เหนือล้อพาลุย ทำโป่งไม่ต้องคุยให้เสียเวลา

เหนือล้อพาลุย ทำโป่งไม่ต้องคุยให้เสียเวลา

สายฝนชุ่มฉ่ำ และผืนดินเฉอะแฉะ ไม่ใช่ปัญหาสำหรับความมุ่งมั่นตั้งใจของคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการใช้ทรัพยากรที่มี แรงกาย แรงใจ ให้เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ขบวนรถออฟโร้ดนับสิบคันมุ่งหน้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน แม้จะเป็นขบวนสี่ล้อสุดลุย แต่เมื่อมีหัวใจเดียวกัน คนสองล้ออย่างผมก็ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะบุกป่าฝ่าดงเข้าไปยังพื้นที่เพื่อ ‘ทำโป่ง’ ให้สัตว์ป่า

นี่ไม่ใช่หนแรกที่เรากล่าวถึงโป่ง รวมถึงไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้ทำโป่ง จากครั้งก่อนๆ ที่เคยปั่นไปทำโป่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คราวนี้เปลี่ยนมาเป็นเขาอ่างฤาไนกันบ้าง เพราะที่นี่เป็นอีกพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนดินโป่งธรรมชาติ

หายังไม่รู้จัก ‘โป่ง’ สรุปสั้นๆ ว่าโป่งหรือดินโป่ง คือพื้นดินบริเวณที่มีแร่ธาตุสะสมแล้วมีสัตว์ป่ามากินจน เกิดเป็นแอ่ง โป่งเป็นแหล่ง อาหารที่จำเป็นของสัตว์เท้ากีบและสัตว์กินพืช เช่น ช้าง กระทิง วัวแดง เก้ง กวาง รวมทั้งนกหลายชนิด เพราะพืชที่สัตว์เหล่านี้กินเป็นอาหารให้สารอาหารไม่ครบถ้วน สัตว์ป่าจึงจำเป็นต้องได้รับแร่ธาตุเสริมให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

41515134_1937259702999499_5638716765958569984_o

บุญเลิศ สุวรรณน้อย รองประธานกลุ่มเหนือล้อ เล่าให้ฟังว่าโดยปกติกลุ่มออฟโร้ดส่วนมากมักจะรวมตัวกันบำเพ็ญประโยชน์ ด้วยคุณสมบัติของรถที่ลุยไปในถิ่นทุรกันดารได้ บางกลุ่มเลือกที่จะเดินทางไปสร้างสาธารณูปโภคให้พื้นที่ขาดแคลน เช่น สร้างห้องสมุด สร้างห้องน้ำ หรือเป็นทีมเข้าไปยังพื้นที่ของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ก็มี กลุ่มเหนือล้อก็เช่นกัน หลังจากร่วมกันทำประโยชน์ให้คนมานาน วันหนึ่งพวกเขาคิดกันว่าควรทำเพื่อสัตว์ป่าบ้าง จนได้ข้อสรุปว่าพวกเขาจะทำโป่ง

หลังจากนั้นกลุ่มได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่อุทยานเพื่อทราบความต้องการและรายละเอียดเพื่อความถูกต้องเหมาะสม เจ้าหน้าที่อุทยานแจ้งว่าโป่งธรรมชาติเดิมมีอยู่แล้ว แต่บางโป่งเสื่อมสภาพ กลุ่มเหนือล้อจึงจับมือกับกลุ่มเครือข่ายจัดโครงการทำโป่งครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อนที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ปรากฏว่าผลลัพธ์ดีเกินคาด จึงดำเนินโครงการต่อเรื่อยๆ ทุกปีๆ โดยเปลี่ยนสถานที่บ้างในบางคราว อาทิ ป่าละอู, แก่งกระจาน เป็นต้น

มาถึงครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 สำหรับกิจกรรมทำโป่งเทียม ใช้ชื่อกิจกรรมว่า ‘๑ จอบ ๑ ใจ สร้างโป่งให้สัตว์ป่า’ โดยวกกลับมายังพื้นที่เขาอ่างฤาไนอีกหน เพราะขาดช่วงจากการเสริมแร่ธาตุในโป่งเทียมมานานแล้ว ภาวะขาดแคลนอาหารเสริมแบบนี้ รองประธานกลุ่มเหนือล้อบอกว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่สัตว์ป่า เช่น ช้างออกไปหากินนอกป่า ไปทำลายพืชผลการเกษตรของชาวบ้าน ลุกลามเป็นปัญหาระหว่างคนกับช้าง

41493249_1937259436332859_6075724109164052480_o

ด้วยเส้นทางแบบนี้คงไม่มีจักรยานประเภทอื่นเหมาะสมแก่การบุกเข้าพื้นที่มากกว่าจักรยานเสือภูเขา (Mountain Bike) ด้วยคุณสมบัติดูดซับแรงกระแทก พร้อมลุย ทำให้ฝ่าทุกหลุมบ่อ ดินโคลนเละๆ จนเข้ามาสมทบกับกลุ่มออฟโร้ดจิตอาสากลุ่มนี้ได้

ในวันแรกที่ลุยเข้าไปในพื้นที่รวมพล กิจกรรมหลักไม่ใช่การสันทนาการ ที่น่าชื่นชมคือทุกคนไม่ได้มาเพื่อพักผ่อนหรือเข้าป่ามาหาความบันเทิง แต่พวกเขาไม่ลืมว่ามีภารกิจอะไร แต่ละไม้ละมือจึงช่วยกันผสมเกลือแร่และแร่ธาตุตามสูตรที่ฝ่ายวิชาการของกลุ่มเหนือล้อ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ด้านอาหารสัตว์ บวกกับองค์ความรู้จากทางเจ้าหน้าที่

ทั้งเสียมและจอบทยอยขุดทยอยคลุกส่วนผสมให้เข้ากัน คนไหนแรงน้อยก็ช่วยกันมัดแยกกระสอบเพื่อขนขึ้นรถเตรียมนำเข้าพื้นที่ทำโป่งในวันรุ่งขึ้น ส่วนพ่อครัวแม่ครัวก็ลงมือปรุงอาหารสุดฝีมือ ด้วยยึดถือคติว่า “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” หลังจากเสร็จภารกิจผสมแร่ธาตุ ชำระล้างร่างกายเสร็จ ก็ได้เวลาเติมพลัง อาหารง่ายๆ แต่ทำด้วยใจ กินกับคนคอเดียวกัน บอกเลยว่าอร่อยอย่างบอกไม่ถูก

41554471_1937259376332865_5565199879472414720_o

แต่ก่อนจะแยกย้ายเข้าเต็นท์แต่ละคน ได้มีการเรียกประชุมวางแผนเพื่อให้การทำภารกิจเป็นขั้นตอน ราบรื่น และเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะไม่ใช่ว่าเข้ามากันง่ายๆ จะทำทั้งทีต้องทำให้ดี

ในวันปฏิบัติภารกิจ แบ่งทีมกันไปในแต่ละจุด ทุกจุดเป็นเส้นทางค่อนข้างยากลำบาก ดินเละมากเพราะตลอดวันที่ผ่านมาฝนตกตลอด หากไม่ใช่รถออฟโร้ดก็คงจะเข้าไม่ได้ และทันทีที่ถึงแต่ละจุด ทุกคนก็เริ่มภารกิจ โปรยแร่ธาตุ โปรยเกลือแร่ ย่ำ คลุก ให้ส่วนผสมทุกอย่างเข้ากันกลายเป็นดินโป่ง แม้บางจุดจะเป็นดินโคลน เต็มไปด้วยตัวทากดูดเลือด ทว่าทุกคนยังใจสู้ทำจนเสร็จ

“โป่งเทียมเหล่านี้มีสัตว์ป่าเข้ามาใช้บริการค่อนข้างมาก เจ้าหน้าที่ได้เก็บภาพแล้วส่งกลับมาให้กลุ่มเราได้ดู” บุญเลิศบอก

จากเส้นทางจะโหดหิน บางจุดอันตราย แต่ด้วยความเป็นสายลุย พวกเขาจึงไม่คุยให้เสียเวลา เปลี่ยนลมปากเป็นการกระทำอันเป็นประโยชน์

 

กลุ่มเหนือล้อ หรือ เผ่าเหนือล้อ เป็นองค์กรภาคประชาชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรและไม่ใช่หน่วยงานของภาครัฐ มีวัตถุประสงค์อนุรักษ์ธรรมชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืช ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติให้คงสภาพและพัฒนาให้สิ่งแวดล้อมสมบูรณ์สืบไป ดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ และหน่วยงานราชการอื่น รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีแนวทางเป้าหมายเดียวกัน โดยอาศัยกำลังการสนับสนุนและทุนการดำเนินงานจากสมาชิกและอาสาสมัครรวมทั้งผู้ให้การสนับสนุน

41539620_1937259662999503_400107174631571456_o

41435141_1937259752999494_1978184193334575104_o

41656679_1937259832999486_7414934734993620992_o