล่นทุกวัน พ่อสงสัยว่า ทำไมหอยพวกนี้ มีรูปร่างต่างกัน ทั้งๆ ที่อยู่ในที่เดียวกัน

จนกระทั่งพ่อย้ายตามปู่มาอยู่ภูเก็ต ตอนพ่ออายุ 11 ปี พ่อไปตรวจสุขภาพกับหมอวัตสัน ชาวอเมริกัน ที่โรงพยาบาลมิชชัน ถ. ดีบุก และหมอคนนี้ก็ชอบเอาเปลือกหอยสวย ๆ มาวางเรียงไว้บนขอบหน้าต่าง พ่อไปเห็นหอยหนามทุเรียน สีส้มจัด สวยมาก คล้ายๆ หอยนางรม 

พ่อถามหมอเรื่องหอยที่เห็น แต่หมอบอกว่า “เมื่อเธอโตขึ้น เธอต้องค้นหาคำตอบเอง”

เพราะพ่อเป็นเด็กขี้สงสัย และพยายามจะหาคำตอบด้วยตัวเอง ซึ่งผมก็ได้แบบอย่างมาจากพ่อ

สมัยพ่อเรียนที่โรงเรียนดาวรุ่งวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนคาทอลิก คุณครูชอบพาเด็กๆ ไปเรียนรู้ในธรรมชาติ พ่อตื่นเต้นตามประสาเด็กๆ เมื่อได้เรียนรู้ว่า ปลิงทะเลและปลาปักเป้าหน้าตาแปลกประหลายแบบนี้เอง ในช่วงปิดเทอมพ่อก็เลยชอบออกทะเล ไปดูหอย ปู ปลา

ไม่ได้แค่ออกทะเล เวลาพ่อไปกรุงเทพฯ พ่อยังชอบซื้อหนังสือเก่าๆ เกี่ยวกับโลกวิทยาศาสตร์มาอ่าน และไม่ใช่แค่อ่าน ยังตัดภาพเก็บไว้ ทุกวันนี้ยังเก็บไว้ในโกดังที่บ้าน

เสียดายว่า พ่อมีโอกาสเรียนแค่มัธยมปีที่ 5 เพราะฐานะทางบ้านยากจน พ่อจึงต้องทำสวน ตอนเป็นหนุ่มวัย 16 ปีพ่อหัดปลูกองุ่น โดยนำองุ่นพันธุ์ไทยมาผสมกับพันธุ์ต่างชาติ ได้ผลผลิตดี แต่พ่อไม่มีทุน ก็เลยหันมาจับแมลงและผีเสื้อในภาคเหนือขายให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัย

พ่อเป็นคนความจำดีมาก พ่อบอกว่า สมัยก่อนทางภาคเหนือมีการตัดไม้เยอะมาก และทุกครั้งที่มีการตัดไม้ ไม้ก็เน่า ก็เลยเกิดวงจรธรรมชาติ ทำให้ผีเสื้อและแมลงฟักไข่เยอะมาก จึงเป็นโอกาสของเด็กหนุ่มชื่อ สมนึก ปัทมคันธิน ที่มีแมลงหน้าตาแปลกๆ ให้เลือกจับไปขายเยอะ