‘เรื่องฝัน’ งานแปลครั้งแรก และชีวิตคุณแม่ของนางเอก ‘ฝัน บ้า คาราโอเกะ’

‘เรื่องฝัน’ งานแปลครั้งแรก และชีวิตคุณแม่ของนางเอก ‘ฝัน บ้า คาราโอเกะ’

นักแปลหน้าใหม่ กับบทบาทชีวิตใหม่ของคุณแม่ลูก 3 สาวเท่แห่งยุค 90s ที่ถึงจากหายหน้าไปนาน แต่หลายคนยังอดคิดถึงเธอไม่ได้

ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งนี้ มี "เรื่องฝัน" เป็นหนึ่งในหนังสือออกใหม่จากสำนักพิมพ์ไต้ฝุ่นอยู่ด้วย “เรื่องฝัน” แปลจากหนังสือ Traumnovelle ที่ประกอบด้วยนิยายภาพโดย ยาค็อบ ฮินริชส์ (Jakob Hinrichs) บวกกับนวนิยายโดย อาทัวร์ ชนิตซ์เลอร์ (Arthur Schnitzler) ซึ่งถอดความจากภาษาเยอรมันโดย เฟย์ อัศเวศน์

เรื่องฝัน Cover

หากเป็นคนที่เติบโตมาในยุค “เด็กแนว” อาจจะคุ้นชื่อของเธออยู่ เพราะเธอคือนางเอก “ฝัน บ้า คาราโอเกะ” ภาพยนตร์เรื่องแรกของเป็นเอก รัตนเรือง

สาวลูกครึ่งไทย – เยอรมันคนนี้อยู่ในวงการบันเทิงไม่นาน ก็ไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนี และใช้ชีวิตไปๆ มาๆ ระหว่าง 2 ประเทศ ผ่านไป 20 กว่าปี เธอเป็นคุณแม่ลูก 3 อุทิศเวลาให้ลูกและครอบครัว หลายปีก่อนหน้านี้ เธอใช้ชีวิตในเชียงใหม่ เพิ่งย้ายไปอยู่เยอรมนีได้ปีกว่า แล้วงานแปลของเธอก็เริ่มต้นขึ้น

เราไม่ได้ชวนมาคุยกันเรื่องหนังสือ แต่วิธีการทำงานแปลของนักแปลหน้าใหม่และชีวิตคุณแม่ของสาวเท่แห่งยุค 90s ที่หายหน้าหายตาไปนานคือสิ่งที่เราสนใจ

เฟย์มาแปลหนังสือเล่มนี้ได้อย่างไร

“พี่คุ่น (ปราบดา หยุ่น - สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น) มาชวนให้เราลองแปลหนังสือดูไหม เขาส่งหนังสือมาให้อ่าน บอกว่าเล่มนี้น่าจะเหมาะกับเรา อ่านแล้วเราก็ชอบ สิ่งแรกที่ชอบคือความเป็นนิยายภาพ เพราะเราสนใจงานกราฟิกและชอบอ่านการ์ตูนอยู่แล้ว งานของยาค็อบน่าสนใจ

"พูดถึงเรื่องความดาร์คของความเป็นผัวเดียวเมียเดียว ยิ่งไปกว่านั้น นิยายเรื่องนี้ สแตนลีย์ คูบริก ผู้กำกับที่เราชื่นชมผลงานก็เคยเอามาทำเป็นหนังเรื่อง Eyes Wide Shut อีก เลยยิ่งอยากรู้อยากเห็นอยากแปล ทั้งๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่คิดว่าน่าจะทำได้ แล้วเราก็ติดตามผลงานของไต้ฝุ่นมาตลอด อยากร่วมงานกับพี่คุ่นด้วย

Screen Shot 2018-10-20 at 9.59.55 PM (1)_1

เตรียมตัวอย่างไรบ้าง

“ไม่เตรียมค่ะ แปลเลย อ่านไป 2 รอบ แล้วก็มานั่งแปล เจอประโยคแรกก็มึนเลย ใช้เวลานานมาก แต่พอแปลไปเรื่อยๆ ก็ทำได้มากขึ้น เราชอบอ่านหนังสือแปลอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคยรู้สึกว่าการแปลพิเศษอย่างไร พอมาแปลเองจึงเข้าใจอย่างหนึ่งขึ้นมาคือ มันมีความเป็นไปได้มากมายที่จะออกมาเป็นแบบไหน ความเป็นไปได้นี่แหละทำให้ยาก และรูปประโยคภาษาเยอรมันค่อนข้างพิสดาร ประโยคหนึ่งมีประโยคย่อยๆ ไม่จบสักที ยากตรงที่จะทำอย่างไรให้ออกมาแล้วรู้เรื่อง

“การแปลหนังสือค่อนข้างหลอนนะ เหมือนแปลเองเออเอง พูดให้ตัวเองฟังว่าอย่างนี้จะรู้เรื่องไหม คำไทยก็มีให้เลือกเยอะ ต้องมีบก.ช่วยดู พี่คุ่นเป็นบก.เล่มเอง เขาช่วยแก้เรื่องคำเชื่อม ดูว่าอ่านออกมาแล้วลื่นไหล เพราะเขามีประสบการณ์เยอะ หรือบางคำที่เราอาจทื่อไป เขาก็แนะนำเรา ใช้คำนี้ดีไหม

วิธีแปลแบบของเฟย์

“ตอนแรกแปลไปตรงๆ ก่อน เหมือนสเก็ตช์ภาพก่อนให้เสร็จไปรอบหนึ่ง แล้วก็มาเก็บรายละเอียดอีกหลายรอบ มีแปลผิดบางจุดด้วยนะ คืออ่านแล้วเข้าใจไปอีกแบบ แต่ก็มาจับผิดตัวเองได้ เรื่องนี้เขียนไว้ 100 กว่าปีแล้ว รูปประโยค การเรียกสรรพนามก็ไม่ได้เป็นยุคสมัยนี้ พอแปลผิดก็เสียความมั่นใจไปพอควร แต่ก็ผ่านช่วงนั้นมาได้ มีแม่กับแฟนช่วยเช็คด้วยว่าที่เราเข้าใจถูกแล้วใช่ไหม เช่น คำเรียกผู้หญิงในสมัยก่อน ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว ไม่เชิงว่าเป็นคำเหยียด แต่ก็เป็นคำที่ต่ำกว่า ถามคนที่นี่ ทุกคนก็มีปัญหากับคำนี้ว่าจะอธิบายว่าอย่างไรดี เพราะไม่มีสถานะของผู้หญิงแบบนั้นแล้วในทุกวันนี้”

Screenshot_20181024-201700_Facebook

เฟย์ส่งคลิปมาเล่าเรื่องหนังสือ ในแฟนเพจของ Typhoon Studio Thailand

นักแปลควรหรือไม่ควรจะมีบุคลิกของตัวเองอยู่ในงานไหม

“เราไม่แน่ใจนะ แต่ตอนเราทำ เราคิดอยู่อย่างเดียวว่าเราเกรงใจต้นฉบับ นักเขียนคนนี้เขามีความจิกกัด คือพูดไม่หมด พูดแล้วละไว้ให้เข้าใจเอง เวลาแปลจึงเกิดความยากที่เราจะละแบบเขา แล้วคนอ่านจะเข้าใจไหม หรือว่าละไว้ไม่ได้ ต้องอธิบายไหม สำหรับเราจะถึงขั้นมีสำนวนของตัวเอง คงไม่ แค่พยายามจะสื่อความรู้สึกอันไหนที่แดกดัน จิก แอบหัวเราะเยาะตัวละครของตัวเอง ให้มันได้ออกมาไม่โจ่งแจ้งอย่างที่เราได้ความรู้สึกนั้นเหมือนกัน พยายามแบบนี้”

ต้องเข้าใจหรือสวมวิญญาณคนเขียนไหม แค่ไหน

“แรกๆ ก็สวมวิญญาณเราเองนี่แหละ แต่พอทำไปทำมา อ่านหลายรอบๆ มากขึ้น คล่องขึ้น ก็รู้ว่าบางอันเราเข้าใจในแบบของเรามากเกินไป จึงพยายามทำให้เป็นในแบบนักเขียน สำหรับเล่มนี้มีประเด็นเดียวเลย คือจะทำอย่างไรให้ความคมคายของเขาออกมา แปลให้รู้เรื่องแปลได้อยู่แล้ว แต่ความเป็นวรรณกรรมจะมีระหว่างบรรทัดอยู่ในตัวสูง การแปลก็ทำได้ประมาณหนึ่ง ไม่ได้ทั้งหมดหรอก”

ชีวิตคุณแม่กับการแปลหนังสือ

“เราได้งานมาช่วงที่ย้ายมาอยู่เยอรมนีพอดี กว่าจะได้แปลจริงๆ ก็ต้องใช้เวลา เพราะต้องจัดการสิ่งต่างๆ และเลี้ยงลูกไปด้วย ไม่ได้นั่งแปลทั้งวัน อย่างมากเต็มที่วันละ 2 ชั่วโมง ซึ่งเวลาแปลจะทำแล้วลุกไปทำอย่างอื่นสลับไปมาไม่ได้ ต้องอยู่ในภวังค์นั้นพอสมควร ใช้เวลาช่วงที่ลูกนอนอยู่ในภวังค์ของตัวเอง

ทำงานแปลแล้วคิดวนเวียน อยู่ในห้วงนั้นตลอดเวลา บางประโยคยังแกะออกมาไม่ได้ แต่ต้องไปทำกับข้าวแล้ว ลูกมาแล้ว ชีวิตต้องดำเนินต่อแล้ว ก็จะทำกับข้าวไปพูดกับตัวเองไป (หัวเราะ) นึกภาพ เก็บไปฝัน ฟังเพลง ดูหนังอะไรก็คิดเปรียบเทียบไปตลอด

“แปลหนังสือสนุกมากนะ เวลาแปลแล้วได้ฟีลลิ่ง เราก็สะใจ อ่านซ้ำไปซ้ำมา โอ๊ย ชอบ แต่บางครั้งก็เป็นการทรมานตัวเองเหมือนกัน เพราะมีช่วงทุกข์ทรมานที่แปลไม่ออกจริงๆ บางจุดอ่านแล้วไม่ไหลลื่น ก็นั่งขัดอยู่นั่นล่ะ เปลี่ยนคำย้อนไปย้อนมา แค่ 2 – 3 ประโยคใช้เวลานั่งแปลเป็นชั่วโมงก็มี”

Screen Shot 2018-10-20 at 10.01.20 PM (1)

ชีวิตจากตอนที่เล่นหนังจนถึงตอนนี้ ถ้าเล่าย่อๆ เฟย์จะเล่าอย่างไร

“ยากจัง เมื่อก่อนไม่ได้คิดอะไรมาก มีอะไรเข้ามาให้ทำก็ทำ แต่ตอนนี้ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะมาก เราโตแล้วก็ชัดมากว่าอันนี้จะเอา อันนั้นไม่เอา เปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลย เมื่อก่อนตัวเลือกเยอะไง (หัวเราะ) มาตัดจบตอนมีลูกนี่แหละ เคยคิดเปรียบเทียบนะว่า พอมีลูกปุ๊บเหมือนโดนจับห้อยหัวแล้วเขย่าๆ หายบ้าได้แล้ว ใช้เวลาอยู่นาน กว่าจะปรับตัวได้

“เราอุทิศเวลาทุกอย่างให้ลูกและครอบครัวหมดเลย 10 กว่าปี คิดเสมอว่าในส่วนของตัวเองจะเป็นยังไงนะ ตอนนี้ก็พยายามคลำทางกลับมา เหมือนกำลังเริ่มชีวิตฉากใหม่ที่เราจะทำสิ่งที่อยากจะทำจริงๆ ช่วงวัยรุ่นเรายังไม่ชัดมากว่าอยากทำอะไร พอมามีลูกถึงได้รู้ว่ามันนานเสียจนขาดพื้นที่ของตัวเองไป ตอนนี้ลูกๆ โตขึ้นแล้ว เพิ่งมีเวลาของตัวเองบ้าง จึงตั้งใจว่าเราต้องหาเวลาทำสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ ด้วย”

ทำไมเลือกมาอยู่เยอรมนี

“สังคมการเมืองไทยก็ส่วนหนึ่งนะ ที่ทำให้คนมีลูกก็อดคิดไม่ได้ว่า แล้วยังไงต่อล่ะ? ในเมื่อที่นี่เรามีโอกาสมาได้ เราอยากให้เด็กมาเข้าโรงเรียนที่นี่ เพราะสวัสดิการด้านการศึกษาดี สังคมซัพพอร์ตเด็กและครอบครัวได้ดีกว่า อยู่เมืองไทยเราต้องดูแลตัวเอง หรือมีแต่ครอบครัว และเพื่อนๆ เท่านั้นที่ช่วย ทำให้เราไม่มีเวลาเป็นของตัวเองเลย แต่ที่นี่ทุกอย่างหายห่วง โครงสร้างช่วยอุ้มชูไปส่วนหนึ่ง เราก็มีเวลาทำอย่างอื่นบ้าง”

เฟย์เคยพูดถึงความเป็นลูกครึ่งที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นคนนอก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไทยหรือเยอรมนี ตอนนี้ยังรู้สึกไหม

“ก็มีอยู่ เพียงแต่เรารับมือกับมันได้ ไม่ได้ทำให้เราเดือดร้อนแล้ว ดีด้วยซ้ำที่ไม่ได้เป็นคนในของที่ไหน พอเป็นคนนอกเราจะมีมุมมองที่ได้เห็นอะไรต่างไป และเพราะมีครอบครัว มีลูกแล้วไง ความรู้สึกที่โหยหาอยากเป็นส่วนหนึ่งของอะไรสักอย่างก็ไม่ต้องแล้ว เรามีแล้ว จะไปอยู่ตรงไหนก็ได้ ไม่เดือดร้อนเหมือนสมัยวัยรุ่น ที่ต้องค้นหาที่ทางของตัวเอง มา ณ ตอนนี้ก็แฮปปี้ที่เราเป็นคนนอก”

บางส่วนที่ได้ทำความรู้จักกับนักแปลหน้าใหม่ ถ้าคิดถึงเฟย์ก็ลองอ่านงานแปลครั้งแรกของเธอกันเนอะ