เลือกยโสธรเป็นเมืองน่าอยู่ปี 61

เลือกยโสธรเป็นเมืองน่าอยู่ปี 61

เมืองยโสธรยังคงเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ นี่จึงกลายเป็นจุดแข็งของเมืองที่นำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาร่วมพัฒนา

ทุก 2 ปีองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF จะจัดโครงการ ‘เมืองน่าอยู่สู่โลกยั่งยืน One Planet City Challenge (OPCC)’ เพื่อมอบรางวัลแก่เมืองที่มุ่งมั่นพัฒนาระบบสาธารณูปโภค มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อขับเคลื่อนไปสู่เมืองแห่งอนาคตคาร์บอนต่ำ และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ โดยในปีนี้ อ.เมือง จ.ยโสธร ได้รับรางวัลหลังจากทำผลงานโดดเด่นในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมมุ่งมั่นก้าวสู่เมืองที่มีการเดินทางสัญจรอย่างยั่งยืน รวมถึงจัดการระบบคมนาคมภายในเมืองให้สะดวกยิ่งขึ้น

กอร์ดอน คองดอน ผู้จัดการฝ่ายงานอนุรักษ์ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล กล่าวว่า WWF ประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มอบรางวัลชนะเลิศในโครงการเมืองน่าอยู่สู่โลกยั่งยืน ประจำปี 2561 โดยในปีนี้เมืองยโสธรซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาเมืองที่เข้าร่วมการแข่งขัน 132 เมือง จาก 23 ประเทศ ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะระดับประเทศของประเทศไทย และอยู่ในอันดับที่ 7 จากเมืองที่เข้าร่วมทั้งหมด

ทั้งนี้ โครงการเมืองน่าอยู่สู่โลกยั่งยืนถือเป็นส่วนสำคัญของ WWF เพราะเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยประเทศในการเจรจาด้านภูมิอากาศระดับชาติ และมีส่วนช่วยให้เมืองบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีสด้วยความช่วยเหลือจากชุมชนในระดับท้องถิ่น โดยปีนี้เน้นย้ำเพิ่มเติมในด้านการคมนาคมและการเดินทางอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองใหญ่ทั่วโลก เพราะเกือบ 1ใน4 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาจากการคมนาคมขนส่ง โครงการนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเมืองใหญ่ต่าง ๆ ให้จัดสรรงบประมาณในการหาทางออกที่ยั่งยืนและร่วมมือกันเพื่อตอบสนองต่อรูปแบบการใช้ชีวิตและความต้องการด้านการสัญจรภายในเมือง

_ALL1464

วีระวัฒน์ ภักตรนิกร นายกเทศมนตรี เมืองยโสธร กล่าวว่า ยโสธรเป็นเมืองเล็กๆ มีความสงบ เรียบร้อย สวยงาม ประชาชนมีวิถีการดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย มีความเป็นธรรมชาติสูง ประชาชนอยู่ร่วมกันแบบสังคมพี่น้อง ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่จะก่อให้เกิดมลพิษ และในชุมชนประชาชนยังมีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน มีสามล้อปั่นเป็นพาหนะในการเดินทาง ในขณะที่เมืองต่างๆ รอบข้าง มีความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของเมืองไปอย่างรวดเร็ว แต่เมืองยโสธรยังคงเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ จึงกลายเป็นจุดแข็งและเอกลักษณ์ของเมืองที่หาไม่ได้ที่อื่น

“เรามีต้นทุนที่ดี แต่ก็ต้องมีการส่งเสริมด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองยโสธรยังคงเดินหน้าในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองด้านอื่นๆ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจากความมุ่งมั่นตั้งใจของคณะผู้บริหารและพนักงานเทศบาลทุกคนในการช่วยกันลดภาวะโลกร้อนตามนโยบายของประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ โดยมีการจัดทำแผนปฏิบัติการ ‘ยโส โลว์คาร์บอน’ ไว้ในแผนยุทธศาสตร์การลดและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในแผนพัฒนาเทศบาลเมืองยโสธร พ.ศ.2561-2564” 

151941